แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์บรรยายฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินพิพาทซึ่งติดจำนองไว้กับธนาคาร จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไปชำระหนี้ไถ่จำนองให้แก่ธนาคารแทนโจทก์ โจทก์จึงจดทะเบียนขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 โดยมิได้มีเจตนาที่จะซื้อขายกันอย่างแท้จริง และจำเลยที่ 1 และที่ 2 ก็มิได้มีเจตนาเป็นเจ้าของแต่มีเจตนายกที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ ดังนั้นตามรูปคดีของโจทก์ หาใช่เป็นเรื่องนิติกรรมอำพรางไม่ เพราะนิติกรรมอำพรางตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคสองนั้น จะต้องมีนิติกรรม 2 นิติกรรม โดยบุคคลทั้งสองฝ่ายแสร้งแสดงเจตนาทำนิติกรรมอันหนึ่งอำพรางนิติกรรมอีกอันหนึ่งซึ่งมีเจตนาแท้จริงมุ่งผูกนิติสัมพันธ์กัน แต่ตามคำฟ้องโจทก์คงมีเพียงนิติกรรมการซื้อขายที่ดินพิพาทเท่านั้น หาได้มีนิติกรรม 2 นิติกรรมอำพรางกันอยู่ไม่ ส่วนการที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไปชำระหนี้ให้แก่ธนาคารผู้รับจำนองแทนโจทก์ ก็ไม่ใช่นิติกรรมที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 กระทำกับโจทก์ ประเด็นแห่งคดีจึงเป็นเรื่องที่โจทก์กล่าวอ้างว่า โจทก์กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 แสดงเจตนาลวงโดยสมรู้กับคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่ง ซึ่งตกเป็นโมฆะ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคหนึ่ง ผู้มีส่วนได้เสียคนหนึ่งจะยกขึ้นกล่าวอ้างเมื่อใดก็ได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 172 โจทก์จึงชอบที่จะฟ้องเพิกถอนเสียเมื่อใดก็ได้ แม้โจทก์จะฟ้องคดีนี้เกินกว่า 10 ปีก็ตาม สิทธิที่จะฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมดังกล่าวของโจทก์ก็ไม่ขาดอายุความ
สำหรับประเด็นว่า โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้หรือไม่นั้น ปัญหานี้แม้ศาลล่างทั้งสองยังมิได้วินิจฉัยแต่คู่ความได้สืบพยานกันเสร็จสิ้นแล้ว เพื่อมิให้คดีล่าช้าศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยไปโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัย เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทย่อมได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานตาม ป.พ.พ. มาตรา 1373 ว่าเป็นผู้มีสิทธิครอบครอง โจทก์จึงมีภาระการพิสูจน์ ซึ่งพยานโจทก์ก็ไม่ปรากฏว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีเหตุผลใดที่ต้องร่วมกันกับโจทก์แสดงเจตนาลวงในการทำนิติกรรมดังกล่าว ส่วนที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ทำบันทึกว่า จะไม่ขายที่ดินให้แก่บุคคลอื่นนอกจากโจทก์และบุคคลในครอบครัวเท่านั้น และจะโอนกรรมสิทธิ์คืนให้ต่อเมื่อโจทก์ชำระเงินค่าไถ่จำนองให้แก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ก่อนแล้วนั้น ก็เป็นเพียงคำมั่นที่ไม่ได้กำหนดระยะเวลาไว้ เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 บอกกล่าวและกำหนดเวลาให้โจทก์ซื้อที่ดินคืน แต่โจทก์มิได้ปฏิบัติตาม คำมั่นดังกล่าวจึงเป็นอันไร้ผลไป ตาม ป.พ.พ. มาตรา 454 วรรคสอง โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินพิพาท
ย่อยาว
คดีทั้งสองสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษารวมกัน โดยให้เรียกโจทก์ทั้งสองสำนวนว่า โจทก์ เรียกจำเลยทั้งสามในสำนวนแรกว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 และให้เรียกจำเลยในสำนวนหลังว่า จำเลยที่ 4 ตามลำดับ
โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนนิติกรรมการขายที่ดินโฉนดเลขที่ 74 และ 77 ตำบลเมืองปัก อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา พร้อมสิ่งปลูกสร้าง ฉบับลงวันที่ 17 มิถุนายน 2545 ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 และให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่โจทก์ หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 กับให้เพิกถอนนิติกรรมขายที่ดินพิพาททั้งสองแปลงพร้อมสิ่งปลูกสร้างฉบับลงวันที่ 24 พฤษภาคม 2555 ระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2 กับจำเลยที่ 3 และให้เพิกถอนนิติกรรมขายที่ดินพิพาททั้งสองแปลงพร้อมสิ่งปลูกสร้างฉบับลงวันที่ 21 กันยายน 2555 ระหว่างจำเลยที่ 3 กับจำเลยที่ 4 หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ให้การในสำนวนแรก และจำเลยที่ 4 ให้การในสำนวนหลังขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกว่า ฟ้องโจทก์ที่ขอให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ขาดอายุความหรือไม่ โจทก์กล่าวบรรยายฟ้องว่า โจทก์นำที่ดินพิพาททั้งสองแปลงซึ่งเป็นของโจทก์ไปจดทะเบียนจำนองไว้กับธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ต่อมาธนาคารผู้รับจำนองฟ้องโจทก์และจะนำที่ดินพิพาททั้งสองแปลงออกขายทอดตลาด จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระหนี้ให้ธนาคารผู้รับจำนองแทนโจทก์และโจทก์จดทะเบียนขายที่ดินพิพาททั้งสองแปลงให้แก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งความจริงแล้วโจทก์กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 มิได้มีเจตนาซื้อขายที่ดินพิพาททั้งสองแปลงแต่ประการใด อันเป็นการแสดงเจตนาลวงโดยสมรู้กัน จำเลยที่ 1 และที่ 2 เจตนาสละสิทธิการครอบครองและมิได้มีเจตนาเป็นเจ้าของแต่มีเจตนายกที่ดินพิพาททั้งสองแปลงให้แก่โจทก์ นิติกรรมการซื้อขายที่ดินพิพาททั้งสองแปลงเป็นนิติกรรมอำพรางตกเป็นโมฆะ เห็นว่า การที่จะเป็นนิติกรรมอำพรางและต้องบังคับตามนิติกรรมที่แท้จริงที่ถูกอำพรางตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 155 วรรคสอง นั้น จะต้องเป็นกรณีที่บุคคลทั้งสองฝ่ายแสร้งแสดงเจตนาทำนิติกรรมอันหนึ่งอำพรางนิติกรรมอีกอันหนึ่งซึ่งมีเจตนาแท้จริงมุ่งจะผูกนิติสัมพันธ์กันนั้น คือนิติกรรมอำพรางจะต้องมีนิติกรรม 2 นิติกรรม อำพรางกันอยู่ โดยคู่กรณีมุ่งบังคับตามนิติกรรมที่แท้จริงซึ่งถูกอำพรางไว้ แต่คดีนี้ตามรูปเรื่องที่โจทก์บรรยายฟ้องมิใช่นิติกรรมอำพรางเนื่องจากโจทก์กล่าวอ้างเพียงว่าคู่กรณีมิได้มีเจตนาซื้อขายกัน จำเลยที่ 1 และที่ 2 เจตนาสละสิทธิการครอบครองและมิได้มีเจตนาเป็นเจ้าของ แต่มีเจตนายกที่ดินพิพาททั้งสองแปลงให้แก่โจทก์เท่านั้น ดังนั้น จะเห็นได้ว่าการทำนิติกรรมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 คงมีนิติกรรมการซื้อขายที่ดินพิพาทเท่านั้น หาได้มีนิติกรรม 2 นิติกรรม อำพรางกันอยู่ไม่ ส่วนการที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไปชำระหนี้ให้แก่ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) แทนโจทก์นั้นก็ไม่ใช่นิติกรรมที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 กระทำกับโจทก์ การบรรยายฟ้องของโจทก์ที่ว่าหลังจากจำเลยที่ 1 และที่ 2 ชำระหนี้ให้แก่ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) แทนโจทก์แล้ว โจทก์จดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทซึ่งจำนองไว้กับธนาคารให้แก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ความจริงแล้วโจทก์กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 มิได้มีเจตนาซื้อขายที่ดินพิพาททั้งสองแปลงแต่ประการใด กรณีจึงเป็นเรื่องที่โจทก์บรรยายฟ้องกล่าวอ้างเป็นประเด็นโดยตรงแห่งคดีนี้ว่า นิติกรรมการซื้อขายที่ดินพิพาททั้งสองแปลงระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นการแสดงเจตนาลวงโดยสมรู้กับคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งตกเป็นโมฆะ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 155 วรรคหนึ่ง ซึ่งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาตามคำฟ้องของโจทก์ข้างต้นเป็นเรื่องที่โจทก์อ้างว่านิติกรรมการซื้อขายที่ดินพิพาทตกเป็นโมฆะ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 155 วรรคหนึ่ง อันเป็นกรณีของการแสดงเจตนาลวงโดยสมรู้กันเป็นโมฆะ ซึ่งผู้มีส่วนได้เสียคนหนึ่งคนใดจะยกความเสียเปล่าแห่งโมฆะกรรมขึ้นกล่าวอ้างตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 172 ก็ได้ ดังนั้น โจทก์ชอบที่จะฟ้องขอเพิกถอนเสียเมื่อใดก็ได้ คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการต่อมาว่า โจทก์ฟ้องขอเพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินพิพาททั้งสองแปลงระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้หรือไม่ สำหรับประเด็นนี้ แม้ว่าศาลล่างทั้งสองยังไม่ได้วินิจฉัยแต่คู่ความได้สืบพยานเสร็จสิ้นแล้ว เพื่อมิให้คดีล่าช้าเห็นสมควรวินิจฉัยไปโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัย โจทก์ฎีกาว่า สัญญาซื้อขายระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นโมฆะเนื่องจากการแสดงเจตนาของโจทก์ในการทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาททั้งสองแปลงเป็นการแสดงเจตนาลวงโดยสมรู้กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ได้มีเจตนาที่จะซื้อขายกันจริงนั้น เห็นว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาททั้งสองแปลงตามโฉนดที่ดิน อันเป็นเอกสารมหาชนย่อมได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1373 ว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นผู้มีสิทธิครอบครอง โจทก์กล่าวอ้างว่านิติกรรมการซื้อขายที่ดินพิพาททั้งสองแปลงเกิดจากเจตนาลวงโดยสมรู้กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 โจทก์จึงมีภาระการพิสูจน์ ซึ่งก็ได้ความจากทางนำสืบของโจทก์ว่า นอกจากโจทก์จะรับว่าโจทก์ทำสัญญาซื้อขายกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 แล้ว โจทก์ก็รับว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นผู้ชำระเงินไถ่ถอนจำนองที่ดินพิพาททั้งสองแปลงซึ่งเป็นของโจทก์จากธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) นอกจากนี้เมื่อพิจารณาจำนวนเงินตามสัญญาซื้อขายซึ่งมีจำนวนตรงกันกับที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไปจดทะเบียนไถ่ถอนจำนองให้แก่โจทก์ ทั้งจากทางนำสืบของโจทก์ก็ไม่ปรากฏมูลเหตุจูงใจที่จะชี้ให้ศาลเห็นได้ว่ามีเหตุผลใดที่ทำให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 จะต้องร่วมกันกับโจทก์แสดงเจตนาลวงในการทำนิติกรรมดังกล่าว และที่โจทก์ฎีกาว่า หากโจทก์กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 จะมีเจตนาซื้อขายที่ดินกันจริง ก็ไม่มีเหตุผลใดที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 จะต้องทำบันทึกฉบับลงวันที่ 14 มิถุนายน 2545 ซึ่งแสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ประสงค์จะนำเงินไปชำระหนี้เพื่อไถ่ถอนจำนองแทนโจทก์ ทั้งยังมีเงื่อนไขว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 จะไม่จำหน่ายจ่ายโอนที่ดินพิพาททั้งสองแปลงให้แก่บุคคลอื่น นอกจากโจทก์และบุคคลในครอบครัวเท่านั้น เห็นว่า บันทึกข้อตกลงเป็นบันทึกก่อนที่จะมีการทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทอันเป็นกรณีที่มีข้อตกลงกำหนดเงื่อนไขเรื่องของการชำระราคาและการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทว่าจะมีการชำระราคาด้วยวิธีใด และเงื่อนไขในการโอนกรรมสิทธิ์รวมทั้งกรณีที่โจทก์จะขอโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทคืน อันเป็นการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ที่จะเข้าทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทจากโจทก์ หาใช่เป็นกรณีที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 นำเงินไปไถ่ถอนจำนองที่ดินพิพาทแทนโจทก์ โดยมิได้มีเจตนาที่จะให้เป็นการซื้อขายที่ดินพิพาทตามสัญญาซื้อขายไม่ ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ทำสัญญาขายที่ดินพิพาททั้งสองแปลงให้แก่จำเลยที่ 3 โดยไม่สุจริต เป็นการกระทำผิดข้อตกลงที่โอนกรรมสิทธิ์กลับคืนให้แก่โจทก์และบุคคลในครอบครัวตามบันทึกนั้น เห็นว่า แม้จะปรากฏข้อความตามบันทึกที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ทำไว้ว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 จะไม่ขายที่ดินพิพาททั้งสองแปลงให้แก่บุคคลอื่นนอกจากโจทก์และบุคคลในครอบครัวเท่านั้น รวมทั้งระบุกรณีที่โจทก์จะขอโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินคืนได้ต่อเมื่อชำระเงินค่าไถ่ถอนจำนองให้แก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ก่อน ก็เป็นคำมั่นของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ที่ไม่ได้กำหนดระยะเวลาบอกกล่าวให้โจทก์ชำระเงินให้แก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไว้ และปรากฏจากคำเบิกความของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ก็ได้ความว่า เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2555 จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีหนังสือบอกกล่าวให้โจทก์และบุคคลในครอบครัวซื้อที่ดินพิพาทคืนภายในกำหนดระยะเวลา โจทก์ไม่มีหนังสือตอบกลับหรือเสนอซื้อที่ดินพิพาทคืนภายในกำหนดเวลา ซึ่งโจทก์ก็เบิกความตอบทนายจำเลยทั้งสี่ถามค้านถึงเรื่องดังกล่าวเพียงว่าโจทก์ได้โทรศัพท์ไปติดต่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 ภายในระยะเวลาที่กำหนดแล้ว อันเป็นการเจือสมพยานจำเลยทั้งสี่ ทั้งโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานอื่นใดมาสนับสนุนข้อกล่าวอ้างดังกล่าว พยานจำเลยทั้งสี่จึงมีน้ำหนักดีกว่า ข้อเท็จจริงจึงรับฟังไม่ได้ว่า โจทก์และบุคคลในครอบครัวประสงค์ที่จะปฏิบัติตามคำมั่นของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ที่กำหนดระยะเวลาให้ซื้อที่ดินพิพาทคืน ดังนั้นคำมั่นของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งได้ให้ไว้ก่อนจึงเป็นอันไร้ผลตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 454 วรรคสอง ไม่จำต้องโอนขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ตามที่ให้คำมั่นไว้ จำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาททั้งสองแปลงจึงมีสิทธิในการจำหน่ายจ่ายโอน ดังนั้นการที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้โอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาททั้งสองแปลงให้แก่จำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 3 โอนให้แก่จำเลยที่ 4 นั้น กรณีก็ไม่จำต้องคำนึงว่าจำเลยที่ 3 และที่ 4 จะรับโอนกรรมสิทธิ์โดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริตหรือไม่ ตามที่โจทก์ฎีกา โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 รวมทั้งขอให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2 กับจำเลยที่ 3 และระหว่างจำเลยที่ 3 กับจำเลยที่ 4 กับทั้งไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาข้ออื่นๆ ของโจทก์อีกต่อไป เนื่องจากไม่ทำให้ผลของคำพิพากษาเปลี่ยนแปลงไป ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ยกฟ้องมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ