คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15349/2558

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยในฐานะพนักงานตรวจแรงงานตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 125 วรรคสอง ประเด็นแห่งคดีจึงมีเพียงว่า มีเหตุที่จะเพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ให้โจทก์จ่ายค่าชดเชยพร้อมดอกเบี้ย และค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าซึ่งจำเลยไม่ได้มีคำสั่งให้เสียดอกเบี้ยจากต้นเงินดังกล่าวหรือไม่เท่านั้น ทั้งคดีนี้ลูกจ้างที่มีสิทธิได้รับเงินตามคำสั่งของจำเลยก็ไม่ได้เข้ามาในคดีเพื่อเรียกร้องดอกเบี้ยจากต้นเงินดังกล่าว การที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาล่วงเลยไปให้โจทก์เสียดอกเบี้ยจากต้นเงินค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า จึงเป็นการพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง มิใช่กรณีเพื่อความเป็นธรรมแก่คู่ความ ไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 52
โจทก์เป็นนิติบุคคลตาม พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ.2543 ที่ต้องดำเนินกิจการภายใต้บทบัญญัติแห่งกฎหมายและข้อบังคับของโจทก์ ข้อบังคับของโจทก์แสดงถึงวัตถุประสงค์ในการดำเนินกิจการของโจทก์ว่าเป็นไปเพื่อบริการสาธารณะ อาทิ เพื่อบำรุงรักษาระบบสาธารณูปโภค ดูแลรักษาความปลอดภัย การจราจร ความสะอาด จัดการดูแลรักษาและซ่อมแซมบรรดาทรัพย์สินส่วนกลาง อันเป็นการกระทำโดยมีวัตถุประสงค์มุ่งเน้นเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของสมาชิกในหมู่บ้าน แม้ข้อบังคับเกี่ยวกับงานบัญชีและการเงินจะกำหนดให้โจทก์สามารถจัดหารายได้จากแหล่งต่าง ๆ ได้ เช่น ค่าสาธารณูปโภคและบริการสาธารณะรายเดือนที่เรียกเก็บจากสมาชิกหมู่บ้าน รายได้จากการจัดกิจกรรมต่าง ๆ รายได้จากค่าสัมปทานหรือค่าสิทธิในการใช้ประโยชน์พื้นที่สโมสร แต่รายได้ที่โจทก์ได้รับมาก็นำมาเป็นค่าใช้จ่ายตามที่ระบุไว้ในระเบียบ โดยไม่ปรากฏว่าโจทก์นำเงินรายได้ที่หามาได้นั้นมาจัดสรรหรือแบ่งปันผลกำไรระหว่างกัน การที่โจทก์ให้บุคคลภายนอกเช่าสิทธิในสโมสรของโจทก์ หารายได้ก็เป็นไปเพื่อการจัดการดูแล บำรุงรักษาสโมสรซึ่งเป็นทรัพย์สินส่วนกลางให้อยู่ในสภาพที่ใช้ประโยชน์ร่วมกันได้ดี จึงไม่อาจถือได้ว่าโจทก์ดำเนินกิจการเพื่อแสวงหากำไรในทางเศรษฐกิจ กรณีจึงมิให้ใช้บทบัญญัติหมวด 11 ค่าชดเชยตั้งแต่มาตรา 118 ถึงมาตรา 122 บังคับแก่โจทก์ตามกฎกระทรวง (พ.ศ.2541) ออกตามความในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ข้อ (3) โจทก์จึงไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยพร้อมดอกเบี้ยตามคำสั่งของจำเลยแก่ลูกจ้าง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งที่ 60/2550 ของจำเลย
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้แก้ไขคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานเป็นว่าโจทก์ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยพร้อมดอกเบี้ยของค่าชดเชย แต่ให้จ่ายดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี สำหรับค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้านับแต่วันที่ 6 ตุลาคม 2548 เป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน กลุ่มงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานพื้นที่ 6 ที่ 60/2550 ของจำเลย
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติการจัดสรรที่ดิน พ.ศ.2543 มีวัตถุประสงค์เพื่อรับโอนที่ดินอันเป็นสาธารณูปโภคและบริการสาธารณะไปจัดการและดูแลบำรุงรักษาให้คงไว้ซึ่งประโยชน์ร่วมกันของสมาชิกภายในหมู่บ้านจัดสรรชัยพฤกษ์ ทวีวัฒนา และมีอำนาจกระทำการใด ๆ ตามวัตถุประสงค์และภายใต้บังคับแห่งกฎหมาย โจทก์มีข้อบังคับ โจทก์บริหารโดยคณะกรรมการซึ่งเลือกตั้งมาจากสมาชิกคณะกรรมการบริหารของโจทก์โดยมติคณะกรรมการเห็นว่า นายจำนงค์มีความเหมาะสมและมีเวลาจึงว่าจ้างให้ทำหน้าที่เป็นผู้จัดการสำนักงานตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2547 โดยตกลงจ่ายค่าจ้างแก่นายจำนงค์เดือนละ 15,000 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันสิ้นเดือน นายจำนงต้องลงชื่อเข้าและออกจากที่ทำงานเช่นพนักงานคนอื่น คณะกรรมการบริหารของโจทก์มีมติยกเลิกตำแหน่งผู้จัดการสำนักงานและมีหนังสือแจ้งให้สมาชิกทราบซึ่งหนังสือไปถึงนายจำนงค์และสมาชิกในวันที่ 6 ตุลาคม 2548 นายจำนงค์ยื่นคำร้องต่อจำเลยในฐานะพนักงานตรวจแรงงาน จำเลยมีคำสั่งที่ 60/2550 ลงวันที่ 21 พฤศจิกายน 2550 ให้โจทก์จ่ายค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าชดเชยพร้อมดอกเบี้ยในต้นเงินค่าชดเชย โจทก์ทราบคำสั่งและนำคดีมาสู่ศาลภายใน 30 วัน โจทก์เก็บค่าเช่าสโมสรเพราะเป็นทรัพย์สินส่วนกลางของหมู่บ้าน เงินที่ได้รับมาจากผู้ก่อสร้างหมู่บ้านได้ซื้อสลากออมสินและสลากของธนาคาร ธกส. ได้ดอกเบี้ยจากทรัพย์สินส่วนกลางซึ่งเป็นสมบัติของหมู่บ้าน ใช้เพื่อดูแลบำรุงรักษาสาธารณูปโภคและสาธารณประโยชน์ของสมาชิกในหมู่บ้าน ไม่มีวัตถุประสงค์หากำไรเพื่อแบ่งปันแก่สมาชิก แล้ววินิจฉัยว่า นายจำนงค์มีฐานะเป็นลูกจ้างของโจทก์ โจทก์เลิกจ้างนายจำนงค์ เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2548 โดยนายจำนงค์ไม่ได้กระทำความผิดและไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้า โจทก์จึงต้องจ่ายค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่นายจำนงค์เป็นเงิน 27,500 บาท โจทก์มิได้มีวัตถุประสงค์หากำไรเพื่อแบ่งปันแก่สมาชิกเช่นธุรกิจการค้าทั่วไป การที่โจทก์ได้รับดอกเบี้ยจากทรัพย์สินเงินออม มีรายได้จากค่าเช่าสโมสรเพื่อประโยชน์ของสาธารณะให้คงอยู่และใช้สอยได้ต่อไป การเรียกเก็บค่าสมาชิก ค่าเช่าสโมสร ค่าใช้สระว่ายน้ำของโจทก์ ถือไม่ได้ว่าเป็นการแสวงหากำไรในทางเศรษฐกิจ จึงไม่อาจนำบทบัญญัติมาตรา 118 ถึงมาตรา 122 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาใช้บังคับแก่โจทก์ได้ตามกฎกระทรวง (พ.ศ.2541) ออกตามความในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ข้อ (3) โจทก์จึงไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยแก่นายจำนงค์ การเรียกร้องค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้ามีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 จำเลยไม่ได้มีคำสั่งให้โจทก์เสียดอกเบี้ยจากต้นเงินค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าไว้ เห็นควรให้โจทก์รับผิดชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันเลิกจ้างด้วย
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า การที่ศาลแรงงานกลางมีคำพิพากษาให้โจทก์เสียดอกเบี้ยจากต้นเงินค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเป็นการพิพากษาหรือสั่งเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง ซึ่งไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 52 หรือไม่ เห็นว่า โจทก์นำคดีมาสู่ศาลเพื่อฟ้องเพิกถอนคำสั่งของจำเลยในฐานะพนักงานตรวจแรงงานตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 125 วรรคสอง ประเด็นแห่งคดีจึงมีเพียงว่ามีเหตุที่จะเพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ให้โจทก์จ่ายค่าชดเชยพร้อมดอกเบี้ย และค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าซึ่งจำเลยไม่ได้มีคำสั่งให้เสียดอกเบี้ยจากต้นเงินดังกล่าวหรือไม่เท่านั้น ทั้งคดีนี้ลูกจ้างที่มีสิทธิได้รับเงินตามคำสั่งของจำเลยก็ไม่ได้เข้ามาในคดีเพื่อเรียกร้องดอกเบี้ยจากต้นเงินดังกล่าว การที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาล่วงเลยไปให้โจทก์เสียดอกเบี้ยจากต้นเงินค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า จึงเป็นการพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง มิใช่กรณีเพื่อความเป็นธรรมแก่คู่ความซึ่งศาลแรงงานกลางมีอำนาจพิพากษาหรือสั่งเกินคำขอบังคับได้ คำพิพากษาศาลแรงงานกลางในส่วนที่ให้โจทก์เสียดอกเบี้ยจากต้นเงินค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจึงไม่ชอบด้วยมาตรา 52 อุทธรณ์ของโจทก์ในข้อนี้ฟังขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยมีเพียงประการเดียวว่า โจทก์ต้องจ่ายค่าชดเชยพร้อมดอกเบี้ยตามคำสั่งของจำเลยให้แก่นายจำนงค์ลูกจ้างหรือไม่ โดยจำเลยอุทธรณ์ว่า การดำเนินกิจการของโจทก์มีลักษณะเป็นการแสวงหากำไรในทางเศรษฐกิจโดยแท้ แม้โจทก์จะไม่ได้นำผลกำไรจากการดำเนินกิจการมาแบ่งปันให้แก่สมาชิก ก็ไม่ทำให้กิจการของโจทก์กลายเป็นกิจการที่ไม่แสวงหากำไรในทางเศรษฐกิจไปได้ จึงไม่เข้าข้อยกเว้นตาม ข้อ (3) แห่งกฎกระทรวง (พ.ศ.2541) ออกตามความในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 โจทก์จึงต้องจ่ายค่าชดเชยพร้อมดอกเบี้ยให้แก่ลูกจ้างตามคำสั่งของจำเลยนั้น เห็นว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติการจัดสรรที่ดิน พ.ศ.2543 ที่ต้องดำเนินกิจการภายใต้บทบัญญัติแห่งกฎหมายและข้อบังคับของโจทก์ เมื่อพิจารณาข้อบังคับของโจทก์ ข้อ 6 ซึ่งแสดงถึงวัตถุประสงค์ในการดำเนินกิจการของโจทก์ว่าเป็นไปเพื่อบริการสาธารณะ อาทิ เพื่อบำรุงรักษาระบบสาธารณูปโภค ดูแลรักษาความปลอดภัย การจราจร ความสะอาด จัดการดูแลรักษาและซ่อมแซมบรรดาทรัพย์สินส่วนกลาง อันเป็นการกระทำโดยมีวัตถุประสงค์มุ่งเน้นเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของสมาชิกในหมู่บ้าน และแม้ข้อบังคับของโจทก์ หมวด 7 การดำเนินงานการบัญชีและการเงิน ข้อ 24 จะกำหนดให้โจทก์สามารถจัดหารายได้จากแหล่งต่าง ๆ ได้ เช่น ค่าสาธารณูปโภคและบริการสาธารณะรายเดือนที่เรียกเก็บจากสมาชิกหมู่บ้าน รายได้จากการจัดกิจกรรมต่าง ๆ รายได้จากค่าสัมปทานหรือค่าสิทธิในการใช้ประโยชน์พื้นที่สโมสรที่เรียกเก็บจากผู้รับเหมาดำเนินการหรืออื่น ๆ ผลประโยชน์จากเงินกองทุน รายได้อื่น ๆ เช่น ค่าปรับ เงินที่ได้รับจากการบริจาค ซึ่งมีแหล่งรายได้มาจากหลากหลายช่องทางก็ตาม แต่รายได้ที่โจทก์ได้รับมาดังกล่าวก็จะนำมาเป็นค่าใช้จ่ายตามที่ระบุไว้ในข้อบังคับ ข้อ 25 เช่น ค่าใช้จ่ายในการจัดการสาธารณูปโภคและบริการสาธารณะ ค่าใช้จ่ายในการจัดจ้างผู้จัดการ เจ้าหน้าที่ ค่าใช้จ่ายในการสื่อสารประชาสัมพันธ์ และค่าใช้จ่ายอื่นที่จำเป็น โดยไม่ปรากฏว่าโจทก์นำเงินรายได้ที่หามาได้นั้นมาจัดสรรหรือแบ่งปันผลกำไรระหว่างกัน แม้ในคดีนี้จะได้ความว่า คณะกรรมการบริหารของโจทก์ได้จัดทำสัญญากับบุคคลภายนอกเพื่อให้สิทธิเช่าสโมสรนิติบุคคลหมู่บ้านชัยพฤกษ์ ทวีวัฒนา โดยโจทก์ได้รับประโยชน์ตอบแทนเป็นเงินค่าเช่าพื้นที่ แต่การทำสัญญากับบุคคลภายนอกก็เป็นไปเพื่อการจัดการดูแล บำรุงรักษาสโมสรซึ่งเป็นทรัพย์สินส่วนกลางให้อยู่ในสภาพที่สมาชิกหมู่บ้านสามารถใช้ประโยชน์ร่วมกันได้ดีเท่านั้น ทั้งการที่โจทก์จัดหารายได้ด้วยวิธีการต่าง ๆ ก็เพื่อนำเงินที่ได้รับมาใช้เพื่อประโยชน์ของสาธารณะในกลุ่มสมาชิกของโจทก์ จึงยังไม่อาจถือได้ว่าโจทก์ดำเนินกิจการเพื่อแสวงหากำไรในทางเศรษฐกิจ การที่โจทก์จ้างนายจำนงค์มาทำงานจึงเป็นการจ้างลูกจ้างทำงานที่มิได้แสวงหากำไรในทางเศรษฐกิจ กรณีจึงมิให้ใช้บทบัญญัติหมวด 11 ค่าชดเชยตั้งแต่มาตรา 118 ถึงมาตรา 122 บังคับแก่โจทก์ตามกฎกระทรวง (พ.ศ.2541) ออกตามความในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ข้อ (3) โจทก์จึงไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย พร้อมดอกเบี้ยตามคำสั่งของจำเลยแก่นายจำนงค์ อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า โจทก์ไม่ต้องจ่ายดอกเบี้ยจากต้นเงินค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง

Share