แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 52 บัญญัติว่า “ในทางเดินรถที่สวนกันได้ ห้ามมิให้ผู้ขับขี่กลับรถหรือเลี้ยวรถทางขวาในเมื่อมีรถอื่นสวนหรือตามมาในระยะน้อยกว่าหนึ่งร้อยเมตร เว้นแต่เมื่อเห็นว่าปลอดภัยและไม่เป็นการกีดขวางการจราจรของรถอื่น” สภาพถนนบริเวณที่เกิดเหตุมีช่องเดินรถไป 3 ช่อง และกลับ 3 ช่อง แยกจากกันโดยมีเกาะกลางถนน รถบรรทุกที่จำเลยที่ 1 ขับมีความยาวของรถหัวลากรวมถึงท่อนซุง 20 ม. ในขณะความกว้างของทางเดินรถทั้ง 3 ช่อง มีเพียง 10.5 ม. การเลี้ยวกลับรถไม่สามารถทำได้ในครั้งเดียวโดยเฉพาะท่อนซุงมีน้ำหนักมาก สภาพถนนที่เปียกแฉะทำให้ไม่สามารถเลี้ยวกลับรถด้วยความเร็ว จำเลยที่ 1 ต้องใช้ความระมัดระวังยิ่งกว่ารถบรรทุกที่มีความยาวปกติจะเลี้ยวกลับรถได้ต่อเมื่อเห็นว่าปลอดภัยและไม่เป็นการกีดขวางการจราจรของรถอื่นที่อยู่ในทางเดินรถที่สวนทางมา การที่จำเลยที่ 1 ขับรถเลี้ยวขวากลับรถเข้าไปในทางเดินรถที่เกิดเหตุโดยขับเลยเข้าไปในช่องทางเบี่ยงที่อยู่คู่ขนานด้านซ้ายของทางเดินรถที่เกิดเหตุซึ่งเป็นถนนฝั่งขาเข้ากรุงเทพฯ เพื่อออกไปยังทางเดินรถอีกด้านหนึ่งเพื่อเข้าทางเดินรถปกติ แสดงว่าการเลี้ยวกลับรถเข้าทางเดินรถที่เกิดเหตุ ณ จุดกลับรถตามปกติไม่อาจทำได้โดยก่อนเลี้ยวจำเลยที่ 1 เบิกความว่าเห็นแสงไฟรถในทางเดินรถที่เกิดเหตุอยู่ในระยะไกลเกินกว่า 200 ม. หากเป็นจริงเชื่อว่าจำเลยที่ 1 สามารถเลี้ยวกลับรถเข้าไปในช่องทางเบี่ยงคู่ขนานดังกล่าวได้ทันก่อนรถคันที่จำเลยที่ 1 เห็นแสงไฟจะแล่นมาถึง แต่ ร.ต.อ. อ. พนักงานสอบสวนเบิกความว่า การตรวจสถานที่เกิดเหตุพบรอยล้อปัดของรถยนต์ของโจทก์เป็นทางยาว 70 ม. รอยปัดเริ่มจากช่องเดินรถช่องกลางเมื่อใกล้จุดเกิดเหตุได้เบนไปทางซ้ายเข้าสู่ช่องเดินรถซ้ายสุด เชื่อว่า ก. ต้องห้ามล้อรถด้วยความแรงพอสมควรถึงขนาดทำให้ล้อรถยนต์โจทก์มีรอยลื่นปัดและเปลี่ยนช่องเดินรถจากช่องกลางไปยังช่องซ้ายสุด จึงน่าเชื่อว่าจำเลยที่ 1 ขับรถเลี้ยวกลับรถเข้าไปในทางเดินรถที่เกิดเหตุในขณะที่มีรถยนต์ของโจทก์แล่นสวนทางมาในระยะน้อยกว่า 100 ม. ตามที่กฎหมายกำหนด โดยไม่รอให้รถยนต์ของโจทก์ที่สวนมาผ่านทางร่วมทางแยกไปก่อน อันเป็นการกีดขวางการจราจรของรถอื่นและไม่ปลอดภัย การเลี้ยวกลับรถของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวจึงเป็นการกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้เกิดเหตุรถชนกันในคดีนี้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน 368,792 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสามให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยทั้งสาม โดยกำหนดค่าทนายความ 8,000 บาท
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษากลับ ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์จำนวน 119,396 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 9 ตุลาคม 2543 อันเป็นวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ โดยกำหนด ค่าทนายความ 5,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้แทนตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี
จำเลยที่ 3 ฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่า มีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ได้โต้แย้งกันในชั้นฎีการับฟังได้ว่า รถยนต์บรรทุก 18 ล้อ หมายเลขทะเบียน 73 – 7020 กรุงเทพมหานคร ที่จำเลยที่ 1 ลูกจ้าง จำเลยที่ 2 ขับในทางการที่จ้างโดยจำเลยที่ 2 เจ้าของรถยนต์บรรทุกดังกล่าวเอาประกันภัยไว้แก่จำเลยที่ 3 รถยนต์บรรทุกดังกล่าวเป็นรถยนต์บรรทุกพ่วงขนาดใหญ่ และยาวกว่าปกติทั่วไป เนื่องจากประกอบไปด้วยรถหัวลาก 10 ล้อ บรรทุกท่อนซุงขนาดใหญ่หลายท่อนที่นำมาผูกรวมกันจนเต็มคันรถโดยด้านหนึ่งของท่อนซุงอยู่บนแท่นด้านหลังของรถหัวลาก ส่วนท่อนซุงอีกด้านหนึ่งก็ผูกรวมกันบรรทุกอยู่บนตัวพ่วงซึ่งทำเป็นแท่นลากจูง มี 8 ล้อ ทำให้รถยนต์บรรทุกซุงที่จำเลยที่ 1 ขับมีความยาวไปตามท่อนซุงรวมรถหัวลากแล้วถึง 20 เมตร คืนเกิดเหตุวันที่ 8 ตุลาคม 2542 เวลา 5 นาฬิกา ขณะที่จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์บรรทุกซุงดังกล่าวเลี้ยวกลับรถที่จุดกลับรถเข้าไปในช่องเดินรถสวนบนถนนบรมราชชนนี (ปิ่นเกล้า – นครชัยศรี) ซึ่งมี 6 ช่องเดินรถ ฝั่งละ 3 ช่อง ที่บริเวณหน้าสถานีขนส่งสินค้า พุทธมณฑลสาย 5 ตำบลบางเตย อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม เพื่อมุ่งหน้าไปทางกรุงเทพมหานคร ได้ถูกรถยนต์โดยสารหมายเลขทะเบียน 10 – 1298 ราชบุรี ของโจทก์ ที่นายโกมล ขับสวนทางมาพุ่งเข้าชนรถที่จำเลยที่ 1 ขับที่บริเวณกลางท่อนซุงอย่างแรง ทำให้รถของโจทก์ได้รับความเสียหายทางด้านหน้ารถอย่างมาก โดยที่เกิดเหตุสภาพถนนเปียกเนื่องจากฝนตกก่อนเกิดเหตุและมีรอยล้อปัดของรถของโจทก์บนถนนเกิดจากการที่นายโกมลห้ามล้อเพื่อหยุดรถเป็นทางยาว 70 เมตร เหตุรถชนเรื่องนี้ทำให้นายโกมลได้รับอันตรายแก่กาย และจำเลยที่ 1 ถูกพนักงานอัยการฟ้องเป็นคดีอาญาในความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายแก่กาย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 300 ซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน ตามศาลแขวงนครปฐม ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 ในคดีหมายเลขแดงที่ 1623/2548 แต่คดีนี้ทั้งโจทก์และจำเลยที่ 3 ผู้รับประกันภัยเป็นบุคคลภายนอก ไม่ใช่คู่ความในคดีอาญา จำเลยที่ 3 จึงไม่ถูกผูกพันที่จะต้องถือตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 อย่างที่โจทก์แก้ฎีกา จำเลยที่ 3 ยังสามารถโต้เถียงได้ว่าเหตุรถชนเรื่องนี้ไม่ได้เกิดจากจำเลยที่ 1 ขับรถโดยประมาทเลินเล่อ ส่วนโจทก์นั้นศาลอุทธรณ์ภาค 7 วินิจฉัยว่า นายโกมลผู้ขับรถยนต์โดยสารของโจทก์ขับรถใกล้ทางร่วมทางแยกมาด้วยความเร็วมาก แล้วไม่ลดความเร็วลงอันเป็นการไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 70 เป็นเหตุให้รถชนกัน จึงเป็นการกระทำโดยประมาทด้วย โจทก์มิได้ฎีกา ข้อเท็จจริงที่รับฟังว่านายโกมลขับรถโดยประมาทจึงถึงที่สุดแล้ว คงมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 3 ประการแรกว่า จำเลยที่ 1 ขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้เกิดเหตุรถชนคดีนี้หรือไม่ ตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 52 บัญญัติว่า “ในทางเดินรถที่สวนกันได้ ห้ามมิให้ผู้ขับขี่กลับรถหรือเลี้ยวรถทางขวาในเมื่อมีรถอื่นสวนหรือตามมาในระยะน้อยกว่าหนึ่งร้อยเมตร เว้นแต่เมื่อเห็นว่าปลอดภัยและไม่เป็นการกีดขวางการจราจรของรถอื่น” สภาพถนนบริเวณที่เกิดเหตุคดีนี้เป็นทางเดินรถไปและกลับแยกจากกันโดยมีเกาะกลางถนน เมื่อปรากฏว่ารถยนต์บรรทุกที่จำเลยที่ 1 ขับมีความยาวของรถหัวลากรวมท่อนซุงถึง 20 เมตร ในขณะที่ทางเดินรถที่เกิดเหตุแบ่งช่องเดินรถเป็น 3 ช่อง ความกว้างของทางเดินรถทั้ง 3 ช่อง มีเพียง 10.5 เมตร ดังนั้น ความยาวของรถหัวลากรวมท่อนซุงที่จำเลยที่ 1 ขับดังกล่าวจึงมีความยาวเป็นสองเท่าของความกว้างทางเดินรถที่เกิดเหตุ การเลี้ยวกลับรถเข้าสู่ทางเดินรถที่เกิดเหตุไม่สามารถทำได้ในครั้งเดียว โดยเฉพาะท่อนซุงที่บรรทุกมามีน้ำหนักมาก รวมทั้งสภาพถนนที่เปียกแฉะยิ่งทำให้จำเลยที่ 1 ไม่สามารถขับเลี้ยวกลับรถด้วยความเร็วได้ การที่จำเลยที่ 1 จะเลี้ยวกลับเข้าไปในทางเดินรถที่เกิดเหตุเพื่อมุ่งหน้าไปยังกรุงเทพมหานคร จำเลยที่ 1 ยิ่งต้องใช้ความระมัดระวังเป็นอย่างมากยิ่งกว่ารถยนต์บรรทุกอื่นที่มีความยาวปกติ โดยจำเลยที่ 1 จะเลี้ยวกลับรถได้ต่อเมื่อเห็นว่าปลอดภัยและไม่เป็นการกีดขวางการจราจรของรถอื่นที่อยู่ในทางเดินรถที่สวนทางมา จำเลยที่ 1 เบิกความว่า จำเลยที่ 1 ขับรถเลี้ยวขวากลับรถเข้าไปในทางเดินรถที่เกิดเหตุโดยขับเลยเข้าไปในช่องทางเบี่ยงที่อยู่คู่ขนานด้านซ้ายของทางรถเดินที่เกิดเหตุซึ่งเป็นถนนฝั่งขาเข้ากรุงเทพมหานครเพื่อออกไปยังทางอีกด้านหนึ่งเพื่อเข้าทางเดินรถปกตินั้น แสดงว่าการเลี้ยวกลับรถเข้าทางเดินรถที่เกิดเหตุ ณ จุดกลับรถตามปกตินั้นไม่อาจทำได้ เนื่องจากรถหัวลากและท่อนซุงที่บรรทุกมามีความยาวมากถึงสองเท่าของความกว้างของทางเดินรถทั้งสามช่อง จำเลยที่ 1 จึงต้องขับรถเลยไปเข้าช่องคู่ขนานเพื่อไปออกทางอีกด้านหนึ่งจึงจะเข้าสู่ทางเดินรถที่สวนมาได้ โดยก่อนเลี้ยวจำเลยที่ 1 เบิกความว่า เห็นแสงไฟรถในทางเดินรถที่เกิดเหตุอยู่ในระยะไกลเกินกว่า 200 เมตร ในส่วนนี้หากเป็นความจริงตามที่จำเลยที่ 1 เบิกความ เชื่อว่าจำเลยที่ 1 สามารถเลี้ยวกลับรถเข้าไปในช่องทางเบี่ยงคู่ขนานดังกล่าวได้ทันก่อนรถคันที่จำเลยที่ 1 เห็นแสงไฟจะแล่นมาถึง อีกทั้งร้อยตำรวจเอกอิทธิพล พนักงานสอบสวนเบิกความว่า ในการตรวจสถานที่เกิดเหตุพบรอยล้อปัดของรถยนต์โจทก์บนถนนเป็นระยะทางยาว 70 เมตร รอยปัดเริ่มจากช่องเดินรถช่องกลางเมื่อใกล้จุดเกิดเหตุได้เบนไปทางซ้ายเข้าสู่ช่องเดินรถซ้ายสุด พยานปากนี้เป็นเจ้าพนักงานถือเป็นพยานคนกลาง คำเบิกความมีน้ำหนักและเหตุผลให้รับฟังเพราะหากนายโกมลห้ามล้อรถอย่างแรงมากอาจทำให้รถหมุนหรือพลิกคว่ำได้ ไม่ใช่เพียงแค่ปัดลื่นไปทางซ้ายดังที่ปรากฏร่องรอยดังกล่าว รวมทั้งรถยนต์ของโจทก์เป็นรถยนต์โดยสารซึ่งถือเป็นรถขนาดใหญ่ ระยะการห้ามล้อให้รถยนต์หยุดย่อมแตกต่างจากรถยนต์นั่งทั่วไปที่มีขนาดเล็กกว่า โดยจะใช้ระยะทางในการห้ามล้อให้รถหยุดมากกว่า แต่จากรอยปัดของรถยนต์โจทก์ยาวถึง 70 เมตร ดังกล่าว เชื่อว่านายโกมลต้องห้ามล้อรถด้วยความแรงพอสมควรถึงขนาดทำให้ล้อรถยนต์โจทก์มีรอยลื่นปัดและเปลี่ยนช่องเดินรถจากช่องกลางไปยังช่องซ้ายสุด ด้วยเหตุนี้จึงเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ไม่น่าเชื่อว่าจำเลยที่ 1 เห็นแสงไฟจากรถยนต์ในทางรถสวนเกินกว่า 200 เมตร ดังที่เบิกความ แต่น่าเชื่อว่าจำเลยที่ 1 ขับรถเลี้ยวกลับรถเข้าไปในทางเดินรถที่เกิดเหตุในขณะที่มีรถยนต์ของโจทก์แล่นสวนทางมาในระยะน้อยกว่า 100 เมตร ตามที่กฎหมายกำหนด โดยไม่รอให้รถยนต์ของโจทก์ที่สวนมาผ่านทางร่วมทางแยกไปก่อน อันเป็นการกีดขวางการจราจรของรถอื่นและไม่ปลอดภัย การเลี้ยวกลับรถของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวจึงเป็นการกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้เกิดเหตุรถชนกันในคดีนี้ เมื่อพิเคราะห์พฤติการณ์ในการขับรถทั้งของนายโกมลและจำเลยที่ 1 แล้ว เหตุคดีนี้เกิดเวลา 5 นาฬิกา เป็นเวลาเช้ามืดหลังฝนตก สภาพถนนที่เกิดเหตุเปียกแฉะและมีแสงสว่างน้อย จำเลยที่ 1 ขับรถบรรทุกท่อนซุงยาวรวม 20 เมตร ขับขวางทางเดินรถที่เกิดเหตุ แม้จำเลยที่ 1 เบิกความว่าด้านซ้ายรถ คือ ด้านที่ถูกรถยนต์ของโจทก์ชนติดหลอดไฟส่องสว่างไว้ 5 ดวง แต่ตามภาพถ่ายมีหลอดไฟเพียงหลอดเดียวอยู่ค่อนไปทางท้ายรถ ท่อนซุงก็มีลักษณะสีค่อนข้างดำมืด ขณะรถบรรทุกท่อนซุงขวางถนนอยู่ย่อมยากที่จะมองเห็นได้ นายโกมลห้ามล้อรถจนรถปัดไปทางซ้ายและหัวรถเลยไปอยู่ที่ไหล่ทาง จึงชนท่อนซุงตามแผนที่แสดงสถานที่เกิดเหตุ ส่วนของรถยนต์โจทก์ที่ชนท่อนซุงดังกล่าวเป็นบริเวณด้านหน้าขวาของรถที่นายโกมลนั่งขับรถอยู่เป็นเหตุให้นายโกมลได้รับบาดเจ็บติดอยู่ในรถ และหากรถยนต์ของโจทก์ไม่ลื่นปัดไปทางซ้ายโดยยังคงอยู่ในช่องเดินรถช่องกลางที่แล่นมาก็ยังต้องชนรถที่จำเลยที่ 1 ขับขวางอยู่ในทางเดินรถอยู่ดี เห็นว่า พฤติการณ์ที่จำเลยที่ 1 เลี้ยวกลับรถในลักษณะดังกล่าวเป็นการกระทำโดยประมาทมากกว่านายโกมล ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 กำหนดให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์กึ่งหนึ่งของค่าเสียหาย โดยจำเลยที่ 2 ในฐานะนายจ้างจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 ในฐานะผู้รับประกันภัยค้ำจุนจากจำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมรับผิดในเหตุละเมิดดังกล่าวด้วยนั้นเหมาะสมแล้ว ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 3 ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยประการสุดท้ายตามฎีกาของจำเลยที่ 3 ว่า จำเลยทั้งสามต้องรับผิดต่อโจทก์เพียงใด ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า โจทก์เสียค่าซ่อมรถไปจำนวน 188,792 บาท จริง ส่วนค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถระหว่างซ่อมที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 กำหนดค่าเสียหายให้โจทก์จำนวน 50,000 บาท นั้นเป็นจำนวนเหมาะสมแล้ว รวมเป็นค่าเสียหายของโจทก์ทั้งสิ้นจำนวน 238,792 บาท ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 กำหนดให้จำเลยทั้งสามต้องรับผิดเป็นเงิน 119,396 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ เป็นจำนวนที่เหมาะสมแล้ว ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 3 ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ