คำวินิจฉัยที่ 48/2559

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

โจทก์ทั้งเจ็ดเป็นเอกชนยื่นฟ้องว่า โจทก์ทั้งเจ็ดแต่ละคนเป็นผู้ครอบครองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ ต่อมา จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ ยื่นคำร้องต่อจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานที่ดินเพื่อขอออกโฉนดที่ดินและนำนายช่างรังวัดที่ดินทับเนื้อที่ดินที่โจทก์ทั้งเจ็ดครอบครอง โจทก์ทั้งเจ็ดคัดค้าน จำเลยที่ ๑ ทำการสอบสวนเปรียบเทียบแล้วมีคำสั่งให้ออกโฉนดที่ดินแก่จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ โดยไม่ถูกต้อง ขอให้พิพากษาหรือมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ ๑ และให้จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ ยกเลิกเพิกถอนหลักฐานหรือดำเนินการถอนคำร้องเพื่อขอออกโฉนดที่ดินแปลงพิพาท จำเลยที่ ๑ ให้การว่า ดำเนินการตรวจสอบรับฟังพยานหลักฐานพิจารณาตามขั้นตอน ระเบียบปฏิบัติของกรมที่ดินอย่างถูกต้อง จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ ให้การว่า เป็นผู้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินแปลงพิพาทในฐานะเจ้าของตลอดมา โดยไม่เคยมีผู้ใดมาโต้แย้งสิทธิเห็นว่า แม้โจทก์ทั้งเจ็ดจะฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ ๑ แต่ก็ขอให้ศาลมีคำพิพากษารับรองคุ้มครองสิทธิในที่ดินของโจทก์ทั้งเจ็ดซึ่งเป็นประเด็นสำคัญ จึงเป็นคดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินอันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๔๘ /๒๕๕๙

วันที่ ๒๑ มิถุนายน ๒๕๕๙

เรื่อง คดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน

ศาลจังหวัดสิงห์บุรี
ระหว่าง
ศาลปกครองกลาง

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลจังหวัดสิงห์บุรีโดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องคดีโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๗ สิงหาคม ๒๕๕๘ นางชูชีพ กรรทิพากร ที่ ๑ กับพวกรวม ๗ คน โจทก์ยื่นฟ้อง นายพรเทพ ไตรวุฒิชน ที่ ๑ กับพวกรวม ๔ คน จำเลย ต่อศาลจังหวัดสิงห์บุรี เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๓๕๔/๒๕๕๘ ความว่า โจทก์ที่ ๑ เป็นผู้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.๓) เล่มที่ ๖ โจทก์ที่ ๒ เป็นผู้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินตาม ส.ค.๑ เลขที่ ๘๐ โจทก์ที่ ๓ เป็นผู้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินตาม ส.ค.๑ เลขที่ ๙๖ โจทก์ที่ ๔ เป็นผู้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินตาม ส.ค.๑ เลขที่ ๒๖ โจทก์ที่ ๕ เป็นผู้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินตาม ส.ค. (ที่ถูก ส.ค.๑) เลขที่ ๒๒ และ ๘๓ โจทก์ที่ ๖ และที่ ๗ เป็นผู้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินตามส.ค.๘๓ (ที่ถูก ส.ค.๑ เลขที่ ๘๓) ซึ่งที่ดินของโจทก์ทั้งเจ็ดตั้งอยู่หมู่ที่ ๒ ตำบลพระงาม อำเภอพรหมบุรี จังหวัดสิงห์บุรี ต่อมาเมื่อประมาณเดือนตุลาคม ๒๕๕๗ จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ ซึ่งเป็นผู้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ เลขที่ ๘๔ เล่มที่ ๖ ยื่นคำร้องต่อจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสิงห์บุรี เพื่อขอออกโฉนดที่ดิน โดยอ้างหลักฐานเป็นใบไต่สวนหน้าสำรวจที่ ๕๓๖ ที่ดินระวาง ๑๐ น.๔ ฏ ตำบลพระงาม อำเภอพรหมบุรี จังหวัดสิงห์บุรี เนื้อที่ ๔ ไร่ ๔๐ ตารางวา และนำนายช่างรังวัดที่ดินทับเนื้อที่ดินที่โจทก์ทั้งเจ็ดครอบครอง โจทก์ทั้งเจ็ดคัดค้านต่อมาจำเลยที่ ๑ ได้เรียกคู่กรณีมาทำการสอบสวนเปรียบเทียบแต่ไม่สามารถตกลงกันได้ และต่อมาจำเลยที่ ๑ ออกคำสั่งลงวันที่ ๓ มิถุนายน ๒๕๕๘ ให้ออกโฉนดที่ดินแก่จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ โจทก์ทั้งเจ็ดเห็นว่าจำเลยที่ ๑ ออกคำสั่งไม่ถูกต้องเพราะในการออกโฉนดที่ดินนั้น จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ อ้างใบไต่สวนอันเป็นเท็จ เนื่องจากกรมที่ดินได้มีหนังสือถึงจังหวัดสิงห์บุรี แจ้งว่าได้ตรวจสอบสารบบที่ดินและทะเบียนไมโครฟิล์มของที่ดินแปลงเลขที่ ๙๖ หน้าสำรวจ ๕๓๖ ตำบลพระงาม อำเภอพรหมบุรี จังหวัดสิงห์บุรี ไม่พบหลักฐาน ดังกล่าวที่ส่วนกลางแต่อย่างใด อีกทั้งจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ ไม่เคยเข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทเลย ขอให้พิพากษาหรือมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ ๑ ที่ ๒๓/๒๕๕๘ ลงวันที่ ๓ มิถุนายน ๒๕๕๘ ที่ให้ออกโฉนดที่ดินแก่จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ และให้จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ ยกเลิกเพิกถอนหลักฐานหรือดำเนินการถอนคำร้องเพื่อขอออกโฉนดที่ดินแปลงพิพาท
จำเลยที่ ๑ ให้การว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ ๑ เป็นเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสิงห์บุรีมีอำนาจหน้าที่ดำเนินการตามประมวลกฎหมายที่ดิน ได้ดำเนินการตรวจสอบรับฟังพยานหลักฐานพิจารณาตามขั้นตอน ระเบียบปฏิบัติของกรมที่ดินอย่างถูกต้อง โจทก์ทั้งเจ็ดจึงไม่ได้รับความเสียหายและไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง ก่อนคดีนี้จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ เห็นว่า จำเลยที่ ๑ ทำการสอบสวนเปรียบเทียบไม่ชอบ จึงยื่นฟ้องจำเลยที่ ๑ กับโจทก์ที่ ๒ ถึงที่ ๗ ต่อศาลปกครองกลาง คดีหมายเลขดำที่ ๑๒๕๙-๑๒๖๓/๒๕๕๘ คดีอยู่ระหว่างการพิจารณา
จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ ให้การว่า ที่ดินพิพาทมีหลักฐานเป็นโฉนดที่ดินเลขที่ ๔๑๖๙ ตำบลพระงาม อำเภอพรหมบุรี จังหวัดสิงห์บุรี เนื้อที่ ๔ ไร่ ๔๐ ตารางวา ที่ทางราชการได้รังวัดออกโฉนดที่ดินให้แก่อำแดงผ่อง ทวดของจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ ไว้แล้ว และมีการยกให้ตกทอดมาจนถึงจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ โดยจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ เป็นผู้ครอบครองทำประโยชน์ต่อเนื่องและสร้างบ้านเรือนอยู่อาศัยในที่ดินด้วยความสงบ เปิดเผย ในฐานะเจ้าของตลอดมาจนถึงปัจจุบันเป็นเวลาไม่น้อยกว่าหกสิบปี โดยไม่เคยมีผู้ใดมาโต้แย้งสิทธิ โจทก์ที่ ๒ ถึงที่ ๔ ก็เคยทำหนังสือสัญญาเช่าที่ดินของจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ ส่วนโจทก์ที่ ๑ ที่ ๕ และที่ ๗ ไม่เคยครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทนี้เลยคำสั่งของจำเลยที่ ๑ ที่ให้ออกโฉนดที่ดินจึงชอบด้วยกฎหมาย ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้องอนึ่ง จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ ได้ฟ้องคดีต่อศาลปกครอง ขอให้สำนักงานที่ดินจังหวัดสิงห์บุรีออกใบแทนโฉนดที่ดินของอำแดงผ่องที่สำนักงานที่ดินจังหวัดสิงห์บุรีทำสูญหาย ขณะนี้คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาคดี ของศาลปกครอง
จำเลยที่ ๑ ยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า โจทก์ทั้งเจ็ดฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ ๑ โดยเห็นว่าคำสั่งทางปกครองของจำเลยที่ ๑ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลจังหวัดสิงห์บุรีพิจารณาแล้วเห็นว่า มูลคดีจึงเป็นกรณีโต้แย้งกันเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน การที่ศาลจะพิจารณาว่า คำสั่งของจำเลยที่ ๑ ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่นั้น จำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า โจทก์ทั้งเจ็ดเป็นผู้มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทตามที่กล่าวอ้างหรือไม่ แล้วจึงจะมีคำสั่งเกี่ยวกับการออกโฉนดต่อไป จึงเป็นคดีเกี่ยวกับสิทธิของบุคคล อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า โจทก์ทั้งเจ็ดอ้างว่า การที่จำเลยที่ ๑ ในฐานะเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสิงห์บุรี ออกคำสั่งเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสิงห์บุรี ที่ ๒๓/๒๕๕๘ ลงวันที่ ๓ มิถุนายน ๒๕๕๘ ให้ออกโฉนดที่ดินพิพาทแก่จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ เป็นการออกคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ทั้งเจ็ดจึงฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าวของจำเลยที่ ๑ เห็นว่าประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา ๖๐ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ในการออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ ถ้ามีผู้โต้แย้งสิทธิกันให้พนักงานเจ้าหน้าที่หรือเจ้าพนักงานที่ดินแล้วแต่กรณี มีอำนาจทำการสอบสวนเปรียบเทียบ ถ้าตกลงกันได้ก็ให้ดำเนินการไปตามที่ตกลง หากตกลงกันไม่ได้ให้เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดหรือเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสาขา มีอำนาจพิจารณาสั่งการไปตามที่เห็นสมควร ดังนั้น เมื่อจำเลยที่ ๑ เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ซึ่งสังกัดกรมที่ดิน และการออกคำสั่งของจำเลยที่ ๑ เป็นการใช้อำนาจตามมาตรา ๖๐ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายที่ดิน (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๒๘ จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายอันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.๒๕๔๒

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้โจทก์ทั้งเจ็ดเป็นเอกชนยื่นฟ้องเจ้าหน้าที่ของรัฐและเอกชนด้วยกันเป็นจำเลยว่า โจทก์ทั้งเจ็ดแต่ละคนเป็นผู้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.๓) และตาม ส.ค.๑ ต่อมา จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ ยื่นคำร้องต่อจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็น เจ้าพนักงานที่ดินเพื่อขอออกโฉนดที่ดิน และนำนายช่างรังวัดที่ดินทับเนื้อที่ดินที่โจทก์ทั้งเจ็ดครอบครอง โจทก์ทั้งเจ็ดคัดค้าน จำเลยที่ ๑ จึงเรียกคู่กรณีมาทำการสอบสวนเปรียบเทียบแต่ตกลงกันไม่ได้ ต่อมา จำเลยที่ ๑ ออกคำสั่งให้ออกโฉนดที่ดินแก่จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ โดยไม่ถูกต้อง จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ ไม่เคยเข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท ขอให้พิพากษาหรือมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ ๑ และให้จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ ยกเลิกเพิกถอนหลักฐานหรือดำเนินการถอนคำร้อง เพื่อขอออกโฉนดที่ดินแปลงพิพาท จำเลยที่ ๑ ให้การว่า จำเลยที่ ๑ ได้ดำเนินการตรวจสอบรับฟังพยานหลักฐานพิจารณาตามขั้นตอน ระเบียบปฏิบัติของกรมที่ดินอย่างถูกต้อง จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ ให้การว่า ที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ เป็นผู้ครอบครองทำประโยชน์ต่อเนื่องและสร้างบ้านเรือนอยู่อาศัยในที่ดินด้วยความสงบ เปิดเผย ในฐานะเจ้าของตลอดมาจนถึงปัจจุบัน โดยไม่เคยมีผู้ใดมาโต้แย้งสิทธิ เห็นว่าแม้โจทก์ทั้งเจ็ดจะฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ ๑ ที่ให้ออกโฉนดที่ดินแก่จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ แต่โจทก์ทั้งเจ็ดฟ้องก็ขอให้ศาลมีคำพิพากษารับรองคุ้มครองสิทธิในที่ดินของโจทก์ทั้งเจ็ดซึ่งเป็นประเด็นสำคัญจึงเป็นคดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง นางชูชีพ กรรทิพากร ที่ ๑ กับพวกรวม ๗ คน โจทก์นายพรเทพ ไตรวุฒิชน ที่ ๑ กับพวกรวม ๔ คน จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) วีระพล ตั้งสุวรรณ (ลงชื่อ) จิรนิติ หะวานนท์
(นายวีระพล ตั้งสุวรรณ) (นายจิรนิติ หะวานนท์)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) ปิยะ ปะตังทา (ลงชื่อ) ชาญชัย แสวงศักดิ์
(นายปิยะ ปะตังทา) (นายชาญชัย แสวงศักดิ์)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลเรือโท ปรีชาญ จามเจริญ (ลงชื่อ) พลตรี พัฒนพงษ์ เกิดอุดม
(ปรีชาญ จามเจริญ) (พัฒนพงษ์ เกิดอุดม)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share