คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8908/2560

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้จำเลยจะต้องจัดให้มีสถานที่จอดรถตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มาตรา 8 (9) ซึ่งบัญญัติให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคารต้องมีพื้นที่จอดรถเพื่ออำนวยความสะดวกแก่การจราจร ซึ่งเป็นการปฏิบัติตามกฎหมายก็ตาม แต่จำเลยประกอบกิจการค้าห้างขนาดใหญ่ ขายปลีกและขายส่งสินค้าอุปโภคและบริโภคต่าง ๆ จำเลยย่อมต้องให้ความสำคัญด้านบริการไม่ว่าจะเป็นเรื่องสินค้า ความปลอดภัย ความสะดวกสบายเพื่อสร้างความพึงพอใจและดึงดูดให้ลูกค้ามาใช้บริการและซื้อสินค้าอันจะส่งผลต่อรายได้ของจำเลย การจัดสถานที่จอดรถที่สะดวกและปลอดภัยถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ลูกค้าตัดสินใจเข้ามาซื้อสินค้าหรือใช้บริการในห้างของจำเลยซึ่งเป็นประโยชน์แก่กิจการของจำเลยโดยตรง จำเลยต้องคำนึงถึงและมีหน้าที่ต้องดูแลความปลอดภัยของลูกค้าทั้งในชีวิตและทรัพย์สินตามสมควร ไม่ปล่อยให้ลูกค้าต้องเป็นผู้ระมัดระวังหรือเสี่ยงภัยเอง จำเลยจึงมีหน้าที่ดูแลรักษาความปลอดภัยของรถยนต์ของลูกค้าที่นำเข้าไปจอดในลานจอดรถที่จำเลยจัดไว้เพื่อป้องกันมิให้รถยนต์ถูกโจรกรรมได้ อันเนื่องมาจากลักษณะของการประกอบกิจการค้าเช่นจำเลยจะพึงต้องปฏิบัติต่อลูกค้า แม้จำเลยไม่ได้สัญญาว่าจะรับดูแลทรัพย์สินหรือรับฝากรถยนต์ของลูกค้าโดยตรง หรือมิได้มีการเรียกเก็บเงินค่าจอดรถก็ตาม ปรากฏว่าก่อนเกิดเหตุคดีนี้ จำเลยเคยจัดให้มีพนักงานรักษาความปลอดภัยประจำของจำเลยร่วมอยู่ที่จุดทางเข้าออกของห้าง และแจกบัตรจอดรถให้แก่ผู้ที่นำรถเข้ามาจอด ซึ่งเป็นวิธีการรักษาความปลอดภัยที่ค่อนข้างรัดกุม เพราะหากคนขับรถไม่มีบัตรจอดรถจะต้องมีหลักฐานมาแสดงความเป็นเจ้าของรถและยังต้องเสียค่าปรับจึงจะนำรถออกไปได้ แต่จำเลยกลับยกเลิกวิธีการดังกล่าวเสีย โดยติดตั้งกล้องวงจรปิดไว้ที่ตำแหน่งทางเข้าออกแทน และไม่จัดให้มีพนักงานรักษาความปลอดภัยดูแลจุดทางเข้าออกของห้างเพื่อสกัดกั้นมิให้มีการขับรถออกไปจากลานจอดรถของห้างได้โดยสะดวก มีผลเป็นการลดมาตรการป้องกันมิให้รถยนต์ที่ลูกค้านำมาจอดไว้ถูกโจรกรรมและนำออกไปจากพื้นที่ได้โดยง่าย พฤติการณ์ของจำเลยฟังได้ว่า จำเลยงดเว้นการที่จะต้องดูแลรถยนต์ของลูกค้าเพื่อป้องกันมิให้รถยนต์ของลูกค้าถูกโจรกรรม เป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อ เมื่อเป็นผลโดยตรงทำให้คนร้ายฉวยโอกาสโจรกรรมรถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยไว้ไป จึงเป็นการกระทำละเมิดต่อผู้เอาประกันภัยตาม ป.พ.พ. มาตรา 420
ตามสัญญาว่าจ้างบริการรักษาความปลอดภัยระบุว่า จำเลยร่วมตกลงรับจ้างบริการรักษาความปลอดภัยให้แก่จำเลย โดยมีหน้าที่สอดส่องตรวจตราและสังเกตการณ์เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในชีวิต ร่างกายและทรัพย์สินของผู้ว่าจ้าง ลูกจ้าง และบุคคลอื่นที่มาใช้บริการของผู้ว่าจ้างในสถานที่ให้บริการ ซึ่งได้แก่อาคาร สถานที่ และอาณาบริเวณของอาคารให้มีความปลอดภัย จำเลยร่วมผู้ได้รับมอบหมายจากจำเลยจึงมีหน้าที่ต้องดูแลสถานที่จอดรถให้มีความปลอดภัยตามสมควร รวมถึงมีหน้าที่ป้องกันมิให้รถยนต์ของลูกค้าถูกโจรกรรมไปเช่นเดียวกับจำเลย เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยเป็นผู้สั่งยกเลิกการแจกบัตรจอดรถยนต์ และยกเลิกการจัดให้มีพนักงานรักษาความปลอดภัยประจำของจำเลยร่วมอยู่ที่จุดทางเข้าออกของห้างและแจกบัตรจอดรถให้แก่ผู้ที่นำรถเข้ามาจอดโดยเพียงแต่ติดตั้งกล้องวงจรปิดที่บริเวณทางเข้าออกแทนก่อนเกิดเหตุ ซึ่งมีผลเป็นการลดมาตรการป้องกันมิให้รถยนต์ที่ลูกค้านำมาจอดไว้ถูกโจรกรรมไป การที่จำเลยสั่งให้จำเลยร่วมจัดให้มีพนักงานรักษาความปลอดภัยเพียง 5 คนประจำตามจุดที่จำเลยกำหนดเพื่อดูแลพื้นที่ลานจอดรถยนต์ขนาด 1,096 คัน ซึ่งเป็นพื้นที่จอดรถขนาดใหญ่และมีการแบ่งพื้นที่จอดรถเป็นหลายส่วนรอบอาคารของห้าง การสอดส่องตรวจตราดูแลย่อมกระทำได้ไม่ทั่วถึง และไม่เพียงพอต่อการป้องกันมิให้เกิดการโจรกรรมรถยนต์ของลูกค้าไป เมื่อไม่ปรากฏว่าพนักงานรักษาความปลอดภัยของจำเลยร่วมปฏิบัติหน้าที่ตามที่ได้รับคำสั่งบกพร่องอย่างไร และไม่ปรากฏว่าเหตุโจรกรรมรถยนต์คันที่เอาประกันภัยไว้อยู่ในความรู้เห็นของพนักงานรักษาความปลอดภัยของจำเลยร่วม การที่รถยนต์คันดังกล่าวถูกโจรกรรมจึงไม่ได้เป็นผลโดยตรงมาจากการกระทำของพนักงานรักษาความปลอดภัยของจำเลยร่วมที่จำเลยร่วมจะต้องรับผิดต่อโจทก์ตามกฎหมาย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยคืนรถยนต์ หมายเลขทะเบียน ชฟ 2570 กรุงเทพมหานคร แก่โจทก์ หากไม่สามารถคืนรถยนต์คันดังกล่าวได้ให้ชำระเงินจำนวน 590,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา จำเลยยื่นคำร้องขอให้เรียกบริษัทมาร์แชล การ์ด จำกัด เข้าเป็นจำเลยร่วม ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต
จำเลยร่วมให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยและจำเลยร่วมชดใช้เงิน 590,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 18 กรกฎาคม 2556) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยและจำเลยร่วมร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแก่โจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท คำขออื่นให้ยก
จำเลยและจำเลยร่วมอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยร่วมฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้เถียงกันในชั้นฎีการับฟังเป็นยุติว่า โจทก์เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์ หมายเลขทะเบียน ชฟ 2570 กรุงเทพมหานคร ไว้จากนายวศิน ผู้เอาประกันภัย มีระยะเวลาประกันภัย 1 ปี นับแต่วันที่ 2 กรกฎาคม 2555 ถึงวันที่ 2 กรกฎาคม 2556 โดยโจทก์ตกลงชดใช้ค่าสินไหมทดแทนกรณีรถยนต์สูญหายในวงเงิน 590,000 บาท จำเลยประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าอุปโภคและบริโภค ใช้ชื่อ ห้างเทสโก้โลตัส มีสาขาหลายแห่ง รวมทั้งสาขาศาลายาด้วย ในการประกอบกิจการดังกล่าวจำเลยจัดให้มีสถานที่จอดรถยนต์แก่ลูกค้าหรือผู้ใช้ บริการ โดยมิได้เรียกเก็บค่าบริการหรือค่าใช้จ่ายใด ๆ และจำเลยมีกล้องวิดีโอโทรทัศน์วงจรปิดบันทึกการเข้าออกของรถยนต์ จำเลยร่วมประกอบกิจการรักษาความปลอดภัยในทรัพย์สินของบุคคลอื่น จำเลยว่าจ้างจำเลยร่วมให้บริการรักษาความปลอดภัยที่สาขาศาลายาด้วย ในการรักษาความปลอดภัยดังกล่าวจำเลยร่วมจะจัดพนักงานดูแลรักษาความปลอดภัยภายในห้างและรอบ ๆ บริเวณลานจอดรถยนต์ เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2555 เวลา 13.30 นาฬิกา นางธนธรณ์ ขับรถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัย โดยได้รับความยินยอมจากผู้เอาประกันภัย เข้าไปจอดในบริเวณลานจอดรถยนต์ของห้างเทสโก้โลตัส สาขาศาลายา แล้วเข้าไปซื้อสินค้าภายในห้าง เมื่อนางธนธรณ์ซื้อสินค้าเสร็จจึงกลับไปที่รถ พบว่ารถยนต์คันดังกล่าวสูญหายไป โดยไม่ได้เกิดจากความประมาทเลินเล่อของนางธนธรณ์ หลังเกิดเหตุนางธนธรณ์และนายลัทธพล สามี ไปแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรโพธิ์แก้ว และนายลัทธพลแจ้งให้โจทก์ทราบ ต่อมาโจทก์ได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนกรณีรถยนต์สูญหายให้แก่นายลัทธพลในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้เอาประกันภัยเป็นเงิน 590,000 บาท
ที่จำเลยร่วมฎีกาว่า จำเลยร่วมจะต้องรับผิดก็ต่อเมื่อจำเลยร่วมหรือพนักงานของจำเลยร่วมกระทำโดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงตามสัญญาว่าจ้างบริการรักษาความปลอดภัย แต่ทางนำสืบของโจทก์ไม่ปรากฏว่าจำเลยร่วมหรือพนักงานของจำเลยร่วมกระทำประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงจนเป็นเหตุให้รถยนต์คันที่เอาประกันภัยไว้ต้องสูญหายไปนั้น เห็นว่า ในประเด็นข้อนี้จำเลยร่วมมิได้ให้การต่อสู้ว่าจำเลยร่วมจะต้องรับผิดก็ต่อเมื่อจำเลยร่วมหรือพนักงานของจำเลยร่วมกระทำประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงตามสัญญาว่าจ้างบริการรักษาความปลอดภัย และตามสัญญาดังกล่าวก็ไม่ปรากฏเงื่อนไขความรับผิดให้จำเลยร่วมต้องรับผิดเฉพาะในกรณีที่จำเลยร่วมหรือพนักงานของจำเลยร่วมกระทำประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงแต่อย่างใด ฎีกาข้อนี้ของจำเลยร่วมเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง (ที่ใช้บังคับขณะยื่นฟ้อง) ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยร่วมว่า จำเลยร่วมต้องรับผิดต่อโจทก์หรือไม่ โดยจำเลยร่วมฎีกาว่า จำเลยจัดสถานที่จอดรถให้แก่ลูกค้าและประชาชนทั่วไปเพื่ออำนวยความสะดวกและเป็นการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ไม่ได้ก่อให้เกิดหน้าที่ตามกฎหมายในการดูแลรถยนต์ของลูกค้ามิให้สูญหาย และจำเลยไม่ได้สัญญาว่าจะรับดูแลทรัพย์สินหรือรับฝากรถยนต์ของลูกค้า การที่จำเลยยกเลิกการให้พนักงานของจำเลยร่วมแจกบัตรแก่ผู้ที่นำรถยนต์เข้ามาจอดและรับบัตรคืน ไม่ถือว่าจำเลยและจำเลยร่วมละเว้นหรืองดเว้นการปฏิบัติหน้าที่ที่เกิดขึ้นตามกฎหมายหรือตามสัญญา จำเลยร่วมจึงไม่ได้กระทำละเมิดต่อผู้เอาประกันภัย จำเลยร่วมจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์นั้น เห็นว่า แม้จำเลยจะต้องจัดให้มีสถานที่จอดรถตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มาตรา 8(9) ซึ่งบัญญัติให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคารต้องมีพื้นที่จอดรถเพื่ออำนวยความสะดวกแก่การจราจร ซึ่งเป็นการปฏิบัติตามกฎหมายก็ตาม แต่จำเลยประกอบกิจการค้าห้างขนาดใหญ่ ขายปลีกและขายส่งสินค้าอุปโภคและบริโภคต่าง ๆ จำเลยย่อมต้องให้ความสำคัญด้านบริการไม่ว่าจะเป็นเรื่องสินค้า ความปลอดภัย ความสะดวกสบายเพื่อสร้างความพึงพอใจและดึงดูดให้ลูกค้ามาใช้บริการและซื้อสินค้าอันจะส่งผลต่อรายได้ของจำเลย การจัดสถานที่จอดรถที่สะดวกและปลอดภัยถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ลูกค้าตัดสินใจเข้ามาซื้อสินค้าหรือใช้บริการในห้างของจำเลยซึ่งเป็นประโยชน์แก่กิจการของจำเลยโดยตรง จำเลยต้องคำนึงถึงและมีหน้าที่ต้องดูแลความปลอดภัยของลูกค้าทั้งในชีวิตและทรัพย์สินตามสมควร ไม่ปล่อยให้ลูกค้าต้องเป็นผู้ระมัดระวังหรือเสี่ยงภัยเอง จำเลยจึงมีหน้าที่ดูแลรักษาความปลอดภัยของรถยนต์ของลูกค้าที่นำเข้าไปจอดในลานจอดรถที่จำเลยจัดไว้เพื่อป้องกันมิให้รถยนต์ถูกโจรกรรมได้ อันเนื่องมาจากลักษณะของการประกอบกิจการค้าเช่นจำเลยจะพึงต้องปฏิบัติต่อลูกค้า แม้จำเลยไม่ได้สัญญาว่าจะรับดูแลทรัพย์สินหรือรับฝากรถยนต์ของลูกค้าโดยตรง หรือมิได้มีการเรียกเก็บเงินค่าจอดรถก็ตาม ปรากฏว่าก่อนเกิดเหตุคดีนี้ จำเลยเคยจัดให้มีพนักงานรักษาความปลอดภัยประจำของจำเลยร่วมอยู่ที่จุดทางเข้าออกของห้าง และแจกบัตรจอดรถให้แก่ผู้ที่นำรถเข้ามาจอด ซึ่งเป็นวิธีการรักษาความปลอดภัยที่ค่อนข้างรัดกุม เพราะหากคนขับรถไม่มีบัตรจอดรถจะต้องมีหลักฐานมาแสดงความเป็นเจ้าของรถและยังต้องเสียค่าปรับจึงจะนำรถออกไปได้ แต่จำเลยกลับยกเลิกวิธีการดังกล่าวเสีย โดยติดตั้งกล้องวงจรปิดไว้ที่ตำแหน่งทางเข้าออกแทน และไม่จัดให้มีพนักงานรักษาความปลอดภัยดูแลจุดทางเข้าออกของห้างเพื่อสกัดกั้นมิให้มีการขับรถออกไปจากลานจอดรถของห้างได้โดยสะดวก มีผลเป็นการลดมาตรการป้องกันมิให้รถยนต์ที่ลูกค้านำมาจอดไว้ถูกโจรกรรมและนำออกไปจากพื้นที่ได้โดยง่าย พฤติการณ์ของจำเลยฟังได้ว่า จำเลยงดเว้นการที่จะต้องดูแลรถยนต์ของลูกค้าเพื่อป้องกันมิให้รถยนต์ของลูกค้าถูกโจรกรรม เป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อ เมื่อเป็นผลโดยตรงทำให้คนร้ายฉวยโอกาสโจรกรรมรถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยไว้ไป จึงเป็นการกระทำละเมิดต่อผู้เอาประกันภัยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 ฎีกาของจำเลยร่วมที่อ้างเหตุว่าจำเลยไม่มีหน้าที่ดูแลรักษาความปลอดภัยของรถยนต์ของลูกค้าที่นำเข้าไปจอดในลานจอดรถที่จำเลยจัดไว้เพื่อป้องกันมิให้รถยนต์ถูกโจรกรรมได้ จึงฟังไม่ขึ้น ส่วนปัญหาว่าจำเลยร่วมต้องร่วมรับผิดกับจำเลยต่อโจทก์หรือไม่นั้น ปรากฏตามสัญญาว่าจ้างบริการรักษาความปลอดภัยว่าจำเลยร่วมตกลงรับจ้างบริการรักษาความปลอดภัยให้แก่จำเลย โดยมีหน้าที่สอดส่องตรวจตราและสังเกตการณ์เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในชีวิต ร่างกายและทรัพย์สินของผู้ว่าจ้าง ลูกจ้าง และบุคคลอื่นที่มาใช้บริการของผู้ว่าจ้างในสถานที่ให้บริการ ซึ่งได้แก่อาคาร สถานที่ และอาณาบริเวณของอาคารให้มีความปลอดภัย จำเลยร่วมผู้ได้รับมอบหมายจากจำเลยจึงมีหน้าที่ต้องดูแลสถานที่จอดรถให้มีความปลอดภัยตามสมควร รวมถึงมีหน้าที่ป้องกันมิให้รถยนต์ของลูกค้าถูกโจรกรรมไปเช่นเดียวกับจำเลย เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยเป็นผู้สั่งยกเลิกการแจกบัตรจอดรถยนต์ และยกเลิกการจัดให้มีพนักงานรักษาความปลอดภัยประจำของจำเลยร่วมอยู่ที่จุดทางเข้าออกของห้างและแจกบัตรจอดรถให้แก่ผู้ที่นำรถเข้ามาจอดโดยเพียงแต่ติดตั้งกล้องวงจรปิดที่บริเวณทางเข้าออกแทนก่อนเกิดเหตุ ซึ่งมีผลเป็นการลดมาตรการป้องกันมิให้รถยนต์ที่ลูกค้านำมาจอดไว้ถูกโจรกรรมไป การที่จำเลยสั่งให้จำเลยร่วมจัดให้มีพนักงานรักษาความปลอดภัยเพียง 5 คน ประจำตามจุดที่จำเลยกำหนดเพื่อดูแลพื้นที่ลานจอดรถยนต์ขนาด 1,096 คัน ซึ่งเป็นพื้นที่จอดรถขนาดใหญ่และมีการแบ่งพื้นที่จอดรถเป็นหลายส่วนรอบอาคารของห้าง การสอดส่องตรวจตราดูแลย่อมกระทำได้ไม่ทั่วถึง และไม่เพียงพอต่อการป้องกันมิให้เกิดการโจรกรรมรถยนต์ของลูกค้าไป เมื่อไม่ปรากฏว่าพนักงานรักษาความปลอดภัยของจำเลยร่วมปฏิบัติหน้าที่ตามที่ได้รับคำสั่งบกพร่องอย่างไร และไม่ปรากฏว่าเหตุโจรกรรมรถยนต์คันที่เอาประกันภัยไว้อยู่ในความรู้เห็นของพนักงานรักษาความปลอดภัยของจำเลยร่วม การที่รถยนต์คันดังกล่าวถูกโจรกรรมจึงไม่ได้เป็นผลโดยตรงมาจากการกระทำของพนักงานรักษาความปลอดภัยของจำเลยร่วมที่จำเลยร่วมจะต้องรับผิดต่อโจทก์ตามกฎหมาย ส่วนฎีกาข้ออื่นของจำเลยร่วมไม่มีผลเปลี่ยนแปลงผลคำพิพากษาศาลไม่จำต้องวินิจฉัย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาให้จำเลยร่วมร่วมรับผิดกับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยร่วมฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยร่วม ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยร่วมทั้งสามศาลให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7

Share