แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งหกขอให้ลงโทษในความผิดฐานยักยอก ชั้นไต่ส่วนมูลฟ้องศาลชั้นต้นให้ประทับรับฟ้องเฉพาะจำเลยที่ 3 ในความผิดฐานฉ้อโกง และยกฟ้องจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ถึงที่ 6 โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาแก้เป็นว่าให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์และยกคำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้ประทับฟ้องจำเลยที่ 3 สำหรับอุทธรณ์ของโจทก์ที่โต้แย้งว่าการกระทำของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ถึงที่ 6 เป็นการหลอกหลวงโจทก์อันเป็นความผิดฐานฉ้อโกงนั้น เป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยข้อกฎหมายว่าการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดฐานฉ้อโกง เมื่อข้อหายักยอกตามฟ้องและข้อหาฉ้อโกงที่โจทก์อุทธรณ์ทั้งสองข้อหามีอัตราโทษอย่างสูงจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ววินิจฉัยว่าคดีโจทก์ไม่มีมูล พิพากษายกฟ้อง จึงต้องเป็นไปตามบทบัญญัติของ ป.วิ.อ. มาตรา 170 วรรคหนึ่ง, 193 วรรคหนึ่ง และมาตรา 193 ทวิ ซึ่งนำมาปรับใช้กับคดีในชั้นไต่สวนมูลฟ้องได้เช่นเดียวกับในชั้นพิจารณา คดีโจทก์ในส่วนของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ถึงที่ 6 จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 193 ทวิ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ยกอุทธรณ์ของโจทก์ จึงชอบแล้ว
ส่วนคดีโจทก์สำหรับจำเลยที่ 3 โจทก์ฎีกาข้อกฎหมายว่า แม้ข้อเท็จจริงตามทางไต่สวนมูลฟ้องแตกต่างจากฟ้องก็มิใช่ข้อแตกต่างในสาระสำคัญและจำเลยมิได้หลงต่อสู้ ชั้นไต่สวนมูลฟ้องศาลมีอำนาจใช้ ป.วิ.อ. 192 ได้นั้น เมื่อข้อเท็จจริงตามทางไต่สวนมูลฟ้องฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 3 กระทำความผิดฐานฉ้อโกง คดีจึงไม่มีข้อเท็จจริงที่จะนำไปสู่การวินิจฉัยข้อกฎหมายตามที่โจทก์ฎีกา ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ แม้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 170 บัญญัติว่าคำสั่งของศาลที่ให้คดีมีมูลย่อมเด็ดขาด ซึ่งหมายถึงคู่ความไม่อาจอุทธรณ์ฎีกาโต้แย้งคำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้คดีมีมูลได้ แต่หากคดีขึ้นสู่การพิจารณาของศาลฎีกา และศาลฎีกาเห็นว่าการกระทำของจำเลยที่ 3 ตามทางไต่สวนมูลฟ้องไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกง ศาลต้องพิพากษายกฟ้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคหนึ่ง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งหกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352, 83
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่า คดีมีมูลเฉพาะจำเลยที่ 3 ให้ประทับฟ้องจำเลยที่ 3 ไว้พิจารณาในความผิดฐานฉ้อโกง ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ถึงที่ 6
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้ประทับฟ้องจำเลยที่ 3 ในความผิดฐานฉ้อโกงด้วย และให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ถึงที่ 6 ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์ไม่อุทธรณ์ในข้อหายักยอก ความผิดฐานยักยอกจึงยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น แต่โจทก์อุทธรณ์ว่าคดีมีมูลในความผิดฐานฉ้อโกง ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ไม่รับวินิจฉัยโดยให้เหตุผลว่า โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ถึงที่ 6 ในความผิดฐานยักยอก แต่โจทก์อุทธรณ์ขอให้คดีมีมูลในความผิดฐานฉ้อโกงจึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบ โจทก์ฎีกาว่า อุทธรณ์ของโจทก์ในส่วนของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ถึงที่ 6 ไม่ต้องห้ามอุทธรณ์เพราะได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้น ก่อนวินิจฉัยปัญหาตามที่โจทก์ฎีกา เห็นควรวินิจฉัยก่อนว่า อุทธรณ์ของโจทก์ในส่วนของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ถึงที่ 6 เป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมาย โจทก์อุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นว่า การกระทำของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ถึงที่ 6 เป็นการกระทำโดยทุจริต หลอกลวงโจทก์ และนายอนิรุทธ์ ซึ่งเป็นบุตรของพันเอกอรรถพงศ์ ด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงที่ควรบอกให้แจ้ง ด้วยการหลอกลวงดังกล่าวทำให้จำเลยที่ 4 ถึงที่ 6 ได้ไปซึ่งหุ้นจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นของพันเอกอรรถพงศ์ จึงเป็นความผิดฐานฉ้อโกง เห็นว่า อุทธรณ์ของโจทก์ดังกล่าวเป็นการโต้แย้งข้อเท็จจริงในทางไต่สวนมูลฟ้องเพื่อให้ฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ถึงที่ 6 หลอกลวงโจทก์ ด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อความจริงที่ควรบอกให้แจ้ง จึงเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ถึงที่ 6 กระทำความผิดฐานฉ้อโกง เมื่อข้อหายักยอกตามฟ้องและข้อหาฉ้อโกงที่โจทก์อุทธรณ์ทั้งสองข้อหามีอัตราโทษอย่างสูงจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ววินิจฉัยว่าคดีโจทก์ไม่มีมูล พิพากษายกฟ้อง จึงต้องเป็นไปตามบทบัญญัติของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 170 วรรคหนึ่ง, 193 วรรคหนึ่งและมาตรา 193 ทวิ ซึ่งนำมาปรับใช้กับคดีในชั้นไต่สวนมูลฟ้องได้เช่นเดียวกับในชั้นพิจารณา คดีโจทก์ในส่วนของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ถึงที่ 6 จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 193 ทวิ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ในส่วนของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ถึงที่ 6 จึงชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล และคดีไม่จำต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่าอุทธรณ์ของโจทก์เป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นหรือไม่ เพราะไม่ทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลงไป
ส่วนคดีโจทก์สำหรับจำเลยที่ 3 โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 3 ในความผิดฐานยักยอก ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ประทับฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 3 ในความผิดฐานฉ้อโกงและวินิจฉัยว่าไม่เป็นความผิดฐานยักยอก โจทก์ไม่อุทธรณ์ในข้อหายักยอก ความผิดฐานยักยอกจึงยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น แต่ในชั้นอุทธรณ์ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ยกข้อกฎหมายขึ้นวินิจฉัยว่า โจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษในความผิดฐานฉ้อโกงจึงไม่อาจนำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 มาใช้บังคับในชั้นไต่สวนมูลฟ้องได้ ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าคดีโจทก์สำหรับจำเลยที่ 3 มีมูลในความผิดฐานฉ้อโกงจึงไม่ชอบ โจทก์ฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายว่าข้อเท็จจริงตามทางไต่สวนมูลฟ้องที่แตกต่างจากฟ้อง มิใช่ข้อแตกต่างในสาระสำคัญและจำเลยมิได้หลงต่อสู้ ชั้นไต่สวนมูลฟ้องศาลมีอำนาจใช้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 192 ได้ เห็นว่า ในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าว พยานหลักฐานในสำนวนต้องฟังให้ได้ความก่อนว่า การกระทำของจำเลยที่ 3 ตามทางไต่สวนมูลฟ้องมีมูลในความผิดฐานฉ้อโกงเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายตามที่โจทก์ฎีกา แต่ในชั้นไต่สวนมูลฟ้องโจทก์อ้างตนเองเป็นพยานเพียงปากเดียวเบิกความว่า โจทก์และนายอนิรุทธ์ เป็นบุตรของพันเอกอรรถพงศ์ กับนางนวลสวาท บิดามารดาโจทก์ หย่าขาดกันจำเลยที่ 3 เป็นภริยาของพันเอกอรรถพงศ์ เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2556 พันเอกอรรถพงศ์ถึงแก่ความตาย ก่อนตายพันเอกอรรถพงศ์ มีหุ้นของจำเลยที่ 1 จำนวน 10,000 หุ้น และโจทก์เบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านรับว่ามีการประชุมผู้ถือหุ้นของจำเลยที่ 1 ตามรายงานการประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ซึ่งมีรายละเอียดการประชุมว่า เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2556 มีผู้เข้าร่วมประชุม 5 คน ประกอบด้วย ประธานกรรมการคือ จำเลยที่ 2 กรรมการ คือ จำเลยที่ 3 และนางกอบกุล และผู้ถือหุ้นคือ จำเลยที่ 4 และนายปกรณ์ มีวาระพิจารณาเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้น จำเลยที่ 2 เสนอที่ประชุมว่าเห็นควรพิจารณาจำหน่ายจ่ายโอนหุ้นของพันเอกอรรถพงศ์ 10,000 หุ้น ให้แก่จำเลยที่ 3 ส่วนบุตรซึ่งเป็นทายาทที่มีสิทธิในหุ้น จำเลยที่ 3 แจ้งว่าจะไปตกลงกันเอง และที่ประชุมมีมติเห็นชอบตามข้อเสนอของจำเลยที่ 2 และได้มีการจำหน่ายจ่ายโอนหุ้นตามอัตราส่วนเงินลงทุนใหม่ จำเลยที่ 4 ได้หุ้นเพิ่มจากเดิม 2,500 หุ้น จำเลยที่ 5 และที่ 6 ได้หุ้นคนละ 2,500 หุ้น หลังจากนั้นจำเลยที่ 3 คิดว่าหุ้นของพันเอกอรรถพงศ์ มีมูลค่า 1,200,000 บาท เมื่อแบ่งเป็นสามส่วน จำเลยที่ 3 โจทก์และนายอนิรุทธ์ จะได้คนละ 400,000 บาท จำเลยที่ 3 ส่งแคชเชียร์เช็คเป็นเงิน 400,000 บาท ให้แก่นายอนิรุทธ์แต่นายอนิรุทธ์ ส่งแคชเชียร์เช็คคืน สำหรับส่วนแบ่งของโจทก์ จำเลยที่ 3 บอกว่าโจทก์ยักยอกเงินของจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 500,000 บาทเศษ จำเลยที่ 3 จึงยึดเงินส่วนแบ่งของโจทก์ไว้ หลังจากนั้นจำเลยที่ 3 แจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดีกับโจทก์ในข้อหายักยอกเงินที่ได้จากการขายแก๊สแอลพีจีของจำเลยที่ 1 จากพยานหลักฐานในชั้นไต่สวนมูลฟ้องดังกล่าวไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 3 ได้กระทำการใดที่เป็นการหลอกลวงโจทก์ หรือผู้อื่นใดด้วยการแสดงข้อความใดอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงใดซึ่งควรบอกให้แจ้ง คงได้ความว่าเมื่อพันเอกอรรถพงศ์ ผู้ถือหุ้นตาย จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นภริยาของพันเอกอรรถพงศ์ ได้ใช้อำนาจจัดการทรัพย์มรดกซึ่งเป็นหุ้นของพันเอกอรรถพงศ์โดยลำพังและดำเนินการให้จำเลยที่ 1 รับบุคคลลงทะเบียนเป็นผู้ถือหุ้นสืบแทนพันเอกอรรถพงศ์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1132 ข้อโต้แย้งระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 3 จึงเป็นข้อพิพาททางแพ่ง การกระทำของจำเลยที่ 3 ตามทางไต่สวนมูลฟ้องฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 3 กระทำความผิดฐานฉ้อโกง เมื่อพยานหลักฐานในสำนวนตามทางไต่สวนมูลฟ้องไม่ได้ความว่าจำเลยที่ 3 กระทำความผิดฐานฉ้อโกง คดีจึงไม่มีข้อเท็จจริงที่จะนำไปสู่การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายตามที่โจทก์ฎีกา ฎีกาของโจทก์ในข้อนี้จึงไม่เป็นสาระแก่คดี ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
อนึ่ง แม้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 170 บัญญัติว่าคำสั่งของศาลที่ให้คดีมีมูลย่อมเด็ดขาด ซึ่งหมายถึงคู่ความไม่อาจอุทธรณ์ฎีกาโต้แย้งคำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้คดีมีมูลได้ แต่หากคดีขึ้นสู่การพิจารณาของศาลฎีกา และศาลฎีกาเห็นว่าการกระทำของจำเลยที่ 3 ตามทางไต่สวนมูลฟ้องไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกง ศาลต้องพิพากษายกฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 วรรคหนึ่ง เมื่อการกระทำของจำเลยที่ 3 ตามทางไต่สวนมูลฟ้องไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกงดังวินิจฉัยข้างต้น ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจพิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 3 ในข้อหาฉ้อโกงได้ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาให้ยกคำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้ประทับฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 3 ในความผิดฐานฉ้อโกง จึงมีผลเท่ากับยกฟ้องโจทก์ สำหรับจำเลยที่ 3 ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล
พิพากษายืน