คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 527/2561

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้จำเลยที่ 2 มีบ้านพักอาศัยอยู่ที่จังหวัดนนทบุรีและได้แจ้งย้ายออกจากบ้านหลังดังกล่าวแล้วโดยไม่ปรากฏว่าได้แจ้งย้ายเข้าที่ใด แสดงว่าจำเลยที่ 2 ไม่มีเจตนาย้ายถิ่นที่อยู่และจงใจจะเปลี่ยนภูมิลำเนาตาม ป.พ.พ. มาตรา 41 ต้องถือว่าจำเลยที่ 2 ยังมีภูมิลำเนาอยู่ที่จังหวัดนนทบุรีก็ตาม แต่จำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัท ธ. ซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตอำนาจศาลชั้นต้น ที่ทำการบริษัทดังกล่าวจึงเป็นสำนักทำการงานที่สำคัญอันเป็นถิ่นที่อยู่ที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของจำเลยที่ 2 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 37 จึงเป็นกรณีที่จำเลยที่ 2 มีภูมิลำเนาหลายแห่ง โจทก์จึงสามารถฟ้องจำเลยที่ 2 ยังภูมิลำเนาแห่งใดก็ได้ และถึงแม้จำเลยที่ 1 ไม่ได้มีภูมิลำเนาและมูลคดีไม่ได้เกิดในเขตอำนาจศาลชั้นต้น แต่เมื่อโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองให้ร่วมรับผิดต่อโจทก์และขณะยื่นฟ้องจำเลยที่ 2 มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตอำนาจศาลชั้นต้น โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องคดีนี้ยังศาลชั้นต้นได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 4 (1) ประกอบมาตรา 5

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชำระเงิน 1,075,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 1,000,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 มีภูมิลำเนาอยู่ที่กรุงเทพมหานคร จำเลยที่ 2 มีภูมิลำเนาอยู่ที่จังหวัดนนทบุรี ทั้งมูลคดีก็ไม่ปรากฏว่าเกิดที่จังหวัดสมุทรสาคร จึงไม่อยู่ในเขตอำนาจของศาลชั้นต้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 4 (1) จึงไม่รับคำฟ้อง คืนค่าขึ้นศาล
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ฎีกาของโจทก์ที่ว่า โจทก์ชอบที่จะเสนอคำฟ้องโจทก์ต่อศาลชั้นต้นได้นั้น เห็นว่า แม้จำเลยที่ 2 มีบ้านพักอาศัยอยู่ที่จังหวัดนนทบุรีและได้แจ้งย้ายออกจากบ้านหลังดังกล่าวโดยไม่ปรากฏว่าได้แจ้งย้ายเข้าที่ใด แสดงว่าจำเลยที่ 2 ไม่มีเจตนาย้ายถิ่นที่อยู่และจงใจจะเปลี่ยนภูมิลำเนาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 41 ต้องถือว่าจำเลยที่ 2 ยังมีภูมิลำเนาอยู่ที่จังหวัดนนทบุรีก็ตาม แต่จำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัทธนกร ไทยฟู้ด จำกัด ซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตอำนาจศาลชั้นต้น ที่ทำการบริษัทดังกล่าวจึงเป็นสำนักทำการงานที่สำคัญอันเป็นถิ่นที่อยู่ที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของจำเลยที่ 2 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 37 อีกทั้งยังปรากฏตามบันทึกการส่งหมายให้จำเลยที่ 2 ไปยังที่ทำการบริษัทดังกล่าวส่งได้โดยวิธีปิดหมาย เนื่องจากคนในบ้านแจ้งว่า จำเลยที่ 2 ออกไปธุระไม่ทราบว่าจะกลับเวลาใด ตามบันทึกการส่งหมายลงวันที่ 15 กรกฎาคม 2560 จึงเป็นกรณีที่จำเลยที่ 2 มีภูมิลำเนาหลายแห่ง โจทก์จึงสามารถฟ้องจำเลยที่ 2 ตามภูมิลำเนาแห่งใดก็ได้ ส่วนที่จำเลยที่ 1 ยื่นคำแก้ฎีกาฉบับลงวันที่ 31 มีนาคม 2560 ว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้มีภูมิลำเนาและมูลคดีไม่ได้เกิดในเขตอำนาจศาลชั้นต้นนั้น เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองให้ร่วมรับผิดต่อโจทก์และขณะยื่นฟ้องจำเลยที่ 2 มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาลชั้นต้น โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องคดีนี้ยังศาลชั้นต้นได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 4 (1) ประกอบมาตรา 5 ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 7 มีคำสั่งไม่รับคำฟ้องของโจทก์เป็นการไม่ชอบ ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้ศาลชั้นต้นรับฟ้องของโจทก์ไว้ดำเนินการต่อไป ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share