คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 928/2560

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้จำเลยที่ 3 มีจำเลยที่ 1 เป็นกรรมการผู้จัดการ และจำเลยที่ 1 เจตนากู้ยืมเงินมาใช้ในกิจการของจำเลยที่ 3 โดยจำเลยที่ 3 เป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกับจำเลยที่ 1 แต่จำเลยที่ 3 ก็เป็นนิติบุคคลซึ่งถือเป็นคนละคนกับจำเลยที่ 1 แม้จำเลยที่ 3 จะมีสิทธิเรียกร้องหรือเป็นเจ้าหนี้ธนาคาร ก. ผู้โอนสิทธิเรียกร้องให้แก่โจทก์ จำเลยที่ 1 ก็ไม่มีสิทธิที่จะนำหนี้ดังกล่าวมาหักกลบลบหนี้กับหนี้ที่จำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์ เพราะหนี้ค่าจ้างระหว่างธนาคาร ก. กับจำเลยที่ 3 เป็นความผูกพันระหว่างธนาคารกับจำเลยที่ 3 ทั้งมิใช่หนี้ด้อยคุณภาพที่ธนาคารโอนสิทธิมาให้แก่โจทก์ ความรับผิดตามสัญญาว่าจ้างจึงคงอยู่กับธนาคาร ก. ไม่ได้โอนมาเป็นของโจทก์ เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 3 ต้องไปว่ากล่าวเอากับธนาคารผู้เป็นคู่สัญญา
สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีมีการกำหนดอัตราดอกเบี้ยจากยอดเงินที่ปรากฏอยู่ในบัญชีเดินสะพัด หากภายหลังวันทำสัญญามีการเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยที่ประกาศโดยผู้ให้กู้หรือธนาคารแห่งประเทศไทย ทำให้อัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่ผู้ให้กู้พึงเรียกเก็บได้จากลูกค้าสูงกว่าอัตราตามสัญญา ผู้กู้ยอมให้ผู้ให้กู้มีอำนาจที่จะปรับดอกเบี้ยตามสัญญาให้สูงขึ้นได้ตามที่ผู้ให้กู้เห็นสมควรในทันที โดยมิต้องแจ้งให้ผู้กู้ทราบ และถือว่าผู้กู้ได้ให้ความยินยอมในการปรับอัตราดอกเบี้ยนับแต่วันที่ผู้ให้กู้กำหนดทุกครั้งไป การเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยมิได้อาศัยเหตุที่จำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระหนี้หรือผิดเงื่อนไข การปรับดอกเบี้ยให้สูงขึ้นในกรณีนี้จึงไม่มีลักษณะเป็นทำนองเบี้ยปรับ ศาลจึงไม่มีอำนาจปรับลดลงมาได้ โจทก์จึงมีสิทธิเรียกให้จำเลยที่ 1 รับผิดในดอกเบี้ยเพียงอัตราดอกเบี้ยและส่วนลดสูงสุดที่มิใช่กรณีลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้หรือผิดเงื่อนไขตามประกาศของธนาคาร ก. ทั้งนี้อัตราดอกเบี้ยต้องไม่เกินกว่าร้อยละ 14.5 ต่อปี
อนึ่ง จำเลยที่ 2 ค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีฉบับที่สี่ ทั้งมีการจำนำสิทธิที่จะถอนเงินฝากจากบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 2 ส่วนจำเลยที่ 3 ค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีฉบับที่หก ทั้งมีการจำนำสิทธิที่จะถอนเงินฝากจากบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 3 ศาลชั้นต้นวินิจฉัยให้นำเงินฝากในบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 2 และที่ 3 มาหักชำระหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีวันที่มีการหักทอนบัญชีครั้งสุดท้าย ส่งผลให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 สิ้นความผูกพันที่จะต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกันดังกล่าวอีกต่อไป แต่เมื่อนำเงินฝากไปหักชำระหนี้แล้ว จำเลยที่ 2 และที่ 3 ก็ไม่มีสิทธิได้รับดอกเบี้ยจากบัญชีเงินฝากนับแต่วันหักชำระหนี้ แต่ปรากฏว่าหลังวันที่มีการนำเงินฝากไปหักชำระหนี้ จำเลยที่ 2 ได้รับดอกเบี้ย 2 ครั้ง จำเลยที่ 3 ได้รับดอกเบี้ย 5 ครั้ง จึงให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 รับผิดชำระเงินดังกล่าวแก่ธนาคารพร้อมดอกเบี้ย เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในฐานะเป็นผู้ค้ำประกันหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีฉบับที่สี่และที่หกตามลำดับ ซึ่งศาลชั้นต้นวินิจฉัยแล้วว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 สิ้นความผูกพันที่จะต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกัน ศาลชั้นต้นย่อมไม่อาจวินิจฉัยให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 มารับผิดในดอกเบี้ยเงินฝากซึ่งมิใช่มูลหนี้ที่โจทก์ฟ้องเรียกร้องให้ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 เป็นเรื่องที่โจทก์จะต้องไปว่ากล่าวเอาความกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นคดีเรื่องอื่น การที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 รับผิดในดอกเบี้ยเงินฝากจึงเป็นการพิพากษานอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง กรณีเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) นอกจากนี้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยแล้วว่าให้จำเลยที่ 1 ชดใช้เงินทดรองจ่ายค่าเบี้ยประกันภัยตามจำนวนที่ธนาคารจ่ายไปพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ธนาคารชำระแทนเป็นต้นไป โดยคำนวณดอกเบี้ยถึงวันฟ้องเป็นเงิน 1,704.09 บาท รวมเป็นเงิน 15,812.71 บาท แต่ในตอนพิพากษากลับไม่มีการระบุถึงดอกเบี้ยของหนี้เงินทดรองจ่ายนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ศาลฎีกาเห็นสมควรระบุให้ครบถ้วนตามที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยไว้แล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ชำระเงิน 32,489,592.33 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14.5 ต่อปี ของต้นเงิน 20,996,922.95 บาท และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 14,108.62 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 1,199,205.48 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14.5 ต่อปี ของต้นเงิน 700,000 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 3 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 5,139,452.06 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14.5 ต่อปี ของต้นเงิน 3,000,000 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยทั้งสามไม่ชำระหรือชำระไม่ครบ ให้ยึดทรัพย์จำนองและทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสามออกขายทอดตลาดเอาเงินชำระหนี้โจทก์จนครบถ้วน
จำเลยทั้งสามให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้องในส่วนของจำเลยที่ 2 และที่ 3 และให้จำเลยที่ 1 รับผิดตามยอดหนี้ที่ถูกต้อง 2,484,936.81 บาท
ระหว่างพิจารณา บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย ยื่นคำร้องขอสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนโจทก์ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินแก่โจทก์ 9,720,156.04 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 12.5 ต่อปี จากต้นเงิน 2,847,524.76 บาท นับแต่วันที่ 1 เมษายน 2540 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 11 ต่อปี จากต้นเงิน 6,856,818.57 บาท นับแต่วันที่ 31 มกราคม 2540 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ หากไม่ชำระให้ยึดทรัพย์จำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 16502 ตำบลลำพยา อำเภอเมืองนครปฐม (พระปฐมเจดีย์) จังหวัดนครปฐม (นครชัยศรี) และโฉนดเลขที่ 64636 ตำบลบางซื่อ (บางเขนฝั่งใต้) อำเภอดุสิต (บางซื่อ) จังหวัดนครหลวงกรุงเทพธนบุรี พร้อมสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินดังกล่าว ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ หากได้เงินไม่พอให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยที่ 1 ออกขายทอดตลาด นำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบถ้วน ให้จำเลยที่ 2 ชำระเงินแก่โจทก์ 114,479.05 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 31 พฤษภาคม 2544) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยที่ 3 ชำระเงินแก่โจทก์ 379,102.17 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 15,000 บาท ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีเพิ่มอีก 7,592,580.07 บาท รวมเป็นเงิน 10,440,104.83 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 14.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 เมษายน 2540 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14.5 ต่อปี ของต้นเงิน 6,856,818.57 บาท นับแต่วันที่ 31 มกราคม 2540 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้บริษัทบริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด เข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 เปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันกับธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขานครชัยศรี บัญชีเลขที่ 733-6-00103-3 ตามคำขอเปิดบัญชี และบัตรตัวอย่างลายมือชื่อ ต่อมาจำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีกับธนาคาร 6 ฉบับ ฉบับแรกเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2533 จำนวนเงิน 1,400,000 บาท ยอมเสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 16.5 ต่อปี หากผิดนัดผิดสัญญาหรือธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ย ยอมให้คิดดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์พึงเรียกเก็บ มีกำหนดชำระหนี้ให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 16 พฤศจิกายน 2534 ต่อมามีการต่ออายุสัญญา 4 ครั้ง เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2534 เดือนพฤศจิกายน 2535 วันที่ 17 พฤศจิกายน 2536 และวันที่ 2 ธันวาคม 2537 โดยครั้งสุดท้ายมีการต่ออายุสัญญาถึงวันที่ 16 พฤศจิกายน 2538 ฉบับที่สองเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2534 จำนวนเงิน 600,000 บาท ยอมเสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 17.5 ต่อปี และยอมให้ปรับอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้นไม่เกินอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดไว้ได้ มีกำหนดชำระหนี้ให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 16 พฤศจิกายน 2534 ต่อมามีการต่ออายุสัญญา 4 ครั้ง เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2534 เดือนพฤศจิกายน 2535 วันที่ 17 พฤศจิกายน 2536 และวันที่ 2 ธันวาคม 2537 โดยครั้งสุดท้ายมีการต่ออายุสัญญาถึงวันที่ 16 พฤศจิกายน 2538 ฉบับที่สามเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2536 จำนวนเงิน 4,800,000 บาท ยอมเสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี และยอมให้ปรับอัตราดอกเบี้ยตามที่ธนาคารกำหนดแต่ไม่เกินอัตราดอกเบี้ยสูงสุดตามประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทย มีกำหนดชำระหนี้ให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 16 พฤศจิกายน 2537 ต่อมาเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2537 มีการต่ออายุสัญญาถึงวันที่ 16 พฤศจิกายน 2538 ฉบับที่สี่เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2537 จำนวนเงิน 700,000 บาท ยอมเสียดอกเบี้ยในอัตราเงินฝากประจำบวกร้อยละ 2 ต่อปี ซึ่งขณะทำสัญญาเท่ากับร้อยละ 10.75 ต่อปี หากมียอดหนี้เกินวงเงินตามสัญญา ยอมให้คิดดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดที่ธนาคารเรียกเก็บเงินได้ในส่วนที่เกินวงเงิน มีกำหนดชำระหนี้ให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 16 พฤศจิกายน 2537 ต่อมาเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2537 มีการต่ออายุสัญญาถึงวันที่ 16 พฤศจิกายน 2538 ฉบับที่ห้าเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2538 จำนวนเงิน 2,200,000 บาท ยอมเสียดอกเบี้ยในอัตราเอ็ม อาร์ อาร์ บวกร้อยละ 2 ต่อปี ซึ่งขณะทำสัญญาเท่ากับร้อยละ 14.75 ต่อปี หากมียอดหนี้เกินวงเงินตามสัญญา ยอมให้คิดดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดที่ธนาคารเรียกเก็บเงินได้ในส่วนที่เกินวงเงิน มีกำหนดชำระหนี้ให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 9 กันยายน 2538 และฉบับที่หกเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2538 จำนวนเงิน 3,000,000 บาท ยอมเสียดอกเบี้ยในอัตราเงินฝากประจำบวกร้อยละ 2 ต่อปี ซึ่งขณะทำสัญญาเท่ากับร้อยละ 13.75 ต่อปี หากมียอดหนี้เกินวงเงินตามสัญญา ยอมให้คิดดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดที่ธนาคารเรียกเก็บเงินได้ในส่วนที่เกินวงเงิน มีกำหนดชำระหนี้ให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 9 กันยายน 2538 โดยเอกสารการต่ออายุสัญญาครั้งที่ 2 ของสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีฉบับแรกและฉบับที่สอง สูญหายไปโดยมีการแจ้งความไว้เป็นหลักฐาน ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี บันทึกต่ออายุสัญญา และสำเนารายงานประจำวันรับแจ้งเป็นหลักฐาน เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2539 จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้เงินสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยกับธนาคารเป็นเงิน 7,000,000 บาท ยอมเสียดอกเบี้ยในอัตราเอ็ม แอล อาร์ บวกร้อยละ 1 ต่อปี ซึ่งขณะทำสัญญาเท่ากับร้อยละ 14.75 ต่อปี กำหนดผ่อนชำระหนี้เป็นรายเดือนไม่น้อยกว่าเดือนละ 100,000 บาท และต้องชำระหนี้ให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 29 เมษายน 2554 จำเลยที่ 1 ได้รับเงินกู้ครบถ้วนแล้ว ตามสัญญากู้เงิน และหลักฐานการรับเงินกู้ เพื่อเป็นประกันการชำระหนี้ เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2533 จำเลยที่ 1 จดทะเบียนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 16502 ตำบลลำพยา อำเภอเมืองนครปฐม (พระปฐมเจดีย์) จังหวัดนครปฐม (นครชัยศรี) พร้อมสิ่งปลูกสร้าง ต่อมามีการตกลงขึ้นเงินจำนอง 4 ครั้ง เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2534 วันที่ 25 พฤษภาคม 2535 วันที่ 15 พฤศจิกายน 2536 และวันที่ 9 มิถุนายน 2538 จนเป็นวงเงินจำนอง 9,000,000 บาท และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18 ต่อปี และเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2539 จำเลยที่ 1 จดทะเบียนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 64636 ตำบลบางซื่อ (บางเขนฝั่งใต้) อำเภอดุสิต (บางซื่อ) จังหวัดนครหลวงกรุงเทพธนบุรี พร้อมสิ่งปลูกสร้าง ในการจำนองที่ดินทั้งสองแปลงมีข้อตกลงต่อท้ายสัญญาจำนองว่าหากบังคับจำนองได้เงินไม่พอชำระหนี้ ผู้จำนองยังต้องรับผิดในหนี้สินส่วนที่ยังขาดอยู่ ตามสัญญาจำนอง สัญญาต่อท้ายสัญญาจำนอง และบันทึกข้อตกลงขึ้นเงินจำนอง และเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2537 จำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีฉบับที่สี่โดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ทั้งมีการจำนำสิทธิที่จะถอนเงินฝากจากบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 2 บัญชีเลขที่ 733-2-02888-3 ด้วย โดยมีระบุไว้ในสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีฉบับที่สี่ และเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2538 จำเลยที่ 3 ทำสัญญาค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีฉบับที่หกโดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ทั้งมีการจำนำสิทธิที่จะถอนเงินฝากจากบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 3 บัญชีเลขที่ 733-2-03269-4 จำนวน 3,000,000 บาท ด้วย โดยมีระบุไว้ในสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีฉบับที่หก ตามสัญญาค้ำประกัน สำเนารายการเคลื่อนไหวบัญชีเงินฝาก ใบจำนำสิทธิ และคำขอเปิดบัญชี หลังทำสัญญา จำเลยที่ 1 มีการเดินสะพัดทางบัญชีกับธนาคารเรื่อยมา โดยมีการหักทอนบัญชีครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2540 จำเลยที่ 1 เป็นหนี้ธนาคารเป็นต้นเงิน 14,140,104.38 บาท หลังจากนั้นมีการคิดดอกเบี้ยแบบไม่ทบต้นจากยอดหนี้ต้นเงินดังกล่าวเรื่อยมา ต่อมาธนาคารถอนเงินฝากจากบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 3 ที่จำนำไว้มาหักชำระหนี้เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2541 เป็นเงิน 3,000,000 บาท และถอนเงินฝากจากบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 2 ที่จำนำไว้มาหักชำระหนี้เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2541 เป็นเงิน 700,000 บาท ส่วนดอกเบี้ยตามบัญชีเงินฝากทั้งสองบัญชีมีการถอนออกจากบัญชีไปและบางส่วนนำฝากเข้าบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 บัญชีเลขที่ 733-1-15281-5 ตามบัตรบัญชีเงินฝากกระแสรายวัน รายการคำนวณยอดหนี้ หลักฐานการชำระหนี้ ใบถอนเงิน รายการบัญชีเงินฝากประจำ และคำขอเปิดบัญชีเงินฝาก แต่ศาลชั้นต้นให้นำเงินฝากจากบัญชีเงินฝากทั้งสองบัญชีมาหักชำระหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีในวันที่มีการหักทอนบัญชีครั้งสุดท้าย ทำให้ยอดหนี้เหลือเพียง 10,440,104.38 บาท ส่วนหนี้ตามสัญญากู้เงิน จำเลยที่ 1 ชำระหนี้บางส่วน ครั้งสุดท้ายชำระเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2540 นำไปหักชำระหนี้ถึงวันที่ 30 มกราคม 2540 คงเหลือหนี้ต้นเงิน 6,856,818.57 บาท หลังจากนั้นมีการคิดดอกเบี้ยจากยอดหนี้ต้นเงินดังกล่าวเรื่อยมา ตามการ์ดบัญชีเงินกู้ และรายการคำนวณยอดหนี้ นอกจากนี้ จำเลยที่ 1 ยังให้ความยินยอมแก่ธนาคารในการนำทรัพย์จำนองไปทำประกันภัยจนกว่าจำเลยที่ 1 จะชำระหนี้สินทั้งปวงให้ธนาคารเสร็จสิ้นแล้ว โดยให้ธนาคารเป็นผู้รับประโยชน์ และจำเลยที่ 1 เป็นผู้รับผิดชอบค่าเบี้ยประกันภัย หากธนาคารเป็นผู้ชำระค่าเบี้ยประกันภัยแทน สามารถเรียกเก็บจากจำเลยที่ 1 หรือหักบัญชีของจำเลยที่ 1 ที่มีอยู่กับธนาคาร ตามหนังสือให้ความยินยอม ซึ่งธนาคารนำสิ่งปลูกสร้างทรัพย์จำนองไปทำประกันอัคคีภัยไว้กับบริษัททิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) และทดรองจ่ายค่าเบี้ยประกันภัยแทนจำเลยที่ 1 จำนวน 3 ครั้ง เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2542 เป็นเงิน 5,368 บาท วันที่ 17 พฤศจิกายน 2542 เป็นเงิน 4,370.31 บาท และวันที่ 13 มิถุนายน 2543 เป็นเงิน 4,370.31 บาท รวมเป็นเงิน 14,108.62 บาท ตามสำเนาหลักฐานการชำระค่าเบี้ยประกันภัยจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดในเงินค่าเบี้ยประกันภัยพร้อมด้วยดอกเบี้ยนับแต่วันที่มีการจ่ายเงินค่าเบี้ยประกันภัย ตามรายการคำนวณยอดหนี้ ต่อมาเมื่อวันที่ 21 กันยายน 2543 ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) โอนสิทธิเรียกร้องที่มีต่อจำเลยทั้งสามและหลักประกันให้แก่โจทก์ตามพระราชกำหนดบริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 โดยโจทก์แต่งตั้งให้ธนาคารเป็นตัวแทนเรียกเก็บและรับชำระหนี้ โจทก์แจ้งการรับโอนสิทธิเรียกร้อง ทวงถามให้ชำระหนี้และบอกกล่าวบังคับจำนองไปยังจำเลยทั้งสาม ตามหนังสือโอนสิทธิเรียกร้อง สำเนาหนังสือมอบอำนาจ สำเนาหนังสือบอกกล่าวทวงถามและบอกกล่าวบังคับจำนอง และใบตอบรับไปรษณีย์ แต่จำเลยทั้งสามเพิกเฉย ธนาคารว่าจ้างจำเลยที่ 3 ก่อสร้างสถานที่สำหรับติดตั้งเครื่อง เอ.ที.เอ็ม. รวม 66 แห่ง จำเลยที่ 3 ทำการก่อสร้างแล้วเสร็จแต่ธนาคารยังคงค้างชำระค่าจ้าง 35 แห่ง รวมเป็นเงิน 7,592,580.07 บาท ตามสำเนาหนังสือยืนยันการว่าจ้าง และสำเนาสัญญาจ้างเหมาก่อสร้าง ก่อนจะวินิจฉัยฎีกาของจำเลยที่ 1 เห็นสมควรวินิจฉัยก่อนว่า การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้บริษัทบริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด ผู้ร้อง เข้าเป็นคู่ความแทนบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย ผู้เข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนโจทก์รายเดิมชอบหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้ผู้ร้องยื่นคำร้องขอสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนผู้สวมสิทธิแทนโจทก์รายเดิมเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2556 ขณะนั้นศาลชั้นต้นยังไม่ได้มีคำสั่งรับฎีกาของจำเลยที่ 1 เนื่องจากอยู่ในขั้นตอนการขอดำเนินคดีอย่างคนอนาถาในชั้นฎีกา แต่ต่อมาศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับฎีกาของจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2557 นับแต่วันดังกล่าวคดีจึงอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา ศาลชั้นต้นไม่มีอำนาจสั่งอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้ผู้ร้องเข้ามาเป็นคู่ความแทนที่บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย ผู้เข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนโจทก์รายเดิมได้ การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งดังกล่าวเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2557 จึงไม่ชอบ ให้ยกคำสั่งของศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้ผู้ร้องเข้าเป็นคู่ความแทนบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย ผู้เข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนโจทก์รายเดิม แต่เมื่อคดีนี้มาสู่การพิจารณาของศาลฎีกาและข้อเท็จจริงปรากฏจากคำร้องของผู้ร้องว่า ผู้ร้องได้รับโอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพตลอดจนหลักประกันของสินทรัพย์ด้อยคุณภาพจากบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย ผู้เข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนโจทก์รายเดิม ซึ่งสินทรัพย์ที่ผู้ร้องรับโอนมานั้นรวมถึงมูลหนี้ของจำเลยทั้งสามในคดีนี้ด้วย ผู้ร้องจึงมีสิทธิยื่นคำร้องขอสวมสิทธิเข้าเป็นคู่ความแทนบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย ผู้เข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนโจทก์รายเดิมได้ตามพระราชกำหนดบริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 มาตรา 7 ศาลฎีกาจึงมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องเข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย ผู้เข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนโจทก์รายเดิมได้ตามคำร้อง
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ประการแรกว่า จำเลยที่ 1 มีสิทธินำเงินค่าจ้างก่อสร้างสถานที่สำหรับติดตั้งเครื่องเบิกเงินอัตโนมัติ (เอ.ที.เอ็ม.) ที่ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ค้างชำระจำเลยที่ 3 มาหักกลบลบหนี้กับหนี้กู้เบิกเงินเกินบัญชีที่จำเลยที่ 1 ค้างชำระต่อโจทก์หรือไม่ เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 341 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ถ้าบุคคลสองคนต่างมีความผูกพันซึ่งกันและกัน โดยมูลหนี้อันมีวัตถุเป็นอย่างเดียวกัน และหนี้ทั้งสองรายนั้นถึงกำหนดจะชำระไซร้ ท่านว่าลูกหนี้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งย่อมจะหลุดพ้นจากหนี้ของตนด้วยหักกลบลบกันได้เพียงเท่าจำนวนที่ตรงกันในมูลหนี้ทั้งสองฝ่ายนั้น เว้นแต่สภาพแห่งหนี้ฝ่ายหนึ่งจะไม่เปิดช่องให้หักกลบลบกันได้ จากบทบัญญัติดังกล่าว ผู้ที่จะหักกลบลบหนี้กันได้จะต้องเป็นบุคคลสองคนและมีความผูกพันซึ่งกันและกันโดยมูลหนี้อันมีวัตถุเป็นอย่างเดียวกัน แม้จำเลยที่ 3 มีจำเลยที่ 1 เป็นกรรมการผู้จัดการ ตามหนังสือรับรองและจำเลยที่ 1 เจตนากู้ยืมเงินมาใช้ในกิจการของจำเลยที่ 3 โดยจำเลยที่ 3 เป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกับจำเลยที่ 1 แต่จำเลยที่ 3 ก็เป็นนิติบุคคลซึ่งถือเป็นคนละคนกับจำเลยที่ 1 แม้จำเลยที่ 3 จะมีสิทธิเรียกร้องหรือเป็นเจ้าหนี้ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ผู้โอนสิทธิเรียกร้องให้แก่โจทก์อยู่ จำเลยที่ 1 ก็ไม่มีสิทธิที่จะนำหนี้ดังกล่าวมาหักกลบลบหนี้กับหนี้ที่จำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์ ทั้งนี้เพราะหนี้ค่าจ้างระหว่างธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) กับจำเลยที่ 3 เป็นความผูกพันระหว่างธนาคารกับจำเลยที่ 3 ทั้งมิใช่หนี้ด้อยคุณภาพที่ธนาคารโอนสิทธิมาให้แก่โจทก์ ความรับผิดตามสัญญาว่าจ้างก่อสร้างสถานที่สำหรับติดตั้งเครื่องเบิกเงินอัตโนมัติจึงคงอยู่กับธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ไม่ได้โอนมาเป็นของโจทก์ เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 3 ต้องไปว่ากล่าวเอากับธนาคารผู้เป็นคู่สัญญา จะนำมาหักกลบลบหนี้กันหาได้ไม่ ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 1 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ประการต่อไปมีว่า ศาลมีอำนาจลดดอกเบี้ยในหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีและสัญญากู้เงินหรือไม่ เพียงใด เห็นว่า ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี ข้อ 2 มีข้อความในทำนองเดียวกันว่า มีการกำหนดอัตราดอกเบี้ยที่ผู้กู้ยอมเสียแก่ผู้ให้กู้จากยอดเงินที่ปรากฏอยู่ในบัญชีเดินสะพัด หากภายหลังวันทำสัญญา มีการเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยที่ประกาศโดยผู้ให้กู้หรือธนาคารแห่งประเทศไทย ทำให้อัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่ผู้ให้กู้พึงเรียกเก็บได้จากลูกค้าสูงกว่าอัตราตามสัญญา ผู้กู้ยอมให้ผู้ให้กู้มีอำนาจที่จะปรับดอกเบี้ยตามสัญญาให้สูงขึ้นได้ตามที่ผู้ให้กู้เห็นสมควรในทันที โดยมิต้องแจ้งให้ผู้กู้ทราบ และให้ถือว่าผู้กู้ได้ให้ความยินยอมในการปรับอัตราดอกเบี้ยนับแต่วันที่ผู้ให้กู้กำหนดทุกครั้งไป ขณะที่ตามสัญญากู้เงินสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยมีการระบุถึงดอกเบี้ยไว้ ทั้งในสัญญาข้อ 1 และสัญญาข้อ 2 กล่าวคือ ในสัญญาข้อ 1 วรรคสอง ระบุว่า หากภายหลังจากวันทำสัญญาผู้ให้กู้ได้เปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยตามข้อ 1 (คืออัตราเอ็ม แอล อาร์ บวกร้อยละ 1 ต่อปี ซึ่งขณะทำสัญญาเท่ากับร้อยละ 14.75 ต่อปี) ผู้กู้ยอมให้ผู้ให้กู้คิดดอกเบี้ยในจำนวนหนี้ที่ผู้กู้ยังค้างชำระหนี้อยู่ตามสัญญานี้ตามที่ผู้ให้กู้กำหนด แต่ไม่เกินอัตราดอกเบี้ยสูงสุดตามประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทย ที่กำหนดให้ธนาคารพาณิชย์เรียกเก็บจากลูกค้า โดยเพียงแต่ผู้ให้กู้แจ้งให้ผู้กู้ทราบเท่านั้น ส่วนในข้อที่ 2 มีระบุไว้ในย่อหน้าสุดท้ายว่าผู้กู้ตกลงว่า หากผู้กู้ผิดนัดชำระหนี้งวดใดงวดหนึ่ง ผู้กู้ยินยอมให้ผู้ให้กู้คิดดอกเบี้ยในอัตราดอกเบี้ยสูงสุดตามประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทยที่กำหนดให้ธนาคารพาณิชย์เรียกเก็บจากลูกค้าได้ ดังนั้น กรณีหนี้ตามสัญญากู้เงินจึงเป็นการเรียกดอกเบี้ยสูงขึ้นจากเดิมเพราะกรณีจำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระหนี้หรือผิดเงื่อนไขตามสัญญาข้อ 2 การปรับดอกเบี้ยให้สูงขึ้นในกรณีนี้มีลักษณะเป็นทำนองเบี้ยปรับ เนื่องจากเป็นทำนองค่าเสียหายที่กำหนดไว้ล่วงหน้าในกรณีไม่ชำระหนี้หรือไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องสมควร เมื่อสูงเกินส่วนศาลมีอำนาจลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมา ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 1 ในส่วนนี้จึงฟังขึ้น ศาลฎีกาเห็นสมควรปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงมาโดยให้ใช้อัตราดอกเบี้ยเอ็ม แอล อาร์ บวกร้อยละ 2 ต่อปี จนกว่าจำเลยที่ 1 จะชำระหนี้เสร็จ โดยอัตราดอกเบี้ยเอ็ม แอล อาร์ ให้เป็นไปตามประกาศของธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) และประกาศของธนาคารที่จะประกาศต่อๆ ไป ทั้งนี้อัตราดอกเบี้ยต้องไม่เกินกว่าร้อยละ 11 ต่อปี ตามที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัย ส่วนหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี มีการระบุถึงการเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยแตกต่างจากที่ระบุไว้ในสัญญากู้เงิน โดยการเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยมิได้อาศัยเหตุที่จำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระหนี้หรือผิดเงื่อนไข การปรับดอกเบี้ยให้สูงขึ้นในกรณีนี้จึงไม่มีลักษณะเป็นทำนองเบี้ยปรับ ศาลจึงไม่มีอำนาจปรับลดลงมาได้ ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 1 ส่วนนี้จึงฟังไม่ขึ้น แต่ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยที่ 1 รับผิดในดอกเบี้ยของหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีในอัตราร้อยละ 14.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 เมษายน 2540 เป็นต้นไปนั้น เมื่อพิจารณารายการคำนวณยอดหนี้ ประกอบกับประกาศของธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) อัตราดอกเบี้ยที่โจทก์ใช้ในการคำนวณดอกเบี้ยเป็นอัตราดอกเบี้ยกรณีที่ลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้หรือผิดเงื่อนไขตามสัญญา แม้ตามสัญญาจะระบุหากภายหลังวันทำสัญญา มีการเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยที่ประกาศโดยผู้ให้กู้หรือธนาคารแห่งประเทศไทย ทำให้อัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่ผู้ให้กู้พึงเรียกเก็บได้จากลูกค้าสูงกว่าอัตราตามสัญญา ผู้กู้ยอมให้ผู้ให้กู้มีอำนาจที่จะปรับดอกเบี้ยตามสัญญาให้สูงขึ้นได้ตามที่ผู้ให้กู้เห็นสมควรในทันที โดยมิต้องแจ้งให้ผู้กู้ทราบ ก็เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 ยอมให้ธนาคารปรับขึ้นดอกเบี้ยในกรณีปกติจากอัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารคิดจากจำเลยที่ 1 ในวันทำสัญญา หาได้มีข้อตกลงให้ธนาคารขึ้นดอกเบี้ยในอัตราใหม่ไม่เกินกว่าที่กฎหมายอนุญาตในกรณีที่จำเลยที่ 1 ผิดนัดหรือผิดเงื่อนไขแต่อย่างใดไม่ โจทก์จึงมีสิทธิเรียกให้จำเลยที่ 1 รับผิดในดอกเบี้ยเพียงอัตราดอกเบี้ยและส่วนลดสูงสุดที่มิใช่กรณีลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้หรือผิดเงื่อนไขตามประกาศของธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) และประกาศของธนาคารที่จะประกาศต่อๆไป ทั้งนี้อัตราดอกเบี้ยต้องไม่เกินกว่าร้อยละ 14.5 ต่อปี ตามที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยอนึ่ง คดีนี้จำเลยที่ 2 ค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีฉบับที่สี่ ทั้งมีการจำนำสิทธิที่จะถอนเงินฝากจากบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 2 บัญชีเลขที่ 733-2-02888-3 ด้วย ส่วนจำเลยที่ 3 ค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีฉบับที่หก ทั้งมีการจำนำสิทธิที่จะถอนเงินฝากจากบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 3 บัญชีเลขที่ 733-2-03269-4 จำนวน 3,000,000 บาท ด้วย ปรากฏว่าศาลชั้นต้นวินิจฉัยให้นำเงินฝากในบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 2 และที่ 3 มาหักชำระหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคม 2540 อันเป็นวันที่มีการหักทอนบัญชีครั้งสุดท้าย ส่งผลให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 สิ้นความผูกพันที่จะต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกันดังกล่าวอีกต่อไป แต่เมื่อนำเงินฝากไปหักชำระหนี้แล้ว จำเลยที่ 2 และที่ 3 ก็ไม่มีสิทธิได้รับดอกเบี้ยจากบัญชีเงินฝากนับแต่วันหักชำระหนี้ แต่ปรากฏว่าหลังวันที่มีการนำเงินฝากไปหักชำระหนี้ จำเลยที่ 2 ได้รับดอกเบี้ย 2 ครั้ง รวมเป็นเงิน 114,479.05 บาท ส่วนจำเลยที่ 3 ได้รับดอกเบี้ย 5 ครั้ง รวมเป็นเงิน 379,102.17 บาท ตามบัญชีเงินฝาก จึงให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 รับผิดชำระเงินดังกล่าวแก่ธนาคารพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง ในส่วนที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 สิ้นความผูกพันที่จะต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกัน โจทก์มิได้อุทธรณ์โต้แย้งคัดค้านคำวินิจฉัยดังกล่าว ประเด็นเรื่องดังกล่าวจึงเป็นอันยุติไปตามคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้น ส่วนที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยต่อมาให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 รับผิดในดอกเบี้ยเงินฝาก เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในฐานะที่เป็นผู้ค้ำประกันหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีฉบับที่สี่และที่หกตามลำดับ ซึ่งศาลชั้นต้นวินิจฉัยแล้วว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 สิ้นความผูกพันที่จะต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกัน ศาลชั้นต้นย่อมไม่อาจวินิจฉัยให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 มารับผิดในดอกเบี้ยเงินฝากซึ่งมิใช่มูลหนี้ที่โจทก์ฟ้องเรียกให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในคดีนี้ ซึ่งเป็นเรื่องที่โจทก์จะต้องไปว่ากล่าวเอาความกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นคดีเรื่องอื่น การที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 รับผิดในดอกเบี้ยเงินฝากจึงเป็นการพิพากษานอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง กรณีเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) นอกจากนี้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยแล้วว่าให้จำเลยที่ 1 ชดใช้เงินทดรองจ่ายค่าเบี้ยประกันภัยตามจำนวนที่ธนาคารจ่ายไป 14,108.62 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ธนาคารชำระแทนเป็นต้นไป โดยดอกเบี้ยคำนวณจนถึงวันฟ้องเป็นเงิน 1,704.09 บาท รวมเป็นเงิน 15,812.71 บาท แต่ในตอนพิพากษากลับไม่มีการระบุถึงดอกเบี้ยของหนี้เงินทดรองจ่ายนับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ศาลฎีกาเห็นสมควรระบุให้ครบถ้วนตามที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยไว้แล้ว
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินแก่โจทก์ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีเป็นเงิน 10,440,104.38 บาท พร้อมดอกเบี้ยของต้นเงินดังกล่าวในอัตราดอกเบี้ยและส่วนลดสูงสุดที่มิใช่กรณีลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้หรือผิดเงื่อนไข แต่อัตราดอกเบี้ยต้องไม่เกินกว่าร้อยละ 14.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 เมษายน 2540 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ชำระเงินตามสัญญากู้เงินเป็นเงิน 6,856,818.57 บาท พร้อมดอกเบี้ยของต้นเงินดังกล่าวในอัตรา เอ็ม แอล อาร์ บวกร้อยละ 2 ต่อปี แต่อัตราดอกเบี้ยต้องไม่เกินกว่าร้อยละ 11 ต่อปี นับแต่วันที่ 31 มกราคม 2540 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และชำระเงินค่าเบี้ยประกันภัยเป็นเงิน 15,812.71 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 14,108.62 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 31 พฤษภาคม 2544) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ โดยอัตราดอกเบี้ยและส่วนลดสูงสุดที่มิใช่กรณีลูกหนี้ผิดนัดชำระหนี้หรือผิดเงื่อนไข และอัตราดอกเบี้ยเอ็ม แอล อาร์ ให้เป็นไปตามประกาศของธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) และประกาศของธนาคารดังกล่าวที่จะประกาศต่อๆไปตามช่วงระยะเวลาที่ประกาศแต่ละฉบับมีผลใช้บังคับ ให้ยกฟ้องโจทก์ในส่วนของจำเลยที่ 2 และที่ 3 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีการะหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 และค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ทั้งสามศาลให้เป็นพับ

Share