คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5264/2554

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นครูโรงเรียนเอกชน ทางโรงเรียนหักเงินเดือนของจำเลยทั้งสองไว้ส่วนหนึ่งทุกเดือนเป็นเงินสะสม และออกเงินให้จำนวนเท่ากับเงินสะสมของจำเลยแต่ละคนเป็นเงินสมทบ เงินสะสมและเงินสมทบนี้เป็นเงินที่รวมไว้เป็นกองทุนสงเคราะห์และจำเลยทั้งสองมีสิทธิได้รับเมื่อออกจากงานตาม พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชน พ.ศ.2525 มาตรา 67, 68, 69 และ 74 ต่อมามี พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชน พ.ศ.2550 บัญญัติให้ยกเลิกกฎหมายฉบับเดิมกับให้โอนเงินกองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายเดิม ไปเป็นของกองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายฉบับใหม่ดังกล่าว โดยให้มีเงินสะสมและเงินสมทบเป็นเงินในกองทุนสงเคราะห์ที่ครูมีสิทธิได้รับเป็นเงินทุนเลี้ยงชีพเมื่อออกจากงานเช่นเดียวกันตามมาตรา 54, 73, 74 และ 76 แต่มาตรา 80 บัญญัติให้สิทธิการรับเงินจากกองทุนสงเคราะห์เป็นสิทธิเฉพาะตัวไม่อาจโอนแก่กันได้ และไม่อยู่ในข่ายแห่งการบังคับคดีจึงมีผลทำให้เงินสะสมและเงินสมทบที่จำเลยทั้งสองมีอยู่แล้วที่จะเกิดขึ้นภายหลังไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี โจทก์ไม่อาจร้องขอให้อายัดสิทธิเรียกร้องเงินดังกล่าวของจำเลยทั้งสอง

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องจากศาลชั้นต้นพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน 130,000 บาท แก่โจทก์ โดยผ่อนชำระอย่างต่ำเดือนละ 3,000 บาท ทุกวันสิ้นเดือน เริ่มชำระตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2549 เป็นต้นไป หากผิดนัดชำระเดือนใดเดือนหนึ่งให้ถือว่าผิดนัดทั้งหมด แต่จำเลยทั้งสามผิดนัดไม่ชำระหนี้ให้แก่โจทก์เลย โจทก์จึงขอให้ศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดีและแถลงขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีอายัดเงินเดือนและเงินสะสมของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เจ้าพนักงานบังคับคดีมีคำสั่งอายัดเงินเดือนของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ต่อมาเจ้าพนักงานบังคับคดีมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งอายัดเงินเดือนของจำเลยที่ 1 และที่ 2
โจทก์ยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นขอให้มีคำสั่งอายัดเงินสะสมของจำเลยที่ 1 และอายัดเงินเดือน เงินสะสมของจำเลยที่ 2
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ยื่นคำคัดค้านว่า เงินที่โจทก์ขอให้อายัดไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี
ศาลชั้นต้นยกคำร้องของโจทก์ที่ขอให้อายัดเงินสะสมของจำเลยที่ 1 และอายัดเงินเดือน เงินสะสมของจำเลยที่ 2 ค่าคำร้องเป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์ขอให้มีคำสั่งอายัดเงินสะสมของจำเลยที่ 1 และที่ 2
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษากลับให้อายัดเงินสะสมของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เพียงประเด็นเดียวว่า เงินสะสมและเงินสมทบที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีสิทธิได้รับเมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 ออกจากงานนั้น ไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 286 (1) และ (3) หรือไม่ ข้อเท็จจริงฟังยุติว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ทำงานโรงเรียนเอกชนที่จังหวัดลำปาง จำเลยที่ 1 เป็นครูโรงเรียนมัธยมวิทยา มีสิทธิได้รับเงินสะสม เพียงวันที่ 31 ธันวาคม 2549 เป็นเงิน 28,104.90 บาท ตามสำเนารายงานแจ้งยอดเงินสะสมแนบท้ายหนังสือของโรงเรียนมัธยมวิทยาลงวันที่ 15 พฤษภาคม 2550 จำเลยที่ 2 เป็นครูโรงเรียนเคนเน็ตแม็คเคนซี มีสิทธิได้รับเงินสะสม เพียงวันที่ 30 เมษายน 2549 เป็นเงิน 35,773 บาท ตามสำเนาใบแจ้งยอดเงินสะสมสำหรับสมาชิกและจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีสิทธิได้รับเงินสมทบจำนวนเท่ากับเงินสะสมของตนดังกล่าว เห็นว่า เงินสะสมเป็นเงินที่ทางโรงเรียนหักไว้ส่วนหนึ่งจากเงินเดือนครูของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ส่วนเงินสมทบเป็นเงินที่ทางโรงเรียนออกเงินให้จำนวนเท่ากับเงินสะสมของจำเลยแต่ละคน เงินทั้งสองจำนวนดังกล่าวเป็นเงินที่รวมไว้เป็นกองทุนสงเคราะห์และจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีสิทธิได้รับเมื่อออกจากงานตามพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ.2525 มาตรา 67, 68, 69 และ มาตรา 74 ต่อมามีพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ.2550 มาตรา 2 และมาตรา 3 บัญญัติให้ยกเลิกพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ.2525 และให้ใช้พระราชบัญญัตินี้โดยมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 12 มกราคม 2551 ทั้งมาตรา 55 (1) และมาตรา 156 บัญญัติให้โอนเงินของกองทุนสงเคราะห์ตามพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ.2525 ไปเป็นของกองทุนสงเคราะห์ตามพระราชบัญญัตินี้ด้วย นอกจากนั้นตามมาตรา 54, 73, 74 และมาตรา 76 ยังคงกำหนดให้มีเงินสะสมที่หักจากเงินเดือนครูและเงินสมทบที่ทางโรงเรียนออกเงินสมทบให้ โดยให้เป็นเงินในกองทุนสงเคราะห์ที่ครูมีสิทธิได้รับเป็นเงินทุนเลี้ยงชีพเมื่อออกจากงานเช่นเดียวกัน แต่มาตรา 80 บัญญัติว่า สิทธิการรับเงินจากกองทุนสงเคราะห์ตามพระราชบัญญัตินี้เป็นสิทธิเฉพาะตัวไม่อาจโอนแก่กันได้ และไม่อยู่ในข่ายแห่งการบังคับคดี ดังนี้ จึงมีผลทำให้เงินสะสมและเงินสมทบที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีอยู่แล้วและที่จะเกิดขึ้นหลังจากโจทก์ร้องขอให้อายัดต่อเจ้าพนักงานบังคับคดี ย่อมเป็นเงินในกองทุนสงเคราะห์ที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีสิทธิได้รับเงินทุนเลี้ยงชีพเมื่อออกจากงาน และไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดีตามพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ.2550 มาตรา 76 และมาตรา 80 โจทก์ไม่อาจร้องขอให้อายัดสิทธิเรียกร้องเงินดังกล่าวของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ ปัญหาว่าสิทธิเรียกร้องของลูกหนี้ตามคำพิพากษาไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดีตามกฎหมายอื่นหรือไม่ เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยที่ 1 และที่ 2 มิได้ยกขึ้นฎีกา เมื่อศาลฎีกาเห็นสมควรก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5), 246 ประกอบมาตรา 247 กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ว่า สิทธิเรียกร้องเงินสะสมและเงินสมทบของจำเลยที่ 1 ที่ 2 นั้น ไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 286 (1) และ (3) หรือไม่ เพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลงไป ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาให้อายัดเงินสะสม ซึ่งรวมเงินสมทบของจำเลยที่ 1 และที่ 2 มานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย
พิพากษากลับ ให้ยกคำร้องของโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share