คำวินิจฉัยที่ 120/2559

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

คดีที่โจทก์ทั้งหกฟ้องว่า ตนเป็นผู้ครอบครองที่ดินบางส่วนของที่ดินซึ่งตั้งอยู่ในที่ราชพัสดุ แต่ถูกหน่วยงานทางปกครอง และเจ้าหน้าที่ของรัฐ จำเลยทั้งสาม นำที่ดินไปขึ้นทะเบียนเป็นที่ราชพัสดุทับที่ดินของโจทก์ทั้งหก ขอให้เพิกถอนหรือแก้ไขเพิ่มเติมทะเบียนที่ราชพัสดุเฉพาะส่วนที่โจทก์ทั้งหกครอบครองกับให้โจทก์ทั้งหกเป็นผู้มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท และห้ามไม่ให้จำเลยทั้งสามพร้อมบริวารเข้าเกี่ยวข้อง ส่วนจำเลยทั้งสามให้การว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่ราชพัสดุ เดิมเป็นที่ตั้งโรงเรียนประชาบาล การขึ้นทะเบียนที่ราชพัสดุชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ทั้งหกไม่มีหลักฐานแสดงการครอบครองทำประโยชน์และไม่มีเอกสารสิทธิในที่ดินพิพาท ไม่อาจอ้างสิทธิใด ๆ ในที่พิพาท ขอให้ยกฟ้อง เห็นว่า เหตุแห่งการฟ้องคดีสืบเนื่องมาจากการขึ้นทะเบียนที่ราชพัสดุทับที่ดินของโจทก์ทั้งหก อันเป็นกรณีโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน ทั้งความมุ่งหมายของโจทก์ทั้งหกที่ฟ้องต่อศาลก็เพื่อให้รับรองคุ้มครองสิทธิในที่ดิน การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งตามคำขอได้นั้น จำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่าที่ดินพิพาทโจทก์ทั้งหกเป็นผู้มีสิทธิครอบครองตามที่กล่าวอ้างหรือไม่เป็นสำคัญ แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นได้ต่อไปจึงเป็นคดีพิพาทอันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๑๒๐/๒๕๕๙

วันที่ ๑๕ ธันวาคม ๒๕๕๙
เรื่อง คดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน

ศาลจังหวัดอุดรธานี
ระหว่าง
ศาลปกครองอุดรธานี

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลจังหวัดอุดรธานีโดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๒๗ เมษายน ๒๕๕๘ นางนิรันดร จันทรขันตี ที่ ๑ กับพวกรวม ๖ คน ยื่นฟ้องกระทรวงการคลัง ที่ ๑ อธิบดีกรมธนารักษ์ ที่ ๒ ธนารักษ์พื้นที่อุดรธานี ที่ ๓ จำเลย ต่อศาลจังหวัดอุดรธานี เป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ ๑๐๗๖/๒๕๕๘ ความว่า โจทก์ทั้งหกเป็นผู้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินบางส่วนของที่ดินซึ่งตั้งอยู่ในที่ดินราชพัสดุทะเบียนเลขที่ อด. ๑๕๕๑ ตำบลเมืองเพีย อำเภอกุดจับ จังหวัดอุดรธานี โดยที่ดินของโจทก์ทั้งหกตั้งอยู่บริเวณรอบ ๆ อาคารตลาดสดเทศบาลตำบลกุดจับ และได้ครอบครองทำประโยชน์เป็นส่วนสัดด้วยการอยู่อาศัยในที่ดินมาตั้งแต่ปี ๒๕๑๙ ด้วยการแสดงตนเป็นเจ้าของ ต่อมาจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ โดยจำเลยที่ ๓ นำที่ดินบริเวณตลาดสดทั้งหมดของอำเภอกุดจับขึ้นทะเบียนเป็นที่ราชพัสดุแปลงหมายเลขที่ อด. ๑๕๕๑ เนื้อที่ ๕ ไร่ ๒ งาน ๖๒ ตารางวา ทับที่ดินของโจทก์ทั้งหก ขอให้เพิกถอนหรือแก้ไขเพิ่มเติมทะเบียนที่ราชพัสดุแปลงหมายเลขที่ อด. ๑๕๕๑ เฉพาะส่วนที่โจทก์ทั้งหกครอบครองทำประโยชน์กับให้โจทก์ทั้งหกเป็นผู้มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท และห้ามไม่ให้จำเลยทั้งสามพร้อมบริวารเข้าเกี่ยวข้อง
จำเลยทั้งสามให้การว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่ราชพัสดุแปลงหมายเลขที่ อด. ๑๕๕๑ เดิมเป็นที่ตั้งโรงเรียนประชาบาลสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุดรธานี การขึ้นทะเบียนที่ราชพัสดุชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ทั้งหกไม่มีหลักฐานแสดงการครอบครองทำประโยชน์และไม่มีเอกสารสิทธิในที่ดินพิพาท จึงไม่อาจอ้างสิทธิใด ๆ ในที่พิพาทได้ และไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยทั้งสามยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า ข้อพิพาทในคดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลจังหวัดอุดรธานีพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้โจทก์ทั้งหกฟ้องว่า โจทก์ทั้งหกเป็นผู้มีสิทธิครอบครองในที่พิพาทซึ่งมีหนังสือสำคัญสำหรับที่ดินเป็นทะเบียนที่ราชพัสดุ อยู่ภายใต้การควบคุมกำกับดูแลและปกครองของจำเลยที่ ๑ โดยโจทก์ทั้งหกได้ครอบครองที่พิพาทเป็นสัดส่วนมาตั้งแต่ปี ๒๕๑๙ ต่อมาเมื่อวันเดือนปีใดไม่ปรากฏชัดจำเลยทั้งสามนำที่ดินที่โจทก์ทั้งหกครอบครองรวมกับที่ดินส่วนอื่นในบริเวณเดียวกันเนื้อที่ ๕-๒-๖๒ ไร่ ไปขึ้นทะเบียนเป็นที่ราชพัสดุแปลงหมายเลขที่ อด. ๑๕๕๑ โดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ทั้งหกและไม่ฟังคำคัดค้านของโจทก์ทั้งหก การกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นการโต้แย้งสิทธิ ฟ้องของโจทก์ทั้งหกดังกล่าวจึงเป็นการกล่าวอ้างว่าโจทก์ทั้งหกมีสิทธิในที่ดินพิพาทดีกว่าจำเลย ทั้งสาม ซึ่งศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า โจทก์ทั้งหกมีสิทธิในที่พิพาทดีกว่าจำเลยทั้งสามหรือไม่ หากผลแห่งคดีฟังได้ว่ามีสิทธิดีกว่า จึงจะมีผลไปถึงการเปลี่ยนแปลงการขึ้นทะเบียนที่ราชพัสดุของจำเลยทั้งสาม อีกทั้งตามคำฟ้องมิได้กล่าวอ้างว่าจำเลยทั้งสามนำที่ดินที่โจทก์ทั้งหกมีสิทธิครอบครองไปขึ้นทะเบียนเป็นที่ราชพัสดุโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายอย่างไร ดังนั้น ผลตามคำฟ้องของโจทก์ทั้งหกจึงไม่ได้เป็นการฟ้องเกี่ยวกับการออกคำสั่งหรือการกระทำของจำเลยทั้งสามว่า จำเลยทั้งสามออกคำสั่งหรือกระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายตามนัยมาตรา ๙ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ อย่างไร ข้อเท็จจริงตามคำฟ้องของโจทก์จึงเป็นการโต้แย้งสิทธิในที่ดินระหว่างโจทก์ทั้งหกกับจำเลยทั้งสามเท่านั้น ผลของคำพิพากษาย่อมมีผลกระทบกระเทือนต่อสิทธิในที่ดินของโจทก์ทั้งหกและจำเลยทั้งสามเป็นสำคัญ จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองอุดรธานีพิจารณาแล้วเห็นว่า ทะเบียนที่ราชพัสดุแปลงหมายเลขที่ อด. ๑๕๕๑ จัดทำโดยจำเลยที่ ๓ ในฐานะหัวหน้าสำนักงานธนารักษ์พื้นที่อุดรธานี ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่สังกัดกรมธนารักษ์ จึงเป็นกรณีที่จำเลยที่ ๓ ใช้อำนาจหน้าที่ในการปกครองดูแลและบำรุงรักษาที่ราชพัสดุ ตามข้อ ๔ (๒) ของกฎกระทรวงว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการปกครอง ดูแล บำรุงรักษา ใช้ และจัดหาประโยชน์เกี่ยวกับที่ราชพัสดุ พ.ศ. ๒๕๔๕ อันเป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่ที่มีผลกระทบต่อสิทธิหรือหน้าที่ของโจทก์ทั้งหก จึงเป็นคำสั่งทางปกครองตามมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ เมื่อโจทก์ทั้งหกอ้างว่าการขึ้นทะเบียนที่ราชพัสดุดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้เพิกถอนหรือแก้ไขเพิ่มเติมทะเบียนที่ราชพัสดุเฉพาะส่วนที่โจทก์ทั้งหกครอบครองทำประโยชน์ออกจากที่ราชพัสดุ และให้โจทก์ทั้งหกเป็นผู้มีสิทธิครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินตามฟ้อง จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ส่วนประเด็นปัญหาว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดินที่โจทก์ทั้งหกมีสิทธิครอบครองหรือเป็นที่ราชพัสดุนั้น เป็นประเด็นปัญหาข้อเท็จจริงที่ศาลจะต้องพิจารณาในเนื้อหาของคดีซึ่งมิได้มีผลทำให้คดีที่เป็นคดีปกครองเปลี่ยนเป็นคดีแพ่งแต่อย่างใด และศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีที่เกี่ยวกับสิทธิแห่งทรัพย์สินและนำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และประมวลกฎหมายที่ดินมาวินิจฉัยข้อพิพาทในคดีนี้ได้

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือ ศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้โจทก์ทั้งหกเป็นเอกชนยื่นฟ้องจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครอง และจำลยที่ ๒ และที่ ๓ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ อ้างว่า โจทก์ทั้งหกเป็นผู้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินบางส่วนของที่ดินซึ่งตั้งอยู่ในที่ราชพัสดุทะเบียนเลขที่ อด. ๑๕๕๑ ตำบลเมืองเพีย อำเภอกุดจับ จังหวัดอุดรธานี และได้ครอบครองทำประโยชน์เป็นสัดส่วนด้วยการอยู่อาศัยในที่ดินมาตั้งแต่ปี ๒๕๑๙ ด้วยการแสดงตนเป็นเจ้าของ แต่ถูกจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ โดยจำเลยที่ ๓ นำที่ดินไปขึ้นทะเบียนเป็น ที่ราชพัสดุแปลงหมายเลขที่ อด. ๑๕๕๑ เนื้อที่ ๕ ไร่ ๒ งาน ๖๒ ตารางวา ทับที่ดินของโจทก์ทั้งหก ขอให้เพิกถอนหรือแก้ไขเพิ่มเติมทะเบียนที่ราชพัสดุแปลงหมายเลขที่ อด. ๑๕๕๑ เฉพาะส่วนที่โจทก์ทั้งหกครอบครองทำประโยชน์กับให้โจทก์ทั้งหกเป็นผู้มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท และห้ามไม่ให้จำเลย ทั้งสามพร้อมบริวารเข้าเกี่ยวข้อง ส่วนจำเลยทั้งสามให้การว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่ราชพัสดุแปลงหมายเลขที่ อด. ๑๕๕๑ เดิมเป็นที่ตั้งโรงเรียนประชาบาล การขึ้นทะเบียนที่ราชพัสดุชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ทั้งหกไม่มีหลักฐานแสดงการครอบครองทำประโยชน์และไม่มีเอกสารสิทธิในที่ดินพิพาท จึงไม่อาจอ้างสิทธิใด ๆ ในที่พิพาทได้ และไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง เห็นว่า เหตุแห่งการฟ้องคดีสืบเนื่องมาจากการขึ้นทะเบียน ที่ราชพัสดุทับที่ดินของโจทก์ทั้งหก อันเป็นกรณีโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน ทั้งความมุ่งหมายของโจทก์ทั้งหกที่ฟ้องต่อศาลก็เพื่อให้ศาลรับรองคุ้มครองสิทธิในที่ดินของโจทก์ทั้งหก การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งตามคำขอของโจทก์ทั้งหกได้นั้น ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่าที่ดินพิพาทโจทก์ทั้งหกเป็นผู้มีสิทธิครอบครองตามที่กล่าวอ้างหรือไม่เป็นสำคัญ แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นได้ต่อไป จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่างนางนิรันดร จันทรขันตี ที่ ๑ กับพวกรวม ๖ คน โจทก์ กระทรวงการคลัง ที่ ๑ อธิบดีกรมธนารักษ์ ที่ ๒ ธนารักษ์พื้นที่อุดรธานี ที่ ๓ จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) วีระพล ตั้งสุวรรณ (ลงชื่อ) จิรนิติ หะวานนท์
(นายวีระพล ตั้งสุวรรณ) (นายจิรนิติ หะวานนท์)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) ปิยะ ปะตังทา (ลงชื่อ) ชาญชัย แสวงศักดิ์
(นายปิยะ ปะตังทา) (นายชาญชัย แสวงศักดิ์)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลเรือโท ปรีชาญ จามเจริญ (ลงชื่อ) พลตรี พัฒนพงษ์ เกิดอุดม
(ปรีชาญ จามเจริญ) (พัฒนพงษ์ เกิดอุดม)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share