คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6616/2560

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้รับมอบอำนาจโจทก์เบิกความเป็นพยานรับรองว่า โจทก์จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายของประเทศสาธารณรัฐอิตาลี เอกสารหมาย จ.1 ดังกล่าว เป็นหนังสือรับรองความเป็นนิติบุคคลของโจทก์ตามกฎหมายต่างประเทศ ทั้งตามคำให้การของจำเลยคงอ้างแต่เพียงว่าโจทก์มิได้แนบหนังสือรับรองการจดทะเบียนเพื่อแสดงว่าโจทก์เป็นนิติบุคคล และมีผู้ใดมีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ โจทก์คงแนบสำเนาหนังสือมอบอำนาจมาท้ายคำฟ้อง แต่เอกสารดังกล่าวก็มิใช่เอกสารที่แสดงว่าผู้รับมอบอำนาจมีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ได้ คำให้การดังกล่าวของจำเลย จึงมิใช่กรณีที่จำเลยแสดงเหตุอันสมควรสงสัยว่าหนังสือรับรองการจดทะเบียนเป็นเอกสารอันแท้จริงหรือไม่ ทั้งจำเลยก็มิได้นำสืบปฏิเสธความเป็นนิติบุคคลของโจทก์ เมื่อเป็นเช่นนี้ ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า โจทก์เป็นบริษัทจำกัด มีฐานะเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายของประเทศสาธารณรัฐอิตาลี
ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 47 นั้น เป็นเรื่องอำนาจของศาลในการดำเนินกระบวนการพิจารณาเกี่ยวกับใบมอบอำนาจหรือใบสำคัญและเอกสารอื่น ๆ ในกรณีที่ศาลมีความสงสัย หรือคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งยื่นคำร้องแสดงเหตุอันสมควรสงสัยว่าเป็นเอกสารอันแท้จริงหรือไม่ จึงให้ศาลมีอำนาจที่จะสั่งให้คู่ความนั้นยื่นเอกสารตามวิธีการในวรรคสาม หาใช่ว่าหากเอกสารไม่มีการรับรองจากโนตารีปับลิกและตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 47 วรรคสามแล้ว จะถือว่าเป็นเอกสารที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายไม่ ดังนั้น การจัดทำหนังสือมอบอำนาจโดยมีการรับรองตามมาตรา 47 วรรคสาม ขึ้นในภายหลังจากโจทก์ฟ้องคดีนี้แล้ว จึงเป็นการยืนยันถึงข้อเท็จจริงที่ว่า ก. ผู้รับมอบอำนาจมีอำนาจกระทำการแทนบริษัทโจทก์ในการมอบอำนาจตามหนังสือมอบอำนาจ ฉบับลงวันที่ 26 ตุลาคม 2553 เมื่อจำเลยมิได้นำสืบหักล้างเป็นอย่างอื่น ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ตามข้อความที่ระบุในหนังสือมอบอำนาจว่า ก. ผู้รับมอบอำนาจมีอำนาจกระทำการแทนบริษัทโจทก์ และโจทก์ได้มอบอำนาจให้ ด. กระทำการต่าง ๆ ตามที่ระบุไว้ในหนังสือมอบอำนาจ
เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า คำว่า “VALENTINO” เป็นชื่อของบุคคลธรรมดา ทั้งไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าชื่อของ ว. เป็นชื่อสกุลตามความหมายอันเข้าใจกันโดยธรรมดาของประชาชนในประเทศไทย คำว่า “VALENTINO” จึงเป็นชื่อของบุคคลธรรมดาที่ไม่เป็นชื่อสกุลตามความหมายอันเข้าใจโดยธรรมดา ย่อมมีลักษณะบ่งเฉพาะในตัวเองโดยไม่จำต้องแสดงโดยลักษณะพิเศษอีก เนื่องจากข้อความว่า “ที่แสดงโดยลักษณะพิเศษ” ที่ปรากฏใน พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 7 วรรคสอง (1) เป็นคำขยายของคำว่า “ชื่อทางการค้า” เท่านั้น มิได้รวมไปถึงชื่อตัว ชื่อสกุลของบุคคลธรรมดาที่ไม่เป็นชื่อสกุลตามความหมายอันเข้าใจกันโดยธรรมดา ทั้งคำดังกล่าว ก็มิได้เล็งถึงลักษณะและคุณสมบัติของสินค้าตามที่โจทก์ขอจดทะเบียนโดยตรง ดังนั้น คำว่า “VALENTINO” จึงมีลักษณะบ่งเฉพาะอันพึงรับจดทะเบียนได้ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 7 วรรคสอง (1)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาว่า เครื่องหมายการค้าคำว่า “VALENTINO” ตามคำขอเลขที่ 706344 มีลักษณะบ่งเฉพาะอันพึงรับจดทะเบียนได้ ให้เพิกถอนคำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่ พณ 0704/31319 ลงวันที่ 25 ธันวาคม 2552 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่ 115/2555 ให้จำเลยดำเนินการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า “VALENTINO” ตามคำขอเลขที่ 706344 ของโจทก์ต่อไป
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่ไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ตามคำขอเลขที่ 706344 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่ 115/2555 กับให้จำเลยดำเนินการรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอเลขที่ 706344 ของโจทก์ต่อไป ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่โจทก์และจำเลยไม่ได้โต้แย้งกันในชั้นอุทธรณ์รับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2551 โจทก์ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า “VALENTINO” เพื่อใช้กับสินค้าจำพวกที่ 3 รายการสินค้า สบู่ สบู่อาบน้ำที่ไม่มีโอสถผสม สบู่ล้างหน้าที่ไม่มีโอสถผสม น้ำหอมโอเดอโคโลญจน์ น้ำหอม น้ำหอมโอเดอทอยเล็ต สเปรย์ระงับกลิ่นกาย โลชั่นบำรุงผิว เครื่องสำอางระงับกลิ่นกาย เจลอาบน้ำ โฟมอาบน้ำ แป้งทาตัว แป้งทาหน้า เครื่องสำอาง กล่าวคือ ลิปสติก รูจทาแก้ม เครื่องสำอางรองพื้นก่อนแต่งหน้า อายแชโดว์ เครื่องสำอางใช้เขียนขอบตา มาสคาร่า แชมพู โลชั่นใส่ผม ยาสีฟัน ครีมบำรุงผิวสำหรับกลางวันและกลางคืน ครีมบำรุงผิวให้ชุ่มชื้น ครีมทาผิวให้เป็นสีแทน สารฟอกขาว สารที่ใช้ในการซักรีด สารขัดเงา สารขัดถูและลบรอย สบู่ หัวน้ำมันหอมระเหย โลชั่นใส่ผม ยาสีฟัน ตามคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเลขที่ 706344 นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าเห็นว่าคำขอดังกล่าวมีข้อบกพร่องตามมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 เพราะไม่ระบุรายการที่ประสงค์จะได้รับความคุ้มครองแต่ละอย่างโดยชัดแจ้ง และเครื่องหมายดังกล่าวจะต้องจดทะเบียนเป็นเครื่องหมายชุดกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ตามคำขอเลขที่ 336365, 442163 และ 442168 ตามสำเนาหนังสือสำนักเครื่องหมายการค้าที่ พณ 0704/6711 ลงวันที่ 13 มีนาคม 2552 โจทก์แก้ไขรายการสินค้าจากเครื่องสำอาง กล่าวคือ ลิปสติก เป็นลิปสติก และขอจดทะเบียนเป็นเครื่องหมายชุดตามคำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้า ต่อมา นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าขอยกเลิกการประกาศโฆษณาคำขอจดทะเบียนของโจทก์ เนื่องจากพบว่าคำว่า “VALENTINO” เป็นชื่อสกุลของดาราดังและให้โจทก์ส่งหลักฐานพิสูจน์ลักษณะบ่งเฉพาะตามสำเนาหนังสือสำนักเครื่องหมายการค้าที่ พณ 0704/519048 ลงวันที่ 7 กันยายน 2552 โจทก์ส่งหลักฐานพิสูจน์ลักษณะบ่งเฉพาะแล้ว แต่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าพิจารณาแล้วเห็นว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์ไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 7 เพราะคำที่ยื่นขอเป็นชื่อสกุลของนักแสดงที่มีชื่อเสียง ไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะตามมาตรา 7 วรรคหนึ่ง ตามสำเนาหนังสือสำนักเครื่องหมายการค้าที่ พณ 0704/519048 ลงวันที่ 7 กันยายน 2552 และที่ พณ 0704/31319 ลงวันที่ 25 ธันวาคม 2552 โจทก์อุทธรณ์คำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวต่อคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า ซึ่งคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าพิจารณาแล้วเห็นว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์ คำว่า “VALENTINO” นี้ โจทก์ยอมรับมาในคำอุทธรณ์ว่าเป็นคำที่มาจากชื่อของนายวาเลนติโน ชาวอิตาเลียน ซึ่งเป็นนักออกแบบเสื้อผ้าชื่อดังของโลก นับว่าเป็นชื่อตัวที่มิได้แสดงโดยลักษณะพิเศษ ไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะตามมาตรา 7 วรรคสอง (1) แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงดังกล่าว เครื่องหมายการค้าของโจทก์จึงไม่มีลักษณะอันพึงรับจดทะเบียนได้ตามมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 สำหรับหลักฐานที่โจทก์นำส่ง เห็นว่า หลักฐานดังกล่าวเป็นการใช้เครื่องหมายที่มีลักษณะและรายการสินค้าแตกต่างกันกับเครื่องหมายการค้าตามที่ยื่นขอจดทะเบียนไว้ จึงไม่เพียงพอที่จะรับฟังได้ว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์ตามที่ยื่นขอจดทะเบียนไว้ได้มีการจำหน่าย เผยแพร่ หรือโฆษณาอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานพอสมควรจนทำให้สาธารณชนทั่วไปหรือสาธารณชนในสาขาที่เกี่ยวข้องในประเทศไทยรู้จักและเข้าใจว่าสินค้าดังกล่าวแตกต่างไปจากสินค้าอื่น ตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง หลักเกณฑ์การพิสูจน์ลักษณะบ่งเฉพาะตามมาตรา 7 วรรคสามแห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าจึงมีมติยืนตามคำสั่งปฏิเสธของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้า ตามสำเนาคำอุทธรณ์และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่ 115/2555
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยในประการแรกว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลและได้มอบอำนาจฟ้องคดีโดยชอบหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า โจทก์จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายของประเทศสาธารณรัฐอิตาลี และโจทก์ได้มอบอำนาจให้มีการฟ้องคดีนี้ แม้โจทก์จะมิได้แนบหนังสือรับรองการจดทะเบียนหรือหลักฐานอื่นใดที่แสดงความเป็นนิติบุคคลของโจทก์มาท้ายคำฟ้อง แต่เอกสารดังกล่าวก็มิใช่เอกสารในประเด็นหลักแห่งคดีตามที่กฎหมายต้องการที่ต้องแนบมาท้ายคำฟ้อง โจทก์จึงนำสืบถึงเอกสารดังกล่าวในชั้นพิจารณาได้ ซึ่งก็ปรากฏว่า โจทก์มีนางดารานีย์ ผู้รับมอบอำนาจโจทก์เบิกความเป็นพยานประกอบบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นของพยานว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด จดทะเบียน ณ ประเทศสาธารณรัฐอิตาลี ใช้ชื่อภาษาอังกฤษว่า “VALENTINO S.p.A.” ในการยื่นขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้ารวมถึงการฟ้องร้องและดำเนินคดีเพื่อปกป้องสิทธิในเครื่องหมายการค้าของโจทก์ในประเทศไทย โจทก์แต่งตั้งและมอบอำนาจให้บริษัทติลลิกีแอนด์กิบบินส์ อินเตอร์เนชั่นแนล /หรือนางดารานีย์ และ/หรือนายศรีลา และ/หรือนายณัฐพล เป็นผู้ฟ้องคดีและดำเนินคดีนี้แทนโจทก์ ตามหนังสือมอบอำนาจพร้อมคำแปลและหนังสือรับรองของโนตารีปับลิกเอกสารหมาย จ. 2 หนังสือมอบอำนาจดังกล่าวลงนามโดยนายกาบริเอเล ซึ่งไปปรากฏตัวและสาบานต่อหน้าโนตารีปับลิก และแสดงหลักฐานในการมีอำนาจลงนามในหนังสือมอบอำนาจดังกล่าว และโนตารีปับลิกได้รับรองลายมือชื่อและประทับตราโนตารีปับลิกแล้ว นอกจากนี้ พยานได้เบิกความยืนยันว่า โจทก์ยังทำหนังสือมอบอำนาจอีกฉบับหนึ่ง โดยมอบอำนาจให้พยานและบริษัทติลลิกีแอนด์กิบบินส์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ฟ้องคดี ซึ่งนายกาบริเอเล เป็นผู้ลงลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจฉบับนี้ด้วย ตามหนังสือมอบอำนาจพร้อมคำแปลตามเอกสารหมาย จ. 67 นายกาบริเอเล เป็นผู้ลงลายมือชื่อมอบอำนาจในหนังสือมอบอำนาจทั้งสองฉบับ ตามหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ. 2 ท้ายชื่อของนายกาบริเอเล มีคำว่า ตัวแทนผู้รับมอบอำนาจ (Authorized Representative) ส่วนตามเอกสารหมาย จ. 67 ท้ายชื่อนายกาบริเอเล มีคำว่า “Name of Representatives” และมีคำว่า “Proxy Holder” ซึ่งหมายความว่า เป็นผู้ที่ได้รับมอบอำนาจให้กระทำการในนามของโจทก์ และมีถ้อยคำว่า “Title of Representative” ตามมา คำว่า “Authorized Representative” มีความหมายเท่ากับ “Proxy Holder” ซึ่งหมายความว่า ตัวแทนผู้รับมอบอำนาจ เห็นว่า ตามหนังสือรับรองการจดทะเบียน พร้อมคำแปลมีข้อความระบุว่า วาเลนติโน เอส.พี.เอ จดทะเบียนเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2546 ประเภทบริษัทจำกัด ซึ่งทางนางดารานีย์ ผู้รับมอบอำนาจโจทก์และเป็นพยานของโจทก์ก็เบิกความรับรองว่า โจทก์จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายของประเทศสาธารณรัฐอิตาลี เป็นหนังสือรับรองความเป็นนิติบุคคลของโจทก์ตามกฎหมายต่างประเทศ ทั้งตามคำให้การของจำเลยคงอ้างแต่เพียงว่าโจทก์มิได้แนบหนังสือรับรองการจดทะเบียนเพื่อแสดงว่าโจทก์เป็นนิติบุคคล และมีผู้ใดมีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ โจทก์คงแนบสำเนาหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ. 2 มาท้ายคำฟ้อง แต่เอกสารดังกล่าวก็มิใช่เอกสารที่แสดงว่าผู้รับมอบอำนาจมีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ได้ คำให้การดังกล่าวของจำเลยจึงมิใช่กรณีที่จำเลยแสดงเหตุอันสมควรสงสัยว่าหนังสือรับรองการจดทะเบียนเป็นเอกสารอันแท้จริงหรือไม่ ทั้งจำเลยก็มิได้นำสืบปฏิเสธความเป็นนิติบุคคลของโจทก์ เมื่อเป็นเช่นนี้ ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า โจทก์เป็นบริษัทจำกัด มีฐานะเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายของประเทศสาธารณรัฐอิตาลีดังฟ้อง ส่วนปัญหาว่านายกาบริเอเล มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์มอบอำนาจให้นางดารานีย์ฟ้องคดีแทนโจทก์หรือไม่ โจทก์มีหนังสือมอบอำนาจ (Power of Attorney) ฉบับลงวันที่ 26 ตุลาคม 2553 เอกสารหมาย จ. 2 ซึ่งมีนายกาบริเอเล ลงลายมือชื่อในฐานะตัวแทนผู้รับมอบอำนาจและมีหนังสือรับรองของโนตารีปับลิกพร้อมคำแปลซึ่งมีเนื้อความรับรองว่า นายกาบริเอเล ได้ลงลายมือชื่อต่อหน้าโนตารีปับลิกแล้ว นอกจากนี้ โจทก์ยังมีหนังสือมอบอำนาจ (Master Power of Attorney) ฉบับลงวันที่ 16 เมษายน 2556 พร้อมคำแปลระบุว่า นายกาบริเอเล เป็นตัวแทน (Name of Representatives) ซึ่งมีตำแหน่ง (Title of Representative) เป็นผู้รับมอบอำนาจ (Proxy Holder) และยังมีหนังสือรับรองของสถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองมิลาน ประเทศสาธารณรัฐอิตาลี กับหนังสือรับรองของโนตารีปับลิกแนบท้ายหนังสือมอบอำนาจดังกล่าว ดังที่ปรากฏในเอกสารหมาย จ. 67 แผ่นที่ 2 และ 3 พร้อมคำแปล โดยเฉพาะหนังสือรับรองของโนตารีปับลิก (NOTARIAL ACKNOWLEDGEMENT) ระบุยืนยันโดยสรุปว่า นายกาบริเอเล เป็นผู้รับมอบอำนาจ (Proxy Holder) ของวาเลนติโนเอส.พี.เอ. ซึ่งจดทะเบียนตามกฎหมายแห่งประเทศสาธารณรัฐอิตาลี และบริษัทยังดำรงอยู่ ณ วันที่จัดทำหนังสือฉบับนี้ สำหรับหนังสือมอบอำนาจฉบับก่อน นายกาบริเอเล ก็ได้ลงลายมือชื่อในนามบริษัท โดยความยินยอมของบริษัท ซึ่งหนังสือรับรองของโนตารีปับลิกฉบับนี้ สถานทูตไทย / สถานกงสุลไทยได้รับรองความถูกต้องไว้ด้วย ครั้นเมื่อตรวจดูข้อความในหนังสือมอบอำนาจตามเอกสารหมาย จ.2 และ จ. 67 ก็เป็นไปในทำนองเดียวกันว่า ให้ผู้รับมอบอำนาจจากบริษัทโจทก์มีอำนาจดำเนินการในเรื่องต่าง ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญา เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 47 นั้น เป็นเรื่องอำนาจของศาลในการดำเนินกระบวนการพิจารณาเกี่ยวกับใบมอบอำนาจหรือใบสำคัญและเอกสารอื่น ๆ ในกรณีที่ศาลมีความสงสัย หรือคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งยื่นคำร้องแสดงเหตุอันสมควรสงสัยว่าเป็นเอกสารอันแท้จริงหรือไม่ จึงให้ศาลมีอำนาจที่จะสั่งให้คู่ความนั้นยื่นเอกสารตามวิธีการในวรรคสาม หาใช่ว่าหากเอกสารไม่มีการรับรองจากโนตารีปับลิก และตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 47 วรรคสามแล้ว จะถือว่าเป็นเอกสารที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายไม่ ดังนั้นการจัดทำหนังสือมอบอำนาจตามเอกสารหมาย จ. 67 โดยมีการรับรองตามมาตรา 47 วรรคสาม ขึ้นในภายหลังหลังจากโจทก์ฟ้องคดีนี้แล้ว จึงเป็นการยืนยันถึงข้อเท็จจริงที่ว่า นายกาบริเอเล ผู้รับมอบอำนาจมีอำนาจกระทำการแทนบริษัทโจทก์ในการมอบอำนาจตามหนังสือมอบอำนาจ ฉบับลงวันที่ 26 ตุลาคม 2553 เอกสารหมาย จ. 2 เมื่อจำเลยมิได้นำสืบหักล้างเป็นอย่างอื่น ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ตามข้อความที่ระบุในหนังสือมอบอำนาจว่า นายกาบริเอเล ผู้รับมอบอำนาจมีอำนาจกระทำการแทนบริษัทโจทก์ และโจทก์ได้มอบอำนาจให้นางดารานีย์กระทำการต่าง ๆ ตามที่ระบุไว้ในหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ. 2 ส่วนข้อที่จำเลยอุทธรณ์ว่าข้อความในหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ. 2 เป็นการมอบอำนาจให้ฟ้องคดีเพื่อป้องกันสิทธิในเครื่องหมายการค้าที่ได้รับการจดทะเบียนแล้ว มิใช่การมอบอำนาจให้ฟ้องคดีเพิกถอนคำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าหรือคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า หนังสือมอบอำนาจจึงไม่ชอบ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้ เห็นว่า หนังสือมอบอำนาจตามเอกสารหมาย จ. 2 มีข้อความระบุให้ผู้รับมอบอำนาจยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้ายื่นคำอุทธรณ์ที่เกี่ยวกับเครื่องหมายการค้าต่อคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าเพื่อป้องกันสิทธิในเครื่องหมายการค้า ให้มีอำนาจยื่นฟ้องดำเนินคดีทั้งทางอาญาและทางแพ่ง เมื่อข้อเรียกร้องของโจทก์ในคดีนี้ คือให้มีการรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ การฟ้องคดีนี้จึงเป็นการกระทำภายในขอบอำนาจตามที่โจทก์กำหนดไว้ในหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ. 2 แล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยในประการต่อไปว่า เครื่องหมายการค้าคำว่า “VALENTINO” ตามคำขอเลขที่ 706344 มีลักษณะบ่งเฉพาะในตัวเองอันพึงรับจดทะเบียนได้ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 7 วรรคสอง (1) หรือไม่ ในข้อนี้พยานโจทก์มีนางดารานีย์ ผู้รับมอบอำนาจโจทก์มาเบิกความเป็นพยานประกอบบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นของพยานว่า คำว่า “VALENTINO” โจทก์นำมาจากชื่อส่วนหนึ่งของนายวาเลนติโน (Valentino Garavani) ซึ่งเป็นนักออกแบบเสื้อผ้าชาวอิตาลีชื่อดังของโลก นายวาเลนติโน ได้เริ่มใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวมาตั้งแต่ปี 2503 ส่วนจำเลยมีนางสาวศิริวรรณ นักวิชาการพาณิชย์ชำนาญการ กรมทรัพย์สินทางปัญญา เบิกความว่า คำว่า “VALENTINO” เป็นชื่อสกุลของดาราดัง ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า คำว่า “VALENTINO” เป็นชื่อตัวของนายวาเลนติโน (Valentino Garavani) บุคคลธรรมดาซึ่งเป็นนักออกแบบเสื้อผ้าชาวอิตาลี เห็นว่า ตามมาตรา 7 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 บัญญัติว่า “เครื่องหมายการค้าที่มีหรือประกอบด้วยลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งอันเป็นสาระสำคัญดังต่อไปนี้ ให้ถือว่ามีลักษณะบ่งเฉพาะ (1) ชื่อตัว ชื่อสกุลของบุคคลธรรมดาที่ไม่เป็นชื่อสกุลตามความหมายอันเข้าใจโดยธรรมดา ชื่อเต็มของนิติบุคคลตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น หรือชื่อในทางการค้าที่แสดงโดยลักษณะพิเศษและไม่เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าโดยตรง …” เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า คำว่า “VALENTINO” เป็นชื่อตัวของบุคคลธรรมดา ทั้งไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าชื่อของนายวาเลนติโนเป็นชื่อสกุลตามความหมายอันเข้าใจกันโดยธรรมดาของประชาชนในประเทศไทย คำว่า “VALENTINO” จึงเป็นชื่อของบุคคลธรรมดาที่ไม่เป็นชื่อสกุลตามความหมายอันเข้าใจโดยธรรมดา ย่อมมีลักษณะบ่งเฉพาะในตัวเองโดยไม่จำต้องแสดงโดยลักษณะพิเศษอีก เนื่องจากข้อความว่า “ที่แสดงโดยลักษณะพิเศษ” ที่ปรากฏในพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 7 วรรคสอง (1) เป็นคำขยายของคำว่า “ชื่อในทางการค้า” เท่านั้น มิได้รวมไปถึงชื่อตัว ชื่อสกุลของบุคคลธรรมดาที่ไม่เป็นชื่อสกุลตามความหมายอันเข้าใจกันโดยธรรมดา ทั้งคำดังกล่าวก็มิได้เล็งถึงลักษณะและคุณสมบัติของสินค้าตามที่โจทก์ขอจดทะเบียนโดยตรง ดังนั้น เครื่องหมายการค้า คำว่า “VALENTINO” ตามคำขอเลขที่ 706344 จึงมีลักษณะบ่งเฉพาะอันพึงรับจดทะเบียนได้ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 7 วรรคสอง (1) เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงไม่จำต้องวินิจฉัยว่าเครื่องหมายการค้าคำว่า “VALENTINO” ของโจทก์มีลักษณะบ่งเฉพาะอันเกิดจากการจำหน่าย เผยแพร่ หรือโฆษณาสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้าจนแพร่หลายแล้วตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 7 วรรคสามอีก เพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลงไป ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษามานั้น ศาลฎีกาแผนกทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วยในผล อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยดำเนินการรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอเลขที่ 706344 ของโจทก์ต่อไปนั้นยังไม่ถูกต้อง เพราะเมื่อเห็นว่าเมื่อคำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่ไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอของโจทก์เป็นคำสั่งและคำวินิจฉัยที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ก็ชอบที่จะสั่งให้เพิกถอนคำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าดังกล่าว และให้นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าดำเนินการเกี่ยวกับคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ต่อไป ไม่อาจสั่งให้จำเลยดำเนินการรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวทันทีได้ เพราะนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าจะต้องดำเนินการเกี่ยวกับคำขอจดทะเบียนของโจทก์ตามขั้นตอนต่าง ๆ ที่บัญญัติไว้พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 อีกหลายขั้นตอน ยังไม่อาจรับจดทะเบียนได้เลย ปัญหาข้อนี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีความฝ่ายใดอุทธรณ์ ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศมีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2558 มาตรา 12 วรรคสอง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 45 (เดิม) และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคสอง
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เพิกถอนคำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามหนังสือแจ้งคำสั่งที่ พณ 0704/31319 ลงวันที่ 25 ธันวาคม 2552 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่ 115/2555 ที่ไม่รับทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า “VALENTINO” ของโจทก์และให้นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าดำเนินการเกี่ยวกับคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า “VALENTINO” ของโจทก์ตามคำขอเลขที่ 706344 ต่อไป นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

Share