คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1252/2529

แหล่งที่มา : สำนักงาน ส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

คำว่า”คราวใดคราวหนึ่ง”และ”คราวถัดไปข้างหน้า”ตามป.พ.พ.มาตรา582หมายถึง”คราว”กำหนดจ่ายสินจ้าง”แต่ละคราว”โดยข้อเท็จจริงที่แยกกันจะรวมสองคราวมาเป็นคราวเดียวโดยถือจำนวนค่าจ้างที่ตกลงกันเป็นรายเดือนมาเป็นเกณฑ์ไม่ได้ จำเลยตกลงจ่ายค่าจ้างให้โจทก์ทุกวันที่15และทุกวันสิ้นเดือนเมื่อจำเลยบอกกล่าวเลิกสัญญาจ้างโจทก์เมื่อวันที่17มกราคม2527โดยจ่ายสินจ้างแก่โจทก์ครบจำนวนที่จะต้องจ่ายจนถึงคราววันที่15กุมภาพันธ์2527แล้วปล่อยโจทก์ออกจากงานไปทันทีจึงเป็นการชอบด้วยป.พ.พ.มาตรา582แล้ว.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยว่าจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างประจำในตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายขายพิเศษ ได้รับค่าจ้างเดือนละ 30,000 บาท ต่อมาเมื่อวันที่ 17 มกราคม 2527 จำเลยเลิกจ้าง โจทก์โดยอ้างเหตุว่าจำเป็นต้องยกเลิกฝ่ายขายพิเศษ การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์จะมีผลเป็นการเลิกสัญญาจ้างตามกฎหมายในวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2527 จำเลยจึงต้องจ่ายเงินเดือนสำหรับเดือนมกราคม และเดือนกุมภาพันธ์ 2527 เป็นเงิน60,000 บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 30,000 บาท ค่าชดเชย90,000 บาท รวม 180,000 บาท แต่จำเลยจ่ายให้โจทก์เพียง 135,000 บาทยังขาดเงินอีก 45,000 บาท โจทก์มีสิทธิได้รับเงินโบนัสสำหรับปีพ.ศ. 2526 เท่ากับค่าจ้าง 2 เดือน เป็นเงิน 60,000 บาท ซึ่งจำเลยยังมิได้จ่ายให้แก่โจทก์ ขอให้ศาลบังคับจำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานในตำแหน่งเดิม หากจำเลยไม่สามารถรับโจทก์กลับเข้าทำงานได้ ขอให้ศาลบังคับจำเลยชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดแต่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม3,600,000 บาท ค่าเสียหายอันเกิดแต่ละเมิด 1,000,000 บาท ให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชย เงินเดือน และเงินโบนัสที่ยังไม่จ่าย
จำเลยให้การปฏิเสธฟ้องโจทก์
ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยจ่ายค่าจ้างให้แก่โจทก์ทุกวันที่ 15 และทุกวันสิ้นเดือน จึงถือว่าจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าจ้าง ค่าชดเชยให้โจทก์ครบถ้วนแล้ว พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยในปัญหาเรื่องการจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าว่า “โจทก์อุทธรณ์เป็นข้อที่สามว่า โจทก์จำเลยตกลงจ่ายค่าจ้างกันเป็นเดือน แม้จะแบ่งจ่ายทุก 15 วันก็เป็นข้อตกลงในการสำรองจ่ายเงินเดือนไปก่อนเท่านั้นหาได้เป็นผลให้กลายเป็นการจ่ายค่าจ้างหรือเป็นการตกลงจ่ายค่าจ้างคราวละ 15 วันไม่เมื่อจำเลยบอกกล่าวเลิกจ้างโจทก์วันที่ 17 มกราคม 2527 การบอกเลิกสัญญาจึงจะมีผลเป็นการเลิกสัญญาจ้างในวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2527จำเลยจึงต้องจ่ายค่าจ้างให้โจทก์ถึงวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2527 เป็นจำนวน 60,000 บาท ตามคำฟ้อง ตามที่โจทก์อุทธรณ์ขึ้นมานี้ ศาลฎีกาเห็นว่า โจทก์คงมุ่งหมายที่จะอุทธรณ์ว่า เมื่อกำหนดจำนวนค่าจ้างกันเป็นเดือน กำหนดการจ่ายค่าจ้างก็ต้องเป็นเดือนด้วย หรือจะกล่าวอีกนัยหนึ่งว่า กำหนดจ่ายสินจ้างคราวใดคราวหนึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 582 นั้นหมายถึงการจ่ายค่าจ้าง 30,000 บาท จะต้องถือเป็นคราวเดือนเท่านั้นคือคราวทุกวันสิ้นเดือนจะหมายถึงทุกวันที่ 15 หรือทุกวันสิ้นเดือน โดยจะถือเป็นสองคราวไม่ได้ พิเคราะห์แล้ว เห็นว่าปัญหาดังกล่าวนั้นศาลฎีกาเคยวินิจฉัยเป็นแบบอย่างไว้แล้วอันมีนัยว่า “คราวใดคราวหนึ่ง” และ “คราวถัดไปข้างหน้า” ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 582 นั้น มีความหมายถึง “คราว”กำหนดจ่ายสินจ้าง “แต่ละคราว” โดยข้อเท็จจริงที่แยกกันจะรวมสองคราวมาเป็นคราวเดียวโดยถือจำนวนค่าจ้างที่ตกลงกันเป็นรายเดือนเป็นเกณฑ์ไม่ได้ ดังคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3058-3059/2527ฯ ดังนั้น เมื่อจำเลยบอกกล่าวเลิกสัญญาวันที่ 17 มกราคม 2527 ก่อนจะถึงกำหนดจ่ายสินจ้างคราววันสิ้นเดือนมกราคม 2527 ผลแห่งการบอกกล่าวจะให้เลิกสัญญาเมื่อถึงกำหนดจ่ายสินจ้างคราวถัดไปข้างหน้าจึงเป็นคราวันที่ 15กุมภาพันธ์ 2527 ซึ่งคดีนี้จำเลยได้จ่ายสินจ้างให้แก่โจทก์ครบจำนวนที่จะต้องจ่ายสำหรับคราววันสิ้นเดือนมกราคม 2527 จนถึงคราววันที่15 กุมภาพันธ์ 2527 อันเป็นเวลาเลิกสัญญาไปเลยทีเดียว แล้วปล่อยโจทก์ออกจากงานเสียในทันที จึงเป็นการชอบด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 582 แล้ว โจทก์หามีสิทธิเรียกร้องค่าจ้างสำหรับเดือนมกราคมและเดือนกุมภาพันธ์ 2527 ไม่ ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยความข้อนี้ชอบแล้วอุทธรณ์โจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.”

Share