คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2415/2560

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาผิดระเบียบ ที่ไม่ได้สืบพยานโดยใช้ระบบไต่สวนตามระเบียบที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ว่าด้วยการดำเนินกระบวนพิจารณาโดยใช้ระบบไต่สวนกับเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งมิใช่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตามมาตรา 275 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2556 ที่มีผลใช้บังคับภายหลังในระหว่างการพิจารณาคดี แต่เมื่อข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าจำเลยได้คัดค้านกระบวนพิจารณาดังกล่าวของศาลชั้นต้น และการสืบพยานของศาลชั้นต้นไม่มีคู่ความฝ่ายใดเสียหายหรือเสียความเป็นธรรม การเพิกถอนกระบวนพิจารณาจึงไม่เป็นประโยชน์แต่อย่างใด

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 จำคุก 3 ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาในศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่โจทก์และจำเลยไม่ได้โต้แย้งกันในชั้นฎีการับฟังได้ว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยดำรงตำแหน่งแรงงานและสวัสดิการสังคมจังหวัดเชียงราย เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2540 จังหวัดเชียงรายทำสัญญาว่าจ้างบริษัทอินเตอร์แอ๊ค คอนสตรัคชั่น จำกัด ผู้รับจ้าง ให้ดำเนินการก่อสร้างอาคารที่ทำการสำนักงานแรงงานและสวัสดิการสังคมจังหวัดเชียงราย เป็นเงิน 38,000,000 บาท เริ่มก่อสร้างวันที่ 8 กรกฎาคม 2540 กำหนดก่อสร้างแล้วเสร็จภายในวันที่ 11 สิงหาคม 2541 ตามสัญญาจ้าง ในการนี้จังหวัดเชียงรายได้มีคำสั่งแต่งตั้งจำเลยให้เป็นหัวหน้าเจ้าหน้าที่พัสดุ ตามสำเนาคำสั่งจังหวัดเชียงราย และแต่งตั้งผู้ควบคุมงานก่อสร้างมีนายกิตติธัช เป็นประธาน นายบัณฑิต เป็นกรรมการ ตามสำเนาคำสั่งจังหวัดเชียงราย ครั้นผู้รับจ้างทำการตอกเสาเข็มสามารถตอกได้ลึกเพียง 14 เมตร น้อยกว่าที่กำหนดไว้ในสัญญาที่ให้ใช้เสาเข็มยาว 24 เมตร ผู้รับจ้างได้ขออนุมัติให้เปลี่ยนแปลงโดยใช้เสาเข็มยาว 14 เมตร แทนและได้รับอนุมัติแล้ว ผู้ควบคุมงานจึงปรับลดค่างานเป็นเงิน 125,000 บาท ตามสำเนาบันทึกแนบท้ายสัญญาจ้าง และเมื่อผู้รับจ้างส่งมอบงานงวดที่ 1 ผู้ว่าจ้างได้หักลดค่างาน จำนวน 125,000 บาท ออกจากค่างวดงานแล้ว ตามสำเนาใบตรวจการจ้าง ผู้รับจ้างดำเนินการก่อสร้างและส่งงวดงานถึงงวดที่ 11 ครั้นวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2542 ผู้ควบคุมงานได้ทำบันทึกแจ้งการปรับลดค่าเสาเข็มเป็นครั้งที่ 2 เสนอต่อผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย อ้างเหตุผลว่าได้ตรวจสอบพบความคลาดเคลื่อนในการเปรียบเทียบราคาครั้งแรกโดยผู้รับจ้างต้องคืนเงินให้แก่ทางราชการเพิ่มอีก จำนวน 703,931.20 บาท และนายกิตติธัชนำหนังสือแจ้งการปรับลดราคาค่าเสาเข็มครั้งที่ 2 ดังกล่าวไปมอบให้นางกัลยาณี ที่สำนักงานแรงงานและสวัสดิการสังคมจังหวัดเชียงราย ในวันเดียวกันผู้รับจ้างได้มีหนังสือขอส่งมอบงานงวดที่ 12 จำเลยแจ้งให้ประธานคณะกรรมการตรวจการจ้างทำการตรวจรับมอบงาน ในวันที่ 19 มีนาคม 2542 คณะกรรมการตรวจการจ้างตรวจรับมอบงานและเสนอขออนุมัติจ่ายเงินค่างวดงานจำนวน 3,040,000 บาท ให้แก่ผู้รับจ้าง ผู้ว่าจ้างไม่ได้รับหนังสือจึงจ่ายเงินค่างวดงานงวดที่ 12 ให้แก่ผู้รับจ้างโดยไม่ได้ปรับลดค่างานเสาเข็มครั้งที่ 2 ออกจากค่างานงวดที่ 12 ต่อมาสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินภูมิภาคที่ 8 จังหวัดเชียงใหม่ได้รับบัตรสนเท่ห์ จึงเข้าตรวจสอบและมีความเห็นให้ดำเนินการตามกฎหมายแก่จำเลยในฐานะเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการ ตามสำเนารายงานการตรวจสอบสืบสวน จากนั้นส่งเรื่องให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติและสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติหรือคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติว่าการกระทำของจำเลยมีมูลความผิดอาญาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ตามสำเนารายงานการไต่สวนข้อเท็จจริง
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ดังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 หรือไม่ นางกัลยาณี เจ้าพนักงานการเงินและบัญชี สำนักงานแรงงานและสวัสดิการสังคมจังหวัดเชียงรายพยานโจทก์เบิกความว่า วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2542 มีเจ้าหน้าที่จากสำนักงานโยธาธิการจังหวัดเชียงรายนำเอกสารมีถึงผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรายมามอบให้ พยานลงลายมือชื่อรับในเอกสารดังกล่าวแทนนางศรินยา จากนั้นนำไปวางไว้ที่โต๊ะนางศรินยา โดยมีนักศึกษาฝึกงานชื่อสกุณา ลงรับเอกสารในทะเบียนรับหนังสือของสำนักงานแรงงานและสวัสดิการสังคมจังหวัดเชียงราย นางศรินยา เจ้าหน้าที่งานธุรการด้านสารบรรณเบิกความว่า หนังสือเกี่ยวกับสำนักงานแรงงานและสวัสดิการสังคมจังหวัดเชียงรายที่ระบุถึงผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรายจะนำไปลงทะเบียนที่สำนักงานจังหวัดเชียงรายก่อน แล้วนำกลับมาลงในทะเบียนรับหนังสือของสำนักงานแรงงานและสวัสดิการสังคมจังหวัดเชียงราย เมื่อเกิดเรื่องนี้พยานไปตรวจสอบทะเบียนรับหนังสือของสำนักงานจังหวัดเชียงราย มีผู้ที่ชื่อสกุณา นำเอกสารดังกล่าวไปลงรับไว้แล้วเชื่อว่านางสาวสกุณาเป็นนักศึกษาฝึกงานเป็นผู้ลงรับเอกสารดังกล่าว แล้วนำมาวางไว้ที่โต๊ะทำงานของพยาน ซึ่งตามปกติพยานจะนำเอกสารเสนอจำเลย และเมื่อจำเลยสั่งการในหนังสือแล้วพยานจะนำหนังสือออกจากห้องทำงานของจำเลย แต่เนื่องจากมีเอกสารเสนอวันละหลายฉบับพยานจึงจำไม่ได้ว่าได้นำเอกสารเสนอจำเลยอย่างไรหรือไม่ จำเลยได้สั่งการอย่างไรและผู้ใดรับเอกสารดังกล่าวไป และนายวิรัช เจ้าหน้าที่แผนงานและโครงการ ทำหน้าที่หัวหน้าฝ่ายแผนและพัสดุ สำนักงานแรงงานและสวัสดิการสังคมจังหวัดเชียงรายพยานโจทก์เบิกความว่าพยานเป็นเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบรวบรวมเอกสารของโครงการก่อสร้างอาคารที่ทำการ เพื่อนำเสนอจำเลยและผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรายแล้วเก็บไว้ที่สำนักงาน นายกิตติธัชเคยนำหนังสือมาส่งที่สำนักงานแรงงานและสวัสดิการสังคมจังหวัดเชียงราย นางกัลยาณีรับไว้ใส่แฟ้มเพื่อเสนอจำเลย วันรุ่งขึ้นนายชัยณรงค์ผู้ควบคุมงานเดินออกมาจากห้องทำงานของจำเลยพร้อมกับถือหนังสือออกมาด้วย นายชัยณรงค์แจ้งพยานว่าจะนำเอกสารดังกล่าวไปคืนนายกิตติธัช พยานแจ้งนายชัยณรงค์ว่าเอกสารดังกล่าวได้ลงรับที่สำนักงานแรงงานและสวัสดิการสังคมจังหวัดเชียงรายแล้ว การจะรับเอกสารดังกล่าวคืนไปจะต้องมีการลงลายมือชื่อรับเอกสารด้วย พยานได้นำสมุดทะเบียนรับหนังสือของสำนักงานแรงงานและสวัสดิการสังคมจังหวัดเชียงรายมาเขียนในช่องหมายเหตุว่า รับแล้ว (กิตติธัช) แต่ภายหลังพยานตรวจดูไม่เห็นลายมือชื่อนายกิตติธัชลงไว้ พยานจึงใช้น้ำยาลบคำผิดลบที่หมายเหตุไว้ออกส่วนจำเลยอ้างตนเองเป็นพยานเบิกความว่า จำเลยไม่เคยได้รับหนังสือแจ้งจากผู้ควบคุมงานในการปรับลดค่าเสาเข็มครั้งที่ 2 ตามหนังสือ และไม่เคยมอบหนังสือดังกล่าวให้นายชัยณรงค์ หนังสือดังกล่าวมีนางสาวสกุณาเจ้าหน้าที่โยธาธิการจังหวัดเชียงรายรับไป การเสนอหนังสือดังกล่าวจะต้องเสนอจำเลยก่อนแล้วค่อยนำเสนอผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรายต่อไป การปรับลดค่าเสาเข็มครั้งที่ 2 ไม่ถูกต้อง เนื่องจากตามสัญญาจ้างข้อ 14 วรรคสอง ไม่ได้กำหนดอัตราราคาวัสดุไว้ว่าจะต้องใช้อัตราราคาใด ซึ่งตามสัญญาจ้างระบุเป็นหน้าที่ของผู้ว่าจ้างและผู้รับจ้างตกลงกันเพื่อความเหมาะสม ผู้ควบคุมงานจะต้องเสนอหนังสือให้แก่ประธานคณะกรรมการตรวจการจ้างและประธานคณะกรรมการตรวจการจ้างเสนอต่อผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ไม่ใช่หน้าที่ของจำเลยในการเสนอความเห็นของผู้ควบคุมงานต่อผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เห็นว่า แม้นางศรินยาซึ่งมีหน้าที่เสนอหนังสือที่เกี่ยวข้องกับสำนักงานแรงงานและสวัสดิการสังคมจังหวัดเชียงรายให้จำเลยสั่งการแล้วนำหนังสือออกมาจากห้องทำงานของจำเลยจะจำเหตุการณ์ที่เกี่ยวกับหนังสือเอกสาร ไม่ได้เนื่องจากในแต่ละวันมีเอกสารหลายฉบับที่ต้องเสนอจำเลยสั่งการก็ตาม แต่นายวิรัชผู้รับผิดชอบรวบรวมเอกสารของโครงการก่อสร้างอาคารที่ทำการเบิกความยืนยันว่า เห็นนางกัลยาณีรับหนังสือใส่แฟ้มไว้เพื่อเสนอจำเลย และวันรุ่งขึ้นเห็นนายชัยณรงค์ผู้ควบคุมงานของผู้รับจ้างเดินออกมาจากห้องทำงานของจำเลยพร้อมกับถือหนังสือออกมาด้วย นายวิรัชได้มีโอกาสพูดกับนายชัยณรงค์ โดยนายชัยณรงค์แจ้งว่าจะนำหนังสือเอกสารดังกล่าวไปคืนนายกิตติธัช นายวิรัชจึงบันทึกไว้ในช่องหมายเหตุ ดังนี้ จากการตรวจดูสมุดทะเบียนรับหนังสือของสำนักงานแรงงานและสวัสดิการสังคมจังหวัดเชียงราย ในช่องที่ลงรับหนังสือพบรอยน้ำยาลบข้อความแต่ยังสามารถอ่านข้อความที่เขียนในช่องหมายเหตุได้ว่า รับแล้ว (กิตติธัช) ตามที่นายวิรัชเบิกความจริง กรณีไม่มีเหตุให้ควรสงสัยว่านายวิรัชจะเห็นเอกสารอื่นและเข้าใจผิดพลาดว่าเป็นหนังสือไปได้ เมื่อนายวิรัชเคยเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของจำเลย มีหน้าที่ในการเก็บรักษาเอกสารดังกล่าวและไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อน คำเบิกความเป็นลำดับขั้นตอนต่อเนื่องกัน เชื่อว่านายวิรัชเบิกความไปตามที่พบเห็นจริง ส่วนคำให้การของนายชัยณรงค์ต่อคณะอนุกรรมการไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ว่านายชัยณรงค์ไม่เคยรับหนังสือจากจำเลย ตามบันทึกคำให้การพยาน นายชัยณรงค์ไม่ได้มาเบิกความยืนยันข้อเท็จจริงดังกล่าวต่อศาล คำให้การดังกล่าวจึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง ที่จำเลยอ้างว่า นางสาวสกุณาเป็นเจ้าหน้าที่โยธาธิการจังหวัดเชียงรายรับหนังสือกลับไป โดยรายการในทะเบียนรับหนังสือของสำนักงานจังหวัดเชียงราย มีเขียนคำว่าโยธาอยู่เหนือชื่อนางสาวสกุณา นั้น เมื่อตรวจดูรายการลงรับหนังสือรายการอื่นในทะเบียนดังกล่าวจะมีเขียนกำกับบอกชื่อหน่วยงานไว้หลายรายการ ซึ่งเป็นการเขียนให้รู้ถึงหน่วยงานที่ออกหนังสือดังกล่าวเท่านั้น มิใช่หน่วยงานที่ระบุชื่อไว้ได้รับหนังสือกลับไปดังที่จำเลยอ้าง เพราะไม่มีเหตุผลที่หน่วยงานที่ออกหนังสือจะรับหนังสือของตัวเองกลับไปอีก สำหรับมูลเหตุจูงใจที่จำเลยให้นายชัยณรงค์นำหนังสือไปนั้น หากพิจารณาหนังสือเอกสารดังกล่าวเป็นเรื่องคิดราคาหักลดค่าเสาเข็มซึ่งอยู่ในงานงวดแรกและนายกิตติธัชเคยคิดคำนวณไปแล้ว แต่นายกิตติธัชกลับมาคิดคำนวณใหม่อีกเป็นครั้งที่ 2 ในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2542 ห่างจากที่คิดคำนวณปรับลดค่าเสาเข็มครั้งแรกในวันที่ 8 กันยายน 2540 ถึง 1 ปีเศษ และเป็นวันเดียวกับที่ผู้รับจ้างส่งมอบงานงวดสุดท้าย นับเป็นการคิดคำนวณอย่างฉุกละหุก ทั้งการคิดคำนวณปรับลดค่าเสาเข็มครั้งที่ 2 นี้ ให้ผู้รับจ้างคืนเงินให้แก่ทางราชการอีกจำนวน 703,931.20 บาท โดยไม่ปรากฏว่ามีวิศวกรควบคุมงานรับรองการคิดคำนวณเช่นเดียวกับครั้งแรก อีกทั้งผู้รับจ้างไม่ได้ตกลงด้วย จึงยังถือเป็นยุติไม่ได้ว่าจำนวนเงินที่นายกิตติธัชคิดคำนวณครั้งที่ 2 นี้สามารถนำไปหักลดจากค่างวดงานได้หรือไม่ เพียงใด การที่นายกิตติธัชส่งหนังสือ ถึงจำเลยและผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรายในลักษณะและเวลาดังกล่าวน่าจะไม่ใช่กรณีปกติทั่วไป และอาจเป็นผลให้ต้องมีการพิจารณาเรื่องดังกล่าวจนเป็นเหตุให้การตรวจรับมอบงานและการใช้อาคารที่ทำการต้องสะดุดเนิ่นนานออกไปอีก มีเหตุผลให้เชื่อว่าที่จำเลยให้หนังสือแก่นายชัยณรงค์ไป โดยไม่ได้สั่งการให้พิจารณาเรื่องดังกล่าวให้แน่ชัดหรือส่งหนังสือดังกล่าวให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรายพิจารณาสั่งการเสียก่อน ก็เพื่อให้คณะกรรมการตรวจการจ้างได้ตรวจรับมอบงานให้ผู้รับจ้างได้รับเงินค่างวดงานที่เหลือโดยเร็ว การกระทำดังกล่าวของจำเลยซึ่งเป็นหัวหน้าส่วนราชการที่ก่อสร้างอาคารและเป็นหัวหน้าเจ้าหน้าที่พัสดุ ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่หน่วยราชการ ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาผิดระเบียบ เนื่องจากตั้งแต่วันที่ 10 ตุลาคม 2556 ศาลชั้นต้นต้องใช้ระบบไต่สวนตามระเบียบที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ว่าด้วยการดำเนินกระบวนพิจารณาโดยใช้ระบบไต่สวนกับเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งมิใช่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตาม มาตรา 275 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2556 แต่ศาลชั้นต้นได้สืบพยานในระบบกล่าวหาในวันที่ 15 ตุลาคม 2556 วันที่ 8 และ 9 เมษายน 2557 จึงขอให้ยกคำพิพากษาศาลล่างและให้ศาลชั้นต้นไต่สวนและพิพากษาใหม่นั้น เห็นว่า ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าจำเลยได้คัดค้านกระบวนพิจารณาดังกล่าวของศาลชั้นต้น เมื่อการสืบพยานของศาลชั้นต้นตามที่จำเลยฎีกาไม่มีคู่ความฝ่ายใดเสียหายหรือเสียความเป็นธรรม การเพิกถอนกระบวนพิจารณาจึงไม่เป็นประโยชน์แต่อย่างใด ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น ส่วนฎีกาข้ออื่น ๆ ของจำเลย ล้วนเป็นข้อปลีกย่อยไม่มีผลเปลี่ยนแปลงคำวินิจฉัยในปัญหานี้ จึงไม่รับวินิจฉัยให้
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษปรับจำเลย 10,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 (ที่แก้ไขใหม่) หากจำเลยไม่ชำระค่าปรับ ให้บังคับตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 และ 30 (ที่แก้ไขใหม่) นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5

Share