คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 879/2559

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีก่อนโจทก์ที่ 1 ฟ้องขับไล่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 แต่ละคนให้ออกจากที่ดินพิพาท คดีทั้งสามอยู่ระหว่างการพิจารณา โจทก์ทั้งสองได้ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสี่เป็นคดีนี้ แม้โจทก์ที่ 2 ไม่ได้เป็นโจทก์ฟ้องในทั้งสามคดีดังกล่าว แต่โจทก์ทั้งสองมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทร่วมกัน การที่โจทก์ที่ 1 ฟ้องขับไล่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เป็นการที่เจ้าของรวมคนหนึ่งๆ ใช้สิทธิอันเกิดแต่กรรมสิทธิ์ครอบไปถึงทรัพย์สินทั้งหมดเพื่อต่อสู้บุคคลภายนอกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1359 ถือได้ว่าเป็นการใช้สิทธิฟ้องคดีแทนโจทก์ที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าของร่วมด้วย จึงถือว่าโจทก์ที่ 2 เป็นโจทก์ในคดีก่อน ส่วนจำเลยที่ 4 ได้เข้าเป็นจำเลยร่วมในทั้งสามคดีตามที่จำเลยแต่ละคดีขอให้ศาลมีหมายเรียก ซึ่งมีผลให้จำเลยที่ 4 ในฐานะจำเลยร่วมอาจถูกบังคับตามคำฟ้องได้ มีผลเท่ากับว่าจำเลยที่ 4 ถูกฟ้องเป็นจำเลยทั้งสามคดีด้วย จึงต้องถือว่าจำเลยที่ 4 ได้เข้าเป็นคู่ความในทั้งสามคดีดังกล่าวแล้วเช่นกัน ดังนั้น คู่ความในคดีนี้กับคู่ความในคดีทั้งสามจึงเป็นคู่ความเดียวกัน เมื่อที่ดินพิพาทเป็นที่ดินแปลงเดียวกัน และจำเลยทั้งสี่ให้การต่อสู้ทำนองเดียวกันกับคดีทั้งสามว่า ที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 4 โดยจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เช่าจากจำเลยที่ 4 ประเด็นข้อพิพาทในคดีนี้กับคดีทั้งสามจึงมีอย่างเดียวกันว่า ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ทั้งสองหรือเป็นของจำเลยที่ 4 โจทก์คดีก่อนอาจเรียกค่าเสียหายอย่างที่เรียกคดีนี้ได้จากคดีก่อนอยู่แล้ว การที่โจทก์ทั้งสองนำคดีมาฟ้องจำเลยทั้งสี่เป็นคดีนี้ในระหว่างที่คดีทั้งสามยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาล อันเป็นการยื่นคำฟ้องเรื่องเดียวกันอีก ฟ้องโจทก์ทั้งสองจึงเป็นฟ้องซ้อนกับคดีทั้งสาม ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง (1)

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ทั้งสอง 30,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติในเบื้องต้นว่า ในคดีก่อนโจทก์ที่ 1 ในคดีนี้ฟ้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ในคดีนี้เป็นจำเลยในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 838/2551, 840/2551 และ 841/2551 ของศาลชั้นต้น ขอให้บังคับขับไล่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ออกจากที่ดินพิพาทที่เป็นทรัพย์มรดกและเป็นที่งอกริมตลิ่งที่งอกจากที่ดินของโจทก์ที่ 1 ทั้งสามแปลง คดีทั้งสามดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจารณา จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ให้การต่อสู้ว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เช่าที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ราชพัสดุจากจำเลยที่ 4 ในคดีนี้ ต่อมาจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นหมายเรียกจำเลยที่ 4 เข้ามาเป็นจำเลยร่วม โดยจำเลยร่วมให้การว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ราชพัสดุ ซึ่งต่อมาศาลชั้นต้นโอนคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 838/2551 และ 840/2551 ไปให้ศาลแขวงนครสวรรค์พิจารณาเนื่องจากที่ดินพิพาทมีราคาไม่เกิน 300,000 บาท คดีนี้โจทก์ทั้งสองฟ้องจำเลยทั้งสี่ว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่งอกริมตลิ่งที่งอกจากที่ดินของโจทก์ทั้งสองและจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เข้าอยู่อาศัยโดยเช่าจากโจทก์ทั้งสอง ไม่ใช่ที่ราชพัสดุของจำเลยที่ 4 แต่จำเลยที่ 4 กลับทำสัญญาเช่าให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 โจทก์ทั้งสองจึงฟ้องขอให้จำเลยที่ 4 เปลี่ยนแปลงทางทะเบียนในที่ดินพิพาทว่าเป็นที่ดินของโจทก์ทั้งสอง แต่จำเลยที่ 4 เพิกเฉย การกระทำของจำเลยทั้งสี่จึงเป็นการละเมิดสิทธิโจทก์ทั้งสองและเรียกค่าเสียหาย จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ต่อสู้ว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่ราชพัสดุ ซึ่งจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เช่าจากจำเลยที่ 4 จำเลยที่ 4 ให้การว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ราชพัสดุ
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองว่า ฟ้องโจทก์ทั้งสองคดีนี้เป็นฟ้องซ้อนกับคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 841/2551 ของศาลชั้นต้นและคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 838/2551, 840/2551 ของศาลชั้นต้นซึ่งโอนไปพิจารณาที่ศาลแขวงนครสวรรค์หรือไม่ เห็นว่า แม้โจทก์ที่ 2 ไม่ได้เป็นโจทก์ฟ้องในทั้งสามคดีดังกล่าว แต่โจทก์ทั้งสองมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทร่วมกัน การที่โจทก์ที่ 1 เป็นโจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นจำเลยในแต่ละคดี เป็นการที่เจ้าของรวมคนหนึ่งๆ ใช้สิทธิอันเกิดแต่กรรมสิทธิ์ครอบไปถึงทรัพย์สินทั้งหมดเพื่อต่อสู้บุคคลภายนอกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1359 ถือได้ว่าเป็นการใช้สิทธิฟ้องคดีแทนโจทก์ที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าของรวมด้วย จึงถือว่าโจทก์ที่ 2 เป็นโจทก์ในคดีก่อน ส่วนจำเลยที่ 4 แม้จะมิได้ถูกฟ้องเป็นจำเลยในทั้งสามคดีดังกล่าวโดยตรง แต่จำเลยที่ 4 ได้เข้าเป็นจำเลยร่วมในทั้งสามคดีตามที่จำเลยแต่ละคดีขอให้ศาลมีหมายเรียก ซึ่งมีผลให้จำเลยที่ 4 ในฐานะจำเลยร่วมอาจถูกบังคับตามคำฟ้องได้ มีผลเท่ากับว่าจำเลยที่ 4 ถูกฟ้องเป็นจำเลยทั้งสามคดีด้วย จึงต้องถือว่าจำเลยที่ 4 ได้เข้าเป็นคู่ความในทั้งสามคดีดังกล่าวแล้วเช่นกัน ดังนั้น คู่ความในคดีนี้กับคู่ความในคดีทั้งสามจึงเป็นคู่ความเดียวกันเมื่อที่ดินพิพาทคดีนี้กับคดีทั้งสามเป็นที่ดินแปลงเดียวกัน และคดีนี้จำเลยทั้งสี่ให้การต่อสู้ทำนองเดียวกันกับคดีทั้งสามว่า ที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 4 โดยจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เช่าจากจำเลยที่ 4 ประเด็นข้อพิพาทในคดีนี้กับคดีทั้งสามจึงมีอย่างเดียวกันว่า ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ทั้งสองหรือเป็นของจำเลยที่ 4 โจทก์คดีก่อนอาจเรียกค่าเสียหายอย่างที่เรียกคดีนี้ได้จากคดีก่อนอยู่แล้ว การที่โจทก์ทั้งสองนำคดีมาฟ้องจำเลยทั้งสี่เป็นคดีนี้ในระหว่างที่คดีทั้งสามยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาล อันเป็นการยื่นคำฟ้องเรื่องเดียวกันอีก ฟ้องโจทก์ทั้งสองจึงเป็นฟ้องซ้อนกับคดีทั้งสาม ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173 วรรคสอง (1) อีกทั้งข้อเท็จจริงยังปรากฏตามคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ 841/2551 หมายเลขแดงที่ 649/2553 ของศาลชั้นต้น ซึ่งโจทก์ในคดีดังกล่าวคือโจทก์ที่ 1 คดีนี้ยื่นฎีกา ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้วเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2558ว่า ที่ดินพิพาทไม่ใช่ที่ดินของโจทก์ ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9235/2557 ซึ่งคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีดังกล่าวมีผลผูกพันคู่ความในคดีนี้ด้วย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 วรรคหนึ่ง ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้นชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ทั้งสองฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share