คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3459/2560

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่ศาลแรงงานภาค 2 กำหนดประเด็นพิพาทข้อแรกว่า คำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ แต่ปรากฏว่าศาลแรงงานภาค 2 ไม่ได้กล่าวถึงข้อเท็จจริงที่ฟังได้โดยสรุปและคำวินิจฉัยถึงประเด็นนี้พร้อมด้วยเหตุผลแห่งคำวินิจฉัย ทั้งที่มีประเด็นตามคำฟ้องว่าจำเลยที่ 4 ในฐานะพนักงานตรวจแรงงานใช้เวลาสอบสวนข้อเท็จจริงและทำคำสั่งเกินกำหนด 42 วัน ตามประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงงาน เรื่อง การกำหนดระยะเวลาแล้วเสร็จของงาน พ.ศ.2551 จะมีผลทำให้การทำสอบข้อเท็จจริงและทำคำสั่งชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และการที่ศาลแรงงานภาค 2 วินิจฉัยข้อเท็จจริงต่อมาว่า ส. ลูกจ้างของโจทก์ไม่ได้เบียดบังเอาทรัพย์สินของโจทก์ซึ่งเป็นนายจ้างไป กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยว่าลูกจ้างจงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหายหรือไม่จึงพิพากษายกฟ้องนั้น ก็ยังไม่ได้ตอบประเด็นข้อพิพาทข้อที่ 2 ที่ว่า ลูกจ้างจงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหายหรือไม่ พร้อมทั้งยังไม่ได้แสดงเหตุผลแห่งคำวินิจฉัยถึงประเด็นข้อนี้ไว้ด้วย ดังนี้ คำพิพากษาศาลแรงงานภาค 2 จึงไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 51 วรรคหนึ่ง อย่างไรก็ตามเมื่อมีข้อเท็จจริงในสำนวนเพียงพอที่จะวินิจฉัยได้ ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยให้โดยไม่ย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานภาค 2 พิพากษาใหม่
กำหนดระยะเวลาสอบสวนข้อเท็จจริงและทำคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานต้องเป็นไปตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 124 วรรคหนึ่ง ที่กำหนดให้พนักงานตรวจแรงงานต้องทำคำสั่งภายในกำหนด 60 วัน นับแต่วันรับคำร้อง และวรรคสอง ที่กำหนดว่าในกรณีที่มีความจำเป็นไม่อาจมีคำสั่งได้ภายในกำหนด ก็ให้พนักงานตรวจแรงงานขอขยายเวลาต่ออธิบดีหรือผู้ที่อธิบดีมอบหมายพร้อมด้วยเหตุผล หากมิได้สอบสวนข้อเท็จจริงหรือทำคำสั่งเสร็จภายในกำหนด 60 วัน หรือภายในเวลาที่ได้รับอนุญาตให้ขยาย ย่อมเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบ ดังนี้เมื่อจำเลยที่ 4 ในฐานะพนักงานตรวจแรงงานใช้เวลาทำการสอบสวนข้อเท็จจริงและทำคำสั่งรวม 57 วันนับแต่วันที่รับคำร้องจาก ส. ลูกจ้างของโจทก์ จึงชอบด้วย พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 124 วรรคหนึ่ง
ส่วนการที่จำเลยที่ 4 สอบสวนข้อเท็จจริงและทำคำสั่งภายใน 60 วัน นับแต่วันที่รับคำร้อง แต่เกินกำหนด 42 วัน ตามประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เรื่อง การกำหนดระยะเวลาแล้วเสร็จของงาน พ.ศ.2551 ข้อ 4 ที่กำหนดว่า ระยะเวลาการดำเนินการแล้วเสร็จของงานให้เป็นไปตามรายละเอียดที่ปรากฏแนบท้ายประกาศนี้ โดยเอกสารแนบท้ายกำหนดว่า การรับและพิจารณาวินิจฉัยคำร้องรวมทั้งแจ้งคำสั่งกฎหมายคุ้มครองแรงงานกรณีแสวงหาพยานหลักฐานได้ ไม่ซับซ้อนหรือคู่กรณีมาชี้แจงตามกำหนดและให้การครบถ้วน ให้ใช้เวลา 42 วันนั้น ไม่มีผลทำให้คำสั่งของจำเลยที่ 4 ในฐานะพนักงานตรวจแรงงานเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะประกาศดังกล่าวออกโดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.ฎ.ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ.2546 มาตรา 37 และ 38 เพื่อให้การบริหารราชการอำนวยความสะดวกและตอบสนองต่อความต้องการของประชาชน ซึ่งจะใช้เป็นข้อพิจารณาส่วนหนึ่งในเรื่องการประเมินผลการปฏิบัติงานของราชการและจัดสรรเงินเพิ่มเป็นบำเหน็จความชอบแก่ส่วนราชการหรือจัดสรรเป็นเงินรางวัลแก่ข้าราชการเท่านั้น
การที่ ส. ลูกจ้างของโจทก์มีหน้าที่ควบคุมดูแลการจัดเก็บขยะของพนักงานเก็บขยะจากองค์การบริหารส่วนตำบลห้วยยางแล้วปล่อยให้พนักงานเก็บขยะดังกล่าวเก็บเอาสิ่งของที่มีสภาพไร้ประโยชน์ไม่มีมูลค่าหรือราคาของโจทก์ที่วางอยู่บริเวณจุดทิ้งขยะออกไปจากโรงงานของโจทก์ และนำไปทิ้งบริเวณหลุมขยะหลังวัดห้วยยางตามปกติ โดยโจทก์ไม่มีส่วนเบียดบังเอาสิ่งของดังกล่าว แสดงว่า ส. ลูกจ้างของโจทก์ไม่ได้ประสงค์หรือตั้งใจให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ จึงไม่เป็นการจงใจทำให้โจทก์ซึ่งเป็นนายจ้างได้รับความเสียหาย และไม่เป็นการทำประการอื่นอันไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริต กรณีไม่มีเหตุเพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานที่ให้โจทก์จ่ายค่าชดเชยและค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่ ส. ลูกจ้างของโจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดระยอง ที่ 68/2552
จำเลยทั้งสี่ให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างการพิจารณาของศาลแรงงานภาค 2 โจทก์แถลงขอถอนฟ้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ศาลแรงงานภาค 2 มีคำสั่งอนุญาตและให้จำหน่ายคดีในส่วนของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ออกจากสารบบความ
ศาลแรงงานภาค 2 พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์โจทก์ข้อแรกมีว่า คำพิพากษาศาลแรงงานภาค 2 ชอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 51 หรือไม่ โจทก์บรรยายสภาพข้อหาของคำฟ้องว่า จำเลยที่ 4 ไม่ได้สอบสวนข้อเท็จจริงและมีคำสั่งภายในกำหนดเวลาตามประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เรื่อง การกำหนดเวลาแล้วเสร็จของงาน พ.ศ.2551 ทั้งที่เป็นคดีที่ไม่ซับซ้อนในการแสวงหาพยานและคู่กรณีมาชี้แจงตามกำหนดสามารถวินิจฉัยได้เลย คำสั่งของจำเลยที่ 4 ในฐานะพนักงานตรวจแรงงาน จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งศาลแรงงานภาค 2 กำหนดประเด็นพิพาท ข้อ 1 ว่า คำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ไว้แล้ว แต่ไม่ปรากฏว่าศาลแรงงานภาค 2 กล่าวถึงข้อเท็จจริงที่ฟังได้โดยสรุปและคำวินิจฉัยถึงปัญหาของประเด็นดังกล่าวพร้อมด้วยเหตุผลแห่งคำวินิจฉัย โดยวินิจฉัยถึงข้อเท็จจริงอันเป็นพฤติกรรมของนายสุนทร ลูกจ้าง ที่กระทำต่อโจทก์ซึ่งเป็นนายจ้างเพียงว่านายสุนทรไม่ได้เบียดบังเอาทรัพย์สินของโจทก์ไป ซึ่งแม้จะเกี่ยวพันกับประเด็นพิพาทข้อ 2 ว่าลูกจ้างจงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหายหรือไม่ แต่ก็ไม่ได้วินิจฉัยตอบคำถามของประเด็นดังกล่าวพร้อมแสดงเหตุผลแห่งคำวินิจฉัยว่าลูกจ้างจงใจทำให้โจทก์เสียหายหรือไม่อีกเช่นกันที่ศาลแรงงานภาค 2 วินิจฉัยเพียงว่าลูกจ้างไม่ได้เบียดบังเอาทรัพย์สินของโจทก์จึงไม่จำต้องวินิจฉัยว่าลูกจ้างจงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหายหรือไม่ แล้วพิพากษายกฟ้อง จึงไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 51 วรรคหนึ่ง อุทธรณ์โจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น แต่ปัญหาว่าคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานชอบด้วยกฎหมายหรือไม่และปัญหาว่าลูกจ้างจงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหายหรือไม่ เมื่อข้อเท็จจริงที่ปรากฏตามทางนำสืบโจทก์จำเลยไม่โต้เถียงกันและที่ได้ความจากคำพิพากษาศาลแรงงานภาค 2 เพียงพอที่จะวินิจฉัยข้อกฎหมายแล้ว ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยให้โดยไม่ย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานภาค 2 พิพากษาใหม่
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ข้อที่สองว่าการที่จำเลยที่ 4 ในฐานะพนักงานตรวจแรงงานใช้เวลาสอบสวนข้อเท็จจริงและทำคำสั่งภายในกำหนด 60 วัน นับแต่วันที่ได้รับคำร้อง แต่เกินกำหนดระยะเวลา 42 วัน ตามประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เรื่อง การกำหนดระยะเวลาแล้วเสร็จของงาน พ.ศ.2551 จะมีผลให้คำสั่งพนักงานตรวจแรงงานไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า ประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เรื่อง การกำหนดระยะเวลาแล้วเสร็จของงาน พ.ศ.2551 ข้อ 4 ที่กำหนดว่า ระยะเวลาการดำเนินการแล้วเสร็จของงานให้เป็นไปตามรายละเอียดที่ปรากฏแนบท้ายประกาศนี้ โดยเอกสารแนบท้ายกำหนดว่า การรับและพิจารณาวินิจฉัยคำร้องรวมทั้งแจ้งคำสั่งกฎหมายคุ้มครองแรงงานกรณีแสวงหาพยานหลักฐานได้ ไม่ซับซ้อนหรือคู่กรณีมาชี้แจงตามกำหนดและให้การครบถ้วน ให้ใช้เวลา 42 วัน นั้น เป็นการออกประกาศโดยอาศัยอำนาจตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ.2546 มาตรา 37 และมาตรา 38 ที่กำหนดให้ส่วนราชการกำหนดงานแล้วเสร็จของงานแต่ละงานและประกาศให้ประชาชนและข้าราชการทราบเป็นการทั่วไป เพื่อให้การบริหารราชการได้อำนวยความสะดวกและตอบสนองความต้องการของประชาชน ซึ่งจะใช้เป็นข้อพิจารณาส่วนหนึ่งในเรื่องการประเมินผลการปฏิบัติงานของข้าราชการและการจัดสรรเงินเพิ่มเป็นบำเหน็จความชอบแก่ส่วนราชการหรือจัดสรรเป็นรางวัลแก่ข้าราชการ ส่วนการสอบสวนข้อเท็จจริงและทำคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานจะชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ต้องเป็นไปตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 124 วรรคหนึ่ง ที่กำหนดให้พนักงานตรวจแรงงานต้องทำการสอบสวนข้อเท็จจริงและมีคำสั่งภายใน 60 วัน นับแต่วันที่รับคำร้อง และวรรคสองที่กำหนดว่าในกรณีที่มีความจำเป็นไม่อาจมีคำสั่งได้ภายในกำหนดเวลาก็ให้พนักงานตรวจแรงงานขอขยายระยะเวลาต่ออธิบดีหรือผู้ที่อธิบดีมอบหมายพร้อมด้วยเหตุผล หากการพิจารณาสอบสวนข้อเท็จจริงและทำคำสั่งไม่เสร็จภายในกำหนดเวลาตามบทกฎหมายดังกล่าว คำสั่งพนักงานตรวจแรงงานย่อมไม่ชอบด้วยกฎหมาย เมื่อจำเลยที่ 4 ในฐานะพนักงานตรวจแรงงานได้รับคำร้องของนายสุนทร ลูกจ้างโจทก์เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2552 และสอบสวนข้อเท็จจริงจนกระทั่งมีคำสั่งเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2552 รวมระยะเวลา 57 วัน การสอบสวนข้อเท็จจริงและทำคำสั่งของจำเลยที่ 4 จึงอยู่ภายใน 60 วัน นับแต่วันที่รับคำร้อง ชอบด้วยพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 124 วรรคหนึ่ง อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ข้อสุดท้ายว่าการกระทำของลูกจ้างเป็นการจงใจทำให้โจทก์ซึ่งเป็นนายจ้างได้รับความเสียหายและเป็นการทำประการอื่นอันไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริตหรือไม่ เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงได้ความตามที่คู่ความไม่โต้แย้งกันว่า วันที่ 9 เมษายน 2552 นายเรวัฒน์ ผู้จัดการโรงงานโจทก์สั่งกำชับให้นายสุนทร ลูกจ้างของโจทก์ตำแหน่งพนักงานรักษาความสะอาดซึ่งมีหน้าที่ควบคุมดูแลรถที่เข้ามาเก็บขยะภายในโรงงาน ว่าให้ดูแลความเรียบร้อยในการเก็บรวมรวบขยะของโรงงานที่ลูกจ้างในบริษัทโจทก์นำมาทิ้งไว้ในถังที่โจทก์จัดไว้ ณ จุดทิ้งขยะ เพื่อให้พนักงานเก็บขยะขององค์การบริหารส่วนตำบลห้วยยางเก็บไปทิ้ง ต่อมาวันเดียวกันเวลาประมาณ 10 ถึง 11 นาฬิกา รถเก็บขยะขององค์การบริหารส่วนตำบลห้วยยาง ซึ่งมีนายดอกไม้ พนักงานขับรถเก็บขยะ กับนายบรรเจิด และนายไพโรจน์ พนักงานประจำรถเก็บขยะ เข้าไปเก็บขยะในโรงงานของโจทก์ที่บริเวณจุดทิ้งขยะแล้วเก็บเอาลังพลาสติกสีน้ำเงิน 2 ใบ สีเหลือง 1 ใบ ถังแกลลอนน้ำมันเปล่า 1 ใบ และถุงพลาสติกบรรจุสายไฟสีดำ 1 ถุง ที่ทิ้งไว้บริเวณจุดทิ้งขยะ ซึ่งเป็นของโจทก์ที่มีสภาพไร้ประโยชน์ไม่มีมูลค่าหรือราคาออกไปด้วย และนำไปทิ้งบริเวณหลุมขยะหลังวัดห้วยยางตามปกติ โดยนายสุนทรไม่มีส่วนเบียดบังเอาสิ่งของดังกล่าวไป ดังนี้ แม้นายสุนทรลูกจ้างจะมีหน้าที่ควบคุมดูแลการจัดเก็บขยะของพนักงานเก็บขยะจากองค์การบริหารส่วนตำบลห้วยยางแล้วปล่อยให้มีการเก็บเอาสิ่งของดังกล่าวข้างต้นออกไปจากโรงงานก็ตาม แต่เมื่อสิ่งของอยู่ในสภาพไร้ประโยชน์ไม่มีมูลค่าหรือราคา ยังไม่อาจถือได้ว่านายสุนทรลูกจ้างประสงค์หรือตั้งใจให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ จึงไม่เป็นกรณีจงใจทำให้โจทก์ซึ่งเป็นนายจ้างได้รับความเสียหายอันจะเข้าข้อยกเว้นที่โจทก์ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยแก่นายสุนทรลูกจ้าง และไม่อาจถือได้ว่าเป็นการทำประการอื่นอันไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริตอันจะเป็นข้อยกเว้นที่โจทก์ไม่ต้องจ่ายค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่นายสุนทรลูกจ้าง กรณีไม่มีเหตุเพิกถอนคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานที่ให้โจทก์จ่ายค่าชดเชยและค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่นายสุนทรลูกจ้าง อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share