คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2566/2560

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การกำหนดให้ของได้รับการยกเว้นอากรและลดอัตราอากรศุลกากร (ทส.3) ลงวันที่ 28 ธันวาคม 2544 กำหนดให้ของในพิกัดอัตราอากรขาเข้าประเภทพิกัด 84.72 ประเภทย่อย 8472.90 รายการเฉพาะเครื่องบริการเงินด่วนอัตโนมัติ (Automatic Teller Machines) ได้รับยกเว้นอากรขาเข้า ซึ่งพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ.2530 และประกาศกระทรวงการคลังดังกล่าว มิได้ให้คำนิยามของ “เครื่องบริการเงินด่วนอัตโนมัติไว้” จึงต้องถือตามหลักเกณฑ์การตีความพิกัดอัตราศุลกากรในภาค 1 ท้ายพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ.2530 ประกอบคำอธิบายพิกัดศุลกากรระบบฮาร์โมไนซ์ของคณะมนตรีความร่วมมือทางศุลกากร ประเภทพิกัด 84.72 เครื่องสำนักงานอื่น ๆ (Other office Machines) ประเภทย่อย 8472.90 อื่น ๆ (6) ระบุว่า เครื่องรับจ่ายเงินอัตโนมัติ (Automatic Teller Machines) ซึ่งลูกค้าสามารถใช้ฝาก ถอน และโอนเงินและดูยอดคงเหลือของบัญชีโดยไม่ต้องติดต่อโดยตรงกับเจ้าหน้าที่ของธนาคาร ดังนั้น แม้สินค้าที่โจทก์นำเข้าตามโบรชัวร์สินค้า จะใช้ชื่อว่า “Cash Dispenser” คล้ายกับเครื่องจ่ายธนบัตรอัตโนมัติ (Automatic banknote dispensers) ตามพิกัดประเภทที่ 8472.90 (5) ที่สามารถทำงานได้เพียงอย่างเดียวคือการจ่ายธนบัตร และตามพิกัดนี้ไม่ได้รับยกเว้นอาการขาเข้า ตามประกาศกระทรวงการคลังดังกล่าว แต่ตามโบรชัวร์สินค้าพิพาทได้แสดงลักษณะและคุณสมบัติของเครื่องจ่ายเงินสดอัตโนมัติ (Cash Dispenser) พิพาทไว้ว่า เป็นเครื่องสำหรับให้บริการ ทำรายการธุรกรรมทางการเงิน ดังนี้ ถามยอดบัญชี โอนเงิน เบิกเงินสด ชำระค่าสาธารณูปโภคต่าง ๆ ดังนั้น สินค้าพิพาทที่โจทก์นำเข้าจึงจัดเป็นเครื่องบริการเงินด่วนอัตโนมัติตามคำอธิบายพิกัดศุลกากรระบบฮาร์โมไนซ์ ประเภทย่อย 8472.90 (6) และได้รับยกเว้นอากรขาเข้าตามประกาศกระทรวงการคลังดังกล่าว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนแบบแจ้งการประเมินเลขที่ กค.0504 (9)/3 – 3 – 03316 – 17 ลงวันที่ 17 สิงหาคม 2552 และเลขที่ 0508 (3)/2 – 3 – 04279 – 80 ลงวันที่ 11 พฤษภาคม 2553 และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ที่ กค.0518 (ส)/649 ลงวันที่ 6 มิถุนายน 2556 ขอให้งดหรือลดเบี้ยปรับเงินเพิ่ม
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา โจทก์ยื่นคำร้องขอถอนอุทธรณ์ จำเลยคัดค้าน แต่คดีนี้ศาลฎีกาทำคำพิพากษาแล้ว จึงไม่อนุญาตให้โจทก์ถอนอุทธรณ์
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติตามที่คู่ความมิได้โต้แย้งกันว่า โจทก์ประกอบธุรกิจนำเข้าและขายเครื่องถอนเงินสด เครื่องเบิกจ่ายเงินสด เครื่องรับฝากเงินสด ระหว่างวันที่ 4 มีนาคม 2546 ถึงวันที่ 20 สิงหาคม 2546 โจทก์นำเข้าสินค้าโดยสำแดงว่าเป็นเครื่องบริการเงินด่วนอัตโนมัติพร้อมอุปกรณ์ครบชุด “ATM AND PARTS” 1064ix REAR LOAD, FRONT LOAD & PARTS ‘DIEBOLD’ พิกัดประเภทที่ 8472.90 ยกเว้นอัตราอากรตามประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การกำหนดให้ของได้รับยกเว้นอากรและการลดอัตราอากรศุลกากร (ท.ส.3) ลงวันที่ 28 ธันวาคม 2544 ในฐานะเครื่องบริการเงินด่วนอัตโนมัติ สำหรับภาษีมูลค่าเพิ่มไม่ได้รับยกเว้น โจทก์จึงชำระภาษีมูลค่าเพิ่มไว้ตามใบขนสินค้าขาเข้าเลขที่ 0111 – 00746 – 03015 เลขที่ 0111 – 00846 – 02374 เลขที่ 0103 – 00346 – 00525 และเลขที่ 0103 – 00646 – 00487 จำนวน 4 ฉบับ ต่อมาพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยตรวจพบว่าสินค้าที่โจทก์นำเข้าเป็นเครื่องจ่ายเงินสดอัตโนมัติ (Cash Dispenser) มิใช่เครื่องบริการเงินด่วนอัตโนมัติ (Automatic Teller Machine) ไม่ได้รับยกเว้นอากรตามประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การกำหนดให้ของได้รับยกเว้นอากรและการลดอัตราอากรศุลกากร (ทส.3) ลงวันที่ 28 ธันวาคม 2544 ในฐานะเครื่องบริการเงินด่วนอัตโนมัติ พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยจึงประเมินเรียกเก็บอากรขาเข้าตามใบขนสินค้าขาเข้าทั้งสี่ฉบับในอัตราร้อยละ 20 โจทก์อุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยให้ยกคำอุทธรณ์ของโจทก์ โจทก์ไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยอุทธรณ์จึงฟ้องเป็นคดีนี้
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า สินค้าพิพาทที่โจทก์นำเข้าเป็นเครื่องบริการเงินด่วนอัตโนมัติ (Automatic Teller Machines) ตามพิกัด 8472.90 และได้รับยกเว้นอากรขาเข้าตามประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การกำหนดให้ของได้รับการยกเว้นอากรและการลดอัตราอากรศุลกากร (ทส.3) หรือไม่ โดยโจทก์อุทธรณ์ว่า การตีความสินค้าพิพาทต้องถือตามความตกลงว่าด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศ (ITA) และพิกัดอัตราศุลกากรของไทย ซึ่งคำอธิบายพิกัดอัตราศุลกากรระบบฮาร์โมไนซ์ไม่ได้ให้คำจำกัดความและไม่ได้กำหนดขอบเขตของคำว่า Automatic teller Machines (ATM) ไว้ คงอธิบายว่าเครื่องใดก็ตามที่ทำหน้าที่อย่างใดอย่างหนึ่งเพียงอย่างเดียวหรือทำได้หลายหน้าที่ไม่ว่าฝาก ถอน โอนเงินและดูยอดเงินคงเหลือในบัญชีโดยไม่ต้องติดต่อกับเจ้าหน้าที่ของธนาคารโดยตรง เรียกได้ว่าเป็น Automatic Teller Machines (ATM) แล้ว หาใช่ว่า ATM ต้องทำหน้าที่ได้ครบทั้ง 4 หน้าที่ ดังที่ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัย เครื่อง Automatic Cash Dispenser ที่โจทก์นำเข้าเป็นเครื่องที่ลูกค้าสามารถถอนเงิน โอนเงิน ตรวจสอบยอดเงินคงเหลือในบัญชีได้โดยไม่ต้องติดต่อเจ้าหน้าที่ธนาคาร จึงเป็นเครื่องบริการเงินด่วนประเภทหนึ่ง ย่อมได้รับยกเว้นอากรขาเข้าตามประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การกำหนดให้ของได้รับการยกเว้นอากรและการลดอัตราอากรศุลกากร (ทส.3) นั้น ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นว่า ปัญหานี้พระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ.2530 มาตรา 4 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ของที่นำเข้ามาหรือพาเข้ามาในหรือส่งออกหรือพาออกไปนอกราชอาณาจักรนั้น ให้เรียกเก็บและเสียอากรตามที่กำหนดไว้ในพิกัดอัตราศุลกากรท้ายพระราชกำหนดนี้…” และมาตรา 14 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “เพื่อปฏิบัติตามข้อผูกพันตามสัญญาหรือความตกลงระหว่างประเทศที่เป็นประโยชน์แก่การเศรษฐกิจของประเทศ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีมีอำนาจประกาศยกเว้น ลด หรือเพิ่มอากรจากอัตราที่กำหนดไว้ในพิกัดอัตราศุลกากรหรือประกาศเรียกเก็บอากรตามอัตราที่กำหนดไว้ในพิกัดอัตราศุลกากรหรือประกาศกำหนดอัตราอากรตามราคาหรือตามสภาพสำหรับของที่มีถิ่นกำเนิดจากประเทศที่ร่วมลงนามหรือลักษณะตามที่ระบุไว้ในสัญญาหรือความตกลงดังกล่าว ทั้งนี้จะกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขใด ๆ ไว้ด้วยก็ได้” โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้ออกประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การกำหนดให้ของได้รับการยกเว้นอากรและลดอัตราอากรศุลกากร (ทส.3) ลงวันที่ 28 ธันวาคม 2544 กำหนดให้ของในพิกัดอัตราอากรขาเข้าประเภทพิกัด 84.72 ประเภทย่อย 8472.90 รายการเฉพาะเครื่องบริการเงินด่วนอัตโนมัติ (Automatic Teller Machines) ได้รับยกเว้นอากรขาเข้า ซึ่งพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ.2530 และประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การกำหนดให้ของได้รับการยกเว้นอากรและการลดอัตราอากรศุลกากร (ทส.3) มิได้ให้คำนิยามของเครื่องบริการเงินด่วนอัตโนมัติไว้ การตีความว่าเครื่องบริการเงินด่วนอัตโนมัติจึงต้องถือตามหลักเกณฑ์การตีความพิกัดอัตราศุลกากรในภาค 1 ท้ายพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ.2530 ประกอบคำอธิบายพิกัดศุลกากรระบบฮาร์โมไนซ์ของคณะมนตรีความร่วมมือทางศุลกากรซึ่งทำขึ้นเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2493 และประเทศไทยเป็นภาคีอนุสัญญาดังกล่าวเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2515 ตามที่บัญญัติไว้ในพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ.2530 มาตรา 15 โดยคำอธิบายพิกัดศุลกากรระบบฮาร์โมไนซ์พร้อมคำแปล (Explanatory Notes, Third edition (2002) ของ Hamonized Commodity Description and Coding system : EN/HS) ประเภทพิกัด 84.72 เครื่องสำนักงานอื่น ๆ (Other office machine) ประเภทย่อย 8472.90 อื่น ๆ (5) ระบุว่า เครื่องจ่ายธนบัตรอัตโนมัติ (Automatic banknote dispensers) ซึ่งทำงานร่วมกันกับเครื่องประมวลผลอัตโนมัติไม่ว่าจะอยู่ในสายหรือนอกสาย (6) ระบุว่า เครื่องรับจ่ายเงินอัตโนมัติ (Automatic Teller Machines) ซึ่งลูกค้าสามารถใช้ฝาก ถอน และโอนเงินและดูยอดคงเหลือของบัญชีโดยไม่ต้องติดต่อโดยตรงกับเจ้าหน้าที่ธนาคาร โดยจำเลยมีนายยงยุทธ นักวิชาการศุลกากรชำนาญการ และนางสาวกัญญา เจ้าหน้าที่พิจารณาอุทธรณ์ เบิกความทำนองเดียวกันว่า เครื่องจ่ายธนบัตรอัตโนมัติของโจทก์ออกแบบมาสำหรับถอนเงินสด โอนเงิน ชำระค่าสาธารณูปโภคต่าง ๆ ถามยอดบัญชี ไม่มีหน้าที่ฝากเงินสด จัดเป็นของตรงตามคำอธิบายพิกัดศุลกากรระบบฮาร์โมไนซ์ EN/HS 2002 หน้า 1583 ประเภทย่อย 8472.90 (5) ที่ระบุว่า เครื่องจ่ายธนบัตรอัตโนมัติ (automatic banknote dispensers) ที่ใช้งานร่วมกับเครื่องประมวลผลอัตโนมัติไม่ว่าจะอยู่ในสายหรือนอกสาย ไม่จัดเป็นเครื่องบริการเงินด่วนอัตโนมัติ ไม่เข้าหลักเกณฑ์ตามประกาศกระทรวงการคลัง (ทส.3) ลงวันที่ 28 ธันวาคม 2544 ที่ให้ยกเว้นอากร ประกอบกับมีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1049/2551 วินิจฉัยว่า เครื่องบริการเงินด่วนอัตโนมัติตามพิกัดประเภทที่ 8472.90 ที่ได้รับยกเว้นอากรตามประกาศกระทรวงการคลัง (ทส.3) ลงวันที่ 28 ธันวาคม 2544 ตามหลักเกณฑ์การตีความข้อพิกัดอัตราศุลกากรในภาค 1 ท้ายพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ.2530 ประกอบคำอธิบายพิกัดอัตราศุลกากรระบบฮาร์โมไนซ์ ตามที่บัญญัติไว้ในพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ.2530 มาตรา 15 ได้ให้ความหมายของเครื่องบริการเงินด่วนอัตโนมัติว่าต้องเป็นเครื่องจักรที่สามารถรับฝาก ถอนเงิน โอนเงิน และดูยอดเงินคงเหลือในบัญชีได้ทั้ง 4 ประการ เท่านั้น สินค้าที่โจทก์นำเข้าจึงไม่ใช่เครื่องบริการเงินด่วนอัตโนมัติตามประกาศกระทรวงการคลัง (ทส.3) ลงวันที่ 28 ธันวาคม 2544 แต่จัดเป็นของตามพิกัดประเภทที่ 8472.90 อัตราอากรร้อยละ 20 ในฐานะเป็นเครื่องจักรอื่น ๆ ตามหลักเกณฑ์การตีความข้อ 1 และข้อ 6 ประกอบกับ EN/HS หน้า 1583 ประเภทพิกัด 84.72 ประเภทย่อย 8472.90 (5) ส่วนโจทก์มีนายวีรพันธ์ กรรมการผู้มีอำนาจของโจทก์เบิกความว่า เครื่องจ่ายเงินสดอัตโนมัติ (Cash Dispenser) ของโจทก์สามารถทำงานได้มากกว่าเครื่องจ่ายธนบัตรอัตโนมัติที่เป็นของตามพิกัดประเภทที่ 8472.90 (5) ซึ่งสามารถจ่ายธนบัตรได้เพียงหน้าที่เดียว เป็นสินค้าคนละประเภทกับเครื่องจ่ายเงินสดของโจทก์ที่สามารถถอนเงิน โอนเงิน และดูยอดคงเหลือในบัญชีได้ ทั้งสามารถทำงานได้ด้วยตัวเองโดยไม่จำต้องทำงานร่วมกับเครื่องประมวลผลข้อมูลอัตโนมัติ ไม่ว่าออนไลน์หรือออฟไลน์ ซึ่งจำเลยมิได้นำสืบหรือถามค้านพยานโจทก์เกี่ยวกับคุณสมบัติของสินค้าพิพาทที่โจทก์นำเข้าให้เห็นเป็นอย่างอื่น ทั้งยังนำสืบรับกับพยานโจทก์ว่า สินค้าพิพาทที่โจทก์นำเข้าสามารถถอนเงิน โอนเงิน และดูยอดเงินคงเหลือในบัญชีได้โดยไม่ต้องติดต่อกับเจ้าหน้าที่ธนาคารโดยตรง ดังนั้น แม้สินค้าที่โจทก์นำเข้าตามโบรชัวร์สินค้า จะใช้ชื่อว่า “Cash Dispenser” ซึ่งคล้ายกับเครื่องจ่ายธนบัตรอัตโนมัติ (Automatic banknote dispensers) ตามพิกัดประเภทที่ 8472.90 (5) ที่สามารถทำงานได้เพียงอย่างเดียวคือการจ่ายธนบัตร แต่ตามโบรชัวร์สินค้าพิพาทและได้แสดงลักษณะและคุณสมบัติของเครื่องจ่ายเงินสดอัตโนมัติ (Cash Dispenser) รุ่น 1064 iX ของโจทก์ไว้ว่า เป็นเครื่องสำหรับให้บริการ ทำรายการธุรกรรมทางการเงิน ดังนี้ ถามยอดบัญชี โอนเงิน เบิกเงินสด ชำระค่าสาธารณูปโภคต่าง ๆ เหมาะกับการติดตั้งในธนาคาร ห้างร้านต่าง ๆ ซึ่งใช้พื้นที่ติดตั้งไม่มาก การทำงานของเครื่อง เริ่มต้นจากลูกค้าสอดบัตรเข้าไปยังชุดอ่านบัตรและกดรหัส ข้อมูลต่าง ๆ ก็จะถูกส่งไปประมวลผลที่ห้องควบคุมของแต่ละธนาคาร หลังจากนั้นลูกค้าสามารถเลือกทำรายการต่าง ๆ ตามต้องการ เมื่อลูกค้าทำรายการเสร็จตู้ก็จะพิมพ์ใบบันทึกรายการพร้อมคืนบัตรแก่ลูกค้า ซึ่งสามารถทำหน้าที่ได้มากกว่าเครื่องจ่ายธนบัตรอัตโนมัติที่เป็นของตามประเภทพิกัด 8472.90 (5) ที่สามารถจ่ายธนบัตรได้เพียงอย่างเดียว จึงไม่อาจจำแนกสินค้าที่โจทก์นำเข้าเป็นเครื่องจ่ายธนบัตรอัตโนมัติ (Automatic banknote dispenser) ที่ใช้งานร่วมกับเครื่องประมวลผลอัตโนมัติ ไม่ว่าอยู่ในสายหรือนอกสายตามคำอธิบายพิกัดศุลกากรระบบฮาร์โมไนซ์ ประเภทย่อย 8472.90 (5) ตามที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยประเมินมาได้ ส่วนปัญหาว่าสินค้าพิพาทจัดเป็นของตามคำอธิบายพิกัดศุลกากรระบบฮาร์โมไนซ์ ประเภทย่อย 8492.90 (6) เครื่องบริการเงินด่วนอัตโนมัติ (Automatic Teller Machines : ATM) ดังที่โจทก์อุทธรณ์หรือไม่ โจทก์มีนายวีรพันธ์ มาเบิกความว่า สินค้าที่จะถูกพิจารณาว่าเป็นเครื่องบริการเงินด่วนอัตโนมัติไม่จำเป็นต้องมีหน้าที่ครบทั้งสี่ประการ คือ ฝาก ถอน และโอน และดูยอดเงิน แต่ต้องเป็นเครื่องจักรที่มีหน้าที่สำหรับถอนเงินสดเป็นสำคัญ โดยมีคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ กอ.5/2547/ป4 (3.2) ลงวันที่ 31 ธันวาคม 2547 วินิจฉัยไว้ว่า เครื่องบริการเงินด่วนอัตโนมัติตามพิกัด 8472.90 ภายใต้ประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การกำหนดให้ของได้รับการยกเว้นอากรและลดอัตราอากรศุลกากร (ทส.3) อันเป็นไปตามความตกลงว่าด้วยการค้าสินค้าเทคโนโลยีสารสนเทศ (Information Technology Agreement : ITA) คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ใช้ข้อมูลทางเทคนิคที่ค้นคว้าและข้อมูลจากประเทศสมาชิกของ ITA เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกา แคนาดา ญี่ปุ่น มาเลเซีย และสาธารณรัฐอินโดนีเซีย ตลอดจนข้อมูลจากองค์การศุลกากรโลก (World Customs Organization : WCO) พบว่า ATM ไม่จำเป็นต้องมีหน้าที่ครบทั้ง 4 ประการ แต่ต้องเป็นเครื่องจักรที่มีหน้าที่สำหรับการถอนเงินสดเป็นสำคัญ และจะมีหน้าที่อื่น ๆ เช่น ฝากเงิน โอนเงิน หรือถามยอดบัญชีรวมอยู่ด้วยหรือไม่ก็ตาม และคำวินิจฉัยคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ครั้งที่ 7 (4พ)/2549 ได้พิจารณาเครื่องบริการเงินด่วนอัตโนมัติไว้ว่า ข้อมูลจากองค์การศุลกากรโลก กรมศุลกากรประเทศสหรัฐอเมริกา ประเทศสมาชิกความตกลงว่าด้วยสินค้าเทคโนโลยีสารสนเทศระบุว่า เครื่อง ATM ไม่จำเป็นต้องมีหน้าที่ครบทั้ง 4 ประการ แต่ต้องเป็นเครื่องจักรที่มีหน้าที่สำหรับการถอนเงินสดเป็นสำคัญและจะมีหน้าที่อื่น ๆ หรือไม่ก็ตาม และมีหนังสือของคณะกรรมการอากรขาเข้าและการค้า องค์การศุลกากรโลก (World Customs Organization) เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2549 พร้อมคำแปล ระบุว่า “เครื่องจ่ายธนบัตรอัตโนมัติ (Automatic banknote dispenser) จะใช้เฉพาะการจ่ายธนบัตรให้แก่ผู้ใช้เพียงอย่างเดียว ในขณะที่ ATM สามารถทำงานของธนาคารได้มากกว่า ซึ่งมิฉะนั้นแล้วจะต้องไปดำเนินการกับเจ้าหน้าที่ธนาคาร ส่วนอะไรคือหน้าที่หลักของ ATM เป็นคำถามยากที่จะตอบ เพราะโดยทั่วไปแล้ว ATM สามารถทำหน้าที่แทนธนาคารหลายอย่าง เช่น ถามยอดบัญชี โอนเงิน รับฝากเงิน จ่ายบิล ขึ้นอยู่กับการออกแบบและการใช้ที่แท้จริง ในการตอบครั้งก่อน เลขอ้างอิง 06NL0157 เห็นว่าไม่จำเป็นที่ ATM ต้องทำหน้าที่ทั้งหมดสี่หน้าที่ แต่มันจำเป็นเฉพาะทำหน้าที่งานด้านการจ่ายธนบัตร (dispensing cash)” นอกจากนี้ยังมีหนังสือตอบข้อหารือของกรมศุลกากรประเทศสหรัฐอเมริกา ลงวันที่ 17 เมษายน 2553 ที่ระบุว่า ถึงแม้ว่า ATM มีการใช้หลากหลาย แต่หน้าที่หลักคือการเป็นเครื่องจ่ายธนบัตรอัตโนมัติ ดังนั้น เครื่อง ATM และเครื่องซึ่งมีกลไกการจ่ายธนบัตรจะตกอยู่ภายใต้ตอนย่อยเดียวกัน โดยจำเลยนำสืบหักล้างว่า เครื่อง ATM ต้องมีหน้าที่การทำงานครบ 4 ประการ ตามที่ระบุไว้ในคำอธิบายพิกัดศุลกากรระบบฮาโมไนซ์ ประเภทย่อย 8472.90 (6) ประกอบกับมีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1049/2551 วินิจฉัยว่า เครื่องบริการเงินด่วนอัตโนมัติตามคำอธิบายพิกัดศุลกากรระบบฮาโมไนซ์ หน้า 1583 ประเภทย่อยที่ 8472.90 (6) ต้องเป็นเครื่องจักรที่สามารถรับฝาก ถอนเงิน โอนเงิน และดูยอดเงินคงเหลือในบัญชีได้ทั้ง 4 ประการ หนังสือขององค์การศุลกากรโลกเป็นความเห็นในนามผู้อำนวยการกลุ่มงานพิกัดศุลกากรและการค้า และหนังสือตอบข้อหารือของกรมศุลกากร ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นเพียงความเห็น มิได้ผูกพันหรือมีผลทางกฎหมาย แต่กลับได้ความจากนายขจรวุฒิ ประธานชมรมธุรกิจบริการ ATM พยานโจทก์ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ในอดีตเครื่องบริการเงินด่วนอัตโนมัติถูกนำมาใช้ทำหน้าที่รับฝาก ถอนเงิน โอนเงินและดูยอดเงินคงเหลือในบัญชีโดยไม่ต้องติดต่อกับเจ้าหน้าที่ธนาคาร (Teller) ตามคำอธิบายพิกัดศุลกากรระบบฮาร์โมไนซ์ ประเภทย่อย 8472.90 (6) แต่เนื่องจากความไม่นิยมของผู้ใช้บริการและปัญหาโต้แย้งเรื่องจำนวนเงินที่ตรวจนับ จึงทำให้เครื่องบริการเงินด่วนอัตโนมัติที่นำเข้ามาใช้ในประเทศไทยในระยะหลังมิได้ติดตั้งอุปกรณ์รับฝากเงินไว้ด้วย ทั้งที่โดยสภาพแล้วเครื่องบริการเงินด่วนอัตโนมัตินั้นสามารถทำหน้าที่ได้ครบทั้ง 4 ประการ แต่ต้องตัดหน้าที่บริการฝากเงินออกไปเพื่อตอบสนองต่อรูปแบบการใช้บริการและความสะดวกในการทำธุรกรรมของผู้ใช้บริการ โดยปัจจุบันเครื่องบริการเงินด่วนอัตโนมัติที่ใช้ในประเทศไทยมีการแยกหน้าที่ระหว่างเครื่องถอนเงินและเครื่องรับฝากเงินออกจากกัน การที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยพิจารณาสินค้าพิพาทที่โจทก์นำเข้าว่าเป็นเครื่องจ่ายธนบัตรอัตโนมัติ (Automatic banknote dispensers) ประเภทย่อย 8472.90 (5) โดยไม่คำนึงถึงวิวัฒนาการและความเจริญก้าวหน้าของเครื่องบริการเงินด่วนอัตโนมัติที่เปลี่ยนแปลงไป อาจทำให้ไม่มีเครื่องบริการเงินด่วนอัตโนมัติใดได้รับการพิจารณาว่าเป็นเครื่องบริการเงินด่วนอัตโนมัติตามคำอธิบายพิกัดศุลกากรระบบฮาร์โมไนซ์ประเภทย่อย 8472.90 (6) ได้ เนื่องจากเครื่องบริการเงินด่วนอัตโนมัติที่ใช้กันอยู่แพร่หลายทั่วโลกในปัจจุบันไม่ได้ติดตั้งอุปกรณ์ให้บริการฝากเงินไว้ด้วย และยังไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การกำหนดให้ของได้รับการยกเว้นอากรและลดอัตราอากรศุลกากร (ทส.3) ลงวันที่ 28 ธันวาคม 2544 ที่อาศัยอำนาจตามมาตรา 14 แห่งพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ.2530 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี ออกประกาศเพื่อปฏิบัติตามข้อผูกพันตามความตกลงว่าด้วยการค้าสินค้าเทคโนโลยีสารสนเทศ (Information Technology Agreement : ITA) ภายใต้กรอบความตกลงขององค์การการค้าโลก (World Trade Organisation : WTO) ที่ประเทศไทยเข้าเป็นภาคีสมาชิก ซึ่งมีวัตถุประสงค์มุ่งลดอุปสรรคทางภาษีศุลกากรของสินค้าเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อให้ประเทศสมาชิกมีความเจริญทางเศรษฐกิจและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี รวมไปถึงทำให้ประเทศกำลังพัฒนาเข้าถึงสินค้าเทคโนโลยีสารสนเทศได้ในราคาที่ถูกลงได้ ที่ประเทศไทยได้ลงนามผูกพันเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2540 ทั้งยังไม่สอดคล้องกับแนวทางการตีความคำอธิบายพิกัดศุลกากรระบบฮาร์โมไนซ์ขององค์การศุลกากรโลกและประเทศอื่น ๆ ที่เป็นภาคีในอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยระบบฮาร์โมไนซ์เพื่อการจำแนกประเภทและการกำหนดรหัสสินค้าอีกด้วย ส่วนที่จำเลยนำคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1049/2551 ที่วินิจฉัยว่า เครื่องบริการเงินด่วนอัตโนมัติตามประเภทพิกัดที่ 8472.90 (6) ต้องเป็นเครื่องจักรที่สามารถรับฝาก ถอนเงิน โอนเงิน และดูยอดเงินคงเหลือในบัญชีทั้งสี่ประการเท่านั้น มาปรับใช้กับเครื่องจ่ายธนบัตรอัตโนมัติของโจทก์ นั้น เห็นว่า เป็นการวินิจฉัยปัญหาพิกัดสำหรับเครื่องบริการฝากเงินอัตโนมัติ (Automatic Deposit Machines : ADM) ที่มีคุณสมบัติเฉพาะการรับฝากเงิน แตกต่างจากเครื่องจ่ายเงินสดอัตโนมัติที่โจทก์นำเข้า พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยจึงไม่อาจนำคำวินิจฉัยตามคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวมาใช้แก่กรณีของโจทก์ได้ ดังนั้น สินค้าพิพาทที่โจทก์นำเข้าจึงจัดเป็นเครื่องบริการเงินด่วนอัตโนมัติตามคำอธิบายพิกัดศุลกากรระบบฮาร์โมไนซ์ ประเภทย่อย 8472.90 (6) ซึ่งอยู่ในประเภทย่อยเดียวกัน และได้รับยกเว้นอากรขาเข้าตามประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การกำหนดให้ของได้รับการยกเว้นอากรและการลดอัตราอากรศุลกากร (ทส.3) อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น ส่วนอุทธรณ์ข้ออื่นของโจทก์ไม่จำต้องวินิจฉัยเพราะมิทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป ที่ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยว่า การประเมินของพนักงานเจ้าหน้าที่และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ชอบแล้ว จึงไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากร
พิพากษากลับ ให้เพิกถอนการประเมินตามแบบแจ้งการประเมินเลขที่ กค. 0504(9)/3 – 3 – 03316 – 17 ลงวันที่ 17 สิงหาคม 2552 และเลขที่ 0508(3)/3 – 3 – 04279 – 80 ลงวันที่ 11 พฤษภาคม 2553 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ที่ กค. 0518(ส)/649 ลงวันที่ 6 มิถุนายน 2556 ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองชั้นศาลให้เป็นพับ

Share