คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8913/2560

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยทั้งสามยื่นคำให้การข้อ 1 โดยบรรยายว่า จำเลยทั้งสามขอให้การตัดฟ้องของโจทก์ในประเด็นข้อกฎหมายว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสาม กล่าวคือ เมื่อพิจารณาคำฟ้องของโจทก์ในข้อ 2 แล้ว โจทก์บรรยายฟ้องทำนองว่า ในปี 2548 ถึงปี 2549 โจทก์และจำเลยที่ 2 ตกลงเข้าร่วมหุ้นกันทำธุรกิจผลิตและจำหน่ายลูกชิ้นหมูปิ้งเพื่อวัตถุประสงค์จะแบ่งปันกำไรอันจะพึงได้จากกิจการที่ร่วมหุ้นกันนั้น การบรรยายฟ้องของโจทก์ดังกล่าวมีลักษณะเป็นการตกลงทำธุรกิจในรูปแบบของห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แต่การที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 จดทะเบียนจัดตั้งจำเลยที่ 1 ขึ้นมาถือได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลต่างหากจากผู้เป็นหุ้นส่วนทั้งหมด ดังนั้น จะถือว่าโจทก์เป็นหุ้นส่วนในกิจการของจำเลยที่ 1 มิได้ หากโจทก์เห็นว่าจำเลยที่ 2 ในฐานะหุ้นส่วนในกิจการห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียนจัดตั้งจำเลยที่ 1 เพื่อประกอบธุรกิจในลักษณะและประเภทเดียวกันหรือมีสภาพดุจเดียวกันแล้ว โจทก์มีสิทธิที่จะเรียกร้องเอาผลกำไรหรือค่าสินไหมทดแทนจากการที่จำเลยที่ 2 ประกอบกิจการค้าแข่งเท่านั้น โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องบังคับให้จำเลยทั้งสามใส่ชื่อโจทก์เข้าเป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดในห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ 1 คำให้การของจำเลยทั้งสามไม่มีข้อความใดยอมรับว่าโจทก์และจำเลยที่ 2 ตกลงเข้าหุ้นส่วนกันตามฟ้อง หากแต่เป็นการอ้างเนื้อความตามคำฟ้องมาเพื่อให้การต่อสู้คดีในเรื่องอำนาจฟ้องเป็นข้อแรกทำนองว่าหากเป็นดังที่โจทก์ฟ้อง โจทก์ต้องเรียกร้องผลกำไรหรือค่าสินไหมทดแทนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1038 จะฟ้องให้ใส่ชื่อโจทก์เข้าเป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนจำกัด จำเลยที่ 1 ไม่ได้ อีกทั้งคำให้การในข้อ 3 จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธอย่างชัดแจ้งว่า โจทก์กับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ต่างประกอบอาชีพมีธุรกิจเป็นส่วนตัวไม่ได้เป็นหุ้นส่วนกัน คดีจึงมีประเด็นข้อพิพาทว่าโจทก์และจำเลยที่ 2 ตกลงเข้าหุ้นส่วนกันตามฟ้องหรือไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันจดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์ในทะเบียนห้างหุ้นส่วนจำกัดของจำเลยที่ 1 ในฐานะหุ้นส่วนไม่จำกัดความรับผิดนับแต่วันที่ศาลพิพากษาเป็นต้นไป หากจำเลยทั้งสามไม่ดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนา
จำเลยทั้งสามให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมเป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์และจำเลยทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังว่า โจทก์และจำเลยที่ 2 เป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน จำเลยที่ 2 เป็นภริยาของจำเลยที่ 3 เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2550 จำเลยที่ 1 จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด มีวัตถุประสงค์ผลิตและจำหน่ายลูกชิ้นหมูปิ้ง โดยใช้ชื่อว่า ทิพย์อำนวย ปัจจุบันมีจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ
เห็นสมควรวินิจฉัยปัญหาตามฎีกาของจำเลยทั้งสามเสียก่อนว่า ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยนอกประเด็นหรือไม่ โดยจำเลยทั้งสามฎีกาว่า จำเลยทั้งสามให้การไว้อย่างชัดแจ้งในข้อ 3 ว่า จำเลยที่ 2 ไม่เคยตกลงร่วมหุ้นกับโจทก์ในการผลิตและจำหน่ายลูกชิ้นหมูปิ้งเพื่อประสงค์จะแบ่งกำไรกัน โจทก์และจำเลยที่ 2 ต่างประกอบอาชีพของตนเอง กิจการผลิตและจำหน่ายลูกชิ้นหมูปิ้งเป็นของจำเลยที่ 2 และที่ 3 เท่านั้น คดีจึงมีประเด็นข้อพิพาทว่าโจทก์และจำเลยที่ 2 ตกลงเข้าหุ้นส่วนกันผลิตและจำหน่ายลูกชิ้นหมูปิ้งหรือไม่ การที่ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นนี้และวินิจฉัยถึงความเป็นหุ้นส่วนระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 2 จึงหาเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยไม่ และคดีไม่มีประเด็นข้อพิพาทว่าจำเลยที่ 2 จดทะเบียนจัดตั้งจำเลยที่ 1 เพื่อประกอบกิจการค้าแข่งกับกิจการของห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียนที่โจทก์อ้างว่าโจทก์กับจำเลยที่ 2 จัดตั้งขึ้นหรือไม่ ศาลอุทธรณ์หยิบยกประเด็นดังกล่าวขึ้นวินิจฉัยเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น นั้น สำหรับเรื่องความเป็นหุ้นส่วนระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 2 เห็นว่า จำเลยทั้งสามยื่นคำให้การข้อ 1 โดยบรรยายว่า จำเลยทั้งสามขอให้การตัดฟ้องของโจทก์ในประเด็นข้อกฎหมายว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสาม กล่าวคือ เมื่อพิจารณาคำฟ้องของโจทก์ในข้อ 2 แล้ว โจทก์บรรยายฟ้องมาในทำนองว่า ในปี 2548 ถึงปี 2549 โจทก์และจำเลยที่ 2 ตกลงเข้าร่วมหุ้นกันทำธุรกิจผลิตและจำหน่ายลูกชิ้นหมูปิ้งเพื่อวัตถุประสงค์จะแบ่งปันกำไรอันจะพึงได้จากกิจการที่ร่วมหุ้นกันนั้น การบรรยายฟ้องของโจทก์ดังกล่าวมีลักษณะเป็นการตกลงทำธุรกิจในรูปแบบของห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แต่การที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 จดทะเบียนจัดตั้งจำเลยที่ 1 ขึ้นมาถือได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลต่างหากจากผู้เป็นหุ้นส่วนทั้งหมดซึ่งรวมกันเข้าเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียน ดังนั้นจะถือว่าโจทก์เป็นหุ้นส่วนในกิจการของจำเลยที่ 1 มิได้ หากโจทก์เห็นว่าจำเลยที่ 2 ในฐานะหุ้นส่วนในกิจการของห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียนไปดำเนินการจดทะเบียนจัดตั้งจำเลยที่ 1 ขึ้นมาเพื่อประกอบธุรกิจในลักษณะและประเภทเดียวกันหรือมีสภาพดุจเดียวกัน และเป็นการแข่งขันกับกิจการของห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียนแล้ว ไม่ว่าจำเลยที่ 2 จะกระทำเพื่อประโยชน์ของตนเองหรือประโยชน์ของผู้อื่นโดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ในฐานะหุ้นส่วนคนหนึ่ง โจทก์ย่อมมีสิทธิตามกฎหมายที่จะเรียกร้องเพียงเพื่อเอาผลกำไรหรือเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนเพื่อการที่ห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียนได้รับความเสียหายจากการที่จำเลยที่ 2 ประกอบกิจการค้าแข่งเท่านั้น โจทก์หามีสิทธิที่จะฟ้องร้องบังคับให้จำเลยทั้งสามใส่ชื่อโจทก์เข้าเป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดในห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ 1 ไม่ คำให้การของจำเลยทั้งสามในข้อนี้ไม่มีข้อความใดที่จำเลยทั้งสามยอมรับว่าโจทก์และจำเลยที่ 2 ตกลงเข้าหุ้นส่วนกันตามฟ้อง หากแต่เป็นการอ้างเนื้อความตามคำฟ้องมาเพื่อให้การต่อสู้ในเรื่องอำนาจฟ้องเป็นข้อแรกทำนองว่า หากเป็นดังที่โจทก์ฟ้อง โจทก์ต้องฟ้องเรียกร้องผลกำไรหรือค่าสินไหมทดแทนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1038 จะฟ้องให้ใส่ชื่อโจทก์เข้าเป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ 1 ไม่ได้ อีกทั้งคำให้การในข้อ 3 จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธอย่างชัดแจ้งว่า โจทก์กับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ต่างประกอบอาชีพมีธุรกิจเป็นส่วนตัว ไม่ได้เป็นหุ้นส่วนกัน การประกอบกิจการของจำเลยที่ 1 เป็นธุรกิจส่วนตัวของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่เกี่ยวกับโจทก์เช่นนี้ คดีจึงมีประเด็นข้อพิพาทว่าโจทก์และจำเลยที่ 2 ตกลงเข้าหุ้นส่วนกันตามฟ้องหรือไม่ ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าคดีไม่มีประเด็นดังกล่าว แล้วรับฟังตามคำฟ้องว่าโจทก์และจำเลยที่ 2 ตกลงเข้าหุ้นส่วนกันผลิตและจำหน่ายลูกชิ้นหมูนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทั้งสามฟังขึ้น และเนื่องจากปัญหาว่าโจทก์และจำเลยที่ 2 ตกลงเข้าหุ้นส่วนกันตามฟ้องหรือไม่ เป็นปัญหาที่โจทก์ยกขึ้นอุทธรณ์ไว้และศาลอุทธรณ์ยังไม่ได้วินิจฉัย แต่เมื่อคู่ความสืบพยานกันจนเสร็จสิ้นและคดีขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลฎีกาแล้ว ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวโดยไม่ย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า โจทก์และจำเลยที่ 2 ตกลงเข้าหุ้นส่วนกันประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายลูกชิ้นหมูปิ้งตามฟ้องหรือไม่ โดยโจทก์อุทธรณ์สรุปความได้ว่า โจทก์นำสืบพยานหลักฐานถึงความเป็นมาของการประกอบธุรกิจหรือกิจการในครอบครัวคนจีนหรือกงสี เริ่มตั้งแต่โจทก์แต่งงานแบ่งทรัพย์สินและรายได้จากกงสีของครอบครัวสามีโจทก์ รวมกับเงินที่บิดาโจทก์ให้มาได้เกือบ 1,000,000 บาท มาตั้งเป็นกงสีของตนเองนับแต่นั้นมา และโจทก์เลี้ยงดูน้องๆ อีก 4 คน ซึ่งรวมจำเลยที่ 2 ด้วย โจทก์มีฐานะมั่นคงสามารถช่วยเหลือน้อง ๆ ได้ ก่อนที่โจทก์กับจำเลยที่ 2 จะเริ่มตกลงร่วมหุ้นกันทำธุรกิจต่าง ๆ ตามลำดับ และจำเลยที่ 2 ไม่แบ่งผลกำไรในกิจการต่าง ๆ ให้แก่โจทก์ ซึ่งท้ายที่สุดเงินส่วนดังกล่าวได้นำมาเป็นเงินทุนส่วนหนึ่งของโจทก์ใช้ในการลงทุนร่วมทำธุรกิจต่อ ๆ ไปกับจำเลยที่ 2 จนมาถึงธุรกิจผลิตและจำหน่ายลูกชิ้นหมูปิ้ง พยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักรับฟังได้มากกว่าพยานหลักฐานของจำเลยทั้งสาม การร่วมหุ้นกันระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 มีลักษณะเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียน เป็นการตั้งขึ้นเพื่อสร้างธุรกิจร่วมกันระหว่างญาติพี่น้องที่ต้องเลี้ยงดูช่วยเหลือเกื้อกูลกันให้ธุรกิจสามารถเลี้ยงครอบครัวในลักษณะกงสี แต่จำเลยที่ 2 นำเอากิจการดังกล่าวไปจดทะเบียนเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ 1 เป็นการเอากิจการที่มีอยู่เดิมไปจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลใหม่ มิใช่จำเลยที่ 2 ทำธุรกิจใหม่หรือเข้าหุ้นใหม่กับบุคคลอื่น นั้น เห็นว่า โจทก์ฟ้องอ้างว่าประมาณปี 2548 ถึงปี 2549 โจทก์กับจำเลยที่ 2 ตกลงร่วมกันทำธุรกิจผลิตลูกชิ้นหมูและจำหน่ายลูกชิ้นหมูปิ้งเพื่อประสงค์จะแบ่งปันผลกำไรอันจะพึงได้จากกิจการที่ลงหุ้นร่วมกัน โดยโจทก์มีหน้าที่คิดคำนวณหาปริมาณสัดส่วนที่เหมาะสมของวัตถุดิบที่จะนำมาทำเป็นลูกชิ้นและดูแลการผลิตลูกชิ้น ส่วนจำเลยที่ 2 ทำหน้าที่ฝ่ายขาย ทำการขยายตลาดและขยายร้านค้า ต่อมาวันที่ 29 มิถุนายน 2550 จำเลยที่ 2 แอบนำธุรกิจผลิตลูกชิ้นหมูและจำหน่ายลูกชิ้นหมูปิ้งไปจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ 1 โดยไม่ได้แจ้งหรือบอกกล่าวให้โจทก์ทราบและไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ในฐานะหุ้นส่วน จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธว่า จำเลยที่ 2 ไม่เคยตกลงกับโจทก์เพื่อร่วมหุ้นกันทำธุรกิจผลิตและจำหน่ายลูกชิ้นปิ้งตามที่โจทก์กล่าวอ้าง โจทก์จึงมีภาระการพิสูจน์ให้ได้ความตามที่กล่าวอ้างโดยโจทก์อ้างตนเองกับนางสาวนริสา และนางสาวนรารัตน์ บุตรของโจทก์เป็นพยานเบิกความถึงการประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายลูกชิ้นหมูทำนองเดียวกันว่า โจทก์เป็นบุตรคนโตเกิดในครอบครัวคนจีน มีชื่อเล่นว่า “ติ๋ม” โจทก์เคยร่วมกับจำเลยที่ 2 ประกอบกิจการร้านขายรองเท้าแฟชั่น โดยมีนางสาวนริสาช่วยจำเลยที่ 2 ในการประกอบกิจการ โจทก์ได้โอนเงินลงทุนจำนวน 1,000,000 บาท เข้าบัญชีเงินฝากธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบัญชีของจำเลยที่ 3 แต่กิจการขายรองเท้าแฟชั่นขาดทุน โจทก์กับนางสาวนริสาจึงปรึกษากันว่าจะประกอบกิจการร้านขายขนมเครปญี่ปุ่น โดยให้จำเลยที่ 2 และนางสาวนริสาขายลดสต็อกรองเท้าแฟชั่นเพื่อปิดกิจการ และนำเงินที่ได้ไปลงทุนเปิดร้านขายขนมเครปที่จังหวัดเชียงใหม่โดยใช้ชื่อว่า “มิสเตอร์เครป” ต่อมาจำเลยที่ 2 แยกไปเปิดร้านขายขนมเครปของตนเองอีกร้านหนึ่ง โดยโจทก์สอนสูตรการทำขนมเครปให้ จำเลยที่ 2 นำสูตรการทำขนมเครปของโจทก์ไปขายให้บุคคลอื่นทำให้ยอดขายตก โจทก์จึงย้ายไปประกอบกิจการร้านขายขนมเครปที่ภาคอีสานปรากฏว่ากิจการไม่ดี โจทก์กับนางสาวนริสาจึงเปลี่ยนมาประกอบกิจการขายไอศกรีม โดยมีจำเลยที่ 2 ร่วมลงทุนด้วย โจทก์สอนสูตรการทำของเชื่อมให้จำเลยที่ 2 โจทก์จะได้รับส่วนแบ่งกำไร 1 ใน 3 การประกอบกิจการดังกล่าวต้องใช้รถยนต์กระบะ โจทก์ได้โอนเงินให้จำเลยที่ 2 จำนวน 65,000 บาท ใช้ชื่อทางการค้าว่า ทิพย์สุคนธ์ เมื่อโจทก์เห็นว่าธุรกิจอยู่ตัว โจทก์จึงเปิดร้านก๋วยเตี๋ยวหมูต้มยำสูตรมะนาวตามที่เคยตั้งใจมานาน โดยนำไอศกรีมทิพย์สุคนธ์มาขายด้วยและทดลองทำลูกชิ้นหมูแต่ยังไม่สำเร็จ ต่อมาโจทก์ปรึกษากับจำเลยที่ 2 ว่าธุรกิจไอศกรีมเริ่มอยู่ตัวอยากทำธุรกิจเพิ่มและเล่าเรื่องที่ทดลองทำลูกชิ้นหมูแต่ยังไม่สำเร็จให้จำเลยที่ 2 ฟัง จำเลยที่ 2 สนใจจึงปรึกษาโจทก์ว่าจะทำธุรกิจลูกชิ้นหมูปิ้งขาย โจทก์บอกว่ามีสูตรน้ำจิ้มปลาหมึกย่างน่าจะนำมาจิ้มกับลูกชิ้นปิ้งได้ จึงปรึกษากันว่าช่วงแรกจะรับลูกชิ้นหมูของบุคคลอื่นมาปิ้งขายก่อน โดยโจทก์เป็นผู้ทำน้ำจิ้ม โจทก์กับจำเลยที่ 2 จึงตกลงขายกิจการไอศกรีมทิพย์สุคนธ์ให้แก่นางนงลักษณ์ ไปในราคา 2,000,000 บาท ประมาณปี 2548 หรือปี 2549 โจทก์กับจำเลยที่ 2 จึงเริ่มทำธุรกิจลูกชิ้นหมูปิ้งด้วยกัน โดยนำเงินที่ขายกิจการไอศกรีมจำนวน 2,000,000 บาท กับเงินส่วนแบ่งของโจทก์จากการขายขนมเครปที่ยังอยู่ที่จำเลยที่ 2 อีก 2,000,000 บาท รวมเป็นเงินของโจทก์ 3,000,000 บาท ของจำเลยที่ 2 จำนวน 1,000,000 บาท มาลงหุ้นทำธุรกิจลูกชิ้นหมู โดยใช้ชื่อทางการค้าว่า ลูกชิ้นทิพย์ เบิกความอีกตอนหนึ่งว่า เริ่มแรกสั่งลูกชิ้นหมูของบุคคลอื่นมาขาย และระหว่างนั้นโจทก์ นางสาวนริสา และจำเลยที่ 2 ร่วมกันทดลองทำลูกชิ้นหมูเองด้วย โจทก์ร่วมหุ้นกับจำเลยที่ 2 เพียงสองคน โดยโจทก์ยังคงขายก๋วยเตี๋ยวอยู่ที่เดิมและเข้ามาดูกิจการเป็นระยะๆ ในการขายลูกชิ้นปิ้งมีการเช่าตึกแถวเลขที่ 12/12 ทำเป็นโรงงานผลิตลูกชิ้น ตอนแรกเมื่อคิดสูตรลูกชิ้นสำเร็จก็เริ่มสั่งเครื่องจักรเล็ก ๆ มีเครื่องตีเนื้อหมู เครื่องปั้นลูกชิ้น โจทก์เป็นผู้ควบคุมการผลิต เมื่อขายลูกชิ้นปิ้งได้กำไรก็เอาเงินไปลงทุนซื้อเครื่องจักรมาเพิ่ม ซื้อตึกแถวด้านข้างเพื่อขยายพื้นที่ของโรงงานเป็น 5 ห้อง ซื้อที่ดินด้านหลังตึกแถวเพิ่มขึ้น ต่อมาประมาณต้นปี 2550 มียอดขายประมาณเดือนละ 5,000,000 บาท ถึง 6,000,000 บาท เนื่องจากขยายกิจการโรงงานไปเรื่อยๆจึงยังไม่ได้แบ่งปันผลกำไรแก่กัน โจทก์ นางสาวนริสา และจำเลยที่ 2 ตกลงร่วมกันที่จะแปรสภาพจากห้างหุ้นส่วนสามัญเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด เพราะขยายกิจการเข้าไปขายในห้างสรรพสินค้า จึงร่วมกันตั้งชื่อว่าห้างหุ้นส่วนจำกัด ทิพย์อำนวย กำหนดว่าจะจดทะเบียนด้วยทุนจำนวน 600,000 บาท แบ่งเป็นคนละ 300,000 บาท แต่โจทก์ไม่ได้นำนางนงลักษณ์มาเป็นพยานเบิกความเพื่อยืนยันสนับสนุนให้เห็นว่าโจทก์มีส่วนแบ่ง 1,000,000 บาท จากการขายกิจการไอศกรีมดังกล่าวจริง ไม่มีพยานหลักฐานอย่างอื่นที่มีน้ำหนักน่ารับฟังว่าโจทก์มีส่วนแบ่งจากการขายเครปที่ยังอยู่ที่จำเลยที่ 2 จำนวน 2,000,000 บาท โจทก์อ้างว่ามีน้อง 5 คน มีบางคนที่ทราบข้อตกลงเรื่องการทำกิจการลูกชิ้นระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 แต่ก็ไม่ได้นำน้องคนที่ทราบถึงข้อตกลงดังกล่าวมาเบิกความ ไม่ปรากฏที่มาหรือเหตุผลที่โจทก์และจำเลยที่ 2 ตกลงจะจดทะเบียนจัดตั้งจำเลยที่ 1 โดยกำหนดว่าลงหุ้นคนละ 300,000 บาท ทั้งๆ ที่อ้างว่าลงหุ้นไป 3,000,000 บาท และโจทก์ซึ่งเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียว กันกับจำเลยที่ 2 ก็ไม่ได้ไปร่วมงานวันเปิดทำการกิจการห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ 1 เพราะจำเลยที่ 2 ไม่ได้แจ้งและไม่ได้เชิญให้ไปร่วมงานทั้ง ๆ ที่ก็อ้างว่าเข้ามาดูกิจการเป็นระยะๆ และที่ทำการของจำเลยที่ 1 ก็อยู่ในละแวกใกล้เคียงกับร้านขายก๋วยเตี๋ยวของโจทก์สามารถเดินถึงกันได้ นอกจากนี้ที่อ้างว่าเงินที่ใช้ซื้อที่ดินซึ่งเป็นที่ตั้งที่ทำการจำเลยที่ 1 และที่ตั้งโรงงานเป็นเงินที่ร่วมลงทุนระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 มาแต่ต้น โดยมอบหมายให้จำเลยที่ 2 เป็นผู้ดำเนินการ แต่กลับไม่ทราบว่าใส่ชื่อใครเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ และไม่ทราบว่าจำเลยที่ 2 จะนำเงินจำนวนเท่าใดไปซื้อที่ดินที่ตั้งโรงงาน จำเลยที่ 2 ไม่เคยนำเอกสารสัญญาซื้อขายที่ดินมาให้ดู โดยไม่ปรากฏเหตุผลที่ไม่ทราบไม่ตรวจสอบ ทั้ง ๆ ที่ก็อ้างว่าก่อนหน้านี้จำเลยที่ 2 เคยประพฤติผิดข้อตกลงนำสูตรเครปไปขายกับซื้อบ้านพร้อมที่ดินที่จังหวัดเชียงใหม่แต่กลับใส่ชื่อจำเลยที่ 3 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ โดยรับปากว่าจะโอนคืนให้ในภายหลัง ทำให้โจทก์ต้องเสียใจรวมถึงไม่ทราบว่าจำเลยที่ 2 จะไปขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินมาลงทุนทำกิจการหรือไม่ อันเป็นเรื่องที่ผิดวิสัยของผู้เป็นหุ้นส่วนในกิจการที่มีหุ้นส่วนกันอยู่เพียง 2 คน ซึ่งต่างมีหน้าที่รับผิดชอบในกิจการดังกล่าว ส่วนจำเลยทั้งสามมีจำเลยที่ 2 เป็นพยานเบิกความปฏิเสธว่า ไม่ได้ทำธุรกิจขายขนมเครปร่วมกับโจทก์ เงิน 100,000 บาท และ 65,000 บาท เป็นเงินยืมและคืนระหว่างกัน จำเลยที่ 2 และที่ 3 ทำธุรกิจไอศกรีมโดยซื้อที่ดินพร้อมตึกแถว 2 คูหา ใช้เป็นโรงงานผลิต ตามสำเนาสัญญาซื้อขายที่ดินและสำเนาโฉนดที่ดิน ซึ่งระบุว่าเมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2546 จำเลยที่ 2 และที่ 3 ซื้อตึกแถวสามชั้นเลขที่ 93/70 และเลขที่ 93/71 ในราคา 2,000,000 บาท ปรากฏตามสารบัญจดทะเบียนท้ายโฉนดที่ดินทั้งสองแปลงว่า ในวันเดียวกันจำเลยที่ 2 และที่ 3 จดทะเบียนจำนองที่ดินดังกล่าวเป็นประกันต่อธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ผู้รับจำนอง และได้จดทะเบียนจัดตั้งห้างหุ้นส่วนจำกัด พรอำนวยทรัพย์ เพื่อประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายไอศกรีม ใช้ชื่อทางการค้าว่า ไอศกรีมทิพย์สุคนธ์ ตามหนังสือรับรองซึ่งระบุว่า ห้างหุ้นส่วนจำกัดดังกล่าวจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2546 สำนักแห่งใหญ่ตั้งอยู่เลขที่ 93/70-71 หมู่ที่ 1 ซอยเพชรเกษม 63 (วัดม่วง) ถนนเพชรเกษม แขวงหลักสอง เขตบางแค กรุงเทพมหานคร ผู้เป็นหุ้นส่วนมี 3 คน คือจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 3 และนางนงลักษณ์วัตถุประสงค์ของห้างหุ้นส่วนข้อ 23 คือประกอบกิจการผลิตและจำหน่ายสินค้าไอศกรีมทุกชนิด นอกจากนี้ยังซื้อลูกชิ้นจากบุคคลอื่นมาขายใช้ชื่อทางการค้าว่า ลูกชิ้นทิพย์ ต่อมาปลายปี 2549 จำเลยที่ 2 และที่ 3 ซื้อที่ดินพร้อมตึกแถวเลขที่ 12/23 – 24 ถนนพระราม 3 แขวงบางโพงพาง เขตยานนาวา กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสถานที่ประกอบกิจการห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ 1 ในปัจจุบัน เพื่อทดลองผลิตลูกชิ้นเอง โดยขอสินเชื่อจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) และนำที่ดินดังกล่าวไปจดทะเบียนจำนองเป็นประกันหนี้ ตามสำเนาสัญญาซื้อขายที่ดิน สำเนาโฉนดที่ดิน และสำเนาหนังสือสัญญาจำนอง ซึ่งตามเอกสารดังกล่าวก็ปรากฏแต่ชื่อของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในฐานะผู้ซื้อและผู้จำนอง และเบิกความถึงการซื้อเครื่องจักรและที่ดินเพิ่ม โดยยืนยันโจทก์ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องด้วย ส่วนสูตรน้ำจิ้มลูกชิ้นได้มาจากนางลัดดา ซึ่งไปขอสูตรมาจากญาติอีกทอดหนึ่ง แล้วทำการดัดแปลงจนเป็นที่พอใจ ต่อมาประมาณปี 2550 จำเลยที่ 2 และที่ 3 ขายกิจการไอศกรีมให้นางนงลักษณ์เนื่องจากต้องการประกอบธุรกิจลูกชิ้นทิพย์เพียงอย่างเดียว โดยจดทะเบียนจัดตั้งห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ 1 ขึ้นกลางปี 2550 เบิกความถึงการชักชวนนางสาวนรารัตน์เข้ามาทำงานเป็นพนักงานของจำเลยที่ 1 ในตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายการเงินเมื่อประมาณต้นปี 2552 และรับนางสาวนริสาเข้าทำงานเป็นพนักงานของจำเลยที่ 1 เมื่อประมาณต้นเดือนตุลาคม 2552 โดยทั้งสองคนจะรับเงินเดือนและค่าคอมมิชชั่นในอัตราร้อยละ 0.21 และ 0.22 ของยอดขาย ตามลำดับ ในฐานะเป็นพนักงานไม่ใช่ในฐานะหุ้นส่วน ซึ่งค่าคอมมิชชั่นนี้พนักงานฝ่ายขายและฝ่ายการตลาดคนอื่นก็จะได้รับในอัตราที่แตกต่างกันไปโดยเป็นการให้ในฐานะที่เป็นพนักงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการเพิ่มยอดขายไม่ใช่ฐานะหุ้นส่วน และการยกพื้นที่การขายและให้ยืมอุปกรณ์ในการขายลูกชิ้นทิพย์ให้แก่นางสาวนริสา 3 แห่ง พี่น้องของจำเลยที่ 2 คนอื่นก็ได้รับสิทธิดังกล่าวเช่นกัน และเบิกความถึงหนังสือมอบอำนาจว่าเคยลงลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจโดยไม่มีการกรอกข้อความไว้คล้ายเอกสารดังกล่าว โดยมอบให้แก่นางสาวนริสาให้พนักงานฝ่ายการตลาดใช้ติดต่อทำสัญญาเช่าพื้นที่ขายหน้าร้าน ไม่ใช่แบบฟอร์มหนังสือมอบอำนาจในการยื่นคำขอจดทะเบียนต่อนายทะเบียน โดยจำเลยทั้งสามมีนายภัทรพงษ์พันธ์ ซึ่งเป็นน้องของโจทก์และจำเลยที่ 2 นางอาลิสา ซึ่งเป็นน้องของโจทก์และเป็นพี่ของจำเลยที่ 2 เป็นพยานเบิกความทำนองเดียวกันว่า โจทก์ไม่ได้เป็นหุ้นส่วนในกิจการลูกชิ้นหมูปิ้งกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 นายภัทรพงษ์พันธ์ นางอาลิสา และพี่น้องคนอื่นได้รับสิทธิพื้นที่การขายรวมทั้งเคาน์เตอร์และอุปกรณ์การขายจากจำเลยที่ 2 เนื่องจากจำเลยที่ 2 ให้ความช่วยเหลือพี่น้องทุกคนเหมือนกัน และจำเลยที่ 2 ยังเคยออกเงินในการทำประกันชีวิตและประกันสุขภาพให้แก่พี่น้องเกือบทุกคนยกเว้นนายอุดม และยังมีนางลัดดาเป็นพยานเบิกความถึงที่มาของสูตรน้ำจิ้มลูกชิ้นว่า ได้มาจากนางเพ็ญแม่ค้าลูกชิ้นปิ้งซึ่งตนเองเคยจดสูตรไว้และนำน้ำจิ้มของนางเพ็ญมาให้จำเลยที่ 2 ชิมซึ่งจำเลยที่ 2 ชิมและพอใจ และข้อเท็จจริงที่ว่าจำเลยที่ 2 ซื้อประกันชีวิตและประกันสุขภาพให้แก่พี่น้องเกือบทุกคนยกเว้นนายอุดมเนื่องจากนายอุดมสุขภาพไม่แข็งแรง จึงไม่ได้รับทำประกันชีวิตและประกันสุขภาพ และมีนายชาคริต ซึ่งเป็นหลานของจำเลยที่ 2 และที่ 3 และเป็นพนักงานของจำเลยที่ 1 เป็นพยานเบิกความว่า นายชาคริตได้รับเงินเดือนและค่าคอมมิชชั่นอัตราร้อยละ 1 ของยอดขายต่อเดือน จากจำเลยที่ 1 รวมถึงพนักงานคนอื่นด้วยตามอัตราที่จำเลยที่ 2 จะเป็นผู้กำหนด เช่นนี้ พยานหลักฐานที่จำเลยทั้งสามนำสืบมาจึงมีน้ำหนักรับฟังมากกว่าพยานหลักฐานของโจทก์ จึงฟังไม่ได้ว่า โจทก์และจำเลยที่ 2 ตกลงเข้าหุ้นส่วนกันประกอบธุรกิจผลิตลูกชิ้นหมูและจำหน่ายลูกชิ้นหมูปิ้งตามฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์นั้นพิพากษา ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น เช่นนี้ปัญหาอื่นตามฎีกาของโจทก์และจำเลยทั้งสามจึงไม่จำต้องวินิจฉัยเพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลงไป
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share