แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
แม้คดีนี้เป็นคดีที่จำเลยร้องขอให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบของศาลชั้นต้นก็ตาม แต่คำร้องของจำเลยเป็นผลสืบเนื่องมาจากศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ดังนี้ คดีนี้จึงเป็นคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษอันอยู่ในบังคับของ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 ด้วย ซึ่งมาตรา 18 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.ดังกล่าวบัญญัติว่า “ให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาหรือมีคำสั่งโดยมิชักช้า และภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติมาตรา 16 และมาตรา 19 คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์เฉพาะการกระทำซึ่งเป็นความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้เป็นที่สุด” และมาตรา 19 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ในกรณีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาหรือมีคำสั่งในคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดตามมาตรา 18 วรรคหนึ่งแล้ว คู่ความอาจยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้องไปพร้อมกับฎีกาต่อศาลฎีกาภายในกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันอ่านหรือถือว่าได้อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลนั้นให้คู่ความฝ่ายที่ขออนุญาตฎีกาฟัง เพื่อขอให้พิจารณารับฎีกาไว้วินิจฉัยก็ได้” ดังนั้น เมื่อจำเลยมิได้ปฏิบัติตามมาตรา 19 วรรคหนึ่ง คำพิพากษาศาลอุทธรณ์จึงเป็นที่สุดตามมาตรา 18 วรรคหนึ่ง ที่ศาลชั้นต้นรับฎีกาของจำเลยจึงเป็นการมิชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 มาตรา 11, 18 วรรคสอง, 62 วรรคหนึ่ง, 81 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 หลังจากเพิ่มโทษหนึ่งในสามและลดโทษให้กึ่งหนึ่งแล้ว คงจำคุก 8 เดือน ริบเมทแอมเฟตามีนของกลาง คืนโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลางแก่จำเลย ข้อหาอื่นให้ยก จำเลยถูกคุมขังที่ทัณฑสถานบำบัดพิเศษกลางเป็นเวลา 388 วัน วันที่ 14 สิงหาคม 2552 ศาลชั้นต้นออกหมายปล่อยตัวจำเลย โจทก์อุทธรณ์ ศาลชั้นต้นนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในวันที่ 10 พฤษภาคม 2554 เนื่องจากจำเลยเป็นบุคคลต่างด้าวและไม่มีภูมิลำเนาอยู่ในประเทศไทย ไม่สามารถส่งหมายให้แก่จำเลยได้ ศาลชั้นต้นจึงปิดประกาศให้จำเลยทราบหน้าศาล เมื่อถึงวันนัดจำเลยไม่มาศาล ศาลชั้นต้นออกหมายจับจำเลยเพื่อมาฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ พ้นกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันที่ศาลชั้นต้นออกหมายจับ วันที่ 20 มิถุนายน 2554 ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ลับหลังจำเลย ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่งและวรรคสาม (2), 66 วรรคสอง หลังจากเพิ่มโทษหนึ่งในสามในความผิดดังกล่าวและรวมโทษทุกกระทงแล้ว จำคุก 18 ปี 16 เดือน และปรับ 1,066,666.66 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นออกหมายจับจำเลยเพื่อบังคับตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ต่อมาวันที่ 8 มกราคม 2557 จำเลยยื่นคำร้องขอคัดถ่ายคำพิพากษาศาลชั้นต้นและคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เพื่อนำไปปลดชื่อออกจากบัญชีดำผู้ต้องหาค้ายาเสพติดและคำร้องขอแก้ไขชื่อจำเลยตามหนังสือเดินทาง ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้อง วันที่ 10 มกราคม 2557 จำเลยขอตรวจสำนวน ศาลชั้นต้นสอบจำเลยผ่านล่ามว่าเป็นจำเลยคดีนี้จริง จึงให้รับตัวไว้และอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้จำเลยฟังแล้วให้เพิกถอนหมายจับและออกหมายจำคุกเมื่อคดีถึงที่สุด ในวันที่ 23 มกราคม 2557 จำเลยยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นฎีกา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าคดีถึงที่สุดแล้ว ให้ยกคำร้อง จำเลยอุทธรณ์คำสั่ง ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน วันที่ 4 มีนาคม 2559 จำเลยยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ฉบับลงวันที่ 3 มิถุนายน 2557 ที่ไม่อนุญาตให้ขยายระยะเวลายื่นฎีกา ศาลชั้นต้นส่งสำเนาให้โจทก์แก้แล้วมีคำสั่งส่งศาลอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์เห็นว่าคำร้องของจำเลยเป็นการกล่าวอ้างว่าการนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์และอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ของศาลชั้นต้นเป็นกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 และพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3 จึงเป็นหน้าที่ของศาลชั้นต้นที่จะต้องพิจารณาสั่งคำร้องนั้น จำเลยต้องยื่นคำร้องดังกล่าวต่อศาลชั้นต้นเพื่อขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่ง จำเลยจะมายื่นคำร้องขอต่อศาลอุทธรณ์โดยตรงหาได้ไม่ ให้ส่งคำร้องของจำเลยไปให้ศาลชั้นต้นพิจารณาสั่ง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่ากระบวนพิจารณาการอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ชอบด้วยกฎหมายแล้ว จึงไม่เป็นกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ ให้ยกคำร้อง
จำเลยอุทธรณ์คำสั่ง
ศาลอุทธรณ์แผนกคดียาเสพติดพิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เห็นว่า แม้คดีนี้เป็นคดีที่จำเลยร้องขอให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบของศาลชั้นต้นก็ตาม แต่คำร้องของจำเลยเป็นผลสืบเนื่องมาจากศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ดังนี้ คดีนี้จึงเป็นคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดอันอยู่ในบังคับของพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 ด้วย ซึ่งมาตรา 18 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวบัญญัติว่า “ให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาหรือมีคำสั่งโดยมิชักช้า และภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติมาตรา 16 และมาตรา 19 คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์เฉพาะการกระทำซึ่งเป็นความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้เป็นที่สุด” และมาตรา 19 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ในกรณีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาหรือมีคำสั่งในคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดตามมาตรา 18 วรรคหนึ่งแล้ว คู่ความอาจยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้องไปพร้อมกับฎีกาต่อศาลฎีกาภายในกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันอ่านหรือถือว่าได้อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลนั้นให้คู่ความฝ่ายที่ขออนุญาตฎีกาฟัง เพื่อขอให้พิจารณารับฎีกาไว้วินิจฉัยก็ได้” ดังนั้น เมื่อจำเลยฎีกาโดยมิได้ปฏิบัติตามมาตรา 19 วรรคหนึ่ง คำพิพากษาศาลอุทธรณ์จึงเป็นที่สุดตามมาตรา 18 วรรคหนึ่ง ที่ศาลชั้นต้นรับฎีกาของจำเลยจึงเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายกฎีกาของจำเลย