คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3642/2554

แหล่งที่มา :

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลซึ่งเป็นเพียงบุคคลสมมุติโดยอาศัยอำนาจของกฎหมายจะดำเนินหรือปฏิบัติงานตามวัตถุประสงค์ของบริษัทด้วยตนเองไม่ได้ต้องกระทำโดยผู้แทน ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจของจำเลยที่ 1 จึงเป็นผู้รับผิดชอบในการดำเนินหรือปฏิบัติงานของจำเลยที่ 1 เมื่อจำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพ ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ตามฟ้องว่า จำเลยที่ 2 ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 ด้วยและการกระทำของจำเลยที่ 2 ก็ยังเป็นความผิดตลอดเวลาที่ยังไม่มีการปฏิบัติให้ถูกต้องตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 แม้จำเลยที่ 2 จะไม่ได้เป็นกรรมการผู้มีอำนาจของจำเลยที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 28 พฤษภาคม 2547 อันเป็นเวลาหลังจากเกิดเหตุแล้วก็ตาม แต่ก็หาเป็นเหตุให้มีผลลบล้างความรับผิดของจำเลยที่ 2 ในขณะเกิดเหตุไม่ หากจำเลยที่ 2 ต้องเสียหายจากการที่ยังไม่มีการปฏิบัติให้ถูกต้องดังกล่าวหลังจากนั้นอย่างไรก็ชอบที่จะไปว่ากล่าวเอาแก่จำเลยที่ 1 เป็นอีกส่วนหนึ่งต่างหาก ดังนั้นจำเลยที่ 2 ต้องชำระค่าปรับตลอดเวลาที่ฝ่าฝืนจนกว่าจะได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มาตรา 31, 32, 65, 69, 70, 72 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 และนับโทษของจำเลยที่ 2 ต่อจากโทษของจำเลยที่ 2 ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 3013/2547 ของศาลชั้นต้น
เดิมศาลชั้นต้นสั่งประทับฟ้องโจทก์ แต่ต่อมาได้เพิกถอนคำสั่ง คงประทับฟ้องโจทก์เฉพาะจำเลยที่ 2
จำเลยที่ 2 ให้การปฏิเสธ แต่ก่อนสืบพยาน จำเลยที่ 2 ขอถอนคำให้การเดิมและให้การใหม่เป็นรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มาตรา 31 วรรคหนึ่ง, 65, 69 และ 70 ประกอบด้วยมาตรา 32 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 วางโทษปรับจำเลยที่ 2 จำนวน 40,000 บาท และปรับจำเลยที่ 2 ตลอดเวลาที่ฝ่าฝืนอีกวันละ 1,000 บาท นับแต่วันที่ 23 กันยายน 2542 จนกว่าจะได้มีการปฏิบัติให้ถูกต้อง จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้จำเลยที่ 2 กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงปรับจำเลยที่ 2 จำนวน 20,000 บาท และปรับจำเลยที่ 2 ตลอดเวลาที่ฝ่าฝืนอีกวันละ 500 บาท นับแต่วันที่ 23 กันยายน 2542 จนกว่าจะได้มีการปฏิบัติให้ถูกต้อง หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 และหากคำนวณค่าปรับรายวันเข้าด้วยแล้ว รวมเป็นเงิน 80,000 บาท ขึ้นไป ก็ให้กักขังแทนค่าปรับเกินหนึ่งปี แต่ไม่เกินสองปี ศาลลงโทษปรับจำเลยที่ 2 สถานเดียวไม่ได้ลงโทษจำคุก จึงไม่อาจนับโทษต่อกับคดีอื่นได้ คำขอส่วนนี้ให้ยก
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่า คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ที่ให้ปรับจำเลยที่ 2 ตลอดเวลาที่ฝ่าฝืนนับแต่วันที่ 23 กันยายน 2542 จนกว่าจะได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามแบบที่ได้รับอนุญาตชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โดยจำเลยที่ 2 ฎีกาว่า จำเลยที่ 2 พ้นจากการเป็นกรรมการของจำเลยที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 27 พฤษภาคม 2547 จำเลยที่ 2 จึงไม่อาจกระทำการฝ่าฝืนในฐานะที่จำเลยที่ 2 เป็นกรรมการของจำเลยที่ 1 ได้อีกต่อไป และจำเลยที่ 2 ไม่มีอำนาจบังคับให้จำเลยที่ 1 ปฏิบัติให้ถูกต้องตามแบบที่ได้รับอนุญาตตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ได้นั้น เห็นว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลซึ่งเป็นเพียงบุคคลสมมุติโดยอาศัยอำนาจของกฎหมายเท่านั้น จะดำเนินหรือปฏิบัติงานตามวัตถุประสงค์ของบริษัทด้วยตนเองไม่ได้ต้องกระทำโดยผู้แทน ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจของจำเลยที่ 1 จึงเป็นผู้รับผิดชอบในการดำเนินหรือปฏิบัติงานของจำเลยที่ 1 เมื่อจำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพ ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ตามฟ้องว่า จำเลยที่ 2 ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 ด้วย และการกระทำของจำเลยที่ 2 ก็ยังเป็นความผิดตลอดเวลาที่ยังไม่มีการปฏิบัติให้ถูกต้องตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 แม้จำเลยที่ 2 จะไม่ได้เป็นกรรมการผู้มีอำนาจของจำเลยที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 28 พฤษภาคม 2547 อันเป็นเวลาหลังจากเกิดเหตุแล้วก็ตาม แต่ก็หาเป็นเหตุให้มีผลล้างความรับผิดของจำเลยที่ 2 ในขณะเกิดเหตุไม่ หากจำเลยที่ 2 ต้องเสียหายจากการที่ยังไม่มีการปฏิบัติให้ถูกต้องดังกล่าวหลังจากนั้นอย่างไรก็ชอบที่จะไปว่ากล่าวเอาแก่จำเลยที่ 1 เป็นอีกส่วนหนึ่งต่างหาก ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ปรับจำเลยที่ 2 ตลอดเวลาที่ฝ่าฝืนจนกว่าจะได้ปฏิบัติให้ถูกต้องนั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share