แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
หนังสือบอกเลิกสัญญาผู้จ้างเหมาประกอบอาหารกลางวันศูนย์พัฒนาเด็กเล็กที่จำเลยที่ 1 ทำและแจ้งไปยังโจทก์ที่ 1 ที่ 2 มีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อบอกเลิกสัญญา ส่วนหนังสือของจำเลยที่ 1 ที่เสนอต่อผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคายซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาให้มีคำสั่งว่าโจทก์ทั้งสองเป็นผู้ทิ้งงานก็เป็นหนังสือที่จำเลยที่ 1 ได้ทำขึ้นเพื่อรายงานเรื่องการทิ้งงานต่อผู้มีอำนาจสั่งการไปตามขั้นตอน ไม่ใช่เอกสารที่ทำขึ้นเพื่อรับรองเป็นหลักฐานซึ่งข้อเท็จจริงอันเอกสารนั้น มุ่งพิสูจน์ความจริงอันเป็นเท็จตาม ป.อ. มาตรา 162 (4) แต่อย่างใด
ย่อยาว
โจทก์ทั้งสองฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 59, 83, 86, 91, 137, 162 (4) และ 157
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157, ประกอบมาตรา 83 ร่วมกันเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด จำคุกคนละ 2 ปี และปรับคนละ 5,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้คนละ 2 ปี คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์ทั้งสองและจำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137 และ 162 (4) ประกอบมาตรา 83 อีกสถานหนึ่ง จำเลยที่ 2 และที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137 และ 162 (4) ประกอบมาตรา 86 อีกสถานหนึ่ง การกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานร่วมกันเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ประกอบมาตรา 83 อันเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ไม่ปรับและไม่รอการลงโทษ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยทั้งสามฎีกาว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม ไม่ชัดแจ้ง เห็นว่า คดีนี้ โจทก์ทั้งสองบรรยายฟ้องได้ความว่า โจทก์ที่ 1 และที่ 2 เป็นผู้ชนะการประมูลสอบราคาจ้างเหมาประกอบอาหารกลางวัน ตามโครงการสนับสนุนค่าใช้จ่ายการบริหารการศึกษา เพื่อจ่ายเป็นค่าสนับสนุนอาหารกลางวัน สำหรับศูนย์พัฒนาเด็กเล็กวัดพระบาทนาหงส์และศูนย์พัฒนาเด็กเล็กวัดสีหราช ตามลำดับ โดยเสนอราคาต่ำสุด ต่อมาจำเลยที่ 1 มีหนังสือแจ้งแก่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ว่าโจทก์ที่ 1 และที่ 2 ละทิ้งงาน ไม่มาทำสัญญาจ้างภายในกำหนดและบอกเลิกสัญญาจ้างแก่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ทั้งที่ความจริงโจทก์ทั้งสองไม่ได้ทิ้งงาน และต่อมาจำเลยที่ 1 นำความเท็จดังกล่าวแจ้งต่อนายอำเภอรัตนวาปีและผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย เป็นเหตุให้โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ได้รับความเสียหายต่อชื่อเสียงและทรัพย์สิน จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าพนักงานขณะทำหนังสือบอกเลิกสัญญาแก่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 จึงเป็นกรณีที่จำเลยที่ 1 ซึ่งมีหน้าที่ทำเอกสารกระทำการรับรองเป็นหลักฐานซึ่งข้อเท็จจริงอันเอกสารนั้นมุ่งพิสูจน์ความจริงอันเป็นเท็จ และจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 จำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นเจ้าพนักงานเป็นตัวการร่วมกันกับจำเลยที่ 1 หรือให้คำปรึกษาแนะนำจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นผู้สนับสนุนการกระทำผิดหรือเป็นตัวการ ท้ายฟ้องของโจทก์อ้างบทมาตราที่ถือว่าเป็นความผิดฐานแจ้งความเท็จ ทำหลักฐานเท็จ เจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และบทมาตราเรื่องตัวการ ผู้สนับสนุน โดยแนบเอกสารที่เกี่ยวข้องมาด้วย เพียงพอที่จะทำให้จำเลยทั้งสามเข้าใจข้อหาดังกล่าวได้ดี ซึ่งจำเลยทั้งสามก็ต่อสู้คดีตามข้อหาที่โจทก์ทั้งสองฟ้องมานั้นตลอดมา ฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม
ส่วนที่จำเลยทั้งสามฎีกาว่า ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า การกระทำของจำเลยทั้งสามที่แบ่งจ้างการประกอบอาหารเพื่อให้มีการจัดซื้อจัดจ้างโดยวิธีตกลงราคา เป็นการจงใจหลีกเลี่ยงระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุของหน่วยงานรัฐ ไม่ดำเนินการตามขั้นตอนตามที่มีการสอบราคาทำให้หน่วยงานของรัฐและโจทก์ทั้งสองเสียหาย เป็นการวินิจฉัยนอกฟ้องนั้น ไม่ใช่ฎีกาโต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 ต่อศาลฎีกา ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ปัญหาว่า จำเลยที่ 1 กระทำผิดฐานทำเอกสารรับรองเป็นหลักฐานซึ่งข้อเท็จจริงอันเอกสารนั้นมุ่งพิสูจน์ความจริงอันเป็นความเท็จ และจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นผู้สนับสนุนจำเลยที่ 1 กระทำผิดฐานดังกล่าวหรือไม่ ในข้อหาดังกล่าว ตามฟ้องของโจทก์ ข้อ 4 วรรคสอง มีข้อความว่า จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานขณะทำหนังสือแจ้งโจทก์ที่ 1 ที่ 2 จึงเป็นกรณีที่จำเลยที่ 1 มีหน้าที่ทำเอกสารรับเอกสารและกรอกข้อความลงในเอกสาร กระทำการรับรองเป็นหลักฐานซึ่งข้อเท็จจริงอันเอกสารนั้นมุ่งพิสูจน์ความจริงอันเป็นเท็จ ได้ตรวจดูเอกสารแล้วเอกสารดังกล่าวเป็นหนังสือบอกเลิกสัญญาผู้จ้างเหมาประกอบอาหารกลางวันศูนย์พัฒนาเด็กเล็กของจำเลยที่ 1 ถึงโจทก์ที่ 1 และที่ 2 ตามลำดับ มีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อบอกเลิกสัญญา ไม่ได้เป็นเอกสารที่ได้รับรองเป็นหลักฐานซึ่งข้อเท็จจริงอันเอกสารนั้นมุ่งพิสูจน์ความจริงอันเป็นเท็จแต่อย่างใด และแม้แต่หนังสือของจำเลยที่ 1 ที่เสนอต่อผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคายซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาให้มีคำสั่งว่าโจทก์ทั้งสองเป็นผู้ทิ้งงานก็เป็นหนังสือที่จำเลยที่ 1 ได้ทำขึ้นเพื่อรายงานเรื่องการทิ้งงานต่อผู้มีอำนาจสั่งการไปตามขั้นตอน ไม่ใช่เอกสารที่ทำขึ้นเพื่อรับรองเป็นหลักฐานซึ่งข้อเท็จจริงอันเอกสารนั้นมุ่งพิสูจน์ความจริงอันเป็นเท็จแต่อย่างใดเช่นกัน การกระทำของจำเลยทั้งสามจึงไม่เป็นความผิดในข้อหาดังกล่าว คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 ในส่วนนี้ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา
ปัญหาที่ต้องพิจารณาต่อไปมีว่า จำเลยทั้งสามกระทำผิดฐานร่วมกันเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และจำเลยที่ 1 มีความผิดฐานแจ้งความเท็จ จำเลยที่ 2 และที่ 3 มีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนจำเลยที่ 1 กระทำผิดฐานนี้ ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 หรือไม่ เห็นว่า ปัญหาดังกล่าวศาลอุทธรณ์ภาค 4 ได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงโดยชอบด้วยเหตุผลแล้ว ศาลฎีกาจึงไม่รับคดีส่วนนี้ไว้พิจารณาพิพากษา ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 23 ทั้งนี้โดยยังเห็นสมควรวางโทษจำเลยทั้งสามไปตามที่ศาลล่างทั้งสองได้กำหนดไว้
ปัญหาต้องพิจารณาประการสุดท้ายมีว่า มีเหตุสมควรรอการลงโทษจำคุกแก่จำเลยทั้งสามหรือไม่ เห็นว่า สาเหตุสำคัญอันเป็นที่มาของการดำเนินคดีนี้ประการหนึ่งเนื่องมาจากโจทก์ที่ 1 และที่ 2 ได้เสนอราคาในการประมูลสอบราคาจ้างเหมาประกอบอาหารกลางวันให้แก่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กในราคา 6 บาท และ 5 บาท ต่อคนต่อวัน ตามลำดับ ซึ่งราคาที่เสนอมาดังกล่าวในสภาพเศรษฐกิจและสังคมปัจจุบัน นับว่าเป็นราคาที่บีบรัดเกินไป ยากที่จัดหาวัตถุดิบในการทำอาหารที่มีคุณภาพเกิดผลตอบแทนต่อทั้งตัวโจทก์ทั้งสองตลอดจนผู้ที่จัดหาหรือส่งวัตถุดิบในการทำอาหารแก่โจทก์ทั้งสองอย่างเป็นธรรมและเกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจการเงินได้อย่างเหมาะสม ซึ่งข้อที่เกรงว่าราคาที่โจทก์ทั้งสองเสนออาจทำให้เด็กในชุมชนไม่ได้รับอาหารที่มีคุณภาพเหมาะสมนั้น จำเลยทั้งสามก็เคยให้ถ้อยคำต่อคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงไว้แต่ต้นแล้ว นับว่ามีเหตุผลอยู่มาก และข้อเท็จจริงยังได้ความว่า โครงการจ้างเหมาประกอบอาหารกลางวันให้แก่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กขององค์การบริหารส่วนตำบลพระบาทนาสิงห์นี้ นอกจากที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กที่โจทก์ทั้งสองชนะการประมูลสอบราคาจ้างแล้ว ยังมีที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กแห่งอื่นอีกหลายแห่ง ซึ่งได้ความว่าการเสนอราคาหรือการตกลงราคาก็ยังมีผู้เกี่ยวข้องโต้แย้งร้องเรียนกัน ในสำนวน และบันทึกถ้อยคำของทนายจำเลยทั้งสามตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นลงวันที่ 5 มิถุนายน2557 ซึ่งสำหรับโจทก์ทั้งสองนั้น หลังจากที่ชนะการเสนอการสอบราคาแล้วเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2555 เมื่อจำเลยที่ 1 มีหนังสือเรียกให้โจทก์ทั้งสองไปทำสัญญา ก็ได้มีการตกลงพูดกัน แต่คงมีข้อโต้แย้งและข้อที่เข้าใจไม่ตรงกัน จึงยังไม่ได้ทำสัญญาจากสภาวการณ์ซึ่งอยู่ภายใต้ปัญหาในการบริหารจัดการเช่นนี้จึงอาจทำให้จำเลยทั้งสามต้องไปกระทำการอันมีลักษณะที่ฝ่าฝืนต่อระเบียบหลักเกณฑ์ของทางการ ซึ่งคดีนี้คำฟ้องโจทก์ก็ไม่ได้อ้างว่าจำเลยทั้งสามปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต และตามพฤติการณ์แห่งคดีก็ยังไม่อาจรับฟังได้โดยชัดเจนเช่นนั้น เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสามเคยรับโทษจำคุกมาก่อน โดยเฉพาะจำเลยที่ 2 และที่ 3 ถือเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่ประจำ ไม่ปรากฏว่าเคยมีประวัติกระทำผิด พบว่าปฏิบัติงานมาด้วยดี จึงเห็นสมควรให้โอกาสจำเลยทั้งสามได้ปรับปรุงตนเองโดยการรอการลงโทษจำคุกไว้สักครั้งหนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ไม่รอการลงโทษจำคุกให้จำเลยทั้งสามมานั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยทั้งสามฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า สำหรับความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานและเป็นผู้สนับสนุนเจ้าพนักงานกระทำการรับรองเป็นหลักฐานซึ่งข้อเท็จจริงอันเอกสารนั้นมุ่งพิสูจน์ความจริงอันเป็นความเท็จ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 162 (4) และมาตรา 162 (4) ประกอบมาตรา 86 ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยทั้งสาม ให้จำคุกจำเลยทั้งสามคนละ 2 ปี ปรับคนละ 5,000 บาท โทษจำคุกสำหรับจำเลยทั้งสามให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากจำเลยทั้งสามไม่ชำระค่าปรับให้บังคับตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 29 และ 30 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 4