แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์วันอื่นที่มิใช่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2553 โดยไม่ได้ส่งหนังสือเลิกจ้างให้โจทก์ เท่ากับเป็นการเลิกจ้างโดยไม่ได้แจ้งเหตุเลิกจ้างแก่โจทก์ จำเลยไม่มีสิทธิเลิกจ้างโจทก์โดยไม่จ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชยและค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมนั้นเป็นอุทธรณ์ที่หยิบยกข้อเท็จจริงใหม่กล่าวขึ้นในชั้นอุทธรณ์ อันเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง
การที่โจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างในตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายผลิตเหมืองและมีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบกระบวนการผลิตแร่ที่เหมืองแร่ของจำเลยที่ได้รับสัมปทานจากทางราชการ ได้จัดทำบันทึกในนามของจำเลยว่าจำเลยซื้อที่ดินจากชาวบ้านที่กล่าวหาว่าจำเลยทำเหมืองแร่รุกล้ำที่ดินโดยไม่ได้รับอนุญาตจากจำเลย ซึ่งแม้โจทก์จะใช้เงินส่วนตัวซื้อที่ดิน ก็เป็นการใช้อำนาจหน้าที่ในตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายผลิตเหมืองของจำเลยเพื่อให้ได้มาซึ่งที่ดินที่จำเลยได้สัมปทานทำเหมืองแร่หลังจากหมดอายุประทานบัตรซึ่งโจทก์รู้ว่าจะหมดอายุในเวลาอีกไม่นาน และต่อมาอีกประมาณ 1 ปี โจทก์ก็เข้าครอบครองที่ดินทันทีที่หมดอายุประทานบัตรของจำเลยและครอบครองที่ดินดังกล่าวตลอดมา จึงเป็นการแสวงหาประโยชน์เพื่อตนเองโดยอาศัยอำนาจหน้าที่ของโจทก์ ถือได้ว่าเป็นการทุจริตต่อหน้าที่ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 (1) จำเลยเลิกจ้างโจทก์ได้โดยมิพักต้องบอกกล่าวล่วงหน้าและไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ และไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 73,700 บาท ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม 1,768,800 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี และค่าชดเชย 737,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า ระหว่างโจทก์ทำงานเป็นลูกจ้างของจำเลยตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายผลิตโดยดูแลรับผิดชอบกระบวนการผลิตแร่ที่เหมืองแร่ในพื้นที่ตำบลน้ำรึม อำเภอเมืองตาก จังหวัดตาก ซึ่งจำเลยได้รับสัมปทานจากทางราชการ โจทก์ไม่ได้ใช้เวลาทำงานให้แก่จำเลยไปทำธุรกิจร้านขายกาแฟและขายต้นไม้ ทั้งไม่ได้ลักลอบนำแร่ของจำเลยไปขายหรือไปเป็นประโยชน์ส่วนตัว โจทก์ไม่ได้ให้บุคคลภายนอกเข้าไปครอบครองบ้านพักของจำเลย และไม่มีผลประโยชน์ได้เสียกับห้างหุ้นส่วนจำกัดเอส.เฟลด์ส.ไมน์ ซึ่งเป็นผู้รับจ้างขุดและผลิตแร่ให้แก่จำเลย ก่อนวันที่ 25 มีนาคม 2545 ตัวแทนชาวบ้านตำบลน้ำรึม อำเภอเมืองตาก จังหวัดตาก 4 คน คือ นางบัวลอย นางมาลัย นายทิน และนายสมภพ มีหนังสือร้องเรียนต่อผู้ว่าราชการจังหวัดตากว่าจำเลยทำกิจการเหมืองแร่ในที่ดินประทานบัตร 2 ฉบับ ที่ตำบลน้ำรึม รุกล้ำเข้าไปในที่ดินของชาวบ้าน ต่อมาเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2545 ผู้ว่าราชการจังหวัดตากจึงมอบหมายให้สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดตากตรวจสอบข้อเท็จจริง วันที่ 9 เมษายน 2545 โจทก์ในฐานะตัวแทนของจำเลยร่วมกับนายวีรวัฒน์ หัวหน้าฝ่ายทรัพยากรธรณี สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดตาก และนายยรรยง ปลัดอำเภอฝ่ายปกครองและพัฒนาอำเภอเมืองตาก ได้เจรจากับชาวบ้านผู้ร้องเรียน และได้ทำเป็นบันทึกข้อตกลงระหว่างจำเลยผู้ถือประทานบัตรกับชาวบ้าน การทำบันทึกข้อตกลงของโจทก์ในนามของจำเลยดังกล่าวเป็นการกระทำที่โจทก์ได้รับอนุญาตจากนายสิทธิพันธ์ ซึ่งขณะนั้นตำแหน่งผู้อำนวยการของจำเลย จึงเป็นไปโดยถูกต้องตามระเบียบข้อบังคับของจำเลย ส่วนการที่ต่อมาโจทก์ได้ทำบันทึกข้อตกลงซื้อที่ดินของนางบัวลอยรวม 2 แปลง เนื้อที่ประมาณ 16 ไร่ 2 งาน ราคา 55,000 บาท เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2548 และซื้อที่ดินของนางมาลัย 1 แปลง เนื้อที่ประมาณ 10 ไร่ 20 ตารางวา ราคา 27,000 บาท เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2548 กับได้จ่ายเงินให้นายสุเทพ จำนวน 1,500 บาท เป็นค่าเสียหายที่จำเลยได้เคยทำเหมืองในที่ดินของนายสุเทพจนทำให้ที่ดินเป็นหลุมเป็นบ่อเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2548 และจ่ายเงินค่าซื้อที่ดินของนายเฉลียว ด้วยการใช้ใบสำคัญจ่ายของจำเลยมาเขียนบันทึกข้อตกลงโดยไม่ได้รับอนุญาตจากจำเลยก่อนเมื่อวันที่ 5 มกราคม 2549 แม้จะเป็นการใช้เงินส่วนตัวของโจทก์ที่ทำบันทึกข้อตกลงกับชาวบ้านที่ร้องเรียนทั้ง 4 ราย ดังกล่าว แต่ตามบันทึกได้ระบุว่าโจทก์กระทำการแทนจำเลยและอ้างว่าจำเลยซื้อที่ดินเพื่อยุติปัญหาการร้องเรียน ทั้งหลังจากประทานบัตรที่ 20738/13163 และที่ 20754/13164 หมดอายุเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2549 ซึ่งหลังจากจำเลยได้ส่งมอบที่ดินตามประทานบัตรทั้งสองแปลงคืนให้ส่วนราชการแล้ว โจทก์ได้เข้าครอบครองที่ดินที่ซื้อตามบันทึกดังกล่าวตลอดมาแล้ววินิจฉัยว่า การกระทำของโจทก์เป็นการปฏิบัติผิดข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยเป็นกรณีร้ายแรงทำให้จำเลยได้รับความเสียหายเพราะทำให้ชาวบ้านเข้าใจว่าเมื่อหมดอายุประทานบัตรแล้ว จำเลยไม่ยอมคืนพื้นที่ทำเหมืองแต่กลับพยายามกว้านซื้อที่ดินจากชาวบ้าน จะทำให้ชาวบ้านในเขตพื้นที่ประทานบัตรต่อต้านการขออนุญาตประทานบัตรในการทำเหมืองครั้งต่อไปของจำเลย การกระทำของโจทก์ยังเป็นการกระทำโดยทุจริตต่อหน้าที่เพื่อหวังประโยชน์ตอบแทนโดยการเข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินหลังจากประทานบัตรหมดอายุ ขณะทำงานโจทก์รับจ้างเป็นที่ปรึกษาด้านธรณีวิทยาและเหมืองแร่แก่บุคคลทั่วไปโดยประกาศทางเว็บไซต์ซึ่งเป็นงานที่ตรงกับตำแหน่งหน้าที่ของโจทก์คือผู้จัดการฝ่ายเทคนิค จึงถือว่าโจทก์ประกอบธุรกิจที่มีลักษณะแข่งขันกับจำเลยอันเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยกรณีร้ายแรง กรณีเข้าเหตุตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 (1) (2) และ (4) จำเลยมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์ได้โดยโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชย และไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม
ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า ความจริงแล้วจำเลยเลิกจ้างโจทก์ในวันที่ 4 พฤศจิกายน 2553 มิใช่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2553 จำเลยไม่ได้ส่งหนังสือเลิกจ้างให้โจทก์ จึงถือว่าจำเลยไม่ได้แจ้งให้โจทก์ทราบถึงเหตุในการเลิกจ้าง จำเลยจึงไม่มีสิทธิเลิกจ้างโจทก์โดยไม่จ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชย และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมนั้น เป็นอุทธรณ์ที่หยิบยกข้อเท็จจริงใหม่ขึ้นกล่าวอ้างในชั้นอุทธรณ์ อันเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
มีปัญหาจะต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์มีว่า การทำบันทึกข้อตกลงซื้อที่ดินและจ่ายค่าเสียหายแก่ชาวบ้านรวม 4 ราย ตามบันทึกข้อตกลงเป็นการกระทำโดยทุจริตต่อหน้าที่หรือไม่ ที่โจทก์อุทธรณ์ว่าไม่เป็นการทุจริตต่อหน้าที่เพราะโจทก์ใช้เงินส่วนตัวซื้อที่ดินเพื่อให้การทำเหมืองแร่ของจำเลยดำเนินไปได้อันเป็นประโยชน์แก่จำเลยนั้น ได้ความตามข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานกลางฟังมาว่า โจทก์ได้ตกลงซื้อที่ดินจากนางบัวลอย นางมาลัย นายเฉลียว และจ่ายเงินค่าเสียหายแก่นายสุเทพ ตามบันทึกข้อตกลงนั้น ล้วนแล้วแต่ทำในนามของจำเลยทั้งสิ้นโดยการอ้างว่าเพื่อยุติปัญหาการร้องเรียนของชาวบ้านที่ร้องเรียนกล่าวหาจำเลยว่าทำเหมืองรุกล้ำในที่ดิน เห็นว่า การซื้อที่ดินดังกล่าวแม้จะเป็นการซื้อโดยใช้เงินส่วนตัวของโจทก์ แต่เป็นการใช้อำนาจหน้าที่ในตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายผลิตเหมืองของจำเลย เพื่อให้ได้มาซึ่งที่ดินที่จำเลยได้ประทานบัตรทำเหมืองหลังจากหมดอายุประทานบัตรซึ่งโจทก์รู้ว่าในเวลาอีกไม่นาน และปรากฏว่าหลังจากนั้นเพียงประมาณ 1 ปี โจทก์ก็ได้ครอบครองที่ดินทันทีที่หมดอายุประทานบัตรของจำเลยและยังได้ครอบครองตลอดมา เห็นได้ชัดว่าเป็นการแสวงหาประโยชน์เพื่อตนเองโดยอาศัยอำนาจหน้าที่ของโจทก์นั่นเอง ถือได้ว่าเป็นการทุจริตต่อหน้าที่ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 (1) ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษามานั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น เมื่อโจทก์ทุจริตต่อหน้าที่ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 (1) อันเป็นเหตุให้จำเลยเลิกจ้างโจทก์ได้โดยมิพักต้องบอกกล่าวล่วงหน้าและไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย กับทั้งไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมเสียแล้ว กรณีจึงไม่จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ในข้ออื่นอีก เพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลง
พิพากษายืน