คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7055/2560

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การตั้งบริษัทจำกัดเกิดขึ้นโดยอาศัย ป.พ.พ. บรรพ 3 หมวด 4 ผลการควบบริษัทจำกัดเข้ากันจึงต้องเป็นไปตาม ป.พ.พ. เช่นเดียวกัน ซึ่งมาตรา 1243 บัญญัติว่า บริษัทใหม่นี้ย่อมได้ไปทั้งสิทธิและความรับผิดบรรดามีอยู่แก่บริษัทเดิมอันได้มาควบเข้ากันนั้นทั้งสิ้น การจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนเงินทดแทนจะเกิดขึ้นไม่ได้หากไม่มีโจทก์ซึ่งเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ผู้เป็นนายจ้างและลูกจ้าง จึงต้องนำ ป.พ.พ. มาใช้บังคับด้วย จะใช้บังคับเพียง พ.ร.บ.เงินทดแทน พ.ศ.2537 และประกาศกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม เรื่อง อัตราเงินสมทบ อัตราเงินฝาก วิธีการประเมินและการเรียกเก็บเงินสมทบ ฉบับลงวันที่ 12 กันยายน 2537 และฉบับที่ 2 ลงวันที่ 2 กรกฎาคม 2550 ซึ่งไม่มีบทบัญญัติการจัดตั้งบริษัทจำกัดและการควบบริษัทจำกัดเข้ากันหาได้ไม่ และการที่ไม่นำ ป.พ.พ. มาใช้บังคับจะเป็นการเพิ่มภาระให้แก่โจทก์โดยไม่เป็นธรรม และเนื่องจากโจทก์เกิดจากการควบบริษัทจำกัดเข้ากันโดยไม่ได้เปลี่ยนแปลงประเภทกิจการและจำเลยทั้งสองยังคงกำหนดรหัสประเภทกิจการของโจทก์ตามรหัสเดิมก่อนการควบเข้ากัน ทั้งไม่ปรากฏว่าการควบบริษัทและการเพิ่มจำนวนลูกจ้างกรณีนี้ทำให้มีความเสี่ยงภัยสูงขึ้น หรือโจทก์มีเจตนาหลีกเลี่ยงกฎหมาย โจทก์จึงสามารถนำระยะเวลาการจ่ายเงินสมทบของบริษัทเดิมก่อนการควบรวมบริษัทมาคำนวณระยะเวลาต่อเนื่องได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งประเมินเงินสมทบกองทุนเงินทดแทนของจำเลยทั้งสอง และเพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทน ให้จำเลยทั้งสองนำระยะเวลาที่บริษัทบางกอกพัฒนามอเตอร์ จำกัด และบริษัทบางค้ออุตสาหกรรม จำกัด ได้จ่ายเงินสมทบกองทุนเงินทดแทนก่อนควบเข้ากันมารวมคำนวณนับระยะเวลาให้แก่โจทก์ และให้โจทก์ได้รับไปซึ่งสิทธิและหน้าที่ที่มีอยู่แก่บริษัทเดิมทั้งสองทุกประการ ให้จำเลยทั้งสองนำเงินสมทบกองทุนเงินทดแทนที่บริษัทเดิมทั้งสองได้ชำระแก่กองทุนเงินทดแทนก่อนควบเข้ากันมาเป็นเงินสมทบกองทุนเงินทดแทนของโจทก์ และให้โจทก์ได้รับการประเมินอัตราเงินสมทบตามค่าประสบการณ์จากบริษัทเดิมทั้งสองในการคำนวณเงินสมทบต่อเนื่องไปในอนาคต
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งประเมินเงินสมทบของจำเลยทั้งสองตามหนังสือการขึ้นทะเบียนกองทุนเงินทดแทนและใบประเมินเงินสมทบกองทุนเงินทดแทนประจำปี ฉบับเลขที่ 740156100003293 (ที่ถูก เป็นฉบับเลขที่ 740156100003292) ลงวันที่ 25 กรกฎาคม 2556 ให้จำเลยที่ 1 นำระยะเวลาทั้งหมดที่บริษัทบางกอกพัฒนามอเตอร์ จำกัด และบริษัทบางค้ออุตสาหกรรม จำกัด ได้จ่ายเงินสมทบกองทุนเงินทดแทนก่อนควบบริษัทมารวมคำนวณนับระยะเวลาให้แก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 1 ถือว่าข้อมูลเกี่ยวกับอัตราเงินสมทบตามค่าประสบการณ์ที่ลดหรือเพิ่มตามอัตราส่วนการสูญเสียของนายจ้างของบริษัทบางกอกพัฒนามอเตอร์ จำกัด และบริษัทบางค้ออุตสาหกรรม จำกัด ก่อนควบบริษัทเป็นข้อมูลของโจทก์ด้วย และให้จำเลยที่ 1 ถือว่าเงินสมทบกองทุนเงินทดแทนที่บริษัทบางกอกพัฒนามอเตอร์ จำกัด และบริษัทบางค้ออุตสาหกรรม จำกัด ได้จ่ายครบถ้วนประจำปี พ.ศ.2556 เป็นเงินสมทบที่โจทก์ได้จ่ายครบถ้วนประจำปี พ.ศ.2556 แล้ว คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก ยกฟ้องจำเลยที่ 2
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2556 โจทก์จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ซึ่งเกิดจากการควบบริษัทบางกอกพัฒนามอเตอร์ จำกัด เข้ากับบริษัทบางค้ออุตสาหกรรม จำกัด กรรมการโจทก์เป็นบุคคลชุดเดียวกับกรรมการบริษัทเดิมทั้งสอง ตามสำเนาหนังสือรับรอง ผู้ถือหุ้นบริษัทโจทก์เป็นผู้ถือหุ้นชุดเดียวกับบริษัทเดิมทั้งสอง และรวมจำนวนทุนเรือนหุ้นของบริษัทเดิมทั้งสองเข้ากันเป็นจำนวนทุนเรือนหุ้นของโจทก์ตามสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น เดิมก่อนการควบเข้ากันนั้นบริษัทบางกอกพัฒนามอเตอร์ จำกัด ประกอบกิจการรวมสามประเภท จำเลยทั้งสองได้กำหนดรหัสกิจการและประเมินเงินสมทบในกิจการแต่ละประเภทคือกิจการประเภทที่หนึ่ง ผลิตยางนอก ยางในรถจักรยาน รถจักรยานยนต์ รหัสกิจการคือ 0613 อัตราเงินสมทบร้อยละ 0.14 กิจการประเภทที่สอง ผลิตชิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้า รหัสกิจการคือ 0615 อัตราเงินสมทบร้อยละ 0.14 กิจการประเภทที่สาม ผลิตส่วนประกอบรถจำพวกดวงไฟ รหัสกิจการคือ 1008 อัตราเงินสมทบร้อยละ 0.50 และบริษัทนี้มีลูกจ้าง รวม 941 คน ส่วนบริษัทบางค้ออุตสาหกรรม จำกัด ประกอบกิจการหนึ่งประเภทคือ ผลิตขายชิ้นส่วนยานพาหนะที่เป็นพลาสติก จำเลยทั้งสองกำหนดรหัสกิจการและประเมินเงินสมทบเช่นเดียวกับกิจการประเภทที่สองของบริษัทบางกอกพัฒนามอเตอร์ จำกัด คือรหัสกิจการ 0615 อัตราเงินสมทบร้อยละ 0.14 บริษัทนี้มีลูกจ้าง 1 คน ในเดือนมกราคม 2556 บริษัททั้งสองได้จ่ายเงินสมทบประจำปี 2556 เรียบร้อยแล้ว ตามสำเนาใบแจ้งการประเมินเงินสมทบ เมื่อบริษัททั้งสองควบเข้ากันเป็นโจทก์ โจทก์ก็ยังคงประกอบกิจการเหมือนเดิมไม่มีการเปลี่ยนแปลงประเภทกิจการ และใช้สถานที่ของบริษัทเดิมทั้งสองประกอบกิจการ ตามสำเนาหนังสือรับรอง และจำเลยทั้งสองกำหนดรหัสประเภทกิจการโจทก์รวมสามประเภทตามรหัสเดิมทุกประการ แต่จำเลยทั้งสองประเมินและเรียกเก็บเงินสมทบประจำปี พ.ศ.2556 จากโจทก์เพราะโจทก์ตั้งนิติบุคคลใหม่ในอัตราเสมือนโจทก์เพิ่งเริ่มต้นประกอบกิจการ โดยไม่ได้ลดอัตราเงินสมทบตามอัตราส่วนการสูญเสียของนายจ้างตามที่บริษัทเดิมทั้งสองได้รับ โดยจำเลยที่ 2 ขณะดำรงตำแหน่งหัวหน้าสำนักงานประกันสังคมจังหวัดสมุทรสาคร สาขากระทุ่มแบน เป็นผู้ออกคำสั่งประเมินเงินสมทบดังกล่าว ตามสำเนาหนังสือขึ้นทะเบียนกองทุนเงินทดแทนและใบแจ้งการประเมินสมทบกองทุนเงินทดแทนประจำปี โจทก์ไม่เห็นด้วยกับการประเมินจึงอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนตามสำเนาหนังสืออุทธรณ์ คณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนเห็นว่า การประเมินและคำสั่งดังกล่าวถูกต้องแล้วให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์ ตามสำเนาหนังสือแจ้งผลการพิจารณาอุทธรณ์และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทน โจทก์จำต้องควบบริษัทเข้ากันเป็นการปรับโครงสร้างบริษัทเพื่อลดต้นทุนการบริหารจัดการและเพิ่มศักยภาพการแข่งขันให้สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ในสภาวะเศรษฐกิจถดถอยตามสำเนาหนังสืออุทธรณ์ แล้ววินิจฉัยว่า จำเลยที่ 2 ทำหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมายจากจำเลยที่ 1 ในการออกคำสั่งประเมินเงินสมทบกองทุนเงินทดแทนให้โจทก์จ่าย เมื่อโจทก์ไม่พอใจและอุทธรณ์คำสั่งต่อคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทน เป็นกรณีมีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ของโจทก์ โจทก์ไม่ได้ฟ้องให้จำเลยทั้งสองรับผิดทางละเมิดตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 แต่จำเลยที่ 2 กระทำการภายในขอบอำนาจแห่งตัวแทนของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องผูกพันต่อโจทก์ พระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ.2537 ไม่ได้บัญญัติผลของการควบบริษัทจำกัดเข้าด้วยกัน ต้องนำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1243 มาใช้บังคับ โจทก์จึงได้ไปทั้งสิทธิและความรับผิดบรรดามีอยู่แก่บริษัทเดิมอันได้มาควบเข้ากันนั้นทั้งสิ้น และโจทก์ยังคงประกอบกิจการเดิมเช่นเดียวกับบริษัทเดิมอันได้มาควบเข้ากัน โจทก์จึงรับไปซึ่งสิทธิที่เกี่ยวข้องกับการประกอบกิจการจากบริษัทเดิมนั้น ซึ่งรวมทั้งข้อมูลอัตราเงินสมทบตามค่าประสบการณ์ที่ลดหรือเพิ่มตามอัตราส่วนการสูญเสียของนายจ้างและระยะเวลาการจ่ายเงินสมทบติดต่อกัน ตลอดจนสิทธิการลดอัตราเงินสมทบตามอัตราส่วนการสูญเสียของนายจ้างของบริษัทเดิมด้วย เมื่อบริษัทเดิมจ่ายเงินสมทบประจำปี 2556 แล้วจึงถือว่าโจทก์จ่ายเงินสมทบประจำปี 2556 แล้วด้วย
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ว่าโจทก์สามารถนำระยะเวลาการจ่ายเงินสมทบของบริษัทเดิมก่อนการควบเข้ากันมาคำนวณระยะเวลาต่อเนื่องได้หรือไม่ เห็นว่า การตั้งบริษัทจำกัดเกิดขึ้นโดยอาศัยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 3 เอกเทศสัญญา หมวดบริษัทจำกัด ดังนั้นผลการควบบริษัทจำกัดเข้ากันจึงต้องเป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เช่นเดียวกัน ซึ่งมาตรา 1243 บัญญัติว่า บริษัทใหม่นี้ย่อมได้ไปทั้งสิทธิและความรับผิดบรรดามีอยู่แก่บริษัทเดิมอันได้มาควบเข้ากันนั้นทั้งสิ้น การจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนเงินทดแทนจะเกิดขึ้นไม่ได้หากไม่มีโจทก์ซึ่งเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ผู้เป็นนายจ้างและลูกจ้าง จึงต้องนำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาใช้บังคับด้วย จะใช้บังคับเพียงพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ.2537 และประกาศกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม เรื่อง อัตราเงินสมทบ อัตราเงินฝาก วิธีการประเมินและการเรียกเก็บเงินสมทบ ฉบับลงวันที่ 12 กันยายน 2537 และฉบับที่ 2 ลงวันที่ 2 กรกฎาคม 2550 ซึ่งไม่มีบทบัญญัติการจัดตั้งบริษัทจำกัดและการควบบริษัทจำกัดเข้ากันหาได้ไม่ การที่ไม่นำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1243 มาใช้บังคับจะเป็นการเพิ่มภาระให้แก่โจทก์โดยไม่เป็นธรรม และเนื่องจากโจทก์เกิดจากการควบบริษัทจำกัดเข้ากันโดยไม่ได้เปลี่ยนแปลงประเภทกิจการที่จะส่งผลกระทบต่อความเสี่ยงภัยและความสูญเสียของประเภทกิจการและจำเลยทั้งสองยังคงกำหนดประเภทกิจการของโจทก์ตามรหัสเดิมก่อนการควบเข้ากัน ทั้งยังไม่ปรากฏว่าการควบเข้ากันและการเพิ่มจำนวนลูกจ้างจากจำนวน 942 คน เป็น 1050 คน ทำให้มีความเสี่ยงภัยสูงขึ้น หรือโจทก์มีเจตนาหลีกเลี่ยงกฎหมาย โจทก์จึงสามารถนำระยะเวลาการจ่ายเงินสมทบของบริษัทเดิมก่อนการควบเข้ากันมาคำนวณระยะเวลาต่อเนื่องได้ ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share