แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 198 ทวิ วรรคหนึ่ง และมาตรา 104 ซึ่งมาตรา 198 ทวิ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ศาลจะพิพากษาให้โจทก์ชนะคดีเพราะจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การไม่ได้ เว้นแต่ศาลจะเห็นว่าคำฟ้องของโจทก์มีมูลและไม่ขัดต่อกฎหมาย และมาตรา 104 บัญญัติให้ศาลมีอำนาจเต็มในอันที่จะวินิจฉัยว่าพยานหลักฐานที่คู่ความนำมาสืบจะเกี่ยวกับประเด็นและเป็นอันเพียงพอให้เป็นยุติได้หรือไม่แล้วพิพากษาคดีไปตามนั้น ซึ่งในการสืบพยานตามข้ออ้างของโจทก์ นั้น แม้โจทก์จะไม่มีเอกสารเป็นพยานหลักฐาน แต่โจทก์ก็มีพนักงานพิจารณาสินไหมบริษัทโจทก์ซึ่งมีหน้าที่พิจารณาเหตุที่เกิดแก่สินค้าดังกล่าวมาเป็นพยานตามบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นของพยาน โดยจำเลยที่ 4 มิได้นำพยานหลักฐานมานำสืบหักล้างให้เห็นเป็นอย่างอื่น เมื่อการขนส่งดังกล่าวมีลักษณะเป็นการขนส่งสินค้าทางทะเลในประเทศ ซึ่งต้องบังคับตาม ป.พ.พ. ว่าด้วยการรับขนของ ซึ่งมิได้บัญญัติว่า สัญญาเช่นนี้ต้องทำเป็นลายลักษณ์อักษร หรือต้องมีหลักฐานเป็นเอกสารมาแสดงจึงจะบังคับกันได้ ดังนั้น ที่โจทก์นำสืบและพยานดังกล่าวเบิกความยืนยันจึงมีน้ำหนักให้รับฟังได้
ส่วนความรับผิดของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งเป็นผู้รับขนสินค้านั้นทางทะเลจากท่าเรือ ซึ่งแม้จะปรากฏว่าเป็นการรับขนตามสัญญาเช่าเรือ (Charterparty) แต่ก็มีการออกใบตราส่ง ดังนั้น การรับขนสินค้าทางทะเลในกรณีนี้ในส่วนของหน้าที่และสิทธิของผู้ขนส่งและผู้รับตราส่งซึ่งมิใช่ผู้จ้างเหมาจึงต้องบังคับตาม พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มาตรา 5 ส่วนจำเลยที่ 4 เป็นผู้ขนส่งสินค้าทางทะเลในประเทศ จึงไม่ต้องด้วย พ.ร.บ.การรับขนของทะเล พ.ศ.2534 มาตรา 4 วรรคสอง โดยหน้าที่และสิทธิของจำเลยที่ 4 ให้บังคับตาม ป.พ.พ. ว่าด้วยการรับขนของดังกล่าวแล้ว เมื่อปรากฏว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้รับสินค้าที่ขนส่งไว้ในความดูแลเพื่อขนส่งและออกใบตราส่ง ซึ่งมีข้อความว่าสินค้าที่ขนส่งมีน้ำหนัก 1,964,583 เมตริกตัน และมีข้อความระบุว่า “Shipped, in apparent good order and condition” และข้อความว่า “Clean on board” แสดงว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 รับสินค้าที่ขนส่งไว้เพื่อการขนส่งสินค้ามีจำนวนตรงตามที่ระบุในใบตราส่ง และสินค้าอยู่ในสภาพดี และผู้รับตราส่งรับมอบสินค้าที่ขนส่งกับได้ส่งมอบสินค้าดังกล่าวให้แก่เรือ ที่ผู้รับตราส่งจัดหามา จึงเป็นกรณีที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ผู้ขนส่งทางทะเลได้ส่งมอบสินค้านั้นแก่ผู้รับตราส่งแล้ว เมื่อเรือมาถึงเกาะสีชังผู้สำรวจและประเมินความเสียหายของสินค้าที่โจทก์เป็นผู้ว่าจ้างยังได้ออกรายงาน ยืนยันน้ำหนักสินค้าที่ขนส่งว่าเท่ากับที่รับไว้เพื่อการขนส่งจากต้นทาง จึงให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ขนส่งได้มอบของซึ่งมีสภาพ จำนวน น้ำหนัก และรายละเอียดอื่น ๆ ตรงตามที่ระบุไว้ในใบตราส่ง หรือถ้าไม่ได้ออกใบตราส่งให้ไว้แก่กัน ให้สันนิษฐานว่าได้ส่งมอบของซึ่งมีสภาพดี แล้วแต่กรณี และโจทก์มีภาระการพิสูจน์ว่าสินค้าที่ส่งมอบไม่ครบตามจำนวนที่ระบุในใบตราส่ง ถือไม่ได้ว่าการที่สินค้าขาดจำนวนไป มาจากเหตุที่เกิดขึ้นในระหว่างที่สินค้าที่ขนส่งอยู่ในความดูแลของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดต่อการที่สินค้าที่ขนส่งขาดจำนวนหรือสูญหายไปดังกล่าว สำหรับจำเลยที่ 4 นั้น จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ได้ส่งมอบสินค้าที่ขนส่งแก่จำเลยที่ 4 ขาดจำนวนไปจากที่ได้รับไว้เพื่อการขนส่ง และโจทก์เองก็ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าจำเลยที่ 4 ได้รับมอบสินค้าที่ขนส่งไว้เพื่อขนส่งเป็นจำนวนเท่าใด ประกอบกับตามใบกำกับสินค้าก็ได้กำหนดคุณสมบัติเกี่ยวกับความชื้นของสินค้าดังกล่าวไว้ด้วย ทั้งการขนส่งก็เป็นแบบเทกอง จำเลยที่ 4 จึงไม่ต้องรับผิดในการที่สินค้าข้าวสาลีที่ขนส่งขาดจำนวนไปดังกล่าวเช่นกัน ส่วนปัญหาเรื่องฝนตกอย่างฉับพลันคนเรือดึงผ้าใบปิดระวางเรือไม่ทัน เป็นเหตุให้สินค้าที่เหลืออยู่ในระวางเรือเปียกฝน เช่นนี้ถือว่าสินค้าที่ขนส่งได้รับความเสียหายในระหว่างที่อยู่ในความดูแลของจำเลยที่ 4 ทั้งไม่ใช่เหตุสุดวิสัยเพราะสามารถรู้ล่วงหน้าและป้องกันได้ในฐานะผู้ประกอบอาชีพรับขนส่งสินค้า จำเลยที่ 4 จึงต้องรับผิดในการที่สินค้าข้าวสาลีที่ขนส่งได้รับความเสียหายจำนวนนี้ด้วย
ส่วนค่าใช้จ่ายที่โจทก์ต้องเสียไปในการค้นหาสาเหตุของการที่สินค้าที่ขนส่งได้รับความเสียหายดังกล่าวนั้นถือได้ว่าเป็นค่าเสียหายเช่นที่ตามปกติย่อมเกิดจากการที่จำเลยที่ 4 ไม่ชำระหนี้ด้วยการขนส่งสินค้าที่ได้รับไว้ในความดูแลให้ปลอดจากความเสียหาย เพราะเมื่อเกิดความเสียหายขึ้นย่อมเป็นธรรมดาที่จะต้องมีการสำรวจตรวจสอบเพื่อให้ทราบปริมาณความเสียหายและจำนวนค่าเสียหายของสินค้า ตาม ป.พ.พ. มาตรา 222 วรรคหนึ่ง แต่เมื่อค่าใช้จ่ายดังกล่าวเกิดจาก 2 สาเหตุ เมื่อจำเลยที่ 4 ต้องรับผิดจากเหตุสินค้าเปียกน้ำเท่านั้น จึงเห็นควรลดค่าเสียหายส่วนนี้ลงตามส่วน
ย่อยาว
บรรดาคำฟ้อง คำให้การ รวมทั้งรายการต่างๆ ในคำพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางให้ถือเป็นส่วนหนึ่งของคำพิพากษานี้
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่ไม่โต้แย้งกันในชั้นอุทธรณ์รับฟังได้ว่า บริษัทคิงส์ มิลลิ่ง (สุราษฎร์ธานี) จำกัด ซื้อข้าวสาลี ชนิดเวสเทิร์น ไวท์วีท เกรท 2 จำนวน 1,964,583 เมตริกตัน ราคา เมตริกตันละ 275 ดอลลาร์สหรัฐ รวมจำนวน 540,260.33 ดอลลาร์สหรัฐ จากบริษัทกาวิลอน เกรน แอลแอลซี จำกัด ในประเทศสหรัฐอเมริกา ด้วยเงื่อนไข ซีเอฟอาร์ เกาะสีชัง โดยผู้ขายมีหน้าที่ขนส่งสินค้าจากท่าเรือต้นทางมายังท่าเรือปลายทางด้วยค่าใช้จ่ายของผู้ขายเอง และผู้ซื้อมีหน้าที่รับมอบสินค้าจากเรือด้วยค่าใช้จ่ายของตนเอง จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันขนส่งสินค้าดังกล่าวจากท่าเรือคารามา มลรัฐวอชิงตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา ด้วยเรืออีฟี่ ทีโอ เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2555 ตามใบตราส่ง เดินทางมาถึงเกาะสีชังเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2555 บริษัทคิงส์ มิลลิ่ง (สุราษฎร์ธานี) จำกัด ผู้ซื้อและผู้รับตราส่งได้จัดหาเรือลำเลียงชื่อธีรานันท์รุ่งเรือง ไปรับสินค้าทั้งหมดจากเรืออีฟี่ ทีโอ ระหว่างวันที่ 25 ถึง 28 เมษายน 2555 เพื่อขนส่งต่อไปยังท่าเรือของบริษัทคิงส์ มารีน เทอร์มินอล และขนถ่ายจากเรือธีรานันท์รุ่งเรืองขึ้นรถบรรทุกระหว่างวันที่ 13 ถึง 26 พฤษภาคม 2555 เพื่อนำไปเก็บยังคลังสินค้าของบริษัทคิงส์ มิลลิ่ง (สุราษฎร์ธานี) จำกัด ต่อไป วันที่ 11 กรกฎาคม 2555 โจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยสินค้าไว้จากบริษัทคิงส์ มิลลิ่ง (สุราษฎร์ธานี) จำกัด ได้จ่ายค่าสินไหมแทนให้บริษัทคิงส์ มิลลิ่ง (สุราษฎร์ธานี) จำกัด หลังจากหักค่าเสียหายส่วนแรกร้อยละ 0.5 และค่าซากแล้ว 249,756.18 บาท ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 3 เพราะไม่ใช่ผู้ขนส่ง โจทก์ไม่อุทธรณ์ คดีโจทก์สำหรับจำเลยที่ 3 จึงเป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ข้อแรกว่า จำเลยที่ 4 เป็นผู้ขนส่งสินค้าข้าวสาลีตามคำฟ้องด้วยเรือธีรานันท์รุ่งเรือง หรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 198 ทวิ วรรคหนึ่ง และมาตรา 104 ซึ่งมาตรา 198 ทวิ วรรคหนึ่งบัญญัติว่า ศาลจะพิพากษาให้โจทก์ชนะคดีเพราะจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การไม่ได้ เว้นแต่ศาลจะเห็นว่าคำฟ้องของโจทก์มีมูลและไม่ขัดต่อกฎหมาย และมาตรา 104 บัญญัติให้ศาลมีอำนาจเต็มในอันที่จะวินิจฉัยว่าพยานหลักฐานที่คู่ความนำมาสืบจะเกี่ยวกับประเด็นและเป็นอันเพียงพอให้เป็นยุติได้หรือไม่แล้วพิพากษาคดีไปตามนั้น ซึ่งในการสืบพยานตามข้ออ้างของโจทก์ที่ว่าจำเลยที่ 4 เป็นผู้นำเรือลำเลียงชื่อธีรานันท์รุ่งเรืองมารับสินค้าข้าวสาลีตามคำฟ้องต่อจากเรืออีฟี่ ทีโอ ไปยังท่าเรือคิงส์ มารีน เทอร์มินอล นั้น แม้โจทก์จะไม่มีเอกสารเป็นพยานหลักฐาน แต่โจทก์ก็มีนางบุญเอื้อ พนักงานพิจารณาสินไหมบริษัทโจทก์ซึ่งมีหน้าที่พิจารณาเหตุที่เกิดแก่สินค้าดังกล่าวมาเป็นพยานตามบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นของพยานว่า จำเลยที่ 4 ตกลงรับขนส่งสินค้าข้าวสาลีตามคำฟ้องจากเรืออีฟี่ ทีโอ จึงได้นำเรือธีรานันท์รุ่งเรืองมาขนส่งสินค้าดังกล่าวไปยังท่าเรือคิงส์ มารีน เทอร์มินอล โดยจำเลยที่ 4 มิได้นำพยานหลักฐานมานำสืบหักล้างให้เห็นเป็นอย่างอื่น เมื่อการขนส่งดังกล่าวมีลักษณะเป็นการขนส่งสินค้าทางทะเลในประเทศ ซึ่งต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ว่าด้วยการรับขนของ ซึ่งมิได้บัญญัติว่า สัญญาเช่นนี้ต้องทำเป็นลายลักษณ์อักษร หรือต้องมีหลักฐานเป็นเอกสารมาแสดงจึงจะบังคับกันได้ ดังนั้น เมื่อโจทก์นำสืบและพยานดังกล่าวเบิกความยืนยันว่า จำเลยที่ 4 เป็นผู้ขนส่งสินค้าข้าวสาลีตามคำฟ้องด้วยเรือธีรานันท์รุ่งเรืองพยานหลักฐานของโจทก์จึงมีน้ำหนักให้รับฟังได้ตามนั้น อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยข้อต่อไปตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ต้องรับผิดในการที่สินค้าที่ขนส่งสูญหาย และจำเลยที่ 4 ต้องรับผิดในการที่สินค้าดังกล่าวได้รับความเสียหายเพราะเปียกน้ำหรือไม่ เพียงใด ในส่วนความรับผิดของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งเป็นผู้รับขนสินค้านั้นทางทะเลจากท่าเรือคารามา มลรัฐวอชิงตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา มายังท่าเรือเกาะสีชัง ประเทศไทย ซึ่งแม้จะปรากฏว่าเป็นการรับขนตามสัญญาเช่าเรือ (Charterparty) แต่ก็มีการออกใบตราส่ง ดังนั้น การรับขนสินค้าทางทะเลในกรณีนี้ในส่วนของหน้าที่และสิทธิของผู้ขนส่งและผู้รับตราส่งซึ่งมิใช่ผู้จ้างเหมาจึงต้องบังคับตามพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มาตรา 5 ส่วนจำเลยที่ 4 เป็นผู้ขนส่งสินค้าทางทะเลในประเทศจึงไม่ต้องด้วยพระราชบัญญัติการรับขนของทะเล พ.ศ.2534 มาตรา 4 วรรคสอง โดยหน้าที่และสิทธิของจำเลยที่ 4 ให้บังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ว่าด้วยการรับขนของ ดังกล่าวแล้ว เมื่อปรากฏว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้รับสินค้าที่ขนส่งไว้ในความดูแลเพื่อขนส่งและออกใบตราส่ง ซึ่งมีข้อความว่าสินค้าที่ขนส่งมีน้ำหนัก 1,964,583 เมตริกตัน และมีข้อความระบุว่า “Shipped, in apparent good order and condition” และข้อความว่า “Clean on board” แสดงว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 รับสินค้าที่ขนส่งไว้เพื่อการขนส่งสินค้ามีจำนวนตรงตามที่ระบุในใบตราส่ง และสินค้าอยู่ในสภาพดี ครั้นเรือเดินทางถึงเกาะสีชังบริษัทคิงส์ มิลลิ่ง (สุราษฎร์ธานี) จำกัด ในฐานะผู้รับตราส่งมีหน้าที่รับมอบสินค้าที่ขนส่งจากเรืออีฟี่ ทีโอ และการที่เรืออีฟี่ ทีโอ ได้ส่งมอบสินค้าดังกล่าวให้แก่เรือธีรานันท์รุ่งเรือง ที่ผู้รับตราส่งจัดหามา จึงเป็นกรณีที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ผู้ขนส่งทางทะเลได้ส่งมอบสินค้านั้นแก่ผู้รับตราส่งแล้ว ตามพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มาตรา 40 (1) การที่ผู้สำรวจสินค้าที่โจทก์ว่าจ้างคือบริษัทควอลิตี้ คาร์โก อินสเปกชั่น จำกัด ได้ออกรายงานการสำรวจ เกี่ยวกับน้ำหนักของสินค้าที่ขนส่งที่เรืออีฟี่ ทีโอ ส่งมอบแก่เรือธีรานันท์รุ่งเรืองว่า เมื่อเปิดระวางสินค้าที่ส่งมอบมีจำนวน 1,964,583 เมตริกตัน แต่เมื่อเรือธีรานันท์รุ่งเรืองส่งมอบสินค้าที่ขนส่งที่ท่าเรือคิงส์ มารีน เทอร์มินอล ให้แก่รถบรรทุก และมีการชั่งน้ำหนักกันที่นั่นแล้ว ปรากฏว่าสินค้าที่ขนส่งมีน้ำหนักจำนวนเพียง 1,942.440 เมตริกตัน ขาดไปจำนวน 22.143 เมตริกตัน และข้อเท็จจริงยังปรากฏจากทางนำสืบของโจทก์ว่า ก่อนการส่งมอบสินค้าที่ขนส่งที่ท่าเรือต้นทาง หน่วยงานด้านการเกษตรของประเทศสหรัฐอเมริกาได้ออกใบรับรองน้ำหนักสินค้าที่บรรทุกลงเรืออีฟี่ ทีโอ ในวันเดียวกันกับที่มีการบรรทุกลงเรือคือวันที่ 16 มีนาคม 2555 ว่ามีน้ำหนักจำนวน 4,331,120 ปอนด์ หรือเท่ากับจำนวน 1,964.583 เมตริกตัน และเมื่อเรือมาถึงเกาะสีชังผู้สำรวจและประเมินความเสียหายของสินค้าที่โจทก์เป็นผู้ว่าจ้างยังได้ออกรายงาน ยืนยันน้ำหนักสินค้าที่ขนส่งว่าเท่ากับที่รับไว้เพื่อการขนส่งจากต้นทาง โดยที่พระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มาตรา 49 บัญญัติว่า “เมื่อผู้รับตราส่งได้รับมอบของจากผู้ขนส่งหรือจากบุคคลตามมาตรา 40 (3) ไว้แล้ว ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ขนส่งได้มอบของซึ่งมีสภาพ จำนวน น้ำหนัก และรายละเอียดอื่นๆ ตรงตามที่ระบุไว้ในใบตราส่ง หรือถ้าไม่ได้ออกใบตราส่งให้ไว้แก่กัน ให้สันนิษฐานว่าได้ส่งมอบของซึ่งมีสภาพดี แล้วแต่กรณี เว้นแต่ (1) ผู้รับตราส่งหรือบุคคลตามมาตรา 40 (3) และผู้ขนส่งได้ทำการสำรวจหรือตรวจสภาพของร่วมกันและจดแจ้งการสูญหายหรือเสียหายไว้แล้วก่อนที่ผู้รับตราส่งจะรับมอบของ (2) ในกรณีที่ไม่มีการสำรวจหรือตรวจสภาพของร่วมกันตาม (1) ผู้รับตราส่งได้ส่งคำบอกกล่าวเป็นหนังสือแก่ผู้ขนส่ง ณ ท่าปลายทางก่อนรับมอบของตามวรรคหนึ่ง หรือภายในหนึ่งวันทำการถัดจากวันรับมอบของว่ามีของสูญหายหรือเสียหายพร้อมทั้งแจ้งถึงสภาพการสูญหายหรือเสียหายนั้นๆ ด้วยหรือในกรณีที่การสูญหายหรือเสียหายไม่อาจพบหรือเห็นได้จากการตรวจสภาพภายนอกแห่งของนั้น ผู้รับตราส่งได้ส่งคำบอกกล่าวภายในสิบห้าวันนับแต่วันรับมอบของ” และข้อเท็จริงไม่ปรากฏว่ามีการดำเนินตามข้อยกเว้นในมาตรา 49 (1) หรือ (2) ดังกล่าว กรณีจึงต้องด้วยข้อสันนิษฐานไว้ก่อนว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ส่งมอบสินค้าที่ขนส่งตรงตามน้ำหนักที่ระบุในใบตราส่ง และโจทก์จึงมีภาระการพิสูจน์ว่าสินค้าที่เรืออีฟี่ ทีโอ ส่งมอบแก่เรือธีรานันท์รุ่งเรือง ไม่ครบตามจำนวนที่ระบุในใบตราส่ง แต่พยานหลักฐานเท่าที่โจทก์นำสืบมารับฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ในฐานะผู้ขนส่งสินค้าดังกล่าวทางทะเลได้ส่งมอบสินค้านั้นให้แก่เรือธีรานันท์รุ่งเรืองที่ผู้รับตราส่งจัดหามามีน้ำหนักเท่าใดขาดจำนวนไปจากที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้รับไว้เพื่อการขนส่งทางทะเลเท่าใด กรณีจึงถือไม่ได้ว่าการที่สินค้าขาดจำนวนไป 22.143 เมตริกตัน มาจากเหตุที่เกิดขึ้นในระหว่างที่สินค้าที่ขนส่งอยู่ในความดูแลของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตามพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ.2543 มาตรา 39 วรรคหนึ่ง จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดต่อการที่สินค้าที่ขนส่งขาดจำนวนหรือสูญหายไปดังกล่าวสำหรับจำเลยที่ 4 นั้น ตามคำฟ้องและทางนำสืบของโจทก์มิได้แสดงให้เห็นข้อเท็จจริงว่า ในขณะที่เรือธีรานันท์รุ่งเรืองที่จำเลยที่ 4 ส่งมารับมอบสินค้าที่ขนส่งจากเรืออีฟี่ ทีโอ ที่เกาะสีชังนั้น เรือธีรานันท์รุ่งเรืองได้รับไว้เพื่อการขนส่งเป็นจำนวนเท่าใด ซึ่งแม้ตามรายงานการสำรวจ 10 ระบุว่า เรือธีรานันท์รุ่งเรืองได้รับสินค้าที่ขนส่งจากเรืออีฟี่ ทีโอ ระหว่างวันที่ 25 ถึง 28 เมษายน 2555 แต่กว่าที่จะได้ส่งมอบสินค้าที่ขนส่งแก่รถบรรทุกที่ท่าคิงส์ มารีน เทอร์มินอล เสร็จสิ้นต้องใช้เวลาระหว่างวันที่ 13 ถึง 26 พฤษภาคม 2555 แต่เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ส่งมอบสินค้าที่ขนส่งแก่จำเลยที่ 4 ขาดจำนวนไปจากที่ได้รับไว้เพื่อการขนส่งเท่าใดและโจทก์เองก็ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าจำเลยที่ 4 ได้รับมอบสินค้าที่ขนส่งไว้เพื่อขนส่งเป็นจำนวนเท่าใด คงได้ความเพียงว่าเมื่อมีการชั่งน้ำหนักที่ท่าเรือคิงส์ มารีน เทอร์มินอล แล้วจึงพบว่าสินค้านั้นขาดจำนวนไปดังกล่าว ซึ่งเมื่อคำนึงถึงชนิดและลักษณะของสินค้าข้าวสาลีที่ขนส่งแล้ว ประกอบกับตามใบกำกับสินค้าก็ได้กำหนดคุณสมบัติเกี่ยวกับความชื้นของสินค้าดังกล่าวไว้ด้วยว่าไม่เกินร้อยละ 13.5 ทั้งการขนส่งก็เป็นแบบเทกอง เมื่อจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นจำเลยร่วมในคดีนี้ได้ให้การและนำสืบต่อสู้อยู่ว่า การที่สินค้าที่ขนส่งขาดจำนวนไปนั้น อาจเกิดจากสภาพของสินค้านั้นเองได้ด้วยโดยเฉพาะในเรื่องความชื้น ซึ่งตามรายงานการสำรวจความเสียหายก็ระบุว่าเมื่อมีการทดสอบสินค้าที่ขนส่งพบว่ามีความชื้นร้อยละ 8.63 การกำหนดจ่ายค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันภัย ก็มีข้อตกลงเกี่ยวกับค่าเสียหายส่วนแรกที่ผู้เอาประกันภัยต้องรับผิดชอบเองในอัตราร้อยละ 0.5 ซึ่งเรื่องความชื้นนี้จำเลยที่ 3 โดยนายสุพิชัย ก็เบิกความตามบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นของพยานว่า ความชื้นร้อยละ 13 (ที่ถูก 13.5) หมายถึงในข้าวสาลี 1 กิโลกรัมจะมีความชื้นได้ไม่เกินจำนวน 130 กรัม (ที่ถูก 135 กรัม) ระหว่างการขนส่งย่อมเกิดความร้อนขึ้นได้ และเป็นสาเหตุให้ความชื้นหายไปทำให้น้ำหนักสินค้าลดลง ซึ่งนางบุญเอื้อ พยานโจทก์ก็เบิกความตอบทนายจำเลยที่ 3 ถามค้านยอมรับว่า มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดความร้อนแล้วทำให้น้ำหนักสินค้าข้าวสาลีลดลง ซึ่งเมื่อเทียบอัตราส่วนเป็นร้อยละแล้วเห็นได้ว่าสินค้าที่ขาดจำนวนไปจากใบตราส่ง คิดเป็นประมาณร้อยละ 1.12 เมื่อเป็นเช่นนี้จึงเห็นว่า พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมายังมีน้ำหนักน้อยกว่าพยานหลักฐานที่จำเลยที่ 3 นำสืบฟังไม่ได้ว่าสินค้าข้าวสาลีที่ขาดจำนวนไป 22.143 เมตริกตัน นั้นเกิดจากการกระทำในช่วงการขนส่งของจำเลยที่ 4 จำเลยที่ 4 จึงไม่ต้องรับผิดในการที่สินค้าข้าวสาลีที่ขนส่งขาดจำนวนไปดังกล่าวเช่นกัน
ส่วนปัญหาว่า จำเลยที่ 4 ต้องรับผิดเพื่อการที่สินค้าข้าวสาลีที่ขนส่งได้รับความเสียหายเพราะเปียกน้ำฝนจำนวน 40.750 เมตริกตัน หรือไม่นั้น เห็นว่า ปรากฏตามรายงานการสำรวจสินค้าข้าวสาลีที่ขนส่ง ว่า ระหว่างขนถ่ายสินค้าขึ้นจากเรือธีรานันท์รุ่งเรือง ในวันที่ 26 พฤษภาคม 2555 เวลา 17 นาฬิกา ฝนตกอย่างฉับพลันคนเรือดึงผ้าใบปิดระวางเรือไม่ทัน เป็นเหตุให้สินค้าที่เหลืออยู่ในระวางเรือเปียกฝน เช่นนี้ถือว่าสินค้าที่ขนส่งได้รับความเสียหายในระหว่างที่อยู่ในความดูแลของจำเลยที่ 4 ทั้งไม่ใช่เหตุสุดวิสัยเพราะสามารถรู้ล่วงหน้าและป้องกันได้ในฐานะผู้ประกอบอาชีพรับขนส่งสินค้า จำเลยที่ 4 จึงต้องรับผิดในการที่สินค้าข้าวสาลีที่ขนส่งได้รับความเสียหายจำนวน 40.750 เมตริกตัน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 616 จึงคิดเป็นความเสียหายกรณีเปียกน้ำฝนจำนวน 379,757.75 บาท หักค่าขายซากจำนวน 244,815 บาท และหักค่าเสียหายส่วนแรกจำนวน 91,541.79 บาท คงเหลือค่าเสียหายที่จำเลยที่ 4 ต้องชดใช้แก่โจทก์จำนวน 43,400.96 บาท ส่วนค่าใช้จ่ายที่โจทก์ต้องเสียไปในการค้นหาสาเหตุของการที่สินค้าที่ขนส่งได้รับความเสียหายดังกล่าวจำนวน 8,080.55 บาท ตามสำเนาใบแจ้งหนี้ นั้นถือได้ว่าเป็นค่าเสียหายเช่นที่ตามปกติย่อมเกิดจากการที่จำเลยที่ 4 ไม่ชำระหนี้ด้วยการขนส่งสินค้าที่ได้รับไว้ในความดูแลให้ปลอดจากความเสียหาย เพราะเมื่อเกิดความเสียหายขึ้นย่อมเป็นธรรมดาที่จะต้องมีการสำรวจตรวจสอบเพื่อให้ทราบปริมาณความเสียหายและจำนวนค่าเสียหายของสินค้า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 222 วรรคหนึ่ง แต่เมื่อค่าใช้จ่ายดังกล่าวเกิดจาก 2 สาเหตุ เมื่อจำเลยที่ 4 ต้องรับผิดจากเหตุสินค้าเปียกน้ำเท่านั้น จึงเห็นควรลดค่าเสียหายส่วนนี้ลงตามส่วน โดยให้จำเลยที่ 4 รับผิดจำนวนเพียง 3,000 บาท เมื่อรวมกับค่าเสียหายที่จำเลยที่ 4 ต้องรับผิดต่อโจทก์จำนวน 43,400.96 บาท แล้ว จำเลยที่ 4 ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ผู้รับประกันภัยซึ่งเป็นผู้รับช่วงสิทธิของบริษัทคิงส์ มิลลิ่ง (สุราษฎร์ธานี) จำกัด ผู้เอาประกันภัย ซึ่งเป็นผู้ซื้อและผู้รับตราส่งสินค้าข้าวสาลีที่ขนส่งจำนวนทั้งสิ้น 46,400.96 บาท อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 4 ชำระเงินจำนวน 46,400.96 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 11 กรกฎาคม 2555 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ให้เป็นพับ