คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5281/2554

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้ตามสัญญาเช่าซื้อ ข้อ 10 ระบุว่า “ถ้าผู้เช่าซื้อผิดนัดชำระค่าเช่าซื้องวดหนึ่งงวดใดก็ดี ถือว่าสัญญาเลิกกันทันทีโดยเจ้าของไม่ต้องบอกกล่าวก่อน และผู้เช่าซื้อยอมให้เจ้าของริบบรรดาเงินค่าเช่าซื้อที่ได้ชำระแล้วทั้งหมดเป็นของเจ้าของโดยผู้เช่าซื้อไม่มีสิทธิเรียกร้องคืน และผู้เช่าซื้อยอมส่งมอบทรัพย์สินที่เช่าซื้อคืนแก่เจ้าของโดยพลันในสภาพที่ซ่อมแซมดีแล้วโดยเรียบร้อยโดยค่าใช้จ่ายของผู้เช่าซื้อเอง…” แต่เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า โจทก์ชำระค่าเช่าซื้อไม่ตรงตามเวลาที่ระบุไว้ในสัญญามาตั้งแต่ต้น แต่จำเลยที่ 1 ก็ยอมรับไว้ แสดงว่าจำเลยที่ 1 มิได้ยึดถือเอาสัญญาข้อ 10 ที่ว่าหากโจทก์ผู้เช่าซื้อผิดนัดชำระค่าเช่าซื้องวดใดงวดหนึ่งถือว่าสัญญาเช่าซื้อเลิกกันทันที ดังนั้น หากจำเลยที่ 1 ประสงค์จะเลิกสัญญาเช่าซื้อ จำเลยที่ 1 ต้องบอกกล่าวไปยังโจทก์ก่อนโดยให้ระยะเวลาโจทก์พอสมควรในการชำระหนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 387 การที่ตัวแทนของจำเลยที่ 1 ยึดรถคืนจากโจทก์เนื่องจากโจทก์ค้างชำระค่าเช่าซื้องวดสุดท้ายโดยไม่มีการบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อก่อนย่อมเป็นการไม่ชอบ และตามพฤติการณ์ที่โจทก์ยังคงใช้สิทธิเรียกร้องฟ้องให้จำเลยทั้งสองคืนรถที่เช่าซื้อย่อมถือไม่ได้ว่าเป็นการเลิกสัญญากันโดยปริยาย สัญญาเช่าซื้อจึงยังไม่เลิกกัน โจทก์ผู้เช่าซื้อชอบที่จะครอบครองใช้ประโยชน์รถที่เช่าซื้อต่อไป จำเลยที่ 1 ต้องส่งมอบรถที่เช่าซื้อคืนโจทก์
สัญญาเช่าซื้อเป็นสัญญาต่างตอบแทนที่โจทก์มีสิทธิใช้ประโยชน์จากรถที่เช่าซื้อแต่ต้องชำระค่าเช่าซื้อเป็นการตอบแทน เมื่อโจทก์ใช้ประโยชน์โดยไม่ให้ผลตอบแทนแก่จำเลยที่ 1 ย่อมทำให้จำเลยที่ 1 ได้รับความเสียหายเช่นกัน เป็นความเสียหายทั้งสองฝ่ายหาใช่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเสียหายแต่ฝ่ายเดียวไม่ แม้จำเลยที่ 1 ยึดรถคืนโดยที่สัญญายังไม่เลิกกันเป็นการไม่ชอบก็ตาม แต่โจทก์ก็เป็นฝ่ายผิดอยู่มากที่ค้างชำระค่าเช่าซื้อนับแต่วันที่ครบกำหนดตามสัญญาถึงวันที่ถูกยึดรถเป็นเวลา 2 ปี 2 เดือนเศษ อันเป็นเหตุให้จำเลยทั้งสองอาจเข้าใจผิดว่ามีสิทธิยึดรถที่เช่าซื้อคืน จึงเห็นควรให้ค่าเสียหายในส่วนนี้ของโจทก์เป็นพับ
เมื่อสัญญาเช่าซื้อยังไม่เลิกกันและจำเลยทั้งสองยึดรถที่เช่าซื้อคืนโดยไม่ชอบดังที่ได้วินิจฉัยมาแล้วข้างต้น โจทก์ชอบที่จะครอบครองใช้ประโยชน์รถต่อไป จำเลยทั้งสองมีหน้าที่ส่งมอบรถคืนแก่โจทก์เพื่อปฏิบัติตามสัญญาต่อไป หากคืนรถไม่ได้ถือว่าเป็นกรณีที่จำเลยที่ 1 ไม่อาจปฏิบัติตามสัญญาต่อไปได้เพราะไม่มีวัตถุแห่งสัญญา สัญญาเช่าซื้อจึงเป็นอันเลิกกัน จำเลยทั้งสองไม่ฎีกาโต้แย้งค่าเสียหายที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 กำหนด จึงต้องชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันคืนรถคันที่เช่าซื้อแก่โจทก์ในสภาพเรียบร้อยใช้งานได้ หากคืนไม่ได้ให้จำเลยทั้งสองชำระราคารถจำนวน 1,200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชำระค่าเสียหายเป็นค่าขาดประโยชน์วันละ 5,000 บาท นับตั้งแต่วันที่จำเลยทั้งสองยึดรถไปจากโจทก์ คิดถึงวันฟ้องเป็นจำนวน 43 วัน คิดเป็นเงิน 215,000 บาท และค่าขาดประโยชน์วันละ 5,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะคืนรถหรือชดใช้ราคารถให้แก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันคืนรถบดคันที่เช่าซื้อแก่โจทก์ในสภาพเรียบร้อยใช้งานได้ หากคืนไม่ได้ให้ชำระเงินจำนวน 1,000,000 บาท ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ในอัตราวันละ 1,370 บาท นับแต่วันที่ 20 กรกฎาคม 2544 เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสองจะร่วมกันคืนรถหรือชดใช้ราคาแก่โจทก์ กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 40,000 บาท
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นฎีการับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2540 โจทก์ทำสัญญาเช่าซื้อรถบดสั่นสะเทือน ยี่ห้อเอสทีเอ รุ่นปี 1997 จากจำเลยที่ 1 ในราคา 1,759,536 บาท ชำระค่าเช่าซื้อครั้งแรกเป็นเงิน 280,373.83 บาท ส่วนที่เหลือตกลงชำระเป็นงวดรายเดือน เดือนละ 61,631.78 บาท รวม 24 งวด เริ่มชำระงวดแรกวันที่ 20 มีนาคม 2540 งวดต่อไปชำระทุกวันที่ 20 ของเดือนถัดไปจนกว่าจะครบ แต่โจทก์ไม่ได้ชำระค่าเช่าซื้อตรงตามเวลาที่ระบุไว้ในสัญญามาตั้งแต่ต้น จนกระทั่งต้นปี 2544 จำเลยที่ 1 มีหนังสือเตือนการค้างชำระค่างวดและขอให้ชำระค่าปรับ ต่อมาโจทก์กับจำเลยที่ 2ในฐานะตัวแทนของจำเลยที่ 1 ได้มีการเจรจาโดยโจทก์ได้มอบเช็คจำนวน 2 ฉบับให้แก่จำเลยที่ 1 เพื่อเป็นการชำระค่าเช่าซื้องวดสุดท้ายพร้อมดอกเบี้ยรวม 200,000 บาท เมื่อเช็คฉบับแรกถึงกำหนดจำเลยที่ 1 ได้นำไปเรียกเก็บเงิน แต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน จำเลยที่ 2 ในฐานะตัวแทนของจำเลยที่ 1 จึงมอบหมายให้นายสำเร็จ ไปติดตามยึดรถที่เช่าซื้อกลับคืนมา แล้วมีหนังสือเตือนให้โจทก์ชำระค่าเช่าซื้อและเบี้ยปรับตลอดจนค่าใช้จ่ายในการยึดรถรวมเป็นเงิน 392,766 บาท แล้วจึงจะคืนรถให้โจทก์ หากไม่ชำระภายในกำหนด 15 วัน จะนำรถออกขายทอดตลาด
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองประการแรกว่าจำเลยทั้งสองมีสิทธิยึดรถคันที่เช่าซื้อกลับคืนหรือไม่ เห็นว่า แม้ตามสัญญาเช่าซื้อข้อ 10 ระบุว่า “ถ้าผู้เช่าซื้อผิดนัดชำระค่าเช่าซื้องวดหนึ่งงวดใดก็ดี กระทำผิดสัญญาอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี หรือทรัพย์สินที่เช่าซื้อถูกอายัดถูกยึด ถูกริบ ไม่ว่าโดยเหตุใดก็ดี ผู้เช่าซื้อถูกพิทักษ์ทรัพย์ก็ดี ถือว่าสัญญาเลิกกันทันทีโดยเจ้าของไม่ต้องบอกกล่าวก่อน และผู้เช่าซื้อยอมให้เจ้าของริบบรรดาเงินค่าเช่าซื้อที่ได้ชำระแล้วทั้งหมดเป็นของเจ้าของโดยผู้เช่าซื้อไม่มีสิทธิเรียกร้องคืน และผู้เช่าซื้อยอมส่งมอบทรัพย์สินที่เช่าซื้อคืนแก่เจ้าของโดยพลันในสภาพที่ซ่อมแซมดีแล้วโดยเรียบร้อยโดยค่าใช้จ่ายของผู้เช่าซื้อเอง ถ้าไม่ส่งมอบคืนก็ให้ถือว่าครอบครองไว้โดยมิชอบ และยอมให้เจ้าของหรือผู้ติดตามเข้าไป ณ ที่ซึ่งทรัพย์สินที่เช่าซื้อนั้นอยู่เพื่อเข้ายึดถือครอบครองเอาคืนไปได้เอง โดยผู้เช่าซื้อยินยอม ไม่โต้แย้งขัดขวางไม่เรียกร้องค่าเสียหายอย่างใดๆ และยอมใช้ค่าใช้จ่าย ค่าพาหนะ ค่าขนส่ง ค่าธรรมเนียม ค่าทนายที่เจ้าของต้องเสียไปในการสืบสวน ติดตามยึดถือครอบครอง ฟ้องร้อง เอาคืน และซ่อมแซมนั้นแก่เจ้าของจนครบ และผู้เช่าซื้อยอมชำระค่าเช่าซื้อที่ติดค้าง หรือใช้ค่าเสียหายที่เจ้าของต้องขาดประโยชน์ที่ควรจะได้จากการเอาทรัพย์สินนั้นให้เช่าในอัตราค่าเช่าตามปกติอย่างหนึ่งอย่างใด ตามแต่เจ้าของจะเลือก ทั้งนี้จนกว่าผู้เช่าซื้อจะได้ลงลายมือชื่อทำบันทึกยอมคืนและส่งมอบทรัพย์สินที่เช่าซื้อคืนแก่เจ้าของแล้ว ถ้าวันทำบันทึกส่งมอบอยู่ระหว่างยังไม่ครบงวดก็ยอมชำระงวดนั้นเต็ม แต่ถ้าเจ้าของได้ขายทรัพย์สินที่เช่าซื้อไปแล้วยังไม่คุ้มราคาค่าเช่าซื้อที่ต้องชำระทั้งหมดตามสัญญานี้กับค่าเสียหายอื่นๆ ที่เกิดขึ้น ผู้เช่าซื้อจะชดใช้ให้เจ้าของจนครบถ้วน” แต่เมื่อข้อเท็จจริงที่โจทก์และจำเลยทั้งสองรับกันได้ความว่า โจทก์ชำระค่าเช่าซื้อไม่ตรงตามเวลาที่ระบุไว้ในสัญญามาตั้งแต่ต้น เมื่อโจทก์นำค่าเช่าซื้อไปชำระ จำเลยที่ 1 ก็ยอมรับไว้ แสดงว่าจำเลยที่ 1 มิได้ยึดถือเอาสัญญาข้อ 10 ที่ว่า หากโจทก์ผู้เช่าซื้อผิดนัดชำระค่าเช่าซื้องวดใดงวดหนึ่งถือว่าสัญญาเช่าซื้อเลิกกันทันที จำเลยที่ 1 หรือผู้แทนมีสิทธิติดตามยึดรถคืนได้เป็นสำคัญ ดังนั้น หากจำเลยที่ 1 ประสงค์จะเลิกสัญญาเช่าซื้อ จำเลยที่ 1 ต้องบอกกล่าวไปยังโจทก์ก่อนโดยให้ระยะเวลาโจทก์พอสมควรในการชำระหนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 387 การที่ตัวแทนของจำเลยที่ 1 ยึดรถคืนจากโจทก์เนื่องจากโจทก์ค้างชำระค่าเช่าซื้องวดสุดท้ายโดยไม่มีการบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อก่อนย่อมเป็นการไม่ชอบ และตามพฤติการณ์ที่โจทก์ยังคงใช้สิทธิเรียกร้องโดยฟ้องให้จำเลยทั้งสองคืนรถคันที่เช่าซื้อย่อมถือไม่ได้ว่าเป็นการเลิกสัญญากันโดยปริยายสัญญาเช่าซื้อจึงยังไม่เลิกกัน โจทก์ผู้เช่าซื้อชอบที่จะครอบครองใช้ประโยชน์รถยนต์คันที่เช่าซื้อต่อไป จำเลยที่ 1 ต้องส่งมอบรถที่เช่าซื้อคืนโจทก์ ฎีกาของจำเลยทั้งสองในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองประการต่อไปมีว่าจำเลยทั้งสองต้องรับผิดชำระค่าขาดประโยชน์ให้แก่โจทก์ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 หรือไม่ เพียงใด เห็นว่า สัญญาเช่าซื้อเป็นสัญญาต่างตอบแทนที่โจทก์มีสิทธิใช้ประโยชน์จากรถคันที่เช่าซื้อแต่ต้องชำระค่าเช่าซื้อเป็นการตอบแทนเมื่อโจทก์ใช้ประโยชน์ในรถคันที่เช่าซื้อโดยไม่ให้ผลประโยชน์ตอบแทนแก่จำเลยที่ 1 ย่อมทำให้จำเลยที่ 1 ได้รับความเสียหายเช่นกัน เป็นความเสียหายทั้งสองฝ่ายหาใช่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเสียหายแต่ฝ่ายเดียวไม่ แม้จำเลยที่ 1 ยึดรถคันที่เช่าซื้อคืนโดยที่สัญญายังไม่เลิกกันเป็นการไม่ชอบก็ตาม แต่โจทก์ก็เป็นฝ่ายผิดอยู่มากที่ค้างชำระค่าเช่าซื้อนับแต่วันครบกำหนดตามสัญญาถึงวันที่ถูกยึดรถเป็นเวลา 2 ปี 2 เดือนเศษ อันเป็นเหตุให้จำเลยทั้งสองอาจเข้าใจผิดว่ามีสิทธิยึดรถคันที่เช่าซื้อคืนจึงเห็นควรให้ค่าเสียหายในส่วนนี้ของโจทก์เป็นพับ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 กำหนดค่าเสียหายในส่วนนี้มานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทั้งสองในข้อนี้ฟังขึ้น
เมื่อสัญญาเช่าซื้อยังไม่เลิกกันและจำเลยทั้งสองยึดรถคันที่เช่าซื้อคืนโดยไม่ชอบดังที่ได้วินิจฉัยมาข้างต้น โจทก์ชอบที่จะครอบครองใช้ประโยชน์รถยนต์ที่เช่าซื้อต่อไป จำเลยทั้งสองมีหน้าที่ส่งมอบรถยนต์คืนแก่โจทก์เพื่อปฏิบัติตามสัญญาต่อไปหากคืนรถยนต์ไม่ได้ถือว่าเป็นกรณีที่จำเลยที่ 1 ไม่อาจปฏิบัติตามสัญญาต่อไปได้เพราะไม่มีวัตถุแห่งสัญญา สัญญาเช่าซื้อจึงเป็นอันเลิกกัน จำเลยทั้งสองไม่ฎีกาโต้แย้งค่าเสียหายที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 กำหนด จึงต้องชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ 1,000,000 บาท ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำขอของโจทก์ในส่วนที่ขอให้ชำระค่าเสียหายเป็นค่าขาดประโยชน์ ให้จำเลยทั้งสองส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนแก่โจทก์ในสภาพเรียบร้อยใช้การได้ดีเพื่อปฏิบัติตามสัญญาเช่าซื้อต่อไป หากคืนรถยนต์ที่เช่าซื้อไม่ได้เป็นผลให้สัญญาเช่าซื้อเลิกกันให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 1,000,000 บาท แก่โจทก์นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share