แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
แม้ความผิดฐานลักทรัพย์จะต้องเป็นทรัพย์ของผู้อื่น แต่กฎหมายมิได้บังคับเด็ดขาดว่าต้องระบุชื่อเจ้าของทรัพย์เสมอไป เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏในชั้นอุทธรณ์ว่าบริษัท ส. นายจ้างของจำเลยเป็นเจ้าของเงินที่จำเลยลักไป แตกต่างจากข้อเท็จจริงที่กล่าวในฟ้องว่าบริษัท ช. เป็นนายจ้างของจำเลยและเป็นเจ้าของเงินที่จำเลยลักไป จึงเป็นเพียงรายละเอียด มิใช่เป็นข้อแตกต่างในข้อสาระสำคัญ ทั้งจำเลยให้การรับสารภาพแสดงว่าจำเลยมิได้หลงต่อสู้ ศาลจึงลงโทษจำเลยตามข้อเท็จจริงที่ได้ความได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสอง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 และให้จำเลยคืนเงิน 3,840 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (1) (11) วรรคสอง จำคุก 1 ปี 6 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 คงจำคุก 9 เดือน ให้จำเลยคืนเงิน 3,840 บาท ที่ยังไม่ได้คืนแก่ผู้เสียหาย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้เถียงกันในชั้นฎีการับฟังเป็นยุติว่า เงินที่จำเลยลักไปในคดีนี้เป็นของบริษัทสห ลอว์สัน จำกัด ซึ่งเป็นนายจ้างของจำเลย มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายกฟ้องโจทก์โดยเห็นว่าบริษัทโชคชัยพิบูล จำกัด ตามฟ้องโจทก์มิใช่ผู้เสียหายที่แท้จริงและมิใช่นายจ้างของจำเลย แม้จำเลยให้การรับสารภาพก็ไม่อาจลงโทษจำเลยได้ชอบหรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาข้อกฎหมายว่า การที่โจทก์บรรยายฟ้องในเรื่องผู้เสียหายซึ่งเป็นเจ้าของทรัพย์เป็นการผิดพลาดคลาดเคลื่อนเพียงเล็กน้อย จึงเป็นเพียงรายละเอียดที่มิใช่ข้อสาระสำคัญเพราะการกระทำของจำเลยเป็นเรื่องประสงค์ต่อทรัพย์และจำเลยมิได้หลงต่อสู้ จึงไม่ถือว่าข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้องในข้อสาระสำคัญนั้น เห็นว่า แม้คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าบริษัทโชคชัยพิบูลจำกัด เป็นนายจ้างของจำเลยและเป็นเจ้าของเงินที่จำเลยลักไป และข้อเท็จจริงปรากฏตามคำร้องขอชี้แจงถึงความเป็นผู้เสียหายในคดีของบริษัทสห ลอว์สัน จำกัด ฉบับลงวันที่ 7 เมษายน 2559 ว่า บริษัทสห ลอว์สัน จำกัด เป็นนายจ้างของจำเลยและเป็นเจ้าของเงินที่จำเลยลักไปก็ตาม แต่ตามลักษณะของความผิดฐานลักทรัพย์จะต้องเป็นทรัพย์ของผู้อื่นเมื่อกฎหมายมิได้บังคับเด็ดขาดว่าต้องระบุชื่อเจ้าของทรัพย์เสมอไป เช่นในกรณีที่ไม่อาจทราบตัวเจ้าของทรัพย์ที่แน่นอนได้ ดังนี้ ข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในชั้นอุทธรณ์ว่าบริษัทสห ลอว์สัน จำกัด เป็นนายจ้างของจำเลยและเป็นเจ้าของเงินที่จำเลยลักไป แตกต่างจากข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้อง จึงเป็นเพียงรายละเอียด มิใช่เป็นข้อแตกต่างในข้อสาระสำคัญ ทั้งจำเลยให้การรับสารภาพแสดงว่าจำเลยมิได้หลงต่อสู้ ศาลจึงลงโทษจำเลยตามข้อเท็จจริงที่ได้ความได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคสอง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายกฟ้องมาจึงไม่ชอบ ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น แต่เพื่อมิให้คดีนี้ต้องล่าช้าเกินสมควรหากศาลฎีกาจะย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยใหม่ จึงเห็นสมควรพิจารณาพิพากษาในประเด็นที่จำเลยอุทธรณ์ขอให้รอการลงโทษจำคุกต่อไป เห็นว่า แม้จำเลยกระทำความผิดโดยอาศัยโอกาสที่ตนเป็นลูกจ้างของบริษัทสห ลอว์สัน จำกัด อันเป็นการกระทำโดยไม่คำนึงถึงความเสียหายของบริษัทดังกล่าวก็ตาม แต่เงินที่จำเลยลักไปมีจำนวนไม่มาก พฤติการณ์แห่งคดีจึงไม่ร้ายแรงมากนักและหลังเกิดเหตุจำเลยได้ชดใช้เงินคืนให้แก่บริษัทสห ลอว์สัน จำกัด บางส่วนเป็นเงิน 5,910 บาท แสดงว่าจำเลยพยายามบรรเทาผลร้ายและสำนึกในการกระทำความผิดแล้ว เห็นควรให้โอกาสจำเลยกลับตนเป็นพลเมืองดีเพื่อเลี้ยงดูครอบครัวต่อไป ที่ศาลชั้นต้นไม่รอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย แต่เพื่อให้จำเลยเข็ดหลาบไม่หวนกลับไปกระทำความผิดในลักษณะนี้อีก เห็นสมควรลงโทษปรับจำเลยอีกสถานหนึ่งและคุมความประพฤติของจำเลยไว้ นอกจากนี้เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าบริษัทสห ลอว์สัน จำกัด เป็นเจ้าของเงินที่จำเลยลักไป จึงเห็นสมควรให้จำเลยคืนเงินที่ยังไม่ได้คืนแก่บริษัทสห ลอว์สัน จำกัด
อนึ่ง เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2559 ได้มีพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 25) พ.ศ.2559 มาตรา 5 ให้ยกเลิกความในมาตรา 30แห่งประมวลกฎหมายอาญา และให้ใช้ความใหม่แทน ซึ่งกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิดเป็นคุณแก่จำเลยจึงต้องใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณบังคับแก่จำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3
พิพากษากลับเป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (1) (11) วรรคสอง จำคุก 1 ปี 6 เดือน และปรับ 10,000 บาท เมื่อลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงจำคุก 9 เดือน และปรับ 5,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 3 ปี นับแต่วันที่อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้จำเลยฟัง และกำหนดเงื่อนไขให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายด้วยการคืนเงินที่ยังไม่ได้คืนตามฟ้องแก่บริษัทสห ลอว์สัน จำกัด ผู้เสียหายภายในกำหนด 30 วัน นับแต่วันอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้จำเลยฟัง และให้คุมความประพฤติของจำเลยโดยให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติทุก 3 เดือนต่อครั้ง ภายในระยะเวลาที่รอการลงโทษตามที่พนักงานคุมประพฤติกำหนด กับให้จำเลยทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์มีกำหนด 24 ชั่วโมง ตามที่พนักงานคุมประพฤติและจำเลยเห็นสมควรตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 (ที่แก้ไขใหม่) หากจำเลยไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 (ที่แก้ไขใหม่) ให้จำเลยคืนเงิน 3,840 บาท ที่ยังไม่ได้คืนแก่บริษัทสห ลอว์สัน จำกัด