คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 534/2559

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 ฉ้อฉลโจทก์โดยหลอกลวงว่าเป็นการทำกรมธรรม์ที่มีลักษณะที่เหมือนกับการฝากเงินกับธนาคารสามารถที่จะถอนเงินได้แต่มีสิทธิพิเศษคุ้มครองโดยการประกันชีวิต และให้ ส. ลงชื่อในคำขอเอาประกันชีวิตแล้วจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นตัวแทนนำไปยื่นต่อจำเลยที่ 2 เพื่อให้โจทก์เข้าทำสัญญาประกันชีวิตกับจำเลยที่ 2 การฉ้อฉลดังกล่าวเป็นเหตุให้โจทก์ตกลงทำสัญญาประกันชีวิตกับจำเลยที่ 2 โดยสำคัญผิดในเนื้อหาหรือลักษณะของนิติกรรมอันเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรม สัญญาประกันชีวิตย่อมตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 156 วรรคหนึ่งและวรรคสอง จำเลยที่ 2 ซึ่งได้รับเงินค่าเบี้ยประกันภัยไปจากโจทก์จึงต้องคืนเงินที่ได้รับไว้ให้โจทก์อันเนื่องมาจากเป็นลาภมิควรได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 172 วรรคสอง ประกอบมาตรา 412

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 551,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 2 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ชำระเงินจำนวน 449,188 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2550 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยที่ 2 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 20,000 บาท ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เป็นพับ
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น คืนค่าขึ้นศาลในอนาคตในชั้นอุทธรณ์จำนวน 100 บาท แก่จำเลยที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นและในชั้นอุทธรณ์นอกจากที่สั่งคืนให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นยุติในชั้นนี้ว่า จำเลยที่ 2 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ประกอบธุรกิจรับประกันชีวิต จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนประกันชีวิตของจำเลยที่ 2 ประจำสาขาสลกบาตร จังหวัดกำแพงเพชร และได้รับมอบอำนาจจากจำเลยที่ 2 ให้รับเบี้ยประกันภัยในนามจำเลยที่ 2 อีกด้วย โจทก์ทำสัญญาประกันชีวิตกับจำเลยที่ 2 แบบธนทรัพย์ 20/20 (มีเงินปันผล) เบี้ยประกันภัยปีละ 15,317 บาท ประมาณเดือนธันวาคม 2547 จำเลยที่ 1 เสนอขายผลิตภัณฑ์ของจำเลยที่ 2 แก่โจทก์และโจทก์ตกลงพร้อมกับมอบเงิน 1,087,000 บาท ให้แก่จำเลยที่ 1 และนางสาวฑาริกา บุตรโจทก์ได้ไปให้แพทย์ตรวจสุขภาพเพื่อนำไปใช้ประกอบการพิจารณารับประกันภัยของจำเลยที่ 2 ต่อมาจำเลยที่ 1 นำกรมธรรม์ประกันชีวิตที่จำเลยที่ 2 ออกให้มามอบให้โจทก์เป็นกรมธรรม์ประกันชีวิตแบบธนทวี 14/7 (มีเงินปันผล) วันเริ่มสัญญาประกันภัยวันที่ 27 ธันวาคม 2547 ระบุว่า นางสาวฑาริกาเป็นผู้เอาประกันภัย จำนวนเงินเอาประกันภัย 2,500,000 บาท เบี้ยประกันภัยปีละ 551,500 บาท ต่อมาโจทก์ได้มีหนังสือลงวันที่ 7 พฤศจิกายน 2548 ถึงนางละไม ตัวแทนประกันชีวิตของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาจำเลยที่ 1 และอยู่ทีมงานเดียวกันร้องเรียนเกี่ยวกับเรื่องการทำงานของจำเลยที่ 1 กรณีที่รับเงินไปจากโจทก์แล้วไม่ได้รับกรมธรรม์ตามที่ตกลงกันไว้ โจทก์และนางสาวฑาริกาได้มายื่นเรื่องขอยกเลิกกรมธรรม์ประกันชีวิตอ้างว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้กระทำตามที่เสนอว่าเป็นการฝากเงินเพื่อรับดอกเบี้ย แต่กรมธรรม์ที่ได้รับเป็นการประกันชีวิตตามแบบฟอร์มการใช้สิทธิยกเลิกกรมธรรม์ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2549 โจทก์ได้เดินทางไปร้องเรียนการกระทำของจำเลยที่ 1 ที่สำนักงานใหญ่ของจำเลยที่ 2 และตรวจสอบพบว่ามีการนำเงินของโจทก์ไปซื้อกรมธรรม์ประกันชีวิตในชื่อโจทก์นอกจากกรมธรรม์ประกันชีวิตเป็นเงิน 221,800 บาท แต่โจทก์ยังไม่ได้รับกรมธรรม์ประกันชีวิต จำเลยที่ 2 จึงได้แจ้งยกเลิกกรมธรรม์ประกันชีวิตที่โจทก์ยังไม่ได้รับ จำเลยที่ 2 ได้คืนเงินจำนวนดังกล่าวให้แก่โจทก์ ต่อมาจำเลยที่ 2 มีหนังสือแจ้งผลการพิจารณาและคืนเงินที่เหลือให้แก่โจทก์อีก 313,700 บาท เนื่องจากโจทก์มีหลักฐานการมอบเงินให้จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 ได้ไปร้องเรียนต่อสำนักงานประกันภัยจังหวัดกำแพงเพชรได้มีการเรียกโจทก์และจำเลยที่ 2 มาเจรจา แต่ไม่อาจตกลงกันได้ ต่อมาจำเลยที่ 2 ได้แจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 1 กล่าวหาว่า จำเลยที่ 1 ยักยอกเงินของจำเลยที่ 2 โจทก์ได้ให้การเป็นพยานต่อพนักงานสอบสวนด้วย จำเลยที่ 2 มีหนังสือแจ้งให้โจทก์ทราบว่าไม่สามารถยกเลิกกรมธรรม์ประกันชีวิตได้ สำหรับจำเลยที่ 1 โจทก์ไม่อุทธรณ์ คดีสำหรับจำเลยที่ 1 จึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยที่ 1 ฉ้อฉลให้โจทก์เข้าทำสัญญาประกันชีวิตกับจำเลยที่ 2 ตามกรมธรรม์ประกันชีวิตและสัญญาประกันชีวิตตกเป็นโมฆะหรือไม่ ข้อนี้โจทก์ฎีกาว่า โจทก์มีเจตนาจะทำนิติกรรมฝากเงินกับจำเลยที่ 2 ตามเงื่อนไขที่จำเลยที่ 1 เสนอขายโครงการออมทรัพย์ของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นระบบฝากเงินรูปแบบคล้ายคลึงธนาคารแต่ได้สิทธิพิเศษคุ้มครองประกันชีวิตมิใช่ระบบประกันชีวิต จึงมอบเงินให้จำเลยที่ 1 ไปฝากกับจำเลยที่ 2 กรมธรรม์ประกันชีวิต ที่จำเลยที่ 2 ออกให้โจทก์เป็นการประกันชีวิตอย่างเดียว จึงไม่ถูกต้องตามความประสงค์ของโจทก์การที่โจทก์ทำสัญญาประกันชีวิตกับจำเลยที่ 2 จึงเป็นการสำคัญผิดในสาระสำคัญแห่งนิติกรรม สัญญาประกันชีวิตตามกรมธรรม์ประกันชีวิตจึงตกเป็นโมฆะ จำเลยที่ 2 จึงต้องคืนเงินให้โจทก์ เห็นว่า ใบเสนอขายโครงการออมทรัพย์ธนทวี 14/7 พิเศษ 2 ที่โจทก์นำส่งต่อศาลนั้นมีตราหรือสัญลักษณ์ของจำเลยที่ 2 ปรากฏอยู่ที่หัวเอกสาร ซึ่งนายปัญญาพนักงานของจำเลยที่ 2 ตำแหน่งผู้จัดการอาวุโสส่วนรับประกันชีวิตได้เบิกความตอบคำถามค้านทนายโจทก์ว่า บุคคลทั่วไปเมื่อเห็นเอกสารดังกล่าวแล้วก็น่าจะคิดว่าเป็นของจำเลยที่ 2 และเอกสารยังปรากฏชื่อของจำเลยที่ 1 ว่า เป็นตัวแทนและนางละไม เป็นหัวหน้าหน่วย ประกอบกับเอกสารทุกแผ่นยังมีลายมือชื่อของจำเลยที่ 1 กำกับไว้ด้วยและเมื่อได้พิจารณาข้อความที่ปรากฏในเอกสารก็ได้ความว่า เป็นการเสนอขายโครงการออมทรัพย์เป็นระบบฝากเงินสามารถถอนคืนได้ ซึ่งลักษณะของกรมธรรม์จะเหมือนสมุดธนาคารโดยได้สิทธิพิเศษคุ้มครองประกันชีวิตสอดคล้องกับที่ตัวโจทก์เบิกความมา ประกอบกับพฤติการณ์ที่ได้ความตามที่โจทก์นำสืบมาว่า เมื่อโจทก์ได้รับกรมธรรม์ประกันชีวิตแล้ว เห็นว่ากรมธรรม์ประกันชีวิตไม่เป็นไปตามที่จำเลยที่ 1 เสนอขาย จึงต้องการที่จะยกเลิกกรมธรรม์ประกันชีวิต โดยเรียกจำเลยที่ 1 มาพบและขอยกเลิกกรมธรรม์ประกันชีวิต โดยให้นางสาวฑาริกาทำหนังสือมอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 ไปดำเนินการและติดตามผลตลอดมา เมื่อไม่สามารถติดต่อจำเลยที่ 1 ได้จึงได้เข้าไปร้องเรียนต่อนางละไมซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาหรือหัวหน้าหน่วยของจำเลยที่ 1 ให้ช่วยตรวจสอบดำเนินการให้ แต่เมื่อไม่มีความคืบหน้าในเรื่องที่ร้องเรียนดังกล่าว โจทก์จึงไปที่สำนักงานของจำเลยที่ 2 ร้องเรียนและขอยกเลิกกรมธรรม์ประกันชีวิต ที่จำเลยที่ 2 เป็นผู้ออกให้และเมื่อจำเลยที่ 2 ปฏิเสธที่จะยกเลิกกรมธรรม์ประกันชีวิตโจทก์ก็ได้ไปร้องเรียนต่อสำนักงานประกันภัยจังหวัดกำแพงเพชรซึ่งมีหน้าที่กำกับดูแลการประกอบกิจการของจำเลยที่ 2 อีกด้วย จึงน่าเชื่อได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้นำใบเสนอขายโครงการมาเสนอขายให้แก่โจทก์จริงและเนื่องจากจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนขายประกันชีวิตให้จำเลยที่ 2 ซึ่งโจทก์รู้จักมาก่อนประกอบกับได้เห็นข้อความที่ปรากฏในใบเสนอขายโครงการ จึงเป็นเหตุให้โจทก์หลงเชื่อว่าโครงการที่จำเลยที่ 1 นำเสนอมาเป็นโครงการของจำเลยที่ 2 จริง และตกลงทำสัญญาตามโครงการที่จำเลยที่ 1 นำเสนอ ต่อมาเมื่อโจทก์ทราบว่ากรมธรรม์ประกันชีวิตที่จำเลยที่ 2 ออกให้โจทก์ มีเนื้อหาไม่ตรงกับโครงการที่จำเลยที่ 1 เสนอขายและโจทก์ประสงค์จะทำสัญญาตามโครงการดังกล่าว โจทก์ก็รีบดำเนินการติดต่อกับจำเลยที่ 1 เพื่อยกเลิกกรมธรรม์ประกันชีวิตตลอดมาโดยมิได้นิ่งเฉย ทั้งยังได้ความอีกว่าเมื่อจำเลยที่ 2 ได้ไปแจ้งความดำเนินคดีในความผิดฐานยักยอกทรัพย์แก่จำเลยที่ 1 นั้น โจทก์ได้ไปให้การในฐานะพยาน ซึ่งคำให้การมีข้อเท็จจริงสอดคล้องกับที่โจทก์ฟ้องและเบิกความมาอีกด้วย อันเป็นการสนับสนุนให้เชื่อว่าโจทก์แสดงเจตนาทำสัญญาประกันชีวิตกับจำเลยที่ 2 ตามโครงการที่จำเลยที่ 1 เสนอขาย พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมามีน้ำหนักให้รับฟังดีกว่าพยานหลักฐานของจำเลยที่ 2 ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ฉ้อฉลโจทก์โดยหลอกลวงว่าเป็นการทำกรมธรรม์ที่มีลักษณะที่เหมือนกับการฝากเงินกับธนาคารสามารถที่จะถอนเงินได้ แต่มีสิทธิพิเศษคุ้มครองโดยการประกันชีวิต และให้นางสาวฑาริกาลงชื่อในคำขอเอาประกันภัยแล้วจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นตัวแทนนำไปยื่นต่อจำเลยที่ 2 เพื่อให้โจทก์เข้าทำสัญญาประกันชีวิตกับจำเลยที่ 2 การฉ้อฉลเป็นเหตุให้โจทก์ตกลงทำสัญญาประกันชีวิตกับจำเลยที่ 2 โดยสำคัญผิดในเนื้อหาหรือลักษณะของนิติกรรมอันเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรม สัญญาประกันชีวิตย่อมตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 156 วรรคหนึ่งและวรรคสอง และการที่โจทก์รู้จักกับจำเลยที่ 1 มาก่อนเนื่องจากการที่โจทก์ได้ทำสัญญาประกันชีวิตกับจำเลยที่ 2 เมื่อจำเลยที่ 1 มาเสนอขายผลิตภัณฑ์ของจำเลยที่ 2 ให้โจทก์อีก โดยมีเอกสารหลักฐานแสดงว่าเป็นของจำเลยที่ 2 มาแสดงดังวินิจฉัยไว้ข้างต้นแล้ว จึงถือไม่ได้ว่าการที่โจทก์เข้าทำสัญญาประกันชีวิตกับจำเลยที่ 2 เป็นความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของโจทก์ กรมธรรม์ประกันชีวิต จึงไม่มีผลสมบูรณ์ที่จะบังคับได้ จำเลยที่ 2 ซึ่งได้รับเงินค่าเบี้ยประกันภัยไปจากโจทก์ เนื่องจากสัญญาประกันชีวิตที่เป็นโมฆะ จึงต้องคืนเงินที่ได้รับไว้ให้โจทก์ อันเนื่องมาจากเป็นลาภมิควรได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 172 วรรคสอง ประกอบมาตรา 412 ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า สัญญาประกันชีวิตไม่เป็นโมฆะและมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมายนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share