คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5286/2559

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าเช็คพิพาททั้งสิบหกฉบับมีการปลอมลายมือชื่อผู้สั่งจ่าย แต่จำเลยที่ 14 ประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์เป็นที่ไว้วางใจของประชาชน การจ่ายเงินตามเช็คที่มีผู้มาขอเบิกเงินจากธนาคารเป็นงานส่วนหนึ่งของจำเลยที่ 14 ย่อมมีความชำนาญในการตรวจสอบลายมือชื่อในเช็คว่าเป็นลายมือชื่อของผู้สั่งจ่ายหรือไม่ยิ่งไปกว่าบุคคลธรรมดา ทั้งต้องมีความระมัดระวังในการจ่ายเงินตามเช็คยิ่งกว่าวิญญูชนทั่ว ๆ ไป การที่จำเลยที่ 14 จ่ายเงินตามเช็คพิพาททั้งสิบหกฉบับซึ่งเป็นเช็คที่มีการปลอมลายมือชื่อผู้สั่งจ่าย ทั้งที่มีตัวอย่างลายมือชื่อของโจทก์ที่ให้ไว้แก่จำเลยที่ 14 กับมีเช็คอีกหลายฉบับที่โจทก์เคยสั่งจ่ายไว้อยู่ที่จำเลยที่ 14 จึงเป็นการขาดความระมัดระวังของจำเลยที่ 14 ผู้ประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ ถือได้ว่าเป็นความบกพร่องของจำเลยที่ 14 เอง จำเลยที่ 14 จึงไม่หลุดพ้นจากความรับผิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 1008 วรรคหนึ่ง
ค. กรรมการโจทก์เก็บสมุดเช็คไว้ในลิ้นชักโต๊ะทำงานของตนบริเวณชั้นสองของอาคารที่ทำการ ซึ่ง ค. ทำงานที่อาคารชั้นสองเพียงคนเดียว ส่วนพนักงานคนอื่น ๆ ทำงานชั้นล่างของอาคาร พนักงานจะขึ้นไปต่อเมื่อ ค. เรียกเข้าพบเท่านั้น โต๊ะทำงานและลิ้นชักดังกล่าวล็อกกุญแจไว้ทุกครั้ง กุญแจจะอยู่ที่ ค. เพียงคนเดียว ดังนี้ ฟังได้ว่าโจทก์ได้เก็บรักษาเช็คพิพาทดังเช่นวิญญูชนพึงกระทำแล้ว ถือไม่ได้ว่าโจทก์กระทำโดยประมาทอันจะถือว่าโจทก์เป็นผู้ต้องตัดบทมิให้ยกข้อลายมือชื่อปลอมขึ้นต่อสู้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1008 วรรคหนึ่ง และแม้โจทก์มิได้แจ้งให้จำเลยที่ 14 ทราบเมื่อเช็คพิพาททั้งสิบหกฉบับเกิดการสูญหายและมีผู้ไม่สุจริตนำไปปลอมลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายก็ตาม เมื่อโจทก์มิได้กระทำโดยประมาท จำเลยที่ 14 จะหยิบยกข้อสัญญาที่ยกเว้นความรับผิดของตนมาปัดความรับผิดไม่ได้
ในคดีอาญา เป็นกรณีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ในคดีนี้เป็นจำเลย ในข้อหาความผิดเกี่ยวกับเอกสาร ลักทรัพย์ ความผิดเกี่ยวกับบัตรอิเลคทรอนิกส์ ส่วนคดีนี้เป็นคดีที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 14 เป็นจำเลย ในข้อหาละเมิด ฝากทรัพย์ คดีนี้ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 14 จึงไม่ใช่คดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ทั้งจำเลยที่ 14 ในคดีนี้ก็ไม่ได้ถูกฟ้องเป็นจำเลยในคดีอาญาดังกล่าว ฟ้องของโจทก์เกี่ยวกับจำเลยที่ 14 จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสิบสี่ร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์จำนวน 2,601,326.82 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 2,469,415.82 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1,2,3,4,5,8,9,10,12,13,14 ให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 6 ที่ 7 และที่ 11 ขาดนัดยื่นคำให้การ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ร่วมกันชำระเงินจำนวน 2,601,326.82 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 2,469,415.82 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2552) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ โดยให้จำเลยที่ 6 ร่วมรับผิดจำนวน 695,115.66 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 652,025.66 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยที่ 7 ร่วมรับผิดจำนวน 104,720.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 97,845.50 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยที่ 8 ร่วมรับผิดจำนวน 96,668 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 90,600 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยที่ 10 ร่วมรับผิดจำนวน 198,347.87 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 198,100.87 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยที่ 11 ร่วมรับผิดจำนวน 467,626.03 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 449,992.03 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยที่ 12 ร่วมรับผิดจำนวน 301,916.55 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 290,186.55 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยที่ 13 ร่วมรับผิดจำนวน 95,509.16 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 91,595.16 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยที่ 14 ร่วมรับผิดจำนวน 1,300,663.41 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 1,234,707.91 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ร่วมกันชำระค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ ส่วนจำเลยที่ 6 ที่ 7 ที่ 8 ที่ 10 ที่ 11 ที่ 12 ที่ 13 และที่ 14 ให้ร่วมกันชำระเฉพาะในส่วนที่โจทก์ชนะคดี โดยกำหนด ค่าทนายความ 50,000 บาท สำหรับจำเลยที่ 9 และคำขออื่นของโจทก์ให้ยก
โจทก์ จำเลยที่ 1 ที่ 8 และที่ 14 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 14 ชำระเงิน 2,601,326.82 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 2,469,415.82 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2552) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 ที่ 5 ที่ 6 ที่ 7 ที่ 8 ที่ 10 ที่ 11 ที่ 12 และที่ 13 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 ถึงที่ 13 ทั้งสองศาลให้เป็นพับ ให้จำเลยที่ 14 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์ กำหนดค่าทนายความให้ 30,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 14 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 14 ประการแรกมีว่า จำเลยที่ 14 ต้องรับผิดต่อโจทก์หรือไม่ โจทก์ได้เก็บรักษาเช็คพิพาทดังเช่นวิญญูชนพึงกระทำแล้ว ถือไม่ได้ว่าโจทก์กระทำโดยประมาทอันจะถือว่าโจทก์เป็นผู้ต้องตัดบทมิให้ยกข้อลายมือชื่อปลอมขึ้นต่อสู้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1008 วรรคหนึ่ง และแม้โจทก์มิได้แจ้งให้จำเลยที่ 14 ทราบเมื่อเช็คพิพาททั้ง 16 ฉบับ เกิดการสูญหายและมีผู้ไม่สุจริตนำไปปลอมลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายก็ตาม เมื่อโจทก์มิได้กระทำโดยประมาท จำเลยที่ 14 จึงต้องรับผิดชำระเงินให้โจทก์ และจำเลยที่ 14 จะหยิบยกข้อสัญญาที่ยกเว้นความรับผิดของตนมาปัดความรับผิดไม่ได้ ได้ความจากคำเบิกความของนายจักรพงษ์และ เค็นเน็ธ ไมเคิล โครว์ ว่า ในระหว่างการพิจารณาในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 4118/2553 ของศาลชั้นต้น จำเลยที่ 3 ได้ชดใช้เงินให้โจทก์ 70,000 บาท กับจำเลยที่ 2 และที่ 4 ยินยอมให้หักเงินในส่วนที่โจทก์เป็นหนี้ค่าผักและผลไม้ต่อคณะบุคคลเฟรช แอนด์ ฟู๊ด ซึ่งโจทก์ได้หักเงินจำนวน 130,000 บาท แล้ว ดังนั้น จึงต้องหักเงินทั้งสองจำนวนดังกล่าวออกจากเงินต้นส่วนที่จำเลยที่ 14 ต้องรับผิดต่อโจทก์ ฎีกาของจำเลยที่ 14 ข้อนี้ฟังขึ้นบางส่วน
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 14 ประการต่อไปมีว่า ในคดีอาญาที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 3 ที่ 2 ที่ 4 และที่ 1 ในคดีนี้เป็นจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ในคดีดังกล่าว ในข้อหาความผิดเกี่ยวกับเอกสาร ลักทรัพย์ ความผิดเกี่ยวกับบัตรอิเลคทรอนิกส์ ต่อศาลชั้นต้น เป็นคดีอาญาหมายเลขดำที่ 4910/2551 จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ในคดีดังกล่าวให้การรับสารภาพ ส่วนจำเลยที่ 4 ในคดีดังกล่าวให้การปฏิเสธ ศาลมีคำสั่งให้โจทก์แยกฟ้องจำเลยที่ 4 เป็นคดีต่างหาก และต่อมาศาลมีคำพิพากษาจำคุกจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ในคดีดังกล่าวคนละ 19 ปี และให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันคืนเงินที่ถูกประทุษร้ายไปและยังไม่ได้คืนจำนวน 4,213,777.15 บาท แก่ผู้เสียหายทั้งสาม (หมายถึงบริษัทโคโยเต้ ภูเก็ต จำกัด บริษัทเอ็มเมอร์รัลด์ ไอล (ภูเก็ต) จำกัด ซึ่งคือโจทก์ในคดีนี้ และบริษัทอ็อสพิแท็ลลิทีเวนเชอ กรุ๊ป (ไทยแลนด์) จำกัด ซึ่งเป็นโจทก์ร่วมที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ในคดีดังกล่าว) ตามสำเนาคำพิพากษาคดีหมายเลขแดงที่ 4118/2553 ของศาลชั้นต้น เงินที่ศาลสั่งคืนจำนวนดังกล่าวเป็นเงินจำนวนเดียวกันกับที่โจทก์ฟ้องในคดีนี้ ดังนั้น จำเลยที่ 14 จึงไม่จำต้องรับผิดชำระเงินคืนให้แก่โจทก์ตามฟ้อง เห็นว่า ในคดีอาญาตามฎีกาจำเลยที่ 14 ดังกล่าวเป็นกรณีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ในคดีนี้เป็นจำเลย ในข้อหาความผิดเกี่ยวกับเอกสาร ลักทรัพย์ ความผิดเกี่ยวกับบัตรอิเลคทรอนิกส์ ส่วนคดีนี้เป็นคดีที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 14 เป็นจำเลย ในข้อหาละเมิด ฝากทรัพย์ คดีนี้ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 14 จึงไม่ใช่คดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ทั้งจำเลยที่ 14 ในคดีนี้ก็ไม่ได้ถูกฟ้องเป็นจำเลยในคดีอาญาดังกล่าว ฟ้องของโจทก์เกี่ยวกับจำเลยที่ 14 จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 144 ฎีกาจำเลยที่ 14 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 14 ประการสุดท้ายมีว่า ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 กำหนด ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์เป็นเงิน 30,000 บาท นั้น สูงเกินไปหรือไม่ เห็นว่า การที่ศาลจะกำหนดความรับผิดชั้นที่สุดของคู่ความในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมซึ่งโดยหลักต้องตกแก่คู่ความฝ่ายที่แพ้คดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 161 วรรคหนึ่ง นั้น บทบัญญัติดังกล่าวให้ศาลมีอำนาจใช้ดุลพินิจได้โดยคำนึงถึงเหตุสมควรและความสุจริตในการสู้ความหรือการดำเนินคดีของคู่ความทั้งปวง ค่าทนายความเป็นค่าฤชาธรรมเนียมประเภทหนึ่งตามที่บัญญัติในวรรคสองของมาตราเดียวกัน ซึ่งเมื่อพิเคราะห์ถึงพฤติการณ์แห่งคดีตลอดถึงเหตุสมควรและความสุจริตในการดำเนินคดีของคู่ความทั้งสองฝ่ายแล้ว เห็นว่าศาลอุทธรณ์ภาค 8 ใช้ดุลพินิจกำหนดให้จำเลยที่ 14 ใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์เป็นเงิน 30,000 บาท ให้แก่โจทก์นั้น นับว่าเหมาะสมแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 14 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 14 ชำระเงิน 2,269,415.82 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามตารางคำนวณดอกเบี้ย จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 14 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 20,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8

Share