คำวินิจฉัยที่ 69/2559

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

คดีที่ผู้ฟ้องคดีเป็นเอกชนยื่นฟ้องผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ ผู้ถูกฟ้องคดีซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (น.ส.ล.) เลขที่ บร ๔๖๕๐ โดยอ้างว่าออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายทับที่ดินที่ผู้ฟ้องคดีครอบครองทำประโยชน์ ผู้ถูกฟ้องคดีให้การว่า ที่ดินพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินสาธารณประโยชน์ตาม น.ส.ล. เลขที่ บร ๔๖๕๐ แม้ผู้ฟ้องคดีครอบครองที่ดินมานานเพียงใด ก็ไม่อาจใช้ยันรัฐได้ การออก น.ส.ล. ดังกล่าวเป็นไปตามระเบียบและขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดขอให้ยกฟ้อง เห็นว่า แม้เหตุแห่งการฟ้องคดีจะเนื่องมาจากการที่ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้างว่าผู้ถูกฟ้องคดีออกน.ส.ล. ไม่ชอบด้วยกฎหมายทับที่ดินที่ผู้ฟ้องคดีครอบครองทำประโยชน์ ไม่ติดประกาศหรือแจ้งให้ผู้ฟ้องคดีทราบก่อน ทั้งไม่เปิดโอกาสให้ผู้ฟ้องคดีโต้แย้งหรือคัดค้าน พร้อมทั้งมีคำขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนน.ส.ล. แปลงพิพาท กับให้ออกหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินให้แก่ผู้ฟ้องคดี แต่การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีเพิกถอนหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงตามคำขอของผู้ฟ้องคดีได้นั้น ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินซึ่งผู้ฟ้องคดีมีสิทธิครอบครองหรือเป็นที่สาธารณประโยชน์ กรณีจึงเป็นคดีที่ผู้ฟ้องคดีขอให้ศาลมีคำพิพากษารับรองคุ้มครองสิทธิในที่ดินที่พิพาทของผู้ฟ้องคดีเป็นสำคัญ จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๖๙/๒๕๕๙

วันที่ ๒ สิงหาคม ๒๕๕๙

เรื่อง คดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน

ศาลปกครองนครราชสีมา
ระหว่าง
ศาลจังหวัดนางรอง

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลปกครองนครราชสีมาโดยสำนักงานศาลปกครองส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดีและศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๒๘ มกราคม ๒๕๕๘ นางผกาพร ศรีสุข ที่ ๑ กับพวกรวม ๔๗ คน ผู้ฟ้องคดียื่นฟ้องผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ ผู้ถูกฟ้องคดี ต่อศาลปกครองนครราชสีมา เป็นคดีหมายเลขดำที่๒๒/๒๕๕๘ ความว่า ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่สิบเจ็ดเป็นผู้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินที่ได้รับมรดกมาจากบรรพบุรุษ ซึ่งได้ทำประโยชน์ในที่ดินแปลงดังกล่าวมาตั้งแต่ก่อนปี ๒๔๘๖ แต่ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่สิบเจ็ดยังไม่เคยนำที่ดินแปลงดังกล่าวไปยื่นคำขอรังวัดออกหนังสือแสดงสิทธิในที่ดิน ต่อมาในระหว่างปี ๒๕๒๐ ถึงปี ๒๕๒๑ ทางราชการได้เดินสำรวจเพื่อออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓ ก.) ในบริเวณที่ดินพิพาท ซึ่งสำรวจได้เพียง ๒๑ ราย ก็ยุติการเดินสำรวจ ทำให้ราษฎรบางรายไม่ได้หนังสือแสดงสิทธิในที่ดิน ต่อมาเมื่อวันที่ ๓๑ ตุลาคม ๒๕๕๕ ผู้ถูกฟ้องคดีได้ออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (น.ส.ล.) เลขที่ บร ๔๖๕๐ ที่สาธารณประโยชน์ แปลง “ทำเลเลี้ยงสัตว์ทุ่งดอนแต้ว แปลงที่ ๓” ตำบลนางรอง อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ ไม่ชอบด้วยกฎหมายทับที่ดินที่ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่สิบเจ็ดครอบครองทำประโยชน์เนื่องจากผู้ถูกฟ้องคดีไม่ได้ติดประกาศหรือแจ้งให้ประชาชนทั่วไป

2

รวมถึงผู้ฟ้องคดีทั้งสี่สิบเจ็ดทราบก่อน ทั้งไม่เปิดโอกาสให้ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่สิบเจ็ดโต้แย้งหรือคัดค้าน เมื่อผู้ฟ้องคดีทั้งสี่สิบเจ็ดทราบ จึงยื่นคัดค้านการออก น.ส.ล. ทันทีเมื่อวันที่ ๖ พฤศจิกายน ๒๕๕๗ ขอให้ศาลพิพากษาหรือมีคำสั่งให้เพิกถอนหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (น.ส.ล.) เลขที่ บร ๔๖๕๐ ให้ออกหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินให้แก่ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่สิบเจ็ดตามที่ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่สิบเจ็ดครอบครองทำประโยชน์ ให้สามารถ ปรับพื้นที่เพื่อให้เหมาะสมกับการทำการเกษตร ปลูกสร้างที่อยู่อาศัย และตกทอดเป็นมรดกได้ กับขอให้ศาลมีคำสั่งวิธีการชั่วคราวก่อนพิพากษา โดยไม่ให้มีการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและขับไล่ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่สิบเจ็ดออกจากที่ดินพิพาท ไม่ให้มีการก่อสร้างสถานที่ราชการในที่ดินพิพาท รวมทั้งให้ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่สิบเจ็ดสามารถครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทจนกว่าจะมีการพิสูจน์สิทธิในที่ดินพิพาทแล้วเสร็จ
ศาลปกครองนครราชสีมามีคำสั่งไม่รับคำฟ้องของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่สิบเจ็ดเฉพาะที่กล่าวอ้างว่า ทางราชการเดินสำรวจเพื่อออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓ ก.) ในบริเวณที่ดินพิพาทไม่แล้วเสร็จและมีคำขอให้ศาลมีคำพิพากษาตามคำขอท้ายฟ้องที่ขอให้พิสูจน์สิทธิครอบครอง รังวัดและออกเอกสารสิทธิให้แก่ผู้ฟ้องคดี และปรับปรุงพื้นที่ให้เหมาะแก่การทำการเกษตรและปลูกสร้างที่อยู่อาศัย เนื่องจากผู้ฟ้องคดี ทั้งสี่สิบเจ็ดยื่นฟ้องเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาฟ้องคดีและมีคำสั่งไม่รับคำขอวิธีการชั่วคราวก่อนพิพากษาขอผู้ฟ้องคดีทั้งสี่สิบเจ็ดไว้พิจารณา
ผู้ถูกฟ้องคดีให้การว่า ที่ดินพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินสาธารณประโยชน์ตามหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง เลขที่ บร ๔๖๕๐ แปลง “ทำเลเลี้ยงสัตว์ทุ่งดอนแต้ว แปลงที่ ๓” ตำบลนางรอง อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ เนื้อที่ ๗๓๖ ไร่ ๒ งาน ๙๑ ตารางวา แม้ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่สิบเจ็ดจะครอบครองที่ดินดังกล่าวมานานเพียงใด ก็ไม่อาจใช้ยันรัฐได้ ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่สิบเจ็ดไม่มีหนังสือแสดงสิทธิในที่ดิน คงมีเพียงหลักฐานเกี่ยวกับการเสียภาษี บำรุงท้องที่และทะเบียนบ้านสำหรับที่ดินพิพาทเท่านั้น การออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงดังกล่าวเป็นไป ตามระเบียบและขั้นตอนที่กฎหมายกำหนด ขอให้ยกฟ้อง
ผู้ถูกฟ้องคดียื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองนครราชสีมาพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่สิบเจ็ดฟ้องว่า ผู้ถูกฟ้องคดี ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง เลขที่ บร ๔๖๕๐ แปลงที่สาธารณประโยชน์ ทำเลเลี้ยงสัตว์ทุ่งดอนแต้ว แปลงที่ ๓ ตำบลนางรอง อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ โดยมิชอบด้วยกฎหมาย ทับที่ดินที่ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่สิบเจ็ดครอบครองทำประโยชน์ต่อเนื่องมาจากบรรพบุรุษ ซึ่งหนังสือสำคัญสำหรับ ที่หลวง เลขที่ บร ๔๖๕๐ เป็นหลักฐานแสดงเขตที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน ตามมาตรา ๘ ตรี วรรคหนึ่ง แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน การจัดให้มีหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง เลขที่ บร ๔๖๕๐ จึงเป็นคำสั่งทางปกครอง ตามมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ เมื่อผู้ฟ้องคดีทั้งสี่สิบเจ็ดฟ้องขอให้ศาลมีคำพิพากษาเพิกถอนหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง แปลงดังกล่าว คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐออกคำสั่งทางปกครองโดยไม่ชอบ
3

ด้วยกฎหมาย ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ซึ่งแม้การที่ศาลปกครองจะวินิจฉัยว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง เลขที่ บร ๔๖๕๐ ทับที่ดินของผู้ฟ้องคดีทั้งสี่สิบเจ็ดหรือไม่ มีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยด้วยว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่สาธารณประโยชน์หรือเป็นที่ดินที่ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่สิบเจ็ดมีสิทธิครอบครอง แต่ประเด็นดังกล่าวก็เป็นปัญหาข้อเท็จจริงที่ศาลปกครองจะต้องพิจารณาในเนื้อหาของคดี อันเป็นประเด็นที่ศาลปกครองมีอำนาจวินิจฉัยได้ เนื่องจากพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณา คดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๗๑ (๔) บัญญัติให้คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลปกครองที่เกี่ยวกับสิทธิแห่งทรัพย์สินมีผลผูกพันบุคคลภายนอกโดยคู่กรณีที่เกี่ยวข้องอาจอ้างกับบุคคลภายนอกได้ เว้นแต่บุคคลภายนอกจะมีสิทธิดีกว่า และมาตรา ๗๒ วรรคหนึ่ง (๔) บัญญัติให้ศาลปกครองมีอำนาจกำหนดคำบังคับในคำพิพากษาสั่งให้ถือปฏิบัติต่อสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคลที่เกี่ยวข้อง อันเป็นบทบัญญัติที่ยืนยันให้เห็นว่า ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีที่เกี่ยวกับสิทธิแห่งทรัพย์สิน และนำบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมาวินิจฉัยข้อพิพาทในคดีได้ อีกทั้งการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงดำเนินการโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ พยานหลักฐานต่างๆ จึงอยู่ในความครอบครองของเจ้าหน้าที่ของรัฐ เอกชนคู่กรณีอยู่ในฐานะที่เสียเปรียบ ไม่อาจทราบข้อมูลของหน่วยงานของรัฐ จำต้องใช้วิธีพิจารณาในระบบไต่สวนเพื่อสร้างความสมดุล ในความไม่เท่าเทียมดังกล่าว คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลจังหวัดนางรองพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่สิบเจ็ดเป็นเอกชนยื่นฟ้อง
ผู้ถูกฟ้องคดีซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ อ้างว่า ออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง เลขที่ บร ๔๖๕๐ ที่สาธารณประโยชน์ ทำเลเลี้ยงสัตว์ทุ่งดอนแต้ว แปลงที่ ๓ ตำบลนางรอง อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ ลงวันที่ ๓๑ ตุลาคม ๒๕๕๕ โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากทับที่ดินของผู้ฟ้องคดีทั้งสี่สิบเจ็ดซึ่งครอบครองทำประโยชน์ต่อมาจากบรรพบุรุษ ซึ่งครอบครองมาตั้งแต่ปี ๒๔๘๖ ขอให้ศาลมีคำพิพากษาให้เพิกถอนหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง เลขที่ บร ๔๖๕๐ ที่สาธารณประโยชน์ทำเลเลี้ยงสัตว์ทุ่งดอนแต้ว แปลงที่ ๓ ตำบลนางรอง อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ ลงวันที่ ๓๑ ตุลาคม ๒๕๕๕ ดังนี้ เมื่อพิจารณาเจตนารมณ์ของผู้ฟ้องคดีทั้งสี่สิบเจ็ดที่ประสงค์จะให้ศาลรับรองและคุ้มครองสิทธิของแต่ละคนว่าได้สิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท ประกอบกับการที่ศาล จะวินิจฉัยว่า หนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงเลขที่ บร ๔๖๕๐ ดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และมีคำพิพากษาหรือคำสั่งตามคำขอของผู้ฟ้องคดีทั้งสี่สิบเจ็ดได้หรือไม่นั้น จำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินที่ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่สิบเจ็ดมีสิทธิครอบครองหรือเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินเป็นสำคัญ ดังนั้น เมื่อคดีนี้มีข้อพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

4

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองหรือศาลยุติธรรม
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้ ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่สิบเจ็ดเป็นเอกชนยื่นฟ้องผู้ถูกฟ้องคดีซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐว่า ออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (น.ส.ล.) เลขที่ บร ๔๖๕๐ แปลง “ทำเลเลี้ยงสัตว์ทุ่งดอนแต้ว แปลงที่ ๓” ตำบลนางรอง อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ ไม่ชอบด้วยกฎหมายทับที่ดิน ที่ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่สิบเจ็ดครอบครองทำประโยชน์ ผู้ถูกฟ้องคดีไม่ติดประกาศหรือแจ้งให้ประชาชนทั่วไปรวมถึง ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่สิบเจ็ดทราบก่อน ทั้งไม่เปิดโอกาสให้ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่สิบเจ็ดโต้แย้งหรือคัดค้าน ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเพิกถอนหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง เลขที่ บร ๔๖๕๐ ให้ออกหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินให้แก่ ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่สิบเจ็ดตามที่ได้ครอบครองทำประโยชน์ ผู้ถูกฟ้องคดีให้การว่า ที่ดินพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินสาธารณประโยชน์ตามหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง เลขที่ บร ๔๖๕๐ แม้ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่สิบเจ็ดจะครอบครองที่ดิน มานานเพียงใด ก็ไม่อาจใช้ยันรัฐได้ การออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงดังกล่าวเป็นไปตามระเบียบและขั้นตอน ที่กฎหมายกำหนด ขอให้ยกฟ้อง เห็นว่า แม้เหตุแห่งการฟ้องคดีจะเนื่องมาจากการที่ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่สิบเจ็ด กล่าวอ้างว่า ผู้ถูกฟ้องคดีออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงไม่ชอบด้วยกฎหมายทับที่ดินที่ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่สิบเจ็ดครอบครองทำประโยชน์ ไม่ติดประกาศหรือแจ้งให้ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่สิบเจ็ดทราบก่อน ทั้งไม่เปิดโอกาสให้ผู้ฟ้องคดี ทั้งสี่สิบเจ็ดโต้แย้งหรือคัดค้าน พร้อมทั้งมีคำขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงแปลงพิพาท กับให้ออกหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินให้แก่ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่สิบเจ็ด แต่การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้ ผู้ถูกฟ้องคดีเพิกถอนหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงตามคำขอของผู้ฟ้องคดีทั้งสี่สิบเจ็ดได้นั้น ศาลจำต้องพิจารณา ให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินซึ่งผู้ฟ้องคดีทั้งสี่สิบเจ็ดมีสิทธิครอบครองหรือเป็นที่สาธารณประโยชน์ กรณีจึงเป็นคดีที่ผู้ฟ้องคดีทั้งสี่สิบเจ็ดขอให้ศาลมีคำพิพากษารับรองคุ้มครองสิทธิในที่ดินที่พิพาทของผู้ฟ้องคดี ทั้งสี่สิบเจ็ดเป็นสำคัญ จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

5

จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง นางผกาพร ศรีสุข ที่ ๑ กับพวกรวม ๔๗ คน ผู้ฟ้องคดี ผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ ผู้ถูกฟ้องคดี อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) วีระพล ตั้งสุวรรณ (ลงชื่อ) จิรนิติ หะวานนท์
(นายวีระพล ตั้งสุวรรณ) (นายจิรนิติ หะวานนท์)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) ปิยะ ปะตังทา (ลงชื่อ) ชาญชัย แสวงศักดิ์
(นายปิยะ ปะตังทา) (นายชาญชัย แสวงศักดิ์)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลเรือโท ปรีชาญ จามเจริญ (ลงชื่อ) พลตรี พัฒนพงษ์ เกิดอุดม
(ปรีชาญ จามเจริญ) (พัฒนพงษ์ เกิดอุดม)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share