แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ
ย่อสั้น
คดีที่เอกชนเป็นโจทก์ยื่นฟ้องมหาวิทยาลัยรามคำแหงเรียกค่าเสียหายจากการบอกเลิกสัญญาว่าจ้างโจทก์ให้บริการในการเดินทางศึกษาดูงานของนักศึกษาโครงการบริหารธุรกิจมหาบัณฑิตสำหรับผู้จัดการยุคใหม่ ณ ประเทศญี่ปุ่น กับให้จำเลยคืนหนังสือค้ำประกันและชำระค่าธรรมเนียมหนังสือค้ำประกัน เห็นว่า ข้อกำหนดของสัญญามีลักษณะเป็นสัญญาจ้างเหมาบริการซึ่งเป็นสัญญาจ้างทำของทั่วไป แม้ขอบเขตของงาน (TOR) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาระบุวัตถุประสงค์ว่าเพื่อให้นักศึกษาได้รับความรู้ประสบการณ์จริงเกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจ สามารถประยุกต์ใช้ในการเรียนและการปฏิบัติงานจริง ก็เป็นเพียงวัตถุประสงค์ของการศึกษาดูงานตามโครงการ มิใช่วัตถุประสงค์ให้โจทก์เข้าจัดทำบริการสาธารณะเสียเอง ประกอบกับขอบเขตของงานตามสัญญาและที่กำหนดในใบเสนอราคาล้วนเป็นบริการเกี่ยวกับการจองตั๋วเครื่องบินค่าธรรมเนียมการเข้าชมสถานที่ต่าง ๆ การผ่านแดน ค่าพาหนะ ค่าโรงแรม ค่าอาหาร ค่าจัดทำเอกสารการเดินทาง กระเป๋า และเสื้อโปโลของคณะเดินทาง รวมถึงค่าประกันอุบัติเหตุต่าง ๆ ซึ่งเป็นการจ้างเหมาบริการเท่านั้น แม้จะปรากฏว่ามีค่าบริการเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับสถานที่ศึกษาดูงานด้วย หน้าที่ของโจทก์ก็เป็นเพียงนายหน้าในการพาคณะนักศึกษาเข้าศึกษาดูงานในสถานที่ดังกล่าว แต่มิใช่เป็นการให้โจทก์เข้าร่วมจัดทำบริการสาธารณะโดยตรงอันจะถือว่าเป็นสัญญาที่ให้จัดทำบริการสาธารณะ ทั้งสัญญาพิพาทไม่มีลักษณะเป็นสัญญาสัมปทาน หรือสัญญาจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภคหรือสัญญาแสวงประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ ตามบทนิยามสัญญาทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ อันจะอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง สัญญาพิพาทในคดีนี้จึงเป็นเพียงสัญญาทางแพ่งที่มีคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครอง ดังนั้น ข้อพิพาทเกี่ยวกับการไม่ปฏิบัติตามสัญญานี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางแพ่งที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ย่อยาว
(สำเนา)
คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๒๖/๒๕๕๙
วันที่ ๒๘ เมษายน ๒๕๕๙
เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔)
ศาลแพ่ง
ระหว่าง
ศาลปกครองกลาง
การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลแพ่งโดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น
ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๑๒ ธันวาคม ๒๕๕๗ บริษัทดราโก้ โวยาจ จำกัด โจทก์ ยื่นฟ้องมหาวิทยาลัยรามคำแหง จำเลย ต่อศาลแพ่ง เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๕๔๓๐/๒๕๕๗ ความว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ประกอบธุรกิจนำเที่ยว เมื่อวันที่ ๒ พฤษภาคม ๒๕๕๗ จำเลยทำสัญญาว่าจ้างโจทก์ให้บริการในการเดินทางศึกษาดูงานของนักศึกษาโครงการบริหารธุรกิจมหาบัณฑิตสำหรับผู้จัดการยุคใหม่ ณ ประเทศญี่ปุ่น จำนวน ๖ สัญญา ได้แก่สัญญาเลขที่ ๑๘/๒๕๕๗ ถึงสัญญาเลขที่ ๒๓/๒๕๕๗ โดยมีประธานโครงการบริหารธุรกิจมหาบัณฑิตสำหรับผู้จัดการยุคใหม่เป็นผู้มีอำนาจหน้าที่ในการดูแลรับผิดชอบและการปฏิบัติตามสัญญาทั้งหมด ต่อมาจำเลยบอกเลิกสัญญาเลขที่ ๑๙/๒๕๕๗ ถึงเลขที่ ๒๓/๒๕๕๗ กับโจทก์โดยไม่มีเหตุอันควร ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และทำให้โจทก์เสียหาย ขอให้จำเลยชำระเงินจำนวน ๑๗,๗๐๗,๓๕๓.๗๖ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ให้จำเลยคืนหนังสือค้ำประกันของธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) จำนวน ๕ ฉบับ และให้จำเลยชำระค่าธรรมเนียมหนังสือค้ำประกันให้แก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยได้ว่าจ้างโจทก์ให้ดำเนินการให้บริการนำนักศึกษาโครงการบริหารธุรกิจมหาบัณฑิตสำหรับผู้จัดการยุคใหม่รุ่นต่าง ๆ ของคณะบริหารธุรกิจของจำเลยไปศึกษาดูงานที่ประเทศญี่ปุ่นจำนวน ๖ สัญญาจริง โดยโจทก์ปฏิบัติตามสัญญาฉบับแรก เลขที่ ๑๘/๒๕๕๗ ครบถ้วน และจำเลยชำระเงินให้แก่โจทก์ครบถ้วนตามสัญญาพร้อมทั้งคืนหนังสือค้ำประกันให้แก่โจทก์แล้ว ส่วนสัญญาอีก ๕ ฉบับ โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา ไม่สามารถหารถบัสสำหรับบริการรับส่งคณะเดินทางไปศึกษาดูงานตลอดการเดินทางในประเทศญี่ปุ่นได้ จำเลยจึงบอกเลิกสัญญาโดยชอบ ฟ้องโจทก์ในส่วนค่าเสียหายเคลือบคลุม ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีนี้เป็นคดีพิพาทที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลแพ่งพิจารณาแล้วเห็นว่า จำเลยทำสัญญาว่าจ้างโจทก์ให้บริการเดินทางศึกษาดูงานของนักศึกษาโครงการบริหารธุรกิจมหาบัณฑิตสำหรับผู้จัดการยุคใหม่ที่ประเทศญี่ปุ่นจำนวน ๖ สัญญา โดยโจทก์เป็นผู้ดำเนินการรับเหมาจัดทัวร์และรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการเดินทางนับแต่ออกเดินทางจนถึงเดินทางกลับ โดยโจทก์หวังเพียงเงินกำไรที่ได้จากการดำเนินธุรกิจเท่านั้น ไม่มีเจตนาที่จะร่วมกับจำเลยดำเนินการอันเป็นการบริการสาธารณะตามที่จำเลยกล่าวอ้างสัญญาทั้ง ๖ สัญญามีลักษณะเป็นสัญญาจ้างทำของตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๘๗ มีสาระสำคัญวัตถุประสงค์ของข้อตกลงอย่างเดียวกันคือ โจทก์ประกอบธุรกิจให้บริการท่องเที่ยวต่างประเทศ รับจ้างจำเลยนำนักศึกษาไปดูงานต่างประเทศตามหลักสูตรการศึกษาของจำเลย โดยจำเลยผู้ว่าจ้างตกลงชำระค่าจ้างให้แก่โจทก์ โดยโจทก์ประสงค์เพียงเงินกำไรจากการดำเนินการดังกล่าว สัญญาดังกล่าวเป็นลักษณะของการประกอบกิจการเชิงพาณิชย์ของเอกชน ซึ่งเป็นไปตามข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลย จำเลยไม่ได้มอบหมายให้โจทก์เข้าดำเนินการบริการสาธารณะโดยตรงหรือเข้าร่วมดำเนินการจัดการบริการสาธารณะกับจำเลย ข้อตกลงดังกล่าวไม่มีลักษณะเป็นสัญญาที่ให้จัดทำบริการสาธารณะ อีกทั้งเนื้อหาของข้อตกลงเป็นเพียงข้อกำหนดปกติที่พบเห็นได้ในสัญญาทั่วไปมิได้แสดงถึงเอกสิทธิ์ของรัฐเพื่อให้การใช้อำนาจทางปกครองหรือการดำเนินกิจการทางปกครองอันเป็นบริการสาธารณะบรรลุผล แต่เป็นสัญญาที่คู่สัญญาทำขึ้นโดยมุ่งผูกพันด้วยใจสมัครบนพื้นฐานแห่งความเสมอภาคเท่าเทียมกันอันเป็นสัญญาทางแพ่งที่มีหน่วยงานทางปกครองเป็นคู่สัญญา ข้อตกลงดังกล่าวจึงไม่มีลักษณะเป็นสัญญาทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ดังนั้น เมื่อโจทก์ฟ้องให้จำเลยชำระหนี้ตามข้อตกลงในเรื่องสัญญาว่าจ้างโจทก์ให้บริการเดินทางไปศึกษาดูงานของนักศึกษาที่ประเทศญี่ปุ่น จึงเป็นสัญญาทางแพ่ง มิใช่คดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง อันจะอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจศาลยุติธรรม
ศาลปกครองกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า จำเลยเป็นสถานศึกษาในสังกัดทบวงมหาวิทยาลัย จัดตั้งตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยรามคำแหง พ.ศ. ๒๕๔๑ จำเลยจึงมีฐานะเป็นสถานศึกษาที่เป็นนิติบุคคลในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา และเป็นหน่วยงานทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ซึ่งจำเลยได้ทำสัญญาว่าจ้างโจทก์ให้บริการในการเดินทางศึกษาดูงานของนักศึกษาโครงการบริหารธุรกิจมหาบัณฑิตสำหรับผู้จัดการ ยุคใหม่ ณ ประเทศญี่ปุ่น จำนวน ๖ ฉบับ สัญญาดังกล่าวจึงเป็นสัญญาที่มีคู่สัญญาฝ่ายหนึ่ง คือจำเลยเป็นหน่วยงานทางปกครอง และสัญญาดังกล่าวกำหนดให้โจทก์มีหน้าที่ต้องจัดหาบัตรโดยสารเครื่องบินจองที่พักและจัดเตรียมร้านอาหารเพื่อบริการผู้เข้าร่วมโครงการตลอดการเดินทาง จัดทำคู่มือและรายละเอียดการเดินทาง จัดหาเครื่องดื่มและอาหารว่าง จัดทำเสื้อโปโลและกระเป๋าลากเพื่อแจกนักศึกษาที่ร่วมเดินทาง จัดทำกรมธรรม์ประกันอุบัติเหตุ จัดหารถบัสโดยสารเพื่อบริการรับส่ง โดยโจทก์เป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด รวมมูลค่าการว่าจ้างทั้งหมดเป็นเงินจำนวน ๕๙,๘๓๐,๐๐๐ บาท ซึ่งแม้สัญญาว่าจ้างดังกล่าวจะกำหนดการให้ค่าตอบแทน ผลประโยชน์ หรือกำไรแก่คู่สัญญาด้วยก็ตาม แต่สัญญาที่มีการกำหนดให้คู่สัญญาแต่ละฝ่ายได้ค่าตอบแทนผลประโยชน์ หรือกำไรก็มิใช่ต้องเป็นสัญญาในทางกฎหมายเอกชนเท่านั้น ซึ่งเมื่อพิจารณามาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยรามคำแหง พ.ศ. ๒๕๔๑ บัญญัติให้มหาวิทยาลัยรามคำแหงซึ่งจัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยรามคำแหง พ.ศ. ๒๕๑๔ เป็นมหาวิทยาลัยรามคำแหงตามพระราชบัญญัตินี้และเป็นนิติบุคคล โดยมาตรา ๗ แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว กำหนดให้มหาวิทยาลัยรามคำแหงเป็นสถานศึกษาและวิจัยแบบตลาดวิชาที่ผู้ศึกษาสามารถศึกษาได้ด้วยตนเองโดยไม่จำต้องเข้าชั้นเรียนที่มหาวิทยาลัยจัดให้ ทั้งนี้ โดยมีวัตถุประสงค์ให้การศึกษาส่งเสริมวิชาการและวิชาชีพชั้นสูง ทำการสอน ทำการวิจัยให้บริการทางวิชาการแก่สังคมและทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม จึงเห็น ได้ว่าการดำเนินการดังกล่าวเป็นการบริการนักศึกษา ซึ่งสัญญาว่าจ้างโจทก์ให้บริการในการเดินทางศึกษาดูงานของนักศึกษาดังกล่าว มีวัตถุประสงค์ ดังนี้ ๑. เพื่อให้นักศึกษาได้รับความรู้ประสบการณ์จริงเกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจสามารถประยุกต์ใช้ในการเรียนและปฏิบัติงานจริง ๒. เพื่อให้นักศึกษาได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความคิดเห็นจากการศึกษาดูงานระหว่างศึกษาด้วยกันเอง วิทยากร และผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องและเปิดโลกทัศน์ให้กว้างไกล ๓. เพื่อแลกเปลี่ยนศิลปวัฒนธรรมของไทยกับต่างประเทศ และ ๔. เพื่อเสริมสร้างความรัก ความสามัคคี และความผูกพันระหว่างนักศึกษาของสถาบัน แม้จะมีลักษณะให้โจทก์เป็นผู้ดำเนินการรับเหมาจัดทัวร์และรับผิดชอบในค่าใช้จ่ายในการเดินทางนับแต่ออกเดินทางจนถึงเดินทางกลับ โดยโจทก์จะได้เงินกำไรจากการดำเนินธุรกิจด้วยก็ตาม แต่เมื่อการดำเนินการดังกล่าวเป็นการบริการนักศึกษาหลักสูตรบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต สาขาวิชาการเงินและการธนาคาร สาขาการจัดการ สาขาวิชาการตลาด และสาขาวิชาการบัญชี ซึ่งกำหนดให้นักศึกษาต้องฝึกอบรม ศึกษาดูงานนอกสถานที่หรือในสถานที่ปฏิบัติงานจริงก่อนสอบประมวลผลเพื่อสำเร็จการศึกษา โดยกำหนดเป็นกลยุทธ์การสอนที่ใช้พัฒนาการเรียนรู้ด้านคุณธรรม จริยธรรม ด้านความรู้ ด้านทักษะทางปัญญาและด้านทักษะความสัมพันธ์ระหว่างตัวบุคคลและความรับผิดชอบของหลักสูตรด้วย ซึ่งหลักสูตรดังกล่าวได้รับการอนุมัติและรับรองจากสภามหาวิทยาลัยรามคำแหงและสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา กรณีจึงถือได้ว่าเป็นการว่าจ้างโจทก์เพื่อให้โจทก์ดำเนินการแทนจำเลยบางส่วนในการจัดทำบริการสาธารณะอันเกี่ยวกับการดำเนินการตามหลักสูตรดังกล่าว ดังนั้น สัญญาดังกล่าวจึงมีลักษณะเป็นสัญญาที่ให้คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งเข้าดำเนินการหรือเข้าร่วมดำเนินการบริการสาธารณะ และเป็นสัญญาทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้ง ศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ข้อพิพาทเกี่ยวกับสัญญาดังกล่าวจึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว
คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยชำระเงิน คืนหนังสือค้ำประกัน และชำระค่าธรรมเนียมหนังสือค้ำประกันตามสัญญาว่าจ้างโจทก์ให้บริการในการเดินทางศึกษาดูงาน ณ ประเทศญี่ปุ่น ของนักศึกษาโครงการบริหารธุรกิจมหาบัณฑิตสำหรับผู้จัดการยุคใหม่ เลขที่ ๑๙/๒๕๕๗ ถึงเลขที่ ๒๓/๒๕๕๗ รวม ๕ ฉบับ จำเลยให้การว่า จำเลยได้ว่าจ้างโจทก์จริง โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาว่าจ้างทั้ง ๕ ฉบับ จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหาย จำเลยบอกเลิกสัญญาโดยชอบแล้ว และคำฟ้องในส่วนค่าเสียหายเคลือบคลุม พร้อมทั้งโต้แย้งว่าคดีนี้เป็นข้อพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง กรณีมีปัญหาต้องพิจารณาว่า สัญญาจ้างเหมาให้บริการในการเดินทางศึกษาดูงาน ณ ประเทศญี่ปุ่น โครงการบริหารธุรกิจมหาบัณฑิตสำหรับผู้จัดการยุคใหม่ เป็นสัญญาทางแพ่งหรือสัญญาทางปกครอง เห็นว่า พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งในเรื่องดังต่อไปนี้ (๔) คดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง และมาตรา ๓ บัญญัติว่า สัญญาทางปกครอง หมายความรวมถึง สัญญาที่คู่สัญญาอย่างน้อยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองหรือเป็นบุคคลซึ่งกระทำการแทนรัฐ และมีลักษณะเป็นสัญญาสัมปทาน สัญญาที่ให้จัดทำบริการสาธารณะ หรือจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภคหรือแสวงประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ ข้อเท็จจริงคดีนี้จำเลยเป็นสถาบันในสังกัดทบวงมหาวิทยาลัย ซึ่งมีกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งสถานศึกษานั้นโดยเฉพาะและมีฐานะเป็นกรม ตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๓๔ อยู่ในวันที่พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. ๒๕๔๖ ใช้บังคับ จึงมีฐานะเป็นสถานศึกษาที่เป็นนิติบุคคลในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ตามมาตรา ๘๒ แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน อันเป็นหน่วยงานทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ โดยจำเลยได้ทำสัญญาว่าจ้างโจทก์ให้บริการในการเดินทางศึกษาดูงาน ณ ประเทศญี่ปุ่น ของนักศึกษาโครงการบริหารธุรกิจมหาบัณฑิตสำหรับผู้จัดการยุคใหม่ จำนวน ๖ ฉบับ ซึ่งข้อ ๑ ของสัญญาระบุว่า ผู้ว่าจ้างตกลงจ้างและผู้รับจ้างตกลงรับจ้างเหมาบริการในการเดินทางศึกษาดูงาน ณ ประเทศญี่ปุ่น ข้อ ๖ ระบุหน้าที่ของโจทก์ว่า ผู้รับจ้างตกลงรับจ้างทำการตามสัญญาข้อ ๑ โดยต้องจัดหาพนักงานที่มีความประพฤติดี มีความสามารถปฏิบัติงานด้วยความเรียบร้อย จัดหาแพคเกจทัวร์ ใช้วัสดุ เครื่องมือเครื่องใช้ และอุปกรณ์ชนิดดี ข้อกำหนดของสัญญาจึงมีลักษณะเป็นสัญญาจ้างเหมาบริการซึ่งเป็นสัญญาจ้างทำของทั่วไป แม้ขอบเขตของงาน (TOR) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาระบุวัตถุประสงค์ว่า ๓.๑ เพื่อให้นักศึกษาได้รับความรู้ประสบการณ์จริงเกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจ สามารถประยุกต์ใช้ในการเรียนและการปฏิบัติงานจริง ก็เป็นเพียงวัตถุประสงค์ของการศึกษาดูงานตามโครงการมิใช่วัตถุประสงค์ให้โจทก์เข้าจัดทำบริการสาธารณะเสียเอง ประกอบกับเมื่อพิจารณาขอบเขตของงานตามสัญญาข้อ ๗ และที่กำหนดในใบเสนอราคาล้วนเป็นบริการเกี่ยวกับการจองตั๋วเครื่องบินค่าธรรมเนียมการเข้าชมสถานที่ต่าง ๆ การผ่านแดน ค่าพาหนะ ค่าโรงแรม ค่าอาหาร ค่าจัดทำเอกสารการเดินทาง กระเป๋า และเสื้อโปโลของคณะเดินทาง รวมถึงค่าประกันอุบัติเหตุต่าง ๆ ซึ่งเป็นการจ้างเหมาบริการเท่านั้น แม้จะปรากฏว่ามีค่าบริการเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับสถานที่ศึกษาดูงานด้วย หน้าที่ของโจทก์ก็เป็นเพียงนายหน้าในการพาคณะนักศึกษาเข้าศึกษาดูงานในสถานที่ดังกล่าว แต่มิใช่เป็นการให้โจทก์เข้าร่วมจัดทำบริการสาธารณะโดยตรงอันจะถือว่าเป็นสัญญาที่ให้จัดทำบริการสาธารณะ ทั้งสัญญาพิพาทไม่มีลักษณะเป็นสัญญาสัมปทาน หรือสัญญาจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภคหรือสัญญาแสวงประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ ตามบทนิยามสัญญาทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ อันจะอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง สัญญาพิพาทในคดีนี้จึงเป็นเพียงสัญญาทางแพ่งที่มีคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครอง ดังนั้น ข้อพิพาทเกี่ยวกับการไม่ปฏิบัติตามสัญญานี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางแพ่งที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่างบริษัทดราโก้ โวยาจ จำกัด โจทก์ มหาวิทยาลัยรามคำแหงจำเลยอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) วีระพล ตั้งสุวรรณ (ลงชื่อ) จิรนิติ หะวานนท์
(นายวีระพล ตั้งสุวรรณ) (นายจิรนิติ หะวานนท์)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) ปิยะ ปะตังทา (ลงชื่อ) ชาญชัย แสวงศักดิ์
(นายปิยะ ปะตังทา) (นายชาญชัย แสวงศักดิ์)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
(ลงชื่อ) พลเรือโท ปรีชาญ จามเจริญ (ลงชื่อ) พลตรี พัฒนพงษ์ เกิดอุดม
(ปรีชาญ จามเจริญ) (พัฒนพงษ์ เกิดอุดม)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร
(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ