แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เมื่อข้อเท็จจริงฟังว่าเงินพิพาทเป็นเงินที่ผู้ถือหุ้นชำระค่าหุ้นตามจำนวนหุ้นที่ผู้ถือหุ้นแต่ละคนถือหุ้นของโจทก์ที่ 1 เงินพิพาทจึงถือเป็นเงินทุนของโจทก์ที่ 1 มิใช่เงินส่วนตัวของโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 41 ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้น เมื่อโจทก์ที่ 1 จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด แล้ว การจัดการบริษัท ความสัมพันธ์ระหว่างบริษัทกับผู้ถือหุ้นและกรรมการ ต้องบังคับตาม ป.พ.พ. บรรพ 3 ลักษณะ 22 หมวด 4 ว่าด้วยบริษัทจำกัด
เมื่อโจทก์ที่ 1 ใช้สิทธิฟ้องร้องจำเลยในฐานะกรรมการที่ทำให้เกิดความเสียหายแก่บริษัท โดยให้จำเลยปิดบัญชีหรือร่วมกันกับผู้มีอำนาจอื่นปิดบัญชีเงินฝากธนาคารและส่งมอบแคชเชียร์เช็คพร้อมส่งมอบ
เงินพิพาทหรือชำระเงินแก่โจทก์ที่ 1 แล้ว โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 41 ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้น จึงไม่ใช่บุคคลที่ถูกโต้แย้งสิทธิตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 และมิใช่กรณีที่บริษัทไม่ยอมฟ้องร้อง อันจะเป็นเหตุให้ผู้ถือหุ้นต้องฟ้องแทน
หรือฟ้องเพื่อประโยชน์ของบริษัท ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1169 วรรคหนึ่ง โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 41 จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้คู่ความไม่ได้ฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยแก้ไขให้ถูกต้องได้
ย่อยาว
โจทก์ทั้ง 41 คน ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินส่วนหนึ่งของค่าก่อสร้างให้แก่โจทก์ที่ 1 ตามสัดส่วนหุ้นที่จำเลยถืออยู่จำนวน 850 หุ้น คิดเป็นร้อยละประมาณ 2.855 ของเงินทั้งหมดที่มีอยู่ในทุกบัญชี หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนา ให้จำเลยกับโจทก์ที่ 2 โจทก์ที่ 8 และนายอดุลย์ร่วมกันปิดบัญชีเงินฝากทั้งหมดทุกบัญชีและนำเงินส่งมอบให้แก่โจทก์ที่ 1 หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนา ให้จำเลยปิดบัญชีและเบิกถอนเงินในบัญชีเงินฝากประจำธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาสี่กั๊กพระยาศรี บัญชีเลขที่ 121-3-041xx-x ซึ่งมีอยู่ในนามของจำเลยและนำเงินส่งมอบให้แก่โจทก์ที่ 1 หรือให้ชำระเงินดังกล่าวให้แก่โจทก์ที่ 1 หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนา และให้จำเลยนำเช็คเงินสดหรือแคชเชียร์เช็คเดินทางไปพร้อมกับโจทก์ที่ 8 และนายอดุลย์ (ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายเกียรติ) เพื่อลงนามร่วมกันเบิกถอนเงินสดตามแคชเชียร์เช็คและนำเงินส่งมอบให้แก่โจทก์ที่ 1 หรือให้ชำระเงินดังกล่าวให้แก่โจทก์ที่ 1 หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยปิดบัญชีเงินฝากธนาคารกรุงไทยจำกัด (มหาชน) สาขาเสาชิงช้า บัญชีเงินฝากประจำ บัญชีเลขที่ 159-2-019xx-x และบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ เลขที่ 159-2-036xx-x ชื่อบัญชี “ทิพย์วารี” บัญชีเงินฝากธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาพาหุรัด ประเภทเงินฝากออมทรัพย์ บัญชีเลขที่ 104-0-332xx-x ชื่อบัญชี “ทิพย์วารี” บัญชีเงินฝากของธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาสี่กั๊กพระยาศรี ประเภทเงินฝากประจำ บัญชีเลขที่ 121-3-041xx-x ชื่อบัญชี จำเลยและ/หรือนายเกียรติ หรือนายอุดม ในส่วนของจำเลย หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาให้จำเลยส่งมอบเงินดังกล่าวให้แก่โจทก์ที่ 1 และให้จำเลยส่งมอบแคชเชียร์เช็คของธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน) เช็คเลขที่ 0200xxx ฉบับลงวันที่ 20 กรกฎาคม 2548 จำนวนเงิน 5,030,270.05 บาท แก่โจทก์ที่ 1 และให้ร่วมกับนายอดุลย์ ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายเกียรติ กับโจทก์ที่ 8 เบิกถอนเงินแล้วนำเงินส่งมอบให้แก่โจทก์ที่ 1 หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 100,000 บาท ให้ยกฟ้อง โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 41 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 41 กับจำเลยให้เป็นพับคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์ทั้ง 41 คน และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ไม่ยกฟ้องโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 41 ให้จำเลยปิดบัญชีเงินฝากธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาเสาชิงช้า ประเภทเงินฝากออมทรัพย์ บัญชีเลขที่ 159-1-036xx-x ชื่อบัญชี “ทิพย์วารี” และให้จำเลยส่งมอบแคชเชียร์เช็คของธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน) เลขที่ 0200xxx ฉบับลงวันที่ 20 กรกฎาคม 2548 จำนวนเงิน 5,030,270.05 บาท แก่โจทก์ที่ 1 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์ทั้ง 41 คน โดยกำหนด ค่าทนายความ 50,000 บาท
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์โดยโจทก์ทั้ง 41 คน และจำเลยไม่โต้แย้งในชั้นฎีกาว่า เมื่อประมาณปี 2522 ผู้ประกอบการค้าในซอยทิพย์วารี ตลาดบ้านหม้อ ถนนบ้านหม้อ แขวงวังบูรพาภิรมย์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร รวมตัวจัดตั้งกลุ่มชื่อ “ชาวบ้านหม้อ (ทิพย์วารี) และจัดตั้งโจทก์ที่ 1 โดยจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีผู้ถือหุ้น 11 คน ทุนจดทะเบียน 550,000 บาท ต่อมาปี 2524 เพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น 29,775,000 บาท ปัจจุบันมีผู้ถือหุ้น 41 คน คือ โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 41 และจำเลย โดยจำเลยเป็นผู้ถือหุ้นและกรรมการตั้งแต่เริ่มตั้งโจทก์ที่ 1 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน สำนักงานใหญ่ตั้งอยู่เลขที่ 105 ถนนบ้านหม้อ แขวงวังบูรพาภิรมย์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร โจทก์ที่ 1 ทำสัญญาเช่าอาคารพาณิชย์และตลาดกลางบ้านหม้อจากกองมรดกของเจ้าพระยาเทเวศร์วงษ์วิวัฒน์ แล้วให้ผู้ถือหุ้นของโจทก์ที่ 1 เช่าช่วงเพื่อประกอบการค้าและอยู่อาศัย ระหว่างนั้นจำเลย นายอุดม และนายเกียรติ ซึ่งเป็นกรรมการของโจทก์ที่ 1 ร่วมกันเปิดบัญชีเงินฝากกับสถาบันการเงินหลายแห่ง ได้แก่ (1) บัญชีเงินฝากธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาเสาชิงช้า ประเภทเงินฝากประจำ บัญชีเลขที่ 159-2-019xx-x ชื่อบัญชี “ทิพย์วารี” (2) บัญชีเงินฝากธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาเสาชิงช้า ประเภทเงินฝากออมทรัพย์ บัญชีเลขที่ 159-1-036xx-x ชื่อบัญชี “ทิพย์วารี” (3) บัญชีเงินฝากธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาพาหุรัด ประเภทเงินฝากออมทรัพย์ บัญชีเลขที่ 104-0-332xxx ชื่อบัญชี “ทิพย์วารี” (4) บัญชีเงินฝากธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาสี่กั๊กพระยาศรี ประเภทเงินฝากประจำ บัญชีเลขที่ 121-3-041xx-x ชื่อบัญชี “นายจินดา และหรือนายเกียรติ หรือนายอุดม” ต่อมาบัญชีเงินฝากนี้นายอดุลย์ ผู้จัดการมรดกของนายเกียรติ และโจทก์ที่ 8 ผู้จัดการมรดกของนายอุดมถอนเงินออกคนละ 1 ใน 3 ส่วน แล้วเปิดบัญชีเงินฝากประเภทออมทรัพย์ที่ธนาคารเดียวกัน บัญชีเลขที่ 121-2-138xx-x ชื่อบัญชี “นายอดุลย์” และบัญชีเลขที่ 121-2-138xx-x ชื่อบัญชี “นายวิฑูร” และมอบสมุดบัญชีเงินฝากให้แก่โจทก์ที่ 1 (5) ตั๋วสัญญาใช้เงินของบริษัทเงินทุนธนชาติ จำกัด (มหาชน) เมื่อครบกำหนดชำระเงินบริษัทเงินทุนธนชาติ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเปลี่ยนเป็นธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน) ได้ออกแคชเชียร์เช็คเลขที่ 0200xxx ลงวันที่ 20 กรกฎาคม 2548 จำนวนเงิน 5,030,270.05 บาท สั่งจ่ายนายอุดม หรือนายเกียรติ หรือนายจินดา
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า เงินพิพาทตามบัญชีเงินฝากธนาคารและแคชเชียร์เช็คเป็นของโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 41 โดยมีชื่อจำเลย นายเกียรติ และนายอุดมในฐานะตัวแทนหรือไม่ เห็นว่า นางกนกรัตน์ซึ่งทำหน้าที่ด้านการเงินของโจทก์ที่ 1 เบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านยืนยันว่า มีการทำบันทึกการรับเงินจากสมาชิกเป็นสมุดจีนเล่มยาว เมื่อนายสนั่นประธานกรรมการถึงแก่ความตาย จำเลยเป็นประธานกรรมการแทน พยานส่งมอบบันทึกการรับเงินจากสมาชิกให้แก่จำเลย 13 เล่ม เป็นสมุดบัญชีปี 2524 ถึงปี 2536 ส่วนสมุดบัญชีปี 2537 อยู่ที่พยาน อีกทั้งนายอดุลย์และโจทก์ที่ 8 ต่างเบิกความยืนยันว่า นายเกียรติและนายอุดมซึ่งเป็นบิดาได้สั่งเสีย ก่อนถึงแก่ความตายว่าเงินพิพาทไม่ใช่เงินมรดก แต่เป็นเงินของสมาชิกสะสมไว้ให้ปิดบัญชีแล้วส่งมอบเงินพิพาทแก่โจทก์ที่ 1 แม้พยานทั้งสองได้รับค่าตอบแทนตามมติผู้ถือหุ้นของโจทก์ที่ 1 คนละ 6,000,000 บาท ก็ตาม แต่เงินพิพาทมีจำนวนมากกว่ามาก หากมีการแบ่งเงินพิพาทกับจำเลยตามสิทธิของบิดาพยานทั้งสองซึ่งจำเลยอ้างว่าเป็นหุ้นส่วนกันแล้วพยานทั้งสองจะได้รับส่วนแบ่งมากกว่าค่าตอบแทนดังกล่าว จึงไม่น่าเชื่อว่าการได้รับค่าตอบแทนจะเป็นสาเหตุให้พยานทั้งสองเบิกความเข้าข้างโจทก์ทั้ง 41 คน ส่วนที่จำเลยอ้างว่า พยานทั้งสองจะได้รับผลประโยชน์จากการบริหารกิจการของโจทก์ที่ 1 อีกมากนั้น ก็เป็นเพียงการคาดคะเนของจำเลย ไม่น่าจะเป็นมูลเหตุจูงใจให้พยานทั้งสองเบิกความเข้าข้างโจทก์ทั้ง 41 คน นอกจากนี้ จำเลยยังลงลายมือชื่อในรายงานการประชุมเป็นการบ่งชี้ว่าจำเลยทราบเรื่องที่โจทก์ที่ 1 จะต้องสร้างอาคารพาณิชย์ใหม่ตามเงื่อนไขที่ผู้ให้เช่ากำหนด โดยผู้ถือหุ้นจะต้องร่วมกันออกค่าใช้จ่ายและมีการเก็บเงินสะสมเข้ากองทุน แม้ภาระการพิสูจน์ว่าเงินพิพาทเป็นของโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 41 หรือไม่ ตกแก่โจทก์ทั้ง 41 คน ซึ่งเป็นฝ่ายกล่าวอ้างดังที่จำเลยฎีกาก็ตาม แต่การวินิจฉัยข้อเท็จจริงว่าเป็นเช่นใดนั้น จำต้องฟังพยานหลักฐานที่ทั้งสองฝ่ายนำสืบว่าฝ่ายใดมีน้ำหนักมากกว่ากัน ซึ่งเห็นว่าพยานหลักฐานของโจทก์ทั้ง 41 คน มีน้ำหนักมากกว่าพยานหลักฐานของจำเลย ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าเงินพิพาทเป็นเงินของโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 41 ส่งมอบให้แก่โจทก์ที่ 1 แล้วโจทก์ที่ 1 นำฝากธนาคารและซื้อตั๋วสัญญาใช้เงิน โดยมีจำเลย นายเกียรติ และนายอุดมเป็นผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ที่ 1 หาใช่ว่าเป็นเงินลงทุนและผลกำไรของห้างหุ้นส่วนสามัญที่มีจำเลย นายเกียรติ และนายอุดมเป็นหุ้นส่วนดังที่จำเลยฎีกาไม่ แต่ข้อเท็จจริงตามรายงานการประชุมเอกสารที่ว่า มีผู้เช่าอาคารบ้านหม้อประสงค์จะร่วมลงทุนกับโจทก์ที่ 1 เพิ่มขึ้นจึงได้เพิ่มทุนจดทะเบียน และหนังสือรับรองที่ว่า เดิมโจทก์ที่ 1 มีทุนจดทะเบียน 550,000 บาท ภายหลังเพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น 29,775,000 บาท แบ่งเป็น 29,775 หุ้น มูลค่าหุ้นละ 1,000 บาท และได้ความจากพยานทั้งสี่ดังกล่าวข้างต้นของโจทก์ทั้ง 41 คน ว่า เงินพิพาทเป็นเงินที่ผู้ถือหุ้นส่งมอบให้แก่โจทก์ที่ 1 เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างอาคารพาณิชย์และต่อสัญญาเช่ากับกองมรดกของเจ้าพระยาเทเวศร์วงษ์วิวัฒน์ โจทก์ที่ 1 นำเงินพิพาททยอยฝากธนาคารและซื้อตั๋วสัญญาใช้เงิน ผู้ถือหุ้นมีส่วนในเงินพิพาทเท่ากับจำนวนหุ้นที่ถือ เช่นแสดงว่าเงินพิพาทเป็นเงินที่ผู้ถือหุ้นชำระค่าหุ้นที่ผู้ถือหุ้นแต่ละคนถือในบริษัทโจทก์ที่ 1 และดอกผลที่เกิดขึ้น ประกอบกับรายงานการประชุมผู้ถือหุ้นที่พิเศษ 2550 ก็มีข้อความระบุว่า เงินพิพาทเป็นของโจทก์ที่ 1 เงินพิพาทจึงไม่ใช่เป็นเงินส่วนตัวของโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 41 ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้น แต่เป็นเงินทุนของโจทก์ที่ 1 ซึ่งจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ดังนั้น วิธีการจัดการบริษัทจำกัด ความสัมพันธ์ระหว่างบริษัทกับผู้ถือหุ้นและกรรมการ จึงต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 3 ลักษณะ 22 หมวด 4 ว่าด้วยบริษัทจำกัด เมื่อเงินพิพาทไม่ใช่เป็นเงินส่วนตัวของโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 41 แต่เป็นเงินทุนของโจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 1 ฟ้องร้องจำเลยในฐานะกรรมการที่ทำให้เกิดความเสียหายแก่บริษัท โดยให้จำเลยปิดบัญชีหรือร่วมกับผู้มีอำนาจอื่นปิดบัญชีเงินฝากธนาคารและส่งมอบแคชเชียร์เช็คพร้อมกับส่งมอบเงินพิพาทหรือชำระเงินให้แก่โจทก์ที่ 1 แล้ว โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 41 ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นจึงไม่ใช่บุคคลที่ถูกโต้แย้งสิทธิ และกรณีมิใช่บริษัทไม่ยอมฟ้องร้องอันจะเป็นเหตุให้ผู้ถือหุ้นต้องฟ้องแทนหรือฟ้องเพื่อประโยชน์ของบริษัทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1169 วรรคหนึ่ง โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 41 จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้คู่ความมิได้ฎีกา แต่ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) เมื่อจำเลยเป็นกรรมการของโจทก์ที่ 1 ความเกี่ยวพันกันในระหว่างกรรมการและบริษัทจึงต้องบังคับตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยตัวแทน ตามมาตรา 1167 จำเลยซึ่งอยู่ในฐานะตัวแทนจึงต้องทำตามหน้าที่โดยปิดบัญชีหรือร่วมกับผู้มีอำนาจอื่นปิดบัญชีเงินฝากธนาคาร และส่งมอบแคชเชียร์เช็คพร้อมกับส่งมอบเงินพิพาทหรือชำระเงินให้แก่โจทก์ที่ 1 ตามความประสงค์ของโจทก์ที่ 1 ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น ฎีกาข้ออื่นของจำเลยนอกจากนี้ไม่เป็นสาระควรแก่การวินิจฉัยเพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลง ศาลฎีกาจึงไม่วินิจฉัยให้
อนึ่ง ศาลอุทธรณ์พิพากษาอนุญาตให้โจทก์ทั้ง 41 คน แก้ไขคำฟ้องฉบับลงวันที่ 10 เมษายน 2555 ตามคำพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ 3187/2555 หมายเลขแดงที่ 1342/2557 แต่ศาลอุทธรณ์มิได้พิพากษาในส่วนที่โจทก์ทั้ง 41 คน ขอแก้ไขคำฟ้อง จึงเป็นการไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 วรรคหนึ่ง ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้คู่ความมิได้ฎีกา แต่ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5)
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 41 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 41 กับจำเลยทั้งสามศาลให้เป็นพับ สำหรับบัญชีเงินฝากประจำของธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาสี่กั๊กพระยาศรี บัญชีเลขที่ 121-3-041xx-x ซึ่งอยู่ในนามของจำเลย ให้จำเลยปิดบัญชีและนำเงินส่งมอบให้แก่โจทก์ที่ 1 หรือชำระเงินให้แก่โจทก์ที่ 1 ส่วนแคชเชียร์เช็คของธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน) เลขที่ 0200xxx ลงวันที่ 20 กรกฎาคม 2548 จำนวนเงิน 5,030,270.05 บาท ให้จำเลยส่งมอบแก่โจทก์ที่ 1 และร่วมกับนายอดุลย์ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายเกียรติ กับโจทก์ที่ 8 เบิกถอนเงินและนำเงินส่งมอบให้แก่โจทก์ที่ 1 หรือชำระเงินให้แก่โจทก์ที่ 1 หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา 100,000 บาท แทนโจทก์ที่ 1