แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ
ย่อสั้น
การยื่นคำร้องขอให้คณะกรรมการวินิจฉัยเกี่ยวกับการปฏิบัติตามคำพิพากษาหรือคำสั่งที่ถึงที่สุดระหว่างศาลขัดแย้งกันตามมาตรา ๑๔ แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ นั้น ต้องเป็นกรณีที่คำพิพากษาหรือคำสั่งที่ถึงที่สุดระหว่างศาลสองศาลขัดแย้งกันจนเป็นเหตุให้คู่ความหรือบุคคลซึ่งได้รับผลกระทบโดยตรงจากคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้น ไม่อาจปฏิบัติตามคำพิพากษาหรือคำสั่งที่ถึงที่สุดนั้นได้ เนื่องจากในกรณีที่ศาลได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งถึงที่สุดแล้ว คำพิพากษาหรือคำสั่งที่ถึงที่สุดนั้นย่อมบังคับได้ตามกฎหมายโดยมีผลผูกพันคู่ความให้ต้องปฏิบัติตามข้อความและผลแห่งคำพิพากษานั้น ตามคำร้องนี้แม้คดีที่ผู้ร้องยื่นฟ้องต่อศาลปกครองขอให้เพิกถอนคำสั่งลงโทษไล่ผู้ร้องออกจากราชการ กับคดีที่พนักงานอัยการจังหวัดแพร่ยื่นฟ้องผู้ร้องกับพวก เป็นจำเลยต่อศาลจังหวัดแพร่ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๔๘, ๑๕๗, ๙๐, ๘๓ และ ๘๖ ข้อหาความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ จะอาศัยข้อเท็จจริงเดียวกัน แต่ประเด็นแห่งคดีของศาลปกครองสูงสุดนั้น ได้แก่ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยว่า การกระทำของผู้ร้องเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรงหรือไม่ ส่วนประเด็นแห่งคดีของศาลฎีกา ได้แก่การกระทำของผู้ร้องกับพวกเป็นการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๔๘, ๑๕๗ ประกอบมาตรา ๘๓ หรือไม่ ซึ่งการดำเนินการทางวินัยและทางอาญาแก่ข้าราชการนั้นเป็นกระบวนการที่แยกต่างหากจากกัน โดยการดำเนินการและการลงโทษทางวินัยของข้าราชการมีความมุ่งหมายสำคัญเพื่อควบคุมความประพฤติของข้าราชการให้อยู่ในกรอบของกฎหมาย ระเบียบ และมาตรฐานทางจริยธรรมเพื่อให้ข้าราชการปฏิบัติราชการให้เกิดประสิทธิภาพ รักษาชื่อเสียงและสร้างความเชื่อมั่นของประชาชนต่อระบบราชการอันเป็นการใช้มาตรการภายในฝ่ายบริหาร ตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องเพื่อรักษาวินัยข้าราชการ จึงแตกต่างจากการดำเนินคดีอาญา ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการลงโทษผู้กระทำผิดอาญา โดยมีความมุ่งหมายสำคัญเพื่อรักษาความมั่นคงของประเทศ ความสงบเรียบร้อยของสังคม ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ซึ่งโดยหลักการดำเนินคดีอาญาต้องเป็นไปตามองค์ประกอบความรับผิดทางอาญา และศาลจะพิพากษาว่าจำเลยกระทำความผิดอาญาและลงโทษจำเลยก็ต่อเมื่อมีพยานหลักฐานมั่นคงพิสูจน์ได้ว่ามีการกระทำผิดจริงและจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดเท่านั้น ดังนี้ แม้ข้อเท็จจริงที่ใช้เป็นฐานในการพิจารณาความผิดทางวินัยและความผิดอาญาจะเป็นข้อเท็จจริงเดียวกัน แต่เมื่อประเด็นในคดีต่างกันและการพิสูจน์ความผิดที่กฎหมายประสงค์จะนำมาลงโทษในคดีอาญาและคดีวินัยแตกต่างกัน ทั้งไม่ปรากฏว่ามีข้อขัดข้องในการปฏิบัติตามคำพิพากษาที่ถึงที่สุดของทั้งสองศาลแต่อย่างใด กรณีตามคำร้องของผู้ร้องจึงไม่ใช่ปัญหาเกี่ยวกับคำพิพากษาหรือคำสั่งที่ถึงที่สุดระหว่างศาลขัดแย้งกัน ตามนัยมาตรา ๑๔ แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ ที่คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลจะรับเรื่องไว้พิจารณาวินิจฉัยได้