คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14885/2558

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยให้การเพียงว่าโจทก์มิใช่ผู้จัดการมรดกและศาลยังไม่มีคำสั่งตั้งผู้จัดการมรดกของ ส. โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง เงินฝากและหุ้นของ ส. ในสหกรณ์ออมทรัพย์ ไม่ใช่มรดกของ ส. เพราะสิทธิประโยชน์เกิดขึ้นเมื่อ ส. ถึงแก่ความตาย พินัยกรรมตามฟ้องไม่อาจลบล้างหนังสือแสดงเจตนาการตั้งผู้รับประโยชน์ที่ ส. ทำให้ไว้แก่สหกรณ์ดังกล่าวเท่านั้น จำเลยไม่ได้ให้การต่อสู้ว่าพินัยกรรมตามฟ้องเป็นพินัยกรรมปลอม ดังนั้น ที่จำเลยอุทธรณ์ว่าพินัยกรรมตามฟ้องเป็นพินัยกรรมปลอม จึงเป็นการอ้างข้อเท็จจริงที่แตกต่างไปจากคำให้การ ถือได้ว่าเป็นข้อเท็จจริงที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ต้องห้ามอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง
แม้ ส. จะทำหนังสือแสดงเจตนาการตั้งผู้รับโอนประโยชน์ให้ไว้แก่สหกรณ์ออมทรัพย์ โดยระบุให้โจทก์กับจำเลยเป็นผู้รับประโยชน์ก็ตาม แต่หลังจากทำหนังสือปรากฏว่า ส. ทำพินัยกรรมระบุให้โจทก์เป็นผู้รับหุ้นและเงินฝากรวมทั้งดอกผลที่เกิดขึ้นจากเงินที่ ส. ผู้ตาย ฝากไว้ ณ สหกรณ์ดังกล่าว อันเป็นการแสดงเจตนากำหนดการเผื่อตายไว้เพียงฉบับเดียวก่อนที่ ส. จะถึงแก่ความตาย พินัยกรรมจึงมีผลลบล้างหนังสือแสดงเจตนาการตั้งผู้รับโอนประโยชน์ที่ระบุให้โจทก์และจำเลยเป็นผู้รับโอนประโยชน์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 35,799,820.91 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 35,799,820.91 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2555 ซึ่งเป็นวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 30,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังยุติโดยไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาโต้แย้งว่า โจทก์อยู่กินฉันสามีภริยาโดยไม่จดทะเบียนสมรสกับนายสุรเดช ตั้งแต่ปี 2529 จนกระทั่งนายสุรเดชถึงแก่ความตาย จำเลยเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของนายสุรเดชกับนางญานี แล้วนายสุรเดชกับนางญานีจดทะเบียนหย่ากัน ระหว่างยังมีชีวิตอยู่นายสุรเดชเป็นสมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์ครูเชียงใหม่ จำกัด มีเงินฝากและหุ้นในสหกรณ์ฯ รวมเป็นเงิน 71,599,641.83 บาท นายสุรเดชทำหนังสือแสดงเจตนาการตั้งผู้รับโอนประโยชน์ให้ไว้แก่สหกรณ์ ระบุให้โจทก์และจำเลยเป็นผู้รับประโยชน์ในเงินค่าหุ้น เงินปันผลและหรือเงินเฉลี่ยคืนค้างจ่าย เงินฝากและทรัพย์สินอื่นใดที่นายสุรเดชพึงได้รับตามสิทธิของการเป็นสมาชิกสหกรณ์ หลังจากนั้นนายสุรเดชได้ทำพินัยกรรมฉบับลงวันที่ 2 มกราคม 2546 ระบุให้โจทก์เป็นผู้ได้รับหุ้นและเงินฝากรวมทั้งดอกผลที่เกิดขึ้นจากเงินที่นายสุรเดชฝากไว้ ณ สหกรณ์ ต่อมานายสุรเดชถึงแก่ความตาย เงินค่าหุ้น เงินปันผลและหรือเงินเฉลี่ยคืนค้างจ่าย เงินฝากและทรัพย์สินอื่นใดที่นายสุรเดชพึงได้รับตามสิทธิของการเป็นสมาชิกสหกรณ์ตกเป็นมรดกของนายสุรเดช
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยว่า จำเลยให้การต่อสู้ว่า พินัยกรรมตามฟ้องเป็นเอกสารปลอมไว้หรือไม่ เห็นว่า เมื่อพิจารณาคำให้การของจำเลยแล้ว จำเลยให้การเพียงว่าโจทก์มิใช่ผู้จัดการมรดกและศาลยังไม่มีคำสั่งตั้งผู้ใดเป็นผู้จัดการมรดกของนายสุรเดช โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง เงินฝากและหุ้นของนายสุรเดชในสหกรณ์ตามฟ้อง ไม่ใช่มรดกของนายสุรเดชเพราะสิทธิประโยชน์เกิดขึ้นเมื่อนายสุรเดชถึงแก่ความตาย พินัยกรรมตามฟ้องไม่อาจลบล้างหนังสือแสดงเจตนาการตั้งผู้รับโอนประโยชน์ที่นายสุรเดชทำให้ไว้แก่สหกรณ์เท่านั้น จำเลยไม่ได้ให้การต่อสู้ไว้เลยว่าพินัยกรรมตามฟ้องเป็นพินัยกรรมปลอม ดังนั้น ที่จำเลยอุทธรณ์ว่าพินัยกรรมตามฟ้องเป็นพินัยกรรมปลอม จึงเป็นการอ้างข้อเท็จจริงที่แตกต่างไปจากคำให้การ ถือได้ว่าเป็นข้อเท็จจริงที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ไม่รับวินิจฉัยชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ที่จำเลยฎีกาว่า พินัยกรรมไม่อาจลบล้างหนังสือแสดงเจตนาการตั้งผู้รับโอนประโยชน์ที่นายสุรเดชทำให้ไว้แก่สหกรณ์ได้นั้น เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าเงินค่าหุ้น เงินปันผลและหรือเงินเฉลี่ยคืนค้างจ่ายเงินฝากและทรัพย์สินอื่นใดที่นายสุรเดชพึงได้รับตามสิทธิของการเป็นสมาชิกสหกรณ์เป็นมรดกของนายสุรเดช ถึงแม้ว่านายสุรเดชจะได้ทำหนังสือแสดงเจตนาตั้งผู้รับโอนประโยชน์ให้ไว้แก่สหกรณ์โดยระบุให้โจทก์กับจำเลยเป็นผู้รับประโยชน์ก็ตาม แต่หลังจากที่นายสุรเดชทำหนังสือแสดงเจตนาการตั้งผู้รับโอนประโยชน์ไว้แล้ว ปรากฏว่านายสุรเดชได้ทำพินัยกรรมฉบับลงวันที่ 2 มกราคม 2546 ระบุไว้ในข้อ 1.9.2 ให้โจทก์เป็นผู้รับหุ้นและเงินฝากรวมทั้งดอกผลที่เกิดขึ้นจากเงินที่นายสุรเดช ผู้ตาย ฝากไว้ ณ สหกรณ์ อันเป็นการแสดงเจตนากำหนดการเผื่อตายไว้เพียงฉบับเดียวก่อนที่นายสุรเดชจะถึงแก่ความตาย พินัยกรรมจึงมีผลลบล้างหนังสือแสดงเจตนาการตั้งผู้รับโอนประโยชน์ที่ระบุให้โจทก์และจำเลยเป็นผู้รับประโยชน์ ผลของพินัยกรรมทำให้จำเลยหมดสิทธิได้รับเงินค่าหุ้น เงินปันผลและหรือเงินเฉลี่ยคืนค้างจ่าย เงินฝากและทรัพย์สินอื่นใดที่นายสุรเดชพึงได้รับตามสิทธิของการเป็นสมาชิกสหกรณ์ ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share