แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตามคำโฆษณาโครงการยูเนี่ยนมอลล์ของจำเลย ภายในโครงการนอกจากจะมีพื้นที่ให้เช่าขายสินค้าแล้วยังมีร้านอาหาร สถานที่ออกกำลังกาย และสถานที่อื่น ๆ อีก แสดงว่าจำเลยมีเจตนาจัดให้มีสถานบริการดังกล่าวเพื่อจูงใจให้ลูกค้าจองสิทธิและทำสัญญาเช่าพื้นที่ภายในโครงการ การเช่าพื้นที่ภายในโครงการระหว่างโจทก์กับจำเลยมีเหตุผลให้เชื่อว่า เกิดจากเจตนาของจำเลยที่เสนอจะจัดให้มีสถานบริการดังกล่าวตามที่จำเลยโฆษณาไว้ และโจทก์ได้แสดงเจตนาสนองรับเข้าทำสัญญาเช่าพื้นที่ดังกล่าวเพราะเชื่อตามที่จำเลยได้โฆษณาไว้ซึ่งจะเป็นโครงการที่ทันสมัยมีผู้คนเข้าไปจับจ่ายใช้สอยจำนวนมาก ทำให้โจทก์มีโอกาสที่จะจำหน่ายสินค้าของโจทก์ได้มากขึ้น คุ้มค่ากับการลงทุนเช่าพื้นที่ แม้ข้อความในสัญญาเช่าจะไม่ได้ระบุข้อความตามที่จำเลยโฆษณาไว้ก็ตาม แต่จำเลยก็ต้องผูกพันและมีหน้าที่ต้องจัดให้มีสถานที่บริการตามคำโฆษณาที่โฆษณาไว้ต่อโจทก์และลูกค้ารายอื่น คำโฆษณาของจำเลยที่มีลักษณะเป็นการจูงใจโจทก์ให้เข้าทำสัญญาเช่านั้น ถือเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาเช่าพื้นที่ภายในโครงการระหว่างโจทก์กับจำเลยด้วย เมื่อปรากฏว่าในวันเปิดโครงการจำเลยยังดำเนินการจัดให้มีสถานบริการและกิจการตามคำโฆษณาดังกล่าวของจำเลยไม่ครบถ้วน โดยไม่ปรากฏเหตุแห่งความล่าช้าที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของจำเลย จำเลยจึงเป็นฝ่ายปฏิบัติผิดสัญญาเช่า โจทก์มีสิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าแก่จำเลย โดยโจทก์และจำเลยคู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม ตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคหนึ่ง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 466,120.87 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 419,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 389,000 บาท นับแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2549 และของต้นเงินจำนวน30,000 บาท นับแต่วันที่ 13 ตุลาคม 2549 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 8,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนจำเลย โดยกำหนดค่าทนายความรวม 15,000 บาท
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์มีสิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าและเรียกค่าเสียหายจากจำเลยได้หรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่า หลังจากจำเลยเปิดโครงการยูเนี่ยนมอลล์แล้ว ไม่มีลูกค้าเข้าไปจับจ่ายใช้สอยภายในโครงการยูเนี่ยนมอลล์มากเท่าจำนวนที่จำเลยโฆษณา ซึ่งการโฆษณาดังกล่าวถือเป็นสาระสำคัญที่ทำให้โจทก์เข้าทำสัญญาและถือเป็นส่วนหนึ่งของสัญญา เมื่อไม่เป็นไปตามคำโฆษณาจึงถือว่าจำเลยปฏิบัติผิดสัญญา โจทก์เบิกความว่า โจทก์ทำสัญญาเช่าพื้นที่ภายในโครงการยูเนี่ยนมอลล์ของจำเลยเพราะเห็นคำโฆษณา โดยจำเลยโฆษณาว่าจะเรียกลูกค้าได้ในวันธรรมดาจำนวน 50,000 คน ในวันหยุดจำนวน 70,000 คน และลูกค้าที่มาเข้าจับจ่ายใช้สอยจะใช้เงินคนละไม่น้อยกว่าจำนวน 500 บาท วันเปิดโครงการจำเลยจะจัดหาร้านค้าไม่น้อยกว่าจำนวน 50 เปอร์เซ็นต์ ของพื้นที่ให้เช่า ปรากฏว่าเมื่อถึงวันเปิดโครงการมีร้านค้าไม่ถึงจำนวน 10 เปอร์เซ็นต์ เห็นว่า เมื่อพิจารณาคำโฆษณาของจำเลยแล้วภายในโครงการยูเนี่ยนมอลล์นอกจากจะมีพื้นที่ให้เช่าขายสินค้าแล้ว ยังมีร้านอาหาร สถานที่ออกกำลังกาย และสถานที่อื่น ๆ อีก แสดงว่าภายในโครงการยูเนี่ยนมอลล์นั้น จำเลยมีเจตนาจัดให้มีสถานบริการดังกล่าว เพื่อจูงใจให้ลูกค้าเข้าจองสิทธิและทำสัญญาเช่าพื้นที่ภายในโครงการยูเนี่ยนมอลล์ การทำสัญญาเช่าพื้นที่ภายในโครงการดังกล่าวระหว่างโจทก์กับจำเลย มีเหตุผลให้เชื่อว่าเกิดจากเจตนาของจำเลยที่เสนอจะจัดให้มีสถานบริการดังกล่าวภายในพื้นที่โครงการตามที่จำเลยได้โฆษณาไว้ และโจทก์ได้แสดงเจตนาสนองรับเข้าทำสัญญาเช่าพื้นที่ดังกล่าวเพราะเชื่อตามที่จำเลยได้โฆษณาไว้ซึ่งจะทำให้โครงการดังกล่าวเป็นโครงการที่ทันสมัยมีผู้คนเข้าไปจับจ่ายใช้สอยจำนวนมาก ทำให้โจทก์มีโอกาสที่จะจำหน่ายสินค้าของโจทก์ได้มากขึ้น คุ้มค่ากับการลงทุนเช่าพื้นที่ แม้ข้อความในสัญญาเช่าจะไม่ได้ระบุข้อความตามที่จำเลยได้โฆษณาไว้ก็ตาม แต่จำเลยก็ต้องผูกพันและมีหน้าที่ต้องจัดให้มีสถานที่บริการตามคำโฆษณาในโครงการยูเนี่ยนมอลล์ของจำเลยตามที่โฆษณาไว้ต่อโจทก์และลูกค้ารายอื่น คำโฆษณาของจำเลยที่มีลักษณะเป็นการจูงใจโจทก์ให้เข้าทำสัญญาเช่า นั้นถือเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาเช่าพื้นที่ภายในโครงการยูเนี่ยนมอลล์ระหว่างโจทก์กับจำเลยด้วย เมื่อปรากฏว่าในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2549 อันเป็นวันเปิดโครงการยูเนี่ยนมอลล์ของจำเลย จำเลยยังดำเนินการจัดให้มีสถานบริการและกิจการตามคำโฆษณาในโครงการดังกล่าวของจำเลยไม่ครบถ้วนตามที่จำเลยได้โฆษณาไว้โดยไม่ปรากฏเหตุแห่งความล่าช้าที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของจำเลย จำเลยจึงเป็นฝ่ายที่ปฏิบัติผิดสัญญาเช่าดังกล่าว โจทก์ย่อมมีสิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าแก่จำเลย โดยโจทก์และจำเลยคู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 วรรคหนึ่ง ดังนั้น โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องเรียกเงินค่าสิทธิการเช่าคืน รวมทั้งค่าตบแต่งร้านค้าจากจำเลย ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาให้เป็นพับ