แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คำร้องขอให้ถอนผู้ร้องออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกและตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายแทนผู้ร้องเป็นการเสนอคดีฝ่ายเดียว ผู้ร้องจะยื่นคำคัดค้านหรือไม่ก็ได้ และคำคัดค้านของผู้ร้องไม่ใช่คำให้การ ไม่อยู่ในบังคับ ป.วิ.พ. มาตรา 177 ที่จะต้องยื่นภายในสิบห้าวันและแสดงโดยชัดแจ้งว่ายอมรับหรือปฏิเสธข้ออ้างของผู้ร้อง รวมทั้งเหตุแห่งการยอมรับหรือปฏิเสธ และศาลชั้นต้นก็ไม่ได้กำหนดให้ผู้ร้องทำการคัดค้าน ทั้งการที่ผู้ร้องและทนายความของผู้ร้องมาศาลทุกนัด ยื่นบัญชีระบุพยาน ถามค้านผู้คัดค้านที่เบิกความในการไต่สวน และศาลชั้นต้นให้ผู้ร้องนำพยานเข้าเบิกความและอ้างส่งพยานหลักฐานในการไต่สวนด้วยนั้น แสดงให้เห็นโดยปริยายว่าผู้ร้องมีเจตนาคัดค้านคำร้องของผู้คัดค้าน แม้ผู้ร้องจะมิได้ยื่นคำคัดค้านคำร้องของผู้คัดค้าน แต่ก็เป็นคดีไม่มีข้อพิพาทที่ศาลอาจเรียกพยานมาสืบได้เองตามที่เห็นจำเป็น และวินิจฉัยชี้ขาดตามที่เห็นสมควรและยุติธรรม ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 188 (2) จึงสมควรที่ศาลชั้นต้นจะฟังพยานหลักฐานของผู้ร้องประกอบการพิจารณาวินิจฉัยข้ออ้างของผู้คัดค้านด้วย กรณีมีเหตุสมควรที่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาใหม่ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 243 (2) ประกอบมาตรา 247
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของนายจันทร์ ผู้ตาย ให้มีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมาย
ผู้คัดค้านยื่นคำร้องขอให้ถอนผู้ร้องออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายและตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายแทนผู้ร้อง
ผู้ร้องไม่ยื่นคำคัดค้าน
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ถอนนางปรียนันท์ ผู้ร้อง ออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย และตั้งนายจตุพร ผู้คัดค้าน เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายแทน โดยให้มีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมาย
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายกอุทธรณ์ของผู้ร้อง คืนค่าขึ้นศาลในชั้นอุทธรณ์ทั้งหมดให้แก่ผู้ร้อง ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์นอกจากที่สั่งคืนให้เป็นพับ
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องว่า ที่ศาลชั้นต้นไม่วินิจฉัยพยานหลักฐานของผู้ร้อง และที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ไม่วินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้ร้องชอบหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้ผู้คัดค้านยื่นคำร้องขอให้ถอนผู้ร้องออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกและตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายแทนผู้ร้อง อ้างว่าผู้คัดค้านเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย หลังจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกแล้ว ผู้ร้องแสวงหาประโยชน์จากทรัพย์มรดกโดยไม่ชอบ และผู้ร้องได้รับส่วนแบ่งจากการขายที่ดินที่ผู้ตายเป็นหุ้นส่วน แต่ผู้ร้องไม่แบ่งปันให้แก่ทายาท กลับยักยอกเงินจากการขายที่ดินทรัพย์มรดกและปิดบังข้อมูลทรัพย์มรดก การจัดการมรดกยังไม่แล้วเสร็จ อันเป็นการเสนอคดีฝ่ายเดียว ซึ่งผู้คัดค้านจะต้องนำพยานหลักฐานมาแสดงให้ศาลเห็นว่ามีเหตุตามที่ผู้คัดค้านกล่าวอ้างเกิดขึ้นจริง และเหตุนั้นเป็นเหตุที่สมควรจะถอนผู้ร้องออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกและตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายแทนผู้ร้อง เว้นเสียแต่ว่าผู้ร้องยอมรับในข้อเท็จจริงใด ศาลอาจรับฟังข้อเท็จจริงนั้นโดยผู้คัดค้านไม่ต้องนำพยานหลักฐานมาแสดง แต่ทั้งนี้ผู้ร้องจะยื่นคำคัดค้านเข้ามาหรือไม่ก็ได้ และคำคัดค้านของผู้ร้องไม่ใช่คำให้การ ไม่อยู่ในบังคับแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 ที่ว่าจะต้องยื่นคำให้การภายในสิบห้าวันและแสดงโดยชัดแจ้งว่ายอมรับหรือปฏิเสธข้ออ้างของผู้ร้อง รวมทั้งเหตุแห่งการยอมรับหรือปฏิเสธ ทั้งข้อเท็จจริงในสำนวนปรากฏว่า หลังจากผู้คัดค้านยื่นคำร้องแล้ว ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ส่งสำเนาให้ผู้ร้อง แต่ศาลชั้นต้นก็มิได้กำหนดให้ผู้ร้องทำคำคัดค้าน ในวันนัดไต่สวนคำร้อง ผู้ร้องและทนายความของผู้ร้องมาศาลทุกนัด ได้ยื่นบัญชีระบุพยาน ทั้งได้ถามค้านผู้คัดค้านที่เบิกความในการไต่สวน และศาลชั้นต้นให้ผู้ร้องนำพยานเข้าเบิกความและอ้างส่งพยานหลักฐานในการไต่สวนด้วย เช่นนี้ ก็ย่อมแสดงให้เห็นได้โดยปริยายว่า ผู้ร้องมีเจตนาคัดค้านคำร้องของผู้คัดค้าน ทั้งผู้ร้องเป็นผู้ที่จะถูกถอนอำนาจในการจัดการมรดก ดังนี้ แม้คดีนี้ผู้ร้องจะมิได้ยื่นคำคัดค้านคำร้องของผู้คัดค้านก็ตาม แต่ก็เป็นคดีไม่มีข้อพิพาทที่ศาลอาจเรียกพยานมาสืบได้เองตามที่เห็นจำเป็น และวินิจฉัยชี้ขาดตามที่เห็นสมควรและยุติธรรมตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 188 (2) เช่นนี้จึงสมควรที่ศาลชั้นต้นจะฟังพยานหลักฐานของผู้ร้องประกอบการพิจารณาวินิจฉัยข้ออ้างของผู้คัดค้านด้วย ซึ่งศาลชั้นต้นมีอำนาจที่จะกระทำได้ ที่ศาลชั้นต้นไม่วินิจฉัยพยานหลักฐานของผู้ร้องโดยเห็นว่าเป็นข้อเท็จจริงนอกคำให้การ และศาลอุทธรณ์ภาค 3 ไม่วินิจฉัยอุทธรณ์ในข้อนี้และยกอุทธรณ์ของผู้ร้องมานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา กรณีมีเหตุสมควรที่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาใหม่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 243 (2) ประกอบด้วยมาตรา 247 ฎีกาของผู้ร้องข้อนี้ฟังขึ้น จึงไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของผู้ร้องข้ออื่นอีก
พิพากษาให้ยกคำสั่งและคำพิพากษาศาลล่างทั้งสองแล้วย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาใหม่ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษาใหม่