แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การที่จำเลยจัดแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนและบุคลากรของมหาวิทยาลัย อ. รวมทั้งนักศึกษาของมหาวิทยาลัยบางส่วน ในฐานะเป็นอธิการบดีซึ่งทำการแทนมหาวิทยาลัย อ. มิได้กระทำเป็นส่วนตัว เพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในมหาวิทยาลัย อ. ที่ทำให้มหาวิทยาลัย อ. จำต้องตั้งคณะกรรมการสอบสวนเพื่อหาตัวผู้กระทำผิดทางวินัย รวมถึงสาเหตุของการเผยแพร่ใบปลิวและความวุ่นวายที่เกิดจากการชุมนุมปราศรัยของโจทก์กับพวก เพื่อให้ทราบความจริงที่เกิดขึ้นในมหาวิทยาลัย อ. อันเป็นการรักษาชื่อเสียงของมหาวิทยาลัย อ. และปกป้องประโยชน์ของทางราชการย่อมถือเป็นการให้ข่าวสารข้อมูลของทางราชการเกี่ยวกับมหาวิทยาลัย อ. อันเป็นการกระทำในการปฏิบัติหน้าที่ตามที่ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการให้ข่าวและบริการข่าวสารของทางราชการ พ.ศ.2529 ให้อำนาจจำเลยไว้ โจทก์จึงไม่อาจฟ้องจำเลยให้รับผิดทางแพ่งในมูลละเมิดแก่โจทก์ได้ เพราะต้องห้ามตามที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 5 วรรคหนึ่ง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326, 328, 332 ให้จำเลยโฆษณาคำพิพากษาในหนังสือพิมพ์มติชน ไทยรัฐ เดลินิวส์ ผู้จัดการ วารสารของสภามหาวิทยาลัยอุบลราชธานีและหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นไม่น้อยกว่า 3 ฉบับ เป็นเวลาต่อเนื่องกัน 15 วัน โดยจำเลยเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย และให้จำเลยชำระค่าเสียหายเป็นเงิน 400,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยให้การปฏิเสธ และให้การในคดีส่วนแพ่งขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ให้จำเลยชำระค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน 150,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 17 กันยายน 2555 อันเป็นวันยื่นฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ และให้จำเลยโฆษณาคำพิพากษาโดยย่อในหนังสือพิมพ์รายวันมติชนและวารสารของสภามหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เป็นเวลา 3 วัน ติดต่อกัน โดยให้จำเลยเป็นผู้ชำระค่าโฆษณา ยกฟ้องคดีส่วนอาญา
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องคดีในส่วนแพ่งด้วย ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกาเฉพาะคดีในส่วนแพ่ง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามคำแก้ฎีกาของจำเลยว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยให้รับผิดทางแพ่งหรือไม่ โดยจำเลยแก้ฎีกาว่า จำเลยดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี มีฐานะเป็นหัวหน้าส่วนบริการมีหน้าที่รับผิดชอบการบริหารของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และมีอำนาจหน้าที่ในการให้ข่าวสารข้อมูลของทางราชการเกี่ยวกับเรื่องที่เกิดขึ้นในมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เพื่อปกป้องประโยชน์ของทางราชการ ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการให้ข่าวและบริการข่าวสารของทางราชการ พ.ศ.2529 ข้อ 5 และข้อ 6.3 ดังนั้น เมื่อมีสาเหตุให้บุคลากรในมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี นักศึกษาของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีและประชาชนทั่วไปเกิดความสับสนและเข้าใจผิดในข้อเท็จจริงเกี่ยวกับมหาวิทยาลัยและจำเลยในฐานะอธิการบดีมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี จำเลยจึงจำเป็นต้องจัดแถลงข่าว เพื่ออธิบายข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นให้แก่บุคลากรกับนักศึกษาของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และประชาชนทั่วไปทราบถึงสาเหตุที่แท้จริงของการเผยแพร่ใบปลิวจดหมายอิเล็กทรอนิกส์และเหตุที่มีการชุมนุมปราศรัยดังกล่าวเพื่อประโยชน์แก่ทางราชการและมีมูลความจริงและเป็นการกระทำในฐานะเจ้าพนักงานปฏิบัติการตามหน้าที่ จำเลยย่อมได้รับความคุ้มครองจากการกระทำละเมิดในมูลคดีแพ่ง ตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 5 วรรคหนึ่ง โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยให้รับผิดทางแพ่งนั้น เห็นว่า จำเลยเป็นอธิบการบดีมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี มีฐานะเป็นหัวหน้าส่วนราชการ มีหน้าที่รับผิดชอบการบริหารงานของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และมีอำนาจหน้าที่ในการให้ข่าวสารข้อมูลของทางราชการเกี่ยวกับมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เพื่อปกป้องประโยชน์ของทางราชการ ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการให้ข่าวและบริการข่าวสารของทางราชการ พ.ศ.2529 ข้อ 5 และข้อ 6.3 เมื่อข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏได้ความว่า ผู้บริหารชุดที่ผ่านมาซึ่งมีนายประกอบ เป็นอธิการบดีของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี มีการจ่ายเงินทดรองราชการของอธิการบดี (Petty cash) และจ่ายเงินบัญชีเงินสนับสนุนการบริการวิชาการ และพัฒนามหาวิทยาลัยอุบลราชธานี โดยมิได้ปฏิบัติตามระเบียบแบบแผนของทางราชการ และมีเจ้าหน้าที่ทุจริตยักยอกเงินกองคลัง สำนักอธิการบดี และทำสัญญาก่อสร้างหอพักนักศึกษาเสียเปรียบเอกชนโดยไม่มีการประเมินราคากลางและให้เอกชนกำหนดราคาแต่เพียงฝ่ายเดียว ทำให้มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีเสียหาย มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีโดยจำเลยซึ่งเป็นอธิการบดีจึงมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง ต่อมาคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงชี้มูลว่ามีการกระทำผิดทางวินัย มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน ต่อมาคณะกรรมการสอบสวนได้มีความเห็นลงโทษทางวินัยแก่นายประกอบ อธิการบดีคนเก่า ในเรื่องการใช้จ่ายเงินทดรองของอธิการบดี (Petty cash) โดยมิชอบและโดยมิได้เป็นไปตามระเบียบแบบแผนทางราชการกับเรื่องทำสัญญาก่อสร้างหอพักนักศึกษาเสียเปรียบเอกชนและให้ลงโทษทางวินัยแก่ผู้บังคับบัญชาในสายงานบริหารงานกองคลังจำนวน 3 คน มีรองอธิการบดีบริหารงานกองคลังในขณะนั้น ผู้อำนวยการกองคลังในขณะนั้นและรักษาการหัวหน้างานงบประมาณขณะนั้น ตามสำเนาคำสั่งมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ต่อมามหาวิทยาลัยอุบลราชธานีได้มีคำสั่งลงโทษปลดออกจากราชการนายประกอบอธิการบดีคนเก่าและปลดบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับผู้บริหารชุดที่ผ่านมาหลายคนออกจากราชการในสายงานการบริหารงานกองคลัง ตามคำสั่งมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ผู้บริหารชุดที่ผ่านมาจึงได้อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา แต่คณะกรรมการดังกล่าวยังคงยืนยันว่า บุคคลดังกล่าวกระทำผิดทางวินัย ส่วนเรื่องการจ่ายเงินบัญชีเงินสนับสนุนการบริหารวิชาการและพัฒนามหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ขณะจำเลยจัดแถลงข่าวยังอยู่ในระหว่างคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงยังไม่รู้ตัวผู้กระทำความผิด หลังจากคณะกรรมการสอบสวนมีความเห็นให้ลงโทษทางวินัยแก่ผู้บริหารชุดที่ผ่านมาว่ากระทำผิดทางวินัยได้มีใบปลิวและจดหมายอิเล็กทรอนิกส์เผยแพร่ในมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี โจมตีมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีและจำเลยเกี่ยวกับการบริหารงานในมหาวิทยาลัยและการที่มีคำสั่งลงโทษให้ปลดออกจากราชการและเกิดการชุมนุมปราศรัยในห้องอาหารมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ซึ่งตามข่าวหนังสือพิมพ์มติชนออนไลน์ มีโจทก์กับพวกเป็นผู้นำในการชุมนุมทำให้บุคลากรในมหาวิทยาลัยและนักศึกษารวมทั้งสื่อมวลชนที่มาทำข่าวสับสนในข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ดังนี้ การที่จำเลยจัดแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนและบุคลากรของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี รวมทั้งนักศึกษาของมหาวิทยาลัยบางส่วน ในฐานะเป็นอธิการบดีซึ่งทำการแทนมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี มิได้กระทำเป็นส่วนตัว เพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ที่ทำให้มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีจำต้องตั้งคณะกรรมการสอบสวนเพื่อหาตัวผู้กระทำผิดทางวินัยตามข้อ 2 (1) ถึง (3) รวมถึงสาเหตุของการเผยแพร่ใบปลิวและความวุ่นวายที่เกิดจากการชุมนุมปราศรัยของโจทก์กับพวก เพื่อให้ทราบความจริงที่เกิดขึ้นในมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี อันเป็นการรักษาชื่อเสียงของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และปกป้องประโยชน์ของทางราชการย่อมถือเป็นการให้ข่าวสารข้อมูลของทางราชการเกี่ยวกับมหาวิทยาลัยอันเป็นการกระทำในการปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายได้ให้อำนาจจำเลยไว้ดังกล่าว โจทก์จึงไม่อาจฟ้องจำเลยให้รับผิดทางแพ่งในมูลละเมิดแก่โจทก์ได้ เพราะต้องห้ามตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 5 วรรคหนึ่ง การที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาคดีในส่วนแพ่งมานั้นจึงไม่ชอบ ไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของโจทก์ในข้ออื่นอีกต่อไป
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฎีกาโจทก์ ยกอุทธรณ์โจทก์และจำเลย ยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 และคำพิพากษาศาลชั้นต้นในคดีส่วนแพ่ง คืนค่าขึ้นศาลในศาลชั้นต้น ในชั้นอุทธรณ์และในชั้นฎีกาให้แก่โจทก์ คืนค่าขึ้นศาลในชั้นอุทธรณ์ให้แก่จำเลย ค่าฤชาธรรมเนียมนอกจากที่สั่งคืนให้แก่โจทก์และจำเลยทั้งสามศาลให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3