แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
พฤติการณ์ของจำเลยที่ 3 ที่ร่วมเดินทางกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไปยังจังหวัดเชียงใหม่ และพาจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไปพักค้างคืนอยู่ที่อำเภอฝางและอำเภอเชียงดาวรวมเป็นเวลาถึง 4 วัน และจำเลยที่ 1 มีพฤติการณ์ไปรับยาเสพติดของกลางจากผู้ส่งยาเสพติดทางภาคเหนือดังกล่าว แสดงถึงข้อพิรุธที่จำเลยที่ 3 ร่วมเดินทางไปกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตลอดเวลา ทั้งยาเสพติดของกลางที่ตรวจพบในรถตู้ดังกล่าวนั้น มีจำนวนมาก จำเลยที่ 3 ย่อมสามารถสังเกตเห็นได้ง่ายเมื่อจำเลยที่ 1 ไปรับยาเสพติดของกลางมาจากผู้ส่งยาเสพติด การที่ยาเสพติดดังกล่าวซุกซ่อนอยู่บริเวณหลังเบาะของคนขับซึ่งขณะจับกุมนั้นมีจำเลยที่ 1 เป็นผู้ขับ จึงมีเหตุผลเชื่อว่าจำเลยที่ 3 ร่วมรู้เห็นและมีเจตนาร่วมกับจำเลยที่ 1 ในการเดินทางไปรับยาเสพติดของกลางจากอำเภอฝางและอำเภอแม่อาย พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมามีเหตุผลและน้ำหนักรับฟังได้โดยปราศจากความสงสัยว่า จำเลยที่ 3 ร่วมกับจำเลยที่ 1 มียาเสพติดของกลางไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยที่ 3 ฐานสนับสนุนจำเลยที่ 1 มียาเสพติดของกลางไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายนั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา อย่างไรก็ตามเมื่อโจทก์มิได้ฎีกา ศาลฎีกาไม่อาจลงโทษจำเลยที่ 3 ในความผิดฐานร่วมกันมียาเสพติดของกลางไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายได้เพราะจะเป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลยที่ 3 ซึ่งต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 212 ประกอบมาตรา 225 และ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3 แต่เห็นสมควรปรับบทลงโทษจำเลยที่ 3 ให้ถูกต้อง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสี่ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66, 97, 102 พระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 3, 4, 5, 7, 8, 14, 27, 30, 31 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 83, 84, 91 ริบเฮโรอีนและเมทแอมเฟตามีน โทรศัพท์เคลื่อนที่ 3 เครื่อง และกระเป๋าเป้สะพายสีดำ 1 ใบ ของกลาง กับเพิ่มโทษจำเลยที่ 4 ตามกฎหมาย
จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ
จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ให้การปฏิเสธ แต่จำเลยที่ 4 รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้เพิ่มโทษ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสาม (2) และ (3), 66 วรรคสาม ให้ลงโทษประหารชีวิต จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 52 (2) คงจำคุกตลอดชีวิต ริบเฮโรอีนและเมทแอมเฟตามีน กระเป๋าเป้สะพายสีดำ 1 ใบ โทรศัพท์เคลื่อนที่ ยี่ห้ออิริกสันพร้อมซิมการ์ดของกลาง ส่วนโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลางอีก 2 เครื่อง ให้คืนแก่เจ้าของ ข้อหาอื่นของจำเลยที่ 1 นอกจากนี้ให้ยก ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4
โจทก์และจำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ จำเลยที่ 2 ถึงแก่ความตาย
ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งจำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 2 ออกจากสารบบความ
ศาลอุทธรณ์แผนกคดียาเสพติดพิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำเลยที่ 3 ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสาม (2) และ (3), 66 วรรคสาม ประกอบด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86, 52 (1) ให้จำคุกตลอดชีวิต จำเลยที่ 3 นำสืบเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบด้วยมาตรา 53 คงจำคุก 33 ปี 4 เดือน คืนรถตู้ หมายเลขทะเบียน 30 – 0830 กระบี่ และธนบัตร 5,400 บาท ให้แก่เจ้าของ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 3 ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2553 เวลาประมาณ 11.30 นาฬิกา เจ้าพนักงานตำรวจตั้งด่านตรวจสิ่งผิดกฎหมายที่ถนนพหลโยธิน อำเภอสบปราบ จังหวัดลำปาง พบจำเลยที่ 1 ขับรถตู้ หมายเลขทะเบียน 30-0830 กระบี่ มุ่งหน้าไปทางจังหวัดลำปางโดยมีจำเลยที่ 2 นั่งอยู่ที่เบาะหน้า จำเลยที่ 3 นั่งอยู่ที่เบาะหลังคนขับ เมื่อเรียกให้หยุดและขอตรวจค้น พบเฮโรอีนอัดแท่ง 4 ห่อ น้ำหนักประมาณ 1.5 กิโลกรัม เมทแอมเฟตามีน 14,000 เม็ด และชนิดเกล็ด 4 ถุง น้ำหนักประมาณ 1 กิโลกรัม ซุกซ่อนอยู่ในกระเป๋าสะพายสีดำวางอยู่บริเวณหลังเบาะที่จำเลยที่ 1 นั่งตามภาพถ่าย จึงยึดเป็นของกลางและจับกุมจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ในข้อหาร่วมกันมียาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายโดยไม่ได้รับอนุญาต ในชั้นจับกุมจำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ ส่วนจำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การปฏิเสธ นอกจากนี้ยังยึดโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3 เครื่อง และสิ่งของอื่นไว้เป็นของกลาง ชั้นสอบสวนจำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพว่า จำเลยที่ 4 เป็นผู้ว่าจ้างให้จำเลยที่ 1 นำเมทแอมเฟตามีนของกลางเพื่อไปส่งให้ลูกค้าที่จังหวัดกระบี่ ต่อมาจับกุมจำเลยที่ 4 ได้ ชั้นสอบสวนจำเลยที่ 4 ให้การปฏิเสธ ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 และพิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 4 โจทก์ จำเลยที่ 1 และที่ 4 ไม่ฎีกา คดีของจำเลยที่ 1 และที่ 4 จึงยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 3 ว่า จำเลยที่ 3 กระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์หรือไม่ จำเลยที่ 3 ฎีกาว่า จำเลยที่ 3 นั่งรถตู้มากับจำเลยที่ 1 โดยไม่รู้ว่าจำเลยที่ 1 ซุกซ่อนยาเสพติดของกลางไว้บริเวณด้านหลังของเบาะ จำเลยที่ 3 มิได้มีเจตนาร่วมกับจำเลยที่ 1 ครอบครองยาเสพติดของกลาง และจำเลยที่ 3 มิได้สนับสนุนการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 นั้น เห็นว่า ข้อเท็จจริงจากทางนำสืบของจำเลยที่ 3 ได้ความว่า รถตู้ที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ใช้เป็นยานพาหนะและขับมาถึงที่เกิดเหตุแล้วเจ้าพนักงานตำรวจตรวจค้นและจับกุมจำเลยทั้งสามได้พร้อมยึดยาเสพติดของกลางนั้น รถตู้ดังกล่าวเป็นของนางวัลลภา นายจ้างของจำเลยที่ 3 โดยจำเลยที่ 3 อ้างว่ารู้จักกับจำเลยที่ 1 มาก่อน ครั้นวันที่ 24 ธันวาคม 2553 จำเลยที่ 1 จ้างเหมารถตู้ดังกล่าวโดยมีจำเลยที่ 3 เป็นคนขับเพื่อเดินทางไปเมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี ในระหว่างทางจำเลยที่ 1 อ้างว่าเพื่อนจำเลยที่ 1 โทรศัพท์ชักชวนให้ไปหาที่จังหวัดเชียงใหม่จึงแจ้งให้จำเลยที่ 3 ขับรถเปลี่ยนเส้นทางไปยังจังหวัดเชียงใหม่ เมื่อไปถึงอำเภอฝาง ได้พักค้างคืนที่โรงแรม 3 วัน ครั้นวันที่ 29 ธันวาคม 2553 จำเลยที่ 1 ให้จำเลยที่ 3 ขับรถพาจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไปพบเพื่อนที่อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ แล้วให้จำเลยที่ 3 ขับรถพาไปพักที่อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ 1 คืน จนถึงวันเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ให้จำเลยที่ 3 ขับรถตู้พาจำเลยที่ 1 และที่ 2 กลับไปยังจังหวัดกระบี่ แต่ระหว่างทางก่อนถูกจับกุม จำเลยที่ 1 ขอเปลี่ยนเป็นคนขับรถตู้เองและให้จำเลยที่ 3 ไปนั่งที่เบาะด้านหลังคนขับ จนขับมาถึงที่เกิดเหตุจึงถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุม โดยจำเลยที่ 3 อ้างว่าไม่ทราบมาก่อนว่าจำเลยที่ 1 จะนำยาเสพติดของกลางซุกซ่อนไว้บริเวณด้านหลังเบาะของตน เมื่อพิจารณาถึงขณะเกิดเหตุที่พยานโจทก์ผู้จับกุมคือร้อยตำรวจเอกสงกรานต์ ดาบตำรวจสายันต์ และจ่าสิบตำรวจเกรียงศักดิ์ ผู้จับกุมต่างเบิกความว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยทั้งสามนั่งรถตู้มาคันเดียวกันโดยจำเลยที่ 1 เป็นคนขับมีจำเลยที่ 2 นั่งที่เบาะด้านหน้า ส่วนจำเลยที่ 3 นั่งที่เบาะด้านหลัง โดยจำเลยทั้งสามมีพฤติการณ์ร่วมกันครอบครองยาเสพติดของกลาง แม้จำเลยที่ 3 ให้การปฏิเสธในชั้นจับกุมและชั้นพิจารณาก็ตาม แต่เหตุผลที่จำเลยที่ 3 เดินทางมากับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ด้วยกันตั้งแต่แรก คือออกเดินทางมาจากจังหวัดกระบี่โดยจำเลยที่ 3 อ้างว่าจำเลยที่ 1 ว่าจ้างรถตู้ให้จำเลยที่ 3 ขับก็ตาม แต่พฤติการณ์ที่จำเลยที่ 3 เดินทางมากับจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นเวลาหลายวันโดยเดินทางไปที่อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ และพักอยู่ที่โรงแรมถึง 3 วัน จนถึงวันที่ 29 ธันวาคม 2553 จำเลยที่ 3 จึงขับรถพาจำเลยที่ 1 และที่ 2 กลับมาที่อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อให้จำเลยที่ 1 ไปพบเพื่อนของจำเลยที่ 1 แล้วได้ขับรถไปพักที่อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ และพักอีก 1 คืน ในวันรุ่งขึ้นคือวันเกิดเหตุจึงขับรถเพื่อเดินทางกลับจังหวัดกระบี่ ซึ่งหากจำเลยที่ 3 เป็นผู้รับจ้างขับรถจริง จำเลยที่ 3 ก็ควรเป็นผู้ขับรถตู้ดังกล่าวจนมาถึงที่เกิดเหตุซึ่งเป็นจุดที่เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยทั้งสาม แต่ปรากฏว่าจำเลยที่ 3 มิได้เป็นผู้ขับรถ โดยอ้างว่าในระหว่างทางจำเลยที่ 1 ขอเปลี่ยนเป็นคนขับรถเองแล้วให้จำเลยที่ 3 มานั่งที่เบาะด้านหลังซึ่งเป็นการผิดปกติ เพราะหากจำเลยที่ 3 เป็นผู้รับจ้างขับรถตู้จริง ก็ไม่ควรให้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกค้าเป็นผู้ขับ พฤติการณ์ที่จำเลยที่ 3 เดินทางร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไปยังจังหวัดเชียงใหม่ และได้พาจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไปพักค้างคืนอยู่ที่อำเภอฝางและอำเภอเชียงดาวรวมเป็นเวลาถึง 4 วัน และจำเลยที่ 1 มีพฤติการณ์ไปรับยาเสพติดของกลางจากผู้ส่งยาเสพติดทางภาคเหนือดังกล่าว แสดงถึงข้อพิรุธที่จำเลยที่ 3 ร่วมเดินทางไปกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตลอดเวลา ทั้งยาเสพติดของกลางที่ตรวจพบในรถตู้ดังกล่าวนั้น มีจำนวนมาก จำเลยที่ 3 ย่อมสามารถสังเกตเห็นได้ง่ายเมื่อจำเลยที่ 1 ไปรับยาเสพติดของกลางมาจากผู้ส่งยาเสพติด การที่ยาเสพติดดังกล่าวซุกซ่อนอยู่บริเวณหลังเบาะของคนขับซึ่งขณะจับกุมนั้นมีจำเลยที่ 1 เป็นผู้ขับ จึงมีเหตุผลเชื่อว่าจำเลยที่ 3 ร่วมรู้เห็นและมีเจตนาร่วมกับจำเลยที่ 1 ในการเดินทางไปรับยาเสพติดของกลางจากอำเภอฝางและอำเภอแม่อาย พยานโจทก์ที่นำสืบมาจึงมีเหตุผลและน้ำหนักรับฟังได้โดยปราศจากความสงสัยว่า จำเลยที่ 3 ร่วมกับจำเลยที่ 1 มียาเสพติดของกลางไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย อย่างไรก็ตาม เมื่อโจทก์มิได้ฎีกา ศาลฎีกาไม่อาจลงโทษจำเลยที่ 3 ในความผิดฐานร่วมกันมียาเสพติดของกลางไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายได้เพราะจะเป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลยที่ 3 ซึ่งต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 212 ประกอบมาตรา 225 และพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3 แต่เห็นสมควรปรับบทลงโทษจำเลยที่ 3 ให้ถูกต้อง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยที่ 3 ฐานสนับสนุนจำเลยที่ 1 มียาเสพติดของกลางไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายนั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ส่วนฎีกาของจำเลยที่ 3 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 3 มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสาม (2) และ (3), 66 วรรคสาม ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ส่วนโทษและนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์