คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7292/2559

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การพิจารณาว่าการกระทำของจำเลยทั้งสี่จะเป็นความผิดตามฟ้องหรือไม่ ในส่วนของสิทธิบัตรการประดิษฐ์จะต้องพิจารณาจากรายละเอียดขอบเขตการประดิษฐ์ในข้อถือสิทธิและรูปเขียนทั้งหมดที่ทำให้ได้มาซึ่งผลิตภัณฑ์ตามความมุ่งหมายของการประดิษฐ์นั้น เมื่อผลิตภัณฑ์ของฝ่ายจำเลย มิใช่ผลิตภัณฑ์ที่ผลิตขึ้นโดยใช้ข้อถือสิทธิตามสิทธิบัตรการประดิษฐ์ผลิตภัณฑ์อุปกรณ์และวิธีการปล่อยสารกระตุ้นต้นไม้ให้ผลิตน้ำยาง เลขที่ 22925 ของโจทก์ การกระทำของจำเลยทั้งสี่จึงไม่เป็นความผิดฐานละเมิดสิทธิบัตรการประดิษฐ์ของโจทก์ตาม พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ.2522 มาตรา 85 ประกอบมาตรา 36 (1)
เมื่อพิจารณารูปร่างของผลิตภัณฑ์ในข้อถือสิทธิตามสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ของโจทก์ กับผลิตภัณฑ์ของฝ่ายจำเลยแล้ว เห็นได้ว่าแบบผลิตภัณฑ์ตามสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ของโจทก์แตกต่างจากแบบผลิตภัณฑ์ของฝ่ายจำเลยอย่างชัดเจน จึงฟังไม่ได้ว่าผลิตภัณฑ์ของฝ่ายจำเลยเป็นผลิตภัณฑ์ที่ผลิตขึ้นโดยใช้แบบผลิตภัณฑ์ในข้อถือสิทธิตามสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ของโจทก์ การกระทำของจำเลยทั้งสี่จึงไม่เป็นความผิดฐานละเมิดสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ตาม พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ.2522 มาตรา 85 ประกอบมาตรา 63 ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์ว่าแม้แบบผลิตภัณฑ์ของฝ่ายจำเลยจะแตกต่างจากแบบผลิตภัณฑ์ของโจทก์ แต่ความแตกต่างดังกล่าวไม่ใช่สาระสำคัญและยังมีคุณสมบัติในการใช้สอยทำให้เกิดผลในทำนองเดียวกันนั้น เป็นหลักการตีความโดยทฤษฎีความเท่าเทียมกัน (Doctrine of Equivalents) ตาม พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ.2522 มาตรา 36 ทวิ วรรคสอง ประกอบมาตรา 36 ซึ่งเป็นเรื่องการละเมิดสิทธิบัตรการประดิษฐ์ ซึ่งมาตรา 65 มิได้บัญญัติให้นำมาตรา 36 ทวิ วรรคสอง มาใช้กับสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์โดยอนุโลม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสี่ตามพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ.2522 มาตรา 85, 86 และ 88 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 และ 91
ศาลไต่สวนมูลฟ้องแล้วเห็นว่า คดีมีมูลให้ประทับฟ้องจำเลยทั้งสี่
จำเลยทั้งสี่ให้การปฏิเสธ
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่โจทก์และจำเลยทั้งสี่ไม่โต้แย้งกันในชั้นอุทธรณ์รับฟังได้ว่า โจทก์เป็นผู้ทรงสิทธิบัตรการประดิษฐ์เลขที่ 22925 ชื่อที่แสดงถึงการประดิษฐ์อุปกรณ์และวิธีการในการปล่อยสารกระตุ้นต้นไม้ให้ผลิตน้ำยาง ตามสิทธิบัตรการประดิษฐ์เอกสารหมาย จ.3 สิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์เลขที่ 27446 ชื่อที่แสดงถึงการออกแบบผลิตภัณฑ์อุปกรณ์ปล่อยสารกระตุ้นต้นไม้ให้ผลิตน้ำยาง ตามสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์เอกสารหมาย จ.4 และสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ เลขที่ 27455 ชื่อที่แสดงถึงการออกแบบผลิตภัณฑ์อุปกรณ์ปล่อยสารกระตุ้นต้นไม้ให้ผลิตน้ำยาง ตามสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์เอกสารหมาย จ.5 ตัวอย่างผลิตภัณฑ์ของโจทก์ปรากฏตามวัตถุพยานหมาย ว.จ.1 ถึง ว.จ.4 และ ว.จ.11 ส่วนผลิตภัณฑ์หมาย ว.จ.5 เป็นผลิตภัณฑ์ที่จำเลยที่ 1 นำเข้ามาในราชอาณาจักรจากประเทศมาเลเซีย ซึ่งตามวันและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง โจทก์ให้ผู้มีชื่อไปซื้อผลิตภัณฑ์ตามวัตถุพยานหมาย ว.จ.5 มาจากร้านค้าของจำเลยที่ 3 ที่ขายโดยจำเลยที่ 4 ส่วนกระป๋องตามวัตถุพยานหมาย ว.จ.6 บรรจุฮอร์โมนเอทธิลีนที่เป็นสารกระตุ้นใช้กับผลิตภัณฑ์ตามวัตถุพยานหมาย ว.จ.5 จำเลยที่ 3 เป็นตัวแทนจำหน่ายผลิตภัณฑ์ตามวัตถุพยานหมาย ว.จ.5 ที่จำเลยที่ 1 นำเข้ามาในราชอาณาจักรแต่ผู้เดียวในจังหวัดพัทลุง จำเลยที่ 2 เป็นกรรมการบริษัทผู้มีอำนาจทำการแทนจำเลยที่ 1
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า จำเลยทั้งสี่ได้ร่วมกันกระทำความผิดฐานละเมิดสิทธิบัตรการประดิษฐ์และสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ของโจทก์ตามพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ.2522 มาตรา 85 ประกอบมาตรา 36 และ 63 ดังที่โจทก์ฟ้องหรือไม่ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้องด้วยเหตุ 2 ประการ คือ ฟังไม่ได้ว่าผลิตภัณฑ์ที่จำเลยที่ 1 นำเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อขายในร้านของจำเลยที่ 3 เป็นผลิตภัณฑ์ตามสิทธิบัตรของโจทก์ และฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสี่มีเจตนาร่วมกันกระทำความผิดตามฟ้อง ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า ผลิตภัณฑ์ของจำเลยที่ 1 ตามวัตถุพยานหมาย ว.จ.5 มีสาระสำคัญประกอบด้วยหัวโลหะทรงกลม มีท่อโลหะเล็ก ๆ สองท่อต่ออยู่ใต้หัวโลหะ และมีสายยางสองสายต่อจากท่อโลหะเล็ก ๆ เชื่อมกับถุงยืดหยุ่น อีกท่อหนึ่งต่อลอยไว้สำหรับรับสารเอทธิลีนจากกระป๋อง ส่วนใต้ถุงยืดหยุ่นมีสายยางต่อลอยไว้เพื่อรับสารเอทธิลีนเข้าไปเก็บไว้ในถุงผลิตภัณฑ์ตามวัตถุพยานหมาย ว.จ.5 จึงเหมือนคล้ายผลิตภัณฑ์ตามวัตถุพยานหมาย ว.จ.4 ของโจทก์ โดยมีข้อแตกต่างปลีกย่อย เช่น ท่อโลหะเล็ก ๆ สองท่อที่อยู่ใต้หัวโลหะตามผลิตภัณฑ์วัตถุพยานหมาย ว.จ.5 เรียงกันออกไปทางด้านเปิดของหัวโลหะ และสายยางที่ต่อกับท่อโลหะเล็ก ๆ มีขนาดแตกต่างกัน ทั้งผลิตภัณฑ์วัตถุพยานหมาย ว.จ.5 ยังใช้กับกระป๋องตามวัตถุพยานหมาย ว.จ.6 คล้ายกับผลิตภัณฑ์ของโจทก์ด้วย นั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศได้ตรวจพิจารณาข้อถือสิทธิและรูปเขียนตามสิทธิบัตรเอกสารหมาย จ.3 ถึง จ.5 ผลิตภัณฑ์ตามวัตถุพยานหมาย ว.จ.1 ถึง ว.จ.4 ของโจทก์เปรียบเทียบกับผลิตภัณฑ์ตามวัตถุพยานหมาย ว.จ.5 และกระป๋องตามวัตถุพยานหมาย ว.จ.6 ของจำเลยประกอบคำเบิกความของนางสิริกร นักวิชาการตรวจสอบสิทธิบัตร กรมทรัพย์สินทางปัญญา ผู้ตรวจสอบสิทธิบัตรการประดิษฐ์เอกสารหมาย จ.3 และนายสรายุทธ นักวิชาการตรวจสอบสิทธิบัตร กรมทรัพย์สินทางปัญญา ผู้ตรวจสอบสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์หมาย จ.4 และ จ.5 แล้ว เห็นว่า ในการพิจารณาว่าการกระทำของจำเลยทั้งสี่จะเป็นความผิดตามฟ้องหรือไม่ ในส่วนของสิทธิบัตรการประดิษฐ์ จะต้องพิจารณาจากรายละเอียดขอบเขตการประดิษฐ์ในข้อถือสิทธิและรูปเขียนทั้งหมดที่ทำให้ได้มาซึ่งผลิตภัณฑ์ตามความมุ่งหมายแห่งการประดิษฐ์นั้น ซึ่งก็คือผลิตภัณฑ์ตามวัตถุพยานหมาย ว.จ.1 ถึง ว.จ.4 ประกอบเข้าด้วยกันนั่นเองแล้วจึงนำมาเปรียบเทียบกับผลิตภัณฑ์ตามวัตถุพยานหมาย ว.จ.5 และกระป๋องตามวัตถุพยานหมาย ว.จ.6 ของฝ่ายจำเลยแล้วจะเห็นได้ว่า ผลิตภัณฑ์ของโจทก์ตามวัตถุพยานหมาย ว.จ.1 ถึง ว.จ.4 ประกอบกับข้อถือสิทธิที่เกี่ยวข้องตามที่โจทก์เบิกความถึงในข้อ 1 ย่อหน้าที่ 2 ว่า “รวมถึงกระป๋องอัดก๊าซสำหรับฉีด ซึ่งได้รับความดันและขั้นตอนการดึงเอาอากาศออกจากส่วนที่ปิดที่ถูกติดเพื่อทำให้เกิดสุญญากาศบางส่วนเป็นอย่างน้อยก่อนที่จะมีการป้อนสารกระตุ้นที่เป็นก๊าซ” มีหลักการคือ ต้องมีการดึงอากาศออกมาก่อนที่จะมีการป้อนสารกระตุ้นกลับเข้าไป ในขณะที่ผลิตภัณฑ์ของจำเลยทั้งสี่ตามวัตถุพยานหมาย ว.จ.5 และ ว.จ.6 มีหลักการคือ อัดสารกระตุ้นได้ทางเดียวแต่สารกระตุ้นจะไม่ไหลกลับ ผลิตภัณฑ์ของจำเลยทั้งสี่จึงมีหลักการทำงานที่แตกต่างไปจากหลักการทำงานของผลิตภัณฑ์ของโจทก์ นอกจากนี้ ผลิตภัณฑ์ของจำเลยยังมีความแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัดกับผลิตภัณฑ์ของโจทก์ ทั้งในส่วนของหัวอบพ่นสารกระตุ้น สายยาง และลักษณะการติดตั้ง และรูปร่างลักษณะของถุงยืดหยุ่น และโดยเฉพาะในส่วนของอุปกรณ์ประกอบกระป๋องที่มีทั้งที่ยึดกระป๋อง วาล์ว และเข็ม ที่ผลิตภัณฑ์ของจำเลยที่ 1 ไม่มีส่วนประกอบในส่วนนี้ นอกจากกระป๋องตามวัตถุพยานหมาย ว.จ.6 ก็เป็นเพียงกระป๋องธรรมดา ไม่มีส่วนประกอบเช่นของโจทก์ รายละเอียดปรากฏตามบันทึกวิเคราะห์ความแตกต่างอุปกรณ์ฮีเวีย 3 กับผลิตภัณฑ์ตามสิทธิบัตรเอกสารหมาย ล.5 ซึ่งจะเห็นได้ว่าอุปกรณ์ฮีเวีย 3 สามารถแก้ปัญหาต่าง ๆ และมีการทำงานที่มีประสิทธิภาพดีกว่าผลิตภัณฑ์ตามสิทธิบัตร ดังนั้น ผลิตภัณฑ์ตามวัตถุพยานหมาย ว.จ.5 ของฝ่ายจำเลย จึงมิใช่ผลิตภัณฑ์ที่ผลิตขึ้นโดยใช้ข้อถือสิทธิตามสิทธิบัตรการประดิษฐ์ผลิตภัณฑ์อุปกรณ์และวิธีการปล่อยสารกระตุ้นต้นไม้ให้ผลิตน้ำยาง เลขที่ 22925 ของโจทก์ อันจะเป็นความผิดฐานละเมิดสิทธิบัตรการประดิษฐ์ของโจทก์ตามพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ.2522 มาตรา 85 ประกอบมาตรา 36 (1)
สำหรับในส่วนของสิทธิบัตรออกแบบผลิตภัณฑ์ตามเอกสารหมาย จ.4 และ จ.5 นั้น เมื่อพิจารณารูปร่างของผลิตภัณฑ์ในข้อถือสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์เลขที่ 27446 และเลขที่ 27455 ของโจทก์กับผลิตภัณฑ์ตามวัตถุพยานหมาย ว.จ.5 ของฝ่ายจำเลยแล้วจะเห็นได้ว่า แบบผลิตภัณฑ์ตามสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ดังกล่าวของโจทก์แตกต่างจากแบบผลิตภัณฑ์ของจำเลยตามวัตถุพยานหมาย ว.จ.5 อย่างชัดเจนทั้งในส่วนของหัวโลหะของโจทก์ที่ไม่มีสิ่งห่อหุ้ม แต่ของจำเลยมีพลาสติกสีดำหุ้ม ทั้งรูปทรงหัวโลหะของโจทก์ก็เป็นทรงสี่เหลี่ยม แต่ของจำเลยเป็นทรงกลม ถุงยืดหยุ่นก็มีรูปร่างลักษณะแตกต่างกัน สายยางที่ใช้ก็มีขนาดและทิศทางการเชื่อมต่อแตกต่างกัน จึงฟังไม่ได้ว่าผลิตภัณฑ์ตามวัตถุพยานหมาย ว.จ.5 ของฝ่ายจำเลยเป็นผลิตภัณฑ์ที่ผลิตขึ้นโดยใช้แบบผลิตภัณฑ์ในข้อถือสิทธิตามสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์เลขที่ 27446 และเลขที่ 27455 ของโจทก์อันจะเป็นความผิดฐานละเมิดสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ตามพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ.2522 มาตรา 85 ประกอบมาตรา 63 ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์ว่า แม้ข้อเท็จจริงจะปรากฏว่า แบบผลิตภัณฑ์ตามวัตถุพยานหมาย ว.จ.5 จะแตกต่างจากแบบผลิตภัณฑ์ตามสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ของโจทก์เลขที่ 27446 และเลขที่ 27455 เอกสารหมาย จ.4 และ จ.5 แต่ส่วนแตกต่างดังกล่าวไม่ใช่สาระสำคัญและยังมีคุณสมบัติในการใช้สอยทำให้เกิดผลในทำนองเดียวกันนั้น เห็นว่า กรณีดังกล่าวเป็นหลักการตีความโดยทฤษฎีความเท่าเทียมกัน (Doctrine of Equivalents) ตามพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ.2522 มาตรา 36 ทวิ วรรคสองประกอบมาตรา 36 ซึ่งเป็นเรื่องการละเมิดสิทธิบัตรการประดิษฐ์ ตามอุทธรณ์ของโจทก์เป็นประเด็นการออกแบบผลิตภัณฑ์ ซึ่งมาตรา 65 มิได้บัญญัติให้นำมาตรา 36 ทวิ วรรคสอง มาใช้กับสิทธิบัตรการออกแบบโดยอนุโลม ดังนั้น เมื่อข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสี่ใช้ข้อถือสิทธิในสิทธิบัตรการประดิษฐ์เลขที่ 22925 ของโจทก์ในการผลิตผลิตภัณฑ์ของจำเลยทั้งสี่และฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสี่ใช้ข้อถือสิทธิในแบบผลิตภัณฑ์ตามสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์เลขที่ 27446 และเลขที่ 27455 เอกสารหมาย จ.4 และ จ.5 ของโจทก์ พยานหลักฐานของโจทก์จึงไม่อาจลงโทษจำเลยทั้งสี่ในความผิดฐานละเมิดสิทธิบัตรการประดิษฐ์และสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ของโจทก์ตามพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ.2522 มาตรา 85 ประกอบมาตรา 36 และ 63 ดังที่โจทก์ฟ้องได้ กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ในปัญหาว่าจำเลยทั้งสี่มีเจตนากระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ต่อไป เพราะไม่ทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลง ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์นั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วยในผล อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share