แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ที่ดินพิพาทคือที่ดินโฉนดเลขที่ 39466 ตำบลแสมดำ อำเภอบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร ติดจำนองธนาคาร ก. ยังไม่มีลู่ทางว่าจำเลยซึ่งยังเรียนหนังสืออยู่ ไม่ได้ประกอบอาชีพอันใดจะสามารถหารายได้มาช่วยเหลือครอบครัวหรือชำระหนี้สินได้อย่างไรเจ้ามรดกถึงจะได้ยกที่ดินพิพาทให้เป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยเพียงคนเดียว ทั้ง ๆ ที่เจ้ามรดกยังมีบุตรคนอื่นอีกเก้าคน คือโจทก์ทั้งแปดและโจทก์ร่วม ที่ ส. เจ้ามรดกยกให้ที่ดินโฉนดเลขที่ 30977 และ 30974 จะเห็นได้ว่ามีการจดทะเบียนการให้เป็นหลักฐานยืนยันได้ทั้งสิ้น อีกทั้ง ป.พ.พ. มาตรา 525 บัญญัติว่า “การให้ทรัพย์สินซึ่งถ้าจะซื้อขายกันจะต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่นั้น ท่านว่าย่อมสมบูรณ์ต่อเมื่อได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ในกรณีเช่นนี้ การให้ย่อมเป็นอันสมบูรณ์โดยมิพักต้องส่งมอบ” แต่ไม่ปรากฏว่าว่าเจ้ามรดกได้ทำหลักฐานหรือได้จดทะเบียนการให้ที่ดินพิพาทแก่ผู้ใด จนกระทั่งเจ้ามรดกได้ถึงแก่ความตาย และมีจำเลยเป็นผู้จัดการมรดก จำเลยจึงมารับโอนที่ดินพิพาทในฐานะผู้จัดการมรดกแล้วลงชื่อจำเลยเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในเวลาต่อมา นอกจากนี้โจทก์ที่ 2 และที่ 4 เป็นผู้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตตั้งโรงงานบนที่ดินพิพาท ที่จำเลยอ้างว่า ที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยที่ให้บริษัท อ. เช่าที่ดิน ก็ผิดวิสัยว่าเหตุใดจำเลยจึงเอาที่ดินส่วนที่ตนเองปลูกบ้านพักไปให้บริษัท อ. เช่าด้วย การทำสัญญาเช่าดังกล่าว จึงน่าเชื่อว่าไว้หักเป็นค่าใช้จ่ายบริษัท อ. เพื่อประโยชน์ในทางภาษีของบริษัท อ. จึงฟังว่าจำเลยถือกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทแทนโจทก์ทั้งแปดและโจทก์ร่วม
จำเลยถือกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทแทนโจทก์ทั้งแปดและโจทก์ร่วม กรณีจึงเข้าเกณฑ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1748 วรรคหนึ่ง ที่ทำให้โจทก์ทั้งแปดและโจทก์ร่วมซึ่งเป็นทายาทของเจ้ามรดกมีสิทธิที่จะเรียกร้องให้จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกแบ่งทรัพย์มรดกที่ดินพิพาทได้ แม้ว่าจะล่วงพ้นกำหนดอายุความมรดกตามมาตรา 1754 แล้ว ทั้งนี้ตามมาตรา 1748 คดีของโจทก์ทั้งแปดและโจทก์ร่วมจึงไม่ขาดอายุความ
บริษัท อ. เป็นผู้ขออนุญาตปลูกสร้างอาคารโรงงานที่เป็นกิจการของบริษัท อ. กิจการดังกล่าวเป็นของครอบครัวโจทก์ทั้งแปด โจทก์ร่วมและจำเลย โรงงานจึงไม่เป็นส่วนควบของที่ดินพิพาท ส่วนบ้านพักอาศัยที่ปลูกสร้างบนที่ดินพิพาทใช้เงินจากการขายบ้านหลังอื่นที่บิดายกให้จำเลยมาใช้ก่อสร้าง นอกจากนี้จำเลยและครอบครัวก็พักอาศัยอยู่ที่บ้านหลังนี้โดยโจทก์ทั้งแปดและโจทก์ร่วมไม่เคยโต้แย้งหรือเรียกร้องสิทธิในบ้านหลังนี้ บ้านหลังดังกล่าวจึงเป็นของจำเลยและไม่ตกเป็นส่วนควบของที่ดินพิพาท
คดีนี้โจทก์ทั้งแปดฟ้องและโจทก์ร่วมร้องสอดขอให้จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกแบ่งมรดกที่ดินพิพาท โดยบรรยายฟ้องว่า ทายาทของเจ้ามรดกตกลงใช้ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเป็นที่ตั้งของบริษัท อ. ที่เป็นกิจการของครอบครัว โดยให้จำเลยถือกรรมสิทธิ์แทน และขอให้บังคับจำเลยจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทและสิ่งปลูกสร้างแก่โจทก์ทั้งแปด 8 ใน 10 ส่วน และแก่โจทก์ร่วม 1 ใน 10 ส่วน จำเลยให้การต่อสู้ว่า บิดามารดายกที่ดินพิพาทให้แก่จำเลย จำเลยปลูกสร้างบ้านบนที่ดินพิพาทเป็นที่พักอาศัย และต่อมาโจทก์ที่ 2 และที่ 4 ขอเช่าที่ดินพิพาทบริเวณด้านหน้าเพื่อก่อสร้างโรงงานของบริษัท อ. ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทไว้ว่า จำเลยถือกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทแทนและจำเลยต้องโอนที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้โจทก์ทั้งแปดและโจทก์ร่วมหรือไม่เพียงใด ดังนี้ การที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า โรงงานของบริษัท อ. ที่ปลูกสร้างบนที่ดินพิพาทเป็นของบริษัทดังกล่าว แต่บ้านพักอาศัยเป็นของจำเลย ไม่เป็นส่วนควบของที่ดินพิพาทที่จะต้องแบ่งให้แก่โจทก์ทั้งแปดและโจทก์ร่วม จึงเป็นเรื่องที่อยู่ในประเด็นข้อพิพาทและไม่ถือเป็นการวินิจฉัยนอกฟ้องนอกประเด็น
ย่อยาว
โจทก์ทั้งแปดฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 39466 ตำบลแสมดำ อำเภอบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร และสิ่งปลูกสร้างคืนแก่โจทก์ทั้งแปดจำนวน 8 ใน 10 ส่วน ของเนื้อที่ทั้งหมด หากไม่ดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา หากเป็นการพ้นวิสัยไม่สามารถดำเนินการได้ให้นำที่ดินออกขายทอดตลาดนำเงินมาแบ่งแก่โจทก์ทั้งแปด จำนวน 8 ใน 10 ส่วน ของเงินทั้งหมด
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา นายสมศักดิ์หรือชัยวัฒน์ ยื่นคำร้องสอดขอเข้าเป็นคู่ความโดยมีใจความทำนองเดียวกับคำฟ้องโจทก์ทั้งแปด ศาลชั้นต้นอนุญาต ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57 (1) และให้เรียกผู้ร้องสอดว่าโจทก์ร่วม
จำเลยขอใช้คำให้การเดิมเป็นคำให้การแก้คำร้องสอด ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยแบ่งที่ดินโฉนดเลขที่ 39466 ตำบลแสมดำ อำเภอบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร ให้แก่โจทก์ทั้งแปดและโจทก์ร่วมคนละ 1 ใน 10 ส่วน โดยให้โจทก์ทั้งแปด โจทก์ร่วมและจำเลยแบ่งที่ดินดังกล่าวกันเอง หากไม่สามารถแบ่งได้ให้ประมูลราคาระหว่างกันเอง ถ้าตกลงกันไม่ได้ให้นำที่ดินดังกล่าวออกขายทอดตลาดได้เงินสุทธิเท่าใดให้แบ่งแก่โจทก์ทั้งแปดและโจทก์ร่วมคนละ 1 ใน 10 ส่วน กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งแปดและโจทก์ร่วม โดยกำหนดค่าทนายความให้โจทก์ทั้งแปด 60,000 บาท และโจทก์ร่วม 20,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์ทั้งแปด โจทก์ร่วมและจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยไปดำเนินการจดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์ทั้งแปดและโจทก์ร่วมเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมในที่ดินโฉนดเลขที่ 39466 ตำบลแสมดำ อำเภอบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร คนละ 1 ใน 10 ส่วน หากจำเลยไม่ไปดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา หากไม่สามารถดำเนินการจดทะเบียนได้ จึงให้นำออกแบ่งตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งแปด โจทก์ร่วมและจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า โจทก์ทั้งแปด โจทก์ร่วมและจำเลยเป็นบุตรของนางสุวิมลกับนายอี๊ด หรือนายอิทธิชัย เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2531 นางสุวิมลเจ้ามรดกถึงแก่ความตายโดยมิได้ทำพินัยกรรม มีจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกตามสำเนาคำสั่งศาล วันที่ 2 พฤศจิกายน 2532 จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกโอนที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 39466 ตำบลแสมดำ อำเภอบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร เป็นของจำเลย ตามสำเนาคำขอโอนมรดกที่ดิน วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2547 โจทก์ทั้งแปด โจทก์ร่วมและจำเลย จดทะเบียนขายที่ดินโฉนดเลขที่ 55188 55190 และ 142612 ตำบลแสมดำ อำเภอบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นทรัพย์มรดกของเจ้ามรดกให้แก่นายกมล แล้วนำเงินที่ได้มาแบ่งปันกัน ตามสำเนาหนังสือสัญญาขายที่ดินและบัญชีขายที่ดิน และสำเนาโฉนดที่ดิน
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า จำเลยถือกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทแทนโจทก์ทั้งแปดและโจทก์ร่วมหรือไม่ เห็นว่า ที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 39466 เดิมมีเจ้ามรดกเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์เพียงคนเดียว เมื่อเจ้ามรดกถึงแก่ความตายโดยไม่ได้ทำพินัยกรรม ที่ดินพิพาทดังกล่าวเป็นทรัพย์มรดกที่จะต้องนำมาแบ่งปันแก่ทายาทโดยธรรมของเจ้ามรดก จำเลยอ้างว่าเจ้ามรดกยกที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยตั้งแต่ประมาณเดือนกุมภาพันธ์ 2526 แต่นางจิริณ ภริยาจำเลยกลับเบิกความว่าเจ้ามรดกพาจำเลยและนางจิริณไปดูที่ดินพิพาทและบอกว่าตั้งใจจะยกที่ดินพิพาทให้จำเลยซึ่งได้ความว่า ขณะนั้นจำเลยมีอายุเพียง 22 ปี ยังเรียนหนังสือไม่จบ ขณะเดียวกันที่ดินพิพาทก็ยังติดจำนองธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) อยู่ ยังไม่มีลู่ทางว่าจำเลยซึ่งยังเรียนหนังสืออยู่ ไม่ได้ประกอบอาชีพอันใดจะสามารถหารายได้มาช่วยเหลือครอบครัวหรือชำระหนี้สินได้อย่างไรเจ้ามรดกถึงจะได้ยกที่ดินพิพาทให้เป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยเพียงคนเดียวทั้ง ๆ ที่เจ้ามรดกยังมีบุตรคนอื่นอีกเก้าคน คือโจทก์ทั้งแปดและโจทก์ร่วม นอกจากนี้เมื่อพิเคราะห์จากสำเนาหนังสือสัญญาให้ที่ดิน ที่เจ้ามรดกยกที่ดินโฉนดเลขที่ 30977 และ 30994 ตำบลแสมดำ อำเภอบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร ให้แก่โจทก์ที่ 7 ที่ทำขึ้นเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2519 และบันทึกการให้ทรัพย์สิน ระหว่างนายอิทธิชัย กับโจทก์ร่วมที่ทำขึ้นเมื่อวันที่ 18 กันยายน 2533 ตามสำเนาสัญญาให้ที่ดินและบันทึกการให้ทรัพย์สินดังกล่าว จะเห็นได้ว่ามีการทำบันทึกหรือจดทะเบียนการให้เป็นหลักฐานยืนยันได้ทั้งสิ้น อีกทั้งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 525 บัญญัติว่า “การให้ทรัพย์สินซึ่งถ้าจะซื้อขายกันจะต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่นั้น ท่านว่าย่อมสมบูรณ์ต่อเมื่อได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ในกรณีเช่นนี้ การให้ย่อมเป็นอันสมบูรณ์โดยมิพักต้องส่งมอบ” แต่ไม่ปรากฏว่าเจ้ามรดกได้ทำหลักฐานหรือได้จดทะเบียนการให้ที่ดินพิพาทแก่ผู้ใด จนกระทั่งเจ้ามรดกได้ถึงแก่ความตาย และมีจำเลยเป็นผู้จัดการมรดก จำเลยจึงมารับโอนที่ดินพิพาทในฐานะผู้จัดการมรดกแล้วลงชื่อจำเลยเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในเวลาต่อมา นอกจากนี้แล้วตามสำเนาคำขอรับใบอนุญาตตั้งโรงงานของบริษัทแอดว๊านส์ คอสเมติคส์ จำกัด ที่ปลูกสร้างขึ้นบนที่ดินพิพาท ระบุว่า โจทก์ที่ 2 และที่ 4 เป็นผู้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตตั้งโรงงานบนที่ดินพิพาท ที่จำเลยอ้างว่า ที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยที่ให้บริษัทแอดว๊านส์ คอสเมติคส์ จำกัด เช่าตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2533 ตามสำเนาสัญญาเช่าที่ดิน ระบุว่า เนื้อที่ดินที่ให้เช่า 1 ไร่ 2 งาน แต่สำเนาหนังสือสัญญาเช่าที่ดินพิพาทที่ทำขึ้นเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2533 ระหว่างจำเลย ผู้ให้เช่า กับบริษัทแอดว๊านส์ คอสเมติคส์ จำกัด ผู้เช่า กลับระบุเนื้อที่ที่ดินที่ให้เช่าเต็มโฉนดที่ดินคือเนื้อที่ 4 ไร่ 2 งาน 41 ตารางวา ขณะที่จำเลยอ้างว่า ได้ปลูกบ้านพักอาศัยอยู่บนที่ดินพิพาทด้วย ผิดวิสัยว่าเหตุใดจำเลยจึงเอาที่ดินส่วนที่ตนเองปลูกบ้านพักอาศัยไปให้บริษัทแอดว๊านส์ คอสเมติคส์ จำกัด เช่า ทั้งจำเลยก็เบิกความตอบคำถามค้านทนายโจทก์ร่วมรับว่า เงินค่าเช่าที่ได้จากบริษัทแอดว๊านส์ คอสเมติคส์ จำกัด ได้นำไปเข้าบัญชีที่เปิดไว้ในนามของจำเลยกับโจทก์ที่ 4 แล้วนำเงินดังกล่าวมาใช้หมุนเวียนในกิจการของบริษัท การทำสัญญาเช่าและเรียกเก็บเงินค่าเช่าในลักษณะดังกล่าว จึงน่าเชื่อว่าเป็นการทำขึ้นเพื่อไว้หักเป็นค่าใช้จ่ายของบริษัทแอดว๊านส์ คอสเมติคส์ จำกัด เพื่อประโยชน์ในทางภาษีของบริษัทมากยิ่งกว่าที่จะเป็นการคิดค่าเช่าเพื่อเป็นรายได้ส่วนตัวของจำเลย เมื่อชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานทั้งสองฝ่ายแล้ว เห็นว่าพยานหลักฐานของโจทก์ทั้งแปดและโจทก์ร่วมมีน้ำหนักน่าเชื่อถือกว่าพยานหลักฐานของจำเลย จึงฟังว่าจำเลยถือกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 39466 แทนโจทก์ทั้งแปดและโจทก์ร่วม ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งแปดและโจทก์ร่วมว่า โรงงานของบริษัทแอดว๊านส์ คอสเมติคส์ จำกัด และบ้านพักอาศัยที่ปลูกสร้างบนที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 39466 เป็นส่วนควบของที่ดินพิพาทหรือไม่ เห็นว่า ตามคำขอรับใบอนุญาตตั้งโรงงาน ระบุว่า บริษัทแอดว๊านส์ คอสเมติคส์ จำกัด เป็นผู้ยื่นคำขอ โดยโจทก์ที่ 2 และที่ 4 ในฐานะกรรมการร่วมกันลงลายมือชื่อและประทับตรากระทำการแทนอันแสดงว่าบริษัทดังกล่าวเป็นผู้ขออนุญาตปลูกสร้างอาคารโรงงานที่เป็นกิจการของบริษัทและทางนำสืบของคู่ความได้ความตรงกันว่า กิจการดังกล่าวเป็นของครอบครัว ประกอบกับบริษัทแอดว๊านส์ คอสเมติคส์ จำกัด มีฐานะเป็นนิติบุคคลที่สามารถเป็นเจ้าของโรงงานได้โรงงานของบริษัทแอดว๊านส์ คอสเมติคส์ จำกัด จึงไม่เป็นส่วนควบของที่ดินพิพาท ส่วนบ้านพักอาศัยที่ปลูกสร้างบนที่ดินพิพาทนั้น โจทก์ที่ 4 เบิกความว่า ทายาทเจ้ามรดกทุกคนให้จำเลยเป็นตัวแทนในการขอใบอนุญาตก่อสร้างบ้าน ตามสำเนาใบอนุญาตก่อสร้าง แต่โจทก์ทั้งแปดไม่มีหลักฐานมานำสืบสนับสนุนคำเบิกความของโจทก์ที่ 4 ทั้งได้ความจากที่จำเลยเบิกความตอบคำถามค้านทนายโจทก์ร่วมว่า การก่อสร้างบ้านหลังดังกล่าวใช้เงินจากการขายบ้านหลังอื่นที่บิดายกให้มาใช้ก่อสร้างและเงินส่วนที่เหลือได้คืนแก่บิดาไปแล้ว นอกจากนี้จำเลยและครอบครัวก็พักอาศัยอยู่ที่บ้านหลังนี้ตลอดมาโดยที่โจทก์ทั้งแปดและโจทก์ร่วมไม่เคยโต้แย้งหรือเรียกร้องสิทธิในบ้านหลังนี้ จึงฟังว่าบ้านหลังดังกล่าวเป็นของจำเลยและไม่ตกเป็นส่วนควบของที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 39466 ฎีกาของโจทก์ทั้งแปดและโจทก์ร่วมในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งแปดประการสุดท้ายว่า คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่วินิจฉัยว่า สิ่งปลูกสร้างในที่ดินไม่ใช่ส่วนควบของที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 39466 ไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โดยโจทก์ทั้งแปดฎีกาว่า คำให้การของจำเลยและทางนำสืบของจำเลยไม่ได้โต้แย้งหรือกล่าวอ้างว่าสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินไม่ใช่ส่วนควบของที่ดินพิพาท และศาลชั้นต้นไม่ได้กำหนดประเด็นข้อพิพาทไว้ การที่ศาลอุทธรณ์นำมาวินิจฉัยและพิพากษาว่า สิ่งปลูกสร้างบนที่ดินไม่ใช่ส่วนควบของที่ดินพิพาทจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย นั้น เห็นว่า คดีนี้โจทก์ทั้งแปดฟ้องและโจทก์ร่วมร้องสอดขอให้จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกแบ่งมรดกที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 39466 โดยบรรยายฟ้องว่า ทายาทของเจ้ามรดกตกลงใช้ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินเป็นที่ตั้งของบริษัทแอดว๊านส์ คอสเมติคส์ จำกัด ที่เป็นกิจการของครอบครัวโดยให้จำเลยถือกรรมสิทธิ์แทน และขอให้บังคับจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 39466 และสิ่งปลูกสร้างแก่โจทก์ทั้งแปด 8 ใน 10 ส่วน ส่วนโจทก์ร่วมขอให้บังคับจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 39466 และสิ่งปลูกสร้างแก่โจทก์ร่วม 1 ใน 10 ส่วน จำเลยให้การต่อสู้ว่าบิดามารดายกที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 39466 ให้แก่จำเลย จำเลยปลูกสร้างบ้านบนที่ดินพิพาทเป็นที่พักอาศัย และต่อมาโจทก์ที่ 2 และที่ 4 ขอเช่าที่ดินพิพาทบริเวณด้านหน้าเพื่อก่อสร้างโรงงานของบริษัทแอดว๊านส์ คอสเมติคส์ จำกัด ศาลชั้นต้นได้กำหนดประเด็นข้อพิพาทไว้ในข้อ 2 ว่า จำเลยถือกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทแทนโจทก์ทั้งแปดกับโจทก์ร่วมหรือไม่และจำเลยต้องโอนที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้โจทก์ทั้งแปดและโจทก์ร่วมหรือไม่ เพียงใด ดังนี้ การที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า โรงงานของบริษัทแอดว๊านส์ คอสเมติคส์ จำกัด ที่ปลูกสร้างบนที่ดินพิพาทเป็นของบริษัทดังกล่าว แต่บ้านพักอาศัยเป็นของจำเลยไม่เป็นส่วนควบของที่ดินพิพาทที่จะต้องแบ่งให้แก่โจทก์ทั้งแปดและโจทก์ร่วม จึงเป็นเรื่องที่อยู่ในประเด็นข้อพิพาทและไม่ถือว่าเป็นการวินิจฉัยนอกฟ้องนอกประเด็นดังที่โจทก์ทั้งแปดฎีกา ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ทั้งแปด โจทก์ร่วมและจำเลยทุกข้อฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ