แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คดีแพ่งเรื่องใดจะเป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาหรือไม่ ต้องพิจารณาว่าความผิดในคดีแพ่งต้องอาศัยมูลมาจากการกระทำความผิดในทางอาญาหรือไม่ ถ้าต้องอาศัยก็เป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา คดีนี้เป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ซึ่งมีประเด็นข้อพิพาทโดยตรง เป็นประเด็นเดียวกันว่าที่ดินพิพาททั้งสามสิบสามแปลงเป็นสินส่วนตัวของ ก. หรือเป็นสินสมรสระหว่าง ก. กับพันเอก ก. ดังนี้ เมื่อคำพิพากษาคดีอาญาถึงที่สุด ประเด็นข้อพิพาทคดีนี้เป็นประเด็นโดยตรงในคดีอาญาโดยคำพิพากษาคดีอาญาดังกล่าวได้วินิจฉัยโดยชัดแจ้งว่าที่ดินพิพาททั้งสามสิบสามแปลงเป็นสินส่วนตัวของ ก. และคู่ความในคดีนี้เป็นคู่ความเดียวกับคดีอาญา ในการพิพากษาคดีนี้จำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 46 ปัญหาดังกล่าวแม้ศาลชั้นต้นมิได้กำหนดไว้เป็นประเด็นข้อพิพาทและศาลชั้นต้นกับศาลอุทธรณ์ภาค 2 มิได้วินิจฉัยทั้ง ๆ ที่โจทก์บรรยายฟ้อง และคู่ความนำสืบกับจำเลยทั้งเจ็ดอุทธรณ์ในประเด็นดังกล่าว แต่เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน จำเลยทั้งเจ็ดย่อมมีสิทธิยกขึ้นอ้างในฎีกาซึ่งปัญหาเช่นว่านั้นได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคสอง (เดิม) ซึ่งใช้ขณะยื่นฟ้อง ดังนั้น เมื่อที่ดินพิพาททั้งสามสิบสามแปลงเป็นสินส่วนตัวของ ก. แม้ต่อมาพันเอก ก. ถึงแก่ความตาย ที่ดินพิพาททั้งสามสิบสามแปลงก็ไม่มีส่วนใดเป็นทรัพย์มรดกของพันเอก ก. ซึ่งตกทอดแก่โจทก์ การที่ ก. ทำนิติกรรมโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทแต่ละแปลงให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 โดยเสน่หาไม่มีค่าตอบแทน และจำเลยที่ 4 ทำนิติกรรมโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทบางแปลงที่ตนได้รับให้จำเลยที่ 5 ถึงที่ 7 โดยเสน่หาไม่มีค่าตอบแทนเช่นกัน จึงเป็นสิทธิโดยชอบของ ก. และจำเลยที่ 4
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้พิพากษาว่า จำเลยทั้งเจ็ดถูกกำจัดไม่ให้ได้รับมรดกของพันเอกกาจ และบังคับจำเลยทั้งเจ็ดจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์เฉพาะส่วน จำนวน 1 ใน 7 ส่วน ที่เป็นสินสมรสอันเป็นทรัพย์มรดกของพันเอกกาจ ในที่ดินโฉนดเลขที่ 1388, 7977, 58080, 58081, 58085, 58086, 58099, 58100, 58113, 58119, 58122, 58124, 58126, 59806, 59808, 59809, 67231, 67233, 67264, 67265, 67442, 67457, 67742, 70875 ถึง 70877, 70966, 72735, 73625, 73631, 73634, 73635 และ 81201 รวม 33 แปลง และส่วนอื่นแก่โจทก์ หากไม่ดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งเจ็ด และหากไม่สามารถจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์เฉพาะส่วนในที่ดินให้โจทก์ได้ ให้จำเลยทั้งเจ็ดร่วมกันหรือแทนกันชดใช้เงิน จำนวน 100,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จากต้นเงินจำนวนดังกล่าว นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งเจ็ดให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งเจ็ดจดทะเบียนโอนแบ่งที่ดินพิพาทแต่ละแปลงในส่วนที่เป็นสินสมรสของพันเอกกาจ จำนวน 1 ใน 7 ส่วน ให้แก่โจทก์ โดยขั้นตอนปฏิบัติให้ดำเนินการตามบทบัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1364 คำขออื่นให้ยก ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
จำเลยทั้งเจ็ดอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยทั้งเจ็ดฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามที่คู่ความมิได้โต้แย้งกันและตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ซึ่งจำเลยทั้งเจ็ดมิได้ฎีกาโต้แย้งเช่นกันว่า พันเอกกาจกับนางกฐิน เป็นสามีภริยาโดยชอบด้วยกฎหมาย และมีบุตรร่วมกัน 7 คน เรียงตามลำดับ ดังนี้ โจทก์ นายหาญ จำเลยที่ 3 ที่ 2 ที่ 1 ที่ 4 และนายวรกิจ ตามลำดับ นายวรกิจถึงแก่ความตายแล้ว ส่วนจำเลยที่ 5 ถึงที่ 7 เป็นบุตรของจำเลยที่ 4 นางกฐินเป็นบุตรของหลวงแจ่มวิชาสอนกับนางผิน นางผินเป็นเจ้าของกิจการผลิตและจำหน่ายยาสีฟันวิเศษนิยม ซึ่งต่อมาจดทะเบียนจัดตั้งเป็นนิติบุคคลใช้ชื่อว่า ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคลโรงงานวิเศษนิยม โดยนางกฐินร่วมประกอบกิจการดังกล่าวกับมารดา ส่วนพันเอกกาจประกอบอาชีพรับราชการทหาร หลังจากหลวงแจ่มวิชาสอนกับนางผินถึงแก่ความตาย นางกฐินรับมรดกที่ดินหลายแปลงกับดำเนินกิจการผลิตและจำหน่ายยาสีฟันวิเศษนิยม ต่อมานางกฐินขายที่ดินบางส่วนในกรุงเทพมหานครแล้วซื้อที่ดินในต่างจังหวัดหลายจังหวัด รวมทั้งที่ดินโฉนดเลขที่ 1388, 7977, 58080, 58081, 58085, 58086, 58099, 58100, 58113, 58119, 58122, 58124, 58126, 59806, 59808, 59809, 67231, 67233, 67264, 67265, 67442, 67457, 67742, 70875 ถึง 70877, 70966, 72735, 73625, 73631, 73634, 73635 และ 81201 รวม 33 แปลง ซึ่งคือที่ดินพิพาท โดยเป็นการซื้อในระหว่างสมรสกับพันเอกกาจ เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2532 พันเอกกาจถึงแก่ความตาย โดยมีจำเลยที่ 4 เป็นผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาล หลังจากนั้นวันที่ 10 ตุลาคม 2550 นางกฐินทำนิติกรรมโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 58086 ให้จำเลยที่ 1 โดยเสน่หาไม่มีค่าตอบแทน และวันที่ 11 ตุลาคม 2550 นางกฐินทำนิติกรรมโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 58080, 58081, 58085, 58099, 58100, 58113, 58119, 58122, 58124, 58126, 59806, 59808 และ 59809 ให้จำเลยที่ 1 ทำนิติกรรมโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 70875 ถึง 70877, 70966 และ 81201 ให้จำเลยที่ 2 ทำนิติกรรมโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 1388, 7977, 72735, 73625, 73631, 73634 และ 73635 ให้จำเลยที่ 3 และทำนิติกรรมโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 67231, 67233, 67264, 67265, 67442, 67457 และ 67742 ให้จำเลยที่ 4 ทั้งนี้โดยเสน่หาไม่มีค่าตอบแทน และในวันเดียวกันจำเลยที่ 4 ทำนิติกรรมโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 67231 และ 67457 ให้จำเลยที่ 5 ทำนิติกรรมโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 67442 และ 67742 ให้จำเลยที่ 6 และทำนิติกรรมโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 67233, 67264 และ 67265 ให้จำเลยที่ 7 ทั้งนี้โดยเสน่หาไม่มีค่าตอบแทนเช่นกัน ก่อนฟ้องคดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งเจ็ดด้วยมูลคดีเดียวกันเป็นคดีอาญาฐานร่วมกันยักยอกและร่วมกันรับของโจรต่อศาลชั้นต้นเป็นคดีอาญา หมายเลขดำที่ 8959/2553 ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน จำเลยทั้งเจ็ดฎีกาว่าคดีอาญาดังกล่าวถึงที่สุดแล้ว โดยโจทก์ไม่แก้ฎีกาโต้แย้งให้เห็นเป็นอย่างอื่น ข้อเท็จจริงจึงรับฟังต่อไปได้อีกว่า คดีอาญาหมายเลขแดงที่ 10424/2556 ของศาลชั้นต้น คดีถึงที่สุดแล้ว ส่วนคดีนี้ ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 มิได้ยักย้ายหรือปิดบังทรัพย์มรดกโดยฉ้อฉลหรือรู้อยู่ว่าตนทำให้เสื่อมประโยชน์ของทายาทอื่น จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ไม่เป็นบุคคลผู้ถูกกำจัดมิให้รับมรดกฐานเป็นผู้ไม่สมควร และพิพากษายกคำขอส่วนนี้ โจทก์มิได้อุทธรณ์ ประเด็นดังกล่าวจึงยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยประการแรกตามฎีกาของจำเลยทั้งเจ็ดว่า ที่ดินพิพาททั้งสามสิบสามแปลงเป็นสินส่วนตัวของนางกฐินหรือเป็นสินสมรสระหว่างนางกฐินกับพันเอกกาจ อันจะเป็นเหตุให้ที่ดินส่วนของพันเอกกาจเป็นทรัพย์มรดกตกทอดแก่โจทก์ 1 ใน 7 ส่วน โดยจำเลยทั้งเจ็ดฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายว่า คดีอาญาที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งเจ็ด ตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 10424/2556 ของศาลชั้นต้นถึงที่สุดแล้ว โดยศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยว่า ที่ดินพิพาททั้งสามสิบสามแปลงเป็นสินส่วนตัวของนางกฐิน พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ยกฟ้องโจทก์ คดีนี้ซึ่งเป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาดังกล่าวจึงต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา นั้น เห็นว่า คดีแพ่งเรื่องใดจะเป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาหรือไม่ ต้องพิจารณาว่าความรับผิดในคดีแพ่งต้องอาศัยมูลมาจากการกระทำความผิดในทางอาญาหรือไม่ ถ้าต้องอาศัยก็เป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา สำหรับคดีนี้โจทก์ฟ้องเพื่อบังคับตามตามสิทธิเรียกร้องทางแพ่งขอให้พิพากษาว่าจำเลยทั้งเจ็ดถูกกำจัดไม่ให้ได้รับมรดกของพันเอกกาจ และบังคับจำเลยทั้งเจ็ดจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาททั้งสามสิบสามแปลงเฉพาะส่วน จำนวน 1 ใน 7 ส่วน ที่เป็นสินสมรสอันเป็นทรัพย์มรดกของพันเอกกาจ และส่วนอื่นที่จำเลยทั้งเจ็ดถูกกำจัดมิให้รับมรดกแก่โจทก์ อันสืบเนื่องมาจากกระทำความผิดฐานร่วมกันยักยอกทรัพย์มรดกและร่วมกันรับของโจรที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งเจ็ดเป็นคดีอาญานั่นเอง คดีนี้จึงเป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา และเมื่อตรวจสำเนาคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 หมายเลขแดงที่ 2462/2557 (คดีอาญาหมายเลขแดงที่ 10424/2556 ของศาลชั้นต้น) แล้ว ปรากฏในคดีอาญาดังกล่าว ศาลอุทธรณ์ภาค 2 มีคำวินิจฉัยว่า ”…โจทก์ไม่มีพยานหลักฐานอื่นมาแสดงว่าที่ดินพิพาทเป็นสินสมรสของนางกฐินกับพันเอกกาจ…แต่นางกฐินสามารถเบิกความลำดับเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับคดี รวมทั้งเบิกความตอบคำซักถามทนายความแต่ละฝ่ายได้อย่างครบถ้วนชัดเจนถึงรายละเอียดเกี่ยวกับทรัพย์สินรวมทั้งที่มาที่ไปของทรัพย์สินได้เป็นอย่างดี โดยไม่ปรากฏเหตุให้เคลือบแคลงสงสัยว่าจะถูกครอบงำ…แสดงว่านางกฐินมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์…ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า ที่ดินพิพาทเป็นสินส่วนตัวของนางกฐิน การที่นางกฐินจดทะเบียนให้ที่ดินพิพาทแก่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 และจำเลยที่ 4 จดทะเบียนให้ที่ดินพิพาทส่วนของตนแก่จำเลยที่ 5 ถึงที่ 7 จึงไม่เป็นความผิดตามฟ้อง…” อันเป็นคำชี้ขาดให้ยกฟ้อง โดยมีข้อความชัดเจนในคำวินิจฉัยว่าที่ดินพิพาททั้งสามสิบสามแปลงเป็นสินส่วนตัวของนางกฐิน คดีนี้เป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาดังกล่าวซึ่งมีประเด็นข้อพิพาทโดยตรงเป็นประเด็นเดียวกันว่าที่ดินพิพาททั้งสามสิบสามแปลงเป็นสินส่วนตัวของนางกฐินหรือเป็นสินสมรสระหว่างนางกฐินกับพันเอกกาจ ดังนี้ เมื่อคำพิพากษาคดีอาญาถึงที่สุด ประเด็นข้อพิพาทคดีนี้เป็นประเด็นโดยตรงในคดีอาญาโดยคำพิพากษาคดีอาญาดังกล่าวได้วินิจฉัยไว้อย่างชัดแจ้งว่าที่ดินพิพาททั้งสามสิบสามแปลงเป็นสินส่วนตัวของนางกฐิน และคู่ความในคดีนี้ก็เป็นคู่ความเดียวกับคดีอาญา ในการพิพากษาคดีนี้จำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 ปัญหาดังกล่าวแม้ศาลชั้นต้นมิได้กำหนดไว้เป็นประเด็นข้อพิพาท และศาลชั้นต้นกับศาลอุทธรณ์ภาค 2 มิได้วินิจฉัย ทั้ง ๆ ที่โจทก์บรรยายฟ้องและคู่ความนำสืบกับจำเลยทั้งเจ็ดอุทธรณ์ในประเด็นดังกล่าว แต่เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน จำเลยทั้งเจ็ดย่อมมีสิทธิยกขึ้นอ้างในฎีกาซึ่งปัญหาเช่นว่านั้นได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคสอง (เดิม) ซึ่งใช้ขณะยื่นฟ้อง ดังนั้น เมื่อที่ดินพิพาททั้งสามสิบสามแปลงเป็นสินส่วนตัวของนางกฐิน แม้ต่อมาพันเอกกาจถึงแก่ความตายที่ดินพิพาททั้งสามสิบสามแปลงก็ไม่มีส่วนใดเป็นทรัพย์มรดกของพันเอกกาจซึ่งตกทอดแก่โจทก์ การที่นางกฐินทำนิติกรรมโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทแต่ละแปลงให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 โดยเสน่หาไม่มีค่าตอบแทน และจำเลยที่ 4 ทำนิติกรรมโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทบางแปลงที่ตนได้รับให้จำเลยที่ 5 ถึงที่ 7 โดยเสน่หาไม่มีค่าตอบแทนเช่นกัน จึงเป็นสิทธิโดยชอบของนางกฐินและจำเลยที่ 4 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1892/2559 ที่โจทก์อ้างในคำแก้ฎีกา ข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายไม่ตรงกับคดีนี้ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาในประเด็นข้อนี้มานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาข้อนี้ของจำเลยทั้งเจ็ดฟังขึ้น เมื่อวินิจฉัยดังกล่าวแล้ว ฎีกาของจำเลยทั้งเจ็ดประการอื่นไม่จำต้องวินิจฉัย เพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำขอให้จำเลยทั้งเจ็ดจดทะเบียนโอนแบ่งที่ดินพิพาทแต่ละแปลงในส่วนที่เป็นสินสมรสของพันเอกกาจ จำนวน 1 ใน 7 ส่วน ให้แก่โจทก์ด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ