แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ที่จำเลยฎีกาว่า การกระทำของจำเลยเกิดในท้องที่สถานีตำรวจภูธรเมืองตาก พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรเมืองสุโขทัยไม่มีอำนาจสอบสวน โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องนั้น เป็นการขอให้ศาลฎีกาเปลี่ยนแปลงผลของคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ซึ่งต้องกระทำโดยยื่นเป็นคำฟ้องฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ มิใช่ขอมาในคำแก้ฎีกา จึงไม่มีประเด็นที่ศาลฎีกาจะวินิจฉัยให้
ก่อนเกิดเหตุ ส. ซื้อเมทแอมเฟตามีนของกลางจากจำเลยเพื่อนำมาจำหน่ายอีกทอดหนึ่ง มิใช่จำเลยส่งมอบเมทแอมเฟตามีนของกลางให้ ส. นำไปจำหน่ายก่อน แล้ว ส. จึงโอนเงินค่าเมทแอมเฟตามีนให้จำเลยโดย ส. ได้กำไรผลต่างที่นำไปจำหน่ายเกินกว่าราคาต้นทุน เมื่อ ส. ซื้อเมทแอมเฟตามีนมาจากจำเลยแล้ว เมทแอมเฟตามีนของกลางย่อมตกเป็นของ ส. เพียงลำพัง จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานเป็นตัวการร่วมกระทำความผิดกับ ส. แม้ก่อนที่จะจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนของกลางให้ ส. เมทแอมเฟตามีนอยู่ในความครอบครองของจำเลยก็ตาม แต่โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิดเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2551 เวลากลางวัน แสดงว่าโจทก์ประสงค์ให้ลงโทษจำเลยในการกระทำความผิดวันดังกล่าวเท่านั้น ศาลฎีกาจึงไม่อาจพิพากษาลงโทษจำเลยฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายได้เพราะเกินกว่าที่กล่าวในฟ้อง ต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 215 และ 225 กับ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3 กรณีมิใช่ข้อเท็จจริงในทางพิจารณาแตกต่างกับฟ้องเกี่ยวกับเวลาซึ่งมิถือว่าต่างกันในข้อสำคัญ อย่างไรก็ตามการที่จำเลยจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนของกลางให้แก่ ส. ย่อมถือได้ว่าเป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกแก่ ส. ในการมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำเลยจึงเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 86 แม้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานเป็นตัวการ แต่ข้อเท็จจริงตามทางพิจารณาฟังได้ว่า จำเลยเป็นเพียงผู้สนับสนุนการกระทำความผิด ศาลย่อมลงโทษจำเลยฐานเป็นผู้สนับสนุนได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสอง ประกอบมาตรา 215 และ 225 กับ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3 เพราะข้อแตกต่างดังกล่าวมิใช่เป็นข้อสาระสำคัญและจำเลยมิได้หลงต่อสู้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66, 100/1 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83
จำเลยให้การปฎิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, 66 วรรคสาม จำคุกตลอดชีวิตและปรับ 1,000,000 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 โดยให้กักขังแทนค่าปรับได้เกินกว่า 1 ปี แต่ไม่เกิน 2 ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดียาเสพติดพิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันในชั้นฎีการับฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2551 เวลาประมาณ 12.30 นาฬิกา พันตำรวจโท สุรกิจ กับพวก เจ้าพนักงานตำรวจตำรวจภูธรจังหวัดสุโขทัย จับกุมนางปราณี ได้พร้อมเมทแอมเฟตามีน 50 เม็ด นางปราณีให้การว่าซื้อเมทแอมเฟตามีนดังกล่าวมาจากนายสุรเดชหรือมาน พันตำรวจโท สุรกิจ จึงให้นางปราณีติดต่อขอซื้อเมทแอมเฟตามีน 2,000 เม็ด จากนายสุรเดช ต่อมาเวลาประมาณ 14 นาฬิกา นายสุรเดชนำเมทแอมเฟตามีนจำนวนดังกล่าวมาส่งมอบให้นางปราณี พันตำรวจโท สุรกิจ จึงจับกุมนายสุรเดช พร้อมยึดเมทแอมเฟตามีน 3,918 เม็ด น้ำหนักรวม 377.734 กรัม คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 81.971 กรัม โทรศัพท์เคลื่อนที่หมายเลข 08 5732XXXX ใบรับฝากเงินธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) 1 ฉบับ และรถกระบะหมายเลขทะเบียน บท 844 สุโขทัย เป็นของกลาง ศาลพิพากษาลงโทษนายสุรเดชแล้ว ตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1114/2551 ของศาลชั้นต้น ต่อมาวันที่ 28 เมษายน 2552 ร้อยตำรวจเอก ทศ จับกุมจำเลยได้กล่าวหาว่าร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนจำเลยให้การปฏิเสธ ที่จำเลยแก้ฎีกาว่า การกระทำความผิดของจำเลยปรากฏชัดแจ้งว่าเกิดในท้องที่สถานีตำรวจภูธรเมืองตาก พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรเมืองสุโขทัย ไม่มีอำนาจสอบสวน โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องนั้น เป็นการขอให้ศาลฎีกาเปลี่ยนแปลงผลของคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ซึ่งต้องกระทำโดยยื่นเป็นคำฟ้องฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ มิใช่ขอมาในคำแก้ฎีกา จึงไม่เป็นประเด็นที่ศาลฎีกาจะวินิจฉัยให้
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยร่วมกับนายสุรเดชกระทำความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายตามฟ้องหรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่า พยานหลักฐานโจทก์ฟังได้ว่าจำเลยส่งมอบเมทแอมเฟตามีนให้นายสุรเดชนำไปจำหน่ายก่อน เมื่อจำหน่ายได้แล้วจึงโอนเงินค่าเมทแอมเฟตามีนให้จำเลย โดยนายสุรเดชจะได้กำไรผลต่างที่นำไปขายเกินกว่าราคาต้นทุน จึงเป็นการแบ่งหน้าที่กันทำ แม้จะอยู่ห่างไกลกันก็สามารถแบ่งหน้าที่กันทำได้ และหากรับฟังข้อเท็จจริงได้ว่าจำเลยมิได้ร่วมกระทำความผิดกับนายสุรเดช แต่ทางพิจารณาได้ความว่าก่อนที่เมทแอมเฟตามีนของกลางจะมาอยู่ในความครอบครองของนายสุรเดชนั้น เมทแอมเฟตามีนของกลางอยู่ในความครอบครองของจำเลยมาก่อน ศาลจึงพิพากษาลงโทษจำเลยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคสอง วรรคสาม และวรรคท้ายนั้น เห็นว่า พันตำรวจโท ประยุทธ พนักงานสอบสวนเบิกความว่า ชั้นสอบสวนแจ้งข้อหาแก่นายสุรเดชว่า มีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย นายสุรเดชให้การรับสารภาพ ในสำนวนคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1114/2551 ของศาลชั้นต้น ซึ่งนายสุรเดชให้การเกี่ยวกับเมทแอมเฟตามีนของกลางได้ความว่า เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2551 นายสุรเดชซื้อเมทแอมเฟตามีนจากจำเลยซึ่งอยู่ที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ประมาณ 4,000 เม็ด โดยก่อนไปรับเมทแอมเฟตามีนนายสุรเดชได้โอนเงินจำนวน 400,000 บาท เข้าบัญชีของจำเลยที่ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาแม่สอด และจำเลยโทรศัพท์บอกนายสุรเดชว่าจะให้คนขับรถบรรทุกแร่นำเมทแอมเฟตามีนมาส่งมอบให้แก่จำเลยที่สถานีบริการน้ำมัน ปตท. เลยทางแยกไปอำเภอแม่สอดประมาณ 3 กิโลเมตร เวลาประมาณ 22 นาฬิกา ให้นายสุรเดชไปรอ พร้อมบอกหมายเลขทะเบียนรถด้วย นายสุรเดชจึงขับรถกระบะไปรับเมทแอมเฟตามีนที่สถานีบริการน้ำมันดังกล่าว เมื่อรับเมทแอมเฟตามีนแล้วนายสุรเดชนำเมทแอมเฟตามีนไปซ่อนไว้ที่ป่าหญ้าด้านหลังบ้าน ซึ่งตรงกับถ้อยคำที่นายสุรเดชเคยให้การต่อพันตำรวจโท สุรกิจ ผู้จับกุม ในสำนวนคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1114/2551 ของศาลชั้นต้น แม้นายสุรเดชเบิกความว่า นายสุรเดชซื้อเมทแอมเฟตามีนของกลางมาจากนายชีพก็ตาม แต่นายสุรเดชให้การชั้นจับกุมในวันเดียวกับวันถูกจับกุมและให้การชั้นสอบสวนในวันรุ่งขึ้น นายสุรเดชย่อมไม่มีเวลาไตร่ตรองบิดเบือนข้อเท็จจริงให้เป็นอย่างอื่น เมื่อนายสุรเดชมาเบิกความเป็นพยานโจทก์หลังเกิดเหตุนานประมาณ 1 ปี เชื่อว่านายสุรเดชเบิกความเพื่อช่วยเหลือจำเลย คำให้การชั้นสอบสวนของนายสุรเดชจึงเป็นความจริงยิ่งกว่าคำเบิกความ แม้คำให้การชั้นสอบสวนดังกล่าวที่กล่าวถึงการกระทำของจำเลยเป็นพยานซัดทอดระหว่างผู้ร่วมกระทำความผิดด้วยกัน แต่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227/1 ประกอบพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3 หาได้ห้ามมิให้รับฟังพยานซัดทอดเลยเสียทีเดียวไม่ หากแต่ศาลพึงต้องกระทำด้วยความระมัดระวังและไม่ควรเชื่อพยานหลักฐานดังกล่าวโดยลำพังเพื่อลงโทษจำเลย เว้นแต่จะมีเหตุผลอันหนักแน่น มีพฤติการณ์พิเศษแห่งคดี หรือมีพยานหลักฐานอื่นประกอบมาสนับสนุน เมื่อโจทก์มีใบรับฝากเงินและใบเสร็จรับเงินของศาลจังหวัดกำแพงเพชร ที่นายสุรเดชโอนเงินจำนวน 400,000 บาท ให้แก่จำเลยในวันที่ 16 เมษายน 2551 และบันทึกการใช้โทรศัพท์ของนายสุรเดชของศาลจังหวัดกำแพงเพชร ที่นายสุรเดชโทรศัพท์ติดต่อกับจำเลยในวันที่ 15 เมษายน 2551 มาสนับสนุนคำให้การชั้นสอบสวนของนายสุรเดชแล้ว คำให้การชั้นสอบสวนของนายสุรเดชจึงมีเหตุผลอันหนักแน่นและมีน้ำหนักรับฟังได้ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ก่อนเกิดเหตุนายสุรเดชซื้อเมทแอมเฟตามีนของกลางจากจำเลยเพื่อนำมาจำหน่ายอีกทอดหนึ่ง มิใช่จำเลยส่งมอบเมทแอมเฟตามีนของกลางให้นายสุรเดชนำไปจำหน่ายก่อน แล้วนายสุรเดชจึงโอนเงินค่าเมทแอมเฟตามีนให้จำเลยโดยนายสุรเดชได้กำไรผลต่างที่นำไปจำหน่ายเกินกว่าราคาต้นทุนดังที่โจทก์ฎีกา ขณะที่พันตำรวจโท สุรกิจยึดเมทแอมเฟตามีนของกลาง คงมีเพียงนายสุรเดชที่เป็นผู้ครอบครองเท่านั้น เมื่อนายสุรเดชซื้อเมทแอมเฟตามีนของกลางมาจากจำเลยแล้ว เมทแอมเฟตามีนของกลางย่อมตกเป็นของนายสุรเดชเพียงลำพัง โดยจำเลยมิได้ร่วมครอบครองเมทแอมเฟตามีนของกลางด้วย จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานเป็นตัวการที่ร่วมกระทำความผิดด้วยกันกับนายสุรเดช แม้ก่อนที่จะจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนของกลางให้นายสุรเดช เมทแอมเฟตามีนของกลางจะอยู่ในความครอบครองของจำเลยดังที่โจทก์ฎีกาก็ตาม แต่คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิดเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2551 เวลากลางวัน แสดงว่าโจทก์ประสงค์ให้ลงโทษจำเลยในการกระทำความผิดวันดังกล่าวเท่านั้น ศาลฎีกาจึงไม่อาจพิพากษาลงโทษจำเลยฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายได้เพราะเป็นการเกินกว่าที่กล่าวในฟ้อง ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 215 และ 225 กับพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3 กรณีมิใช่ข้อเท็จจริงในทางพิจารณาแตกต่างกับฟ้องเกี่ยวกับเวลาซึ่งมิถือว่าต่างกันในข้อสำคัญดังที่โจทก์ฎีกา อย่างไรก็ตามการที่จำเลยจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนของกลางให้แก่นายสุรเดช ย่อมถือได้ว่าเป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกแก่นายสุรเดชในการมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำเลยจึงเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 แม้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานเป็นตัวการ แต่ข้อเท็จจริงตามทางพิจารณาฟังได้ว่า จำเลยเป็นเพียงผู้สนับสนุนการกระทำความผิด ศาลย่อมลงโทษจำเลยฐานเป็นผู้สนับสนุนได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคสอง ประกอบมาตรา 215 และ 225 กับพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3 เพราะข้อแตกต่างดังกล่าวมิใช่เป็นข้อสาระสำคัญและจำเลยมิได้หลงต่อสู้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน
อนึ่ง เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2559 มีพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 25) พ.ศ.2559 ใช้บังคับ โดยมาตรา 5 ให้ยกเลิกความในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 30 และให้ใช้ความใหม่แทน ซึ่งกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิดเป็นคุณกว่ากฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิด จึงให้ใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่จำเลยไม่ว่าในทางใดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง วรรคสาม (2), 66 วรรคสาม ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 และมาตรา 53 จำคุก 33 ปี 4 เดือน และปรับ 666,666.66 บาท หากจำเลยไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 (ที่แก้ไขใหม่) โดยให้กักขังแทนค่าปรับได้เกิน 1 ปี แต่ไม่เกิน 2 ปี