คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15310/2558

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 51 และ พ.ร.บ.เงินทดแทน พ.ศ.2537 มาตรา 9 บัญญัติให้ เงินสมทบที่ค้างชำระและเงินเพิ่ม เงินทดแทนที่ค้างชำระและเงินเพิ่ม มีบุริมสิทธิในระดับเดียวกับบุริมสิทธิในค่าภาษีอากรตาม ป.พ.พ. โดยมิได้บัญญัติให้เรียกได้ในวงเงินที่ค้างในปีปัจจุบันและปีก่อนหน้านั้นหนึ่งปี แม้ ป.พ.พ. มาตรา 256 จะบัญญัติให้ บุริมสิทธิค่าภาษีอากรใช้สำหรับของบรรดาค่าภาษีอากรที่ยังค้างอยู่ในปีปัจจุบันและก่อนนั้นขึ้นไปอีกปีหนึ่ง ก็เป็นเรื่องที่บัญญัติเอาไว้ในเฉพาะเรื่องบุริมสิทธิในมูลค่าภาษีอากรเท่านั้น

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากจำเลยทั้งสองไม่ชำระหนี้ตามคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความ โจทก์ขอให้บังคับคดี ต่อมาเจ้าพนักงานบังคับคดีอายัดเงินในบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 2 ในธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สาขาบ้านฉาง และธนาคารส่งเงินฝากของจำเลยที่ 2 ที่อายัดจำนวน 2,400,000 บาท ต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีแล้ว
ผู้ร้องยื่นคำร้อง ขอให้ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องเฉลี่ยเงินที่อายัดดังกล่าว และหากโจทก์เพิกเฉยไม่ดำเนินการบังคับคดีภายในเวลาที่เจ้าพนักงานบังคับคดีกำหนด ผู้ร้องขอใช้สิทธิดำเนินการบังคับคดีต่อไป
โจทก์ยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้อง
จำเลยที่ 2 ยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้อง
เจ้าพนักงานบังคับคดีไม่คัดค้าน
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ผู้ร้องเข้าเฉลี่ยเงินในบัญชีเงินฝากธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สาขาบ้านฉาง ของจำเลยที่ 2 ได้ตามคำร้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 เห็นว่า ผู้ร้องมีบุริมสิทธิในหนี้เงินสมทบและเงินเพิ่มเฉพาะในปี 2554 และปี 2555 ส่วนหนี้ในปี 2552 และปี 2553 เป็นหนี้สามัญซึ่งผู้ร้องมีสิทธิขอเฉลี่ยได้ในฐานะเจ้าหนี้สามัญ พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยไม่ชำระหนี้ตามคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความ โจทก์ขอบังคับคดี เจ้าพนักงานให้ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สาขาบ้านฉาง ส่งเงินที่อายัดไว้จำนวน 2,400,000 บาทไปยังเจ้าพนักงานบังคับคดีแล้ว จำเลยที่ 2 เป็นหนี้ค้างชำระเงินสมทบกองทุนเงินทดแทนและเงินสมทบกองทุนประกันสังคม รวมเป็นเงิน 14,505,629.34 บาท ตามรายละเอียดการจ่ายชำระเงิน ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องสรุปเป็นใจความได้ว่า เงินสมทบเงินทดแทนและเงินเพิ่มตามคำร้อง อันหนี้บุริมสิทธิเหนือทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 นั้นจำกัดเพียงหนี้ที่จำเลยที่ 2 ต้องชำระเฉพาะในปี 2554 และปี 2555 เท่านั้น ดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยหรือไม่ เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 51 และพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ.2537 มาตรา 9 บัญญัติว่า ถ้าเงินสมทบที่ค้างชำระและเงินเพิ่ม เงินทดแทนที่ค้างชำระและเงินเพิ่มมีบุริมสิทธิในระดับเดียวกับบุริมสิทธิในค่าภาษีอากรตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์โดยมิได้บัญญัติว่าให้เรียกได้ในวงเงินที่ค้างในปีปัจจุบันและปีก่อนหน้านั้นหนึ่งปีแต่อย่างใด ประกอบกับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 253 (3) บุริมสิทธิค่าภาษีอากรจัดอยู่ในลำดับที่ 3 แม้ตามมาตรา 256 จะบัญญัติว่า บุริมสิทธิในมูลค่าภาษีอากรนั้นใช้สำหรับของบรรดาค่าภาษีอากรที่ยังค้างอยู่ในปีปัจจุบันและก่อนนั้นขึ้นไปอีกปีหนึ่งก็ตาม กรณีเป็นเรื่องที่บัญญัติเอาไว้ในเฉพาะเรื่องบุริมสิทธิในมูลค่าภาษีอากรเท่านั้น จะนำไปคิดเอากับเงินประกันสังคม เงินทดแทนและเงินเพิ่มด้วยหาได้ไม่ ซึ่งตามเจตนารมณ์เรื่องเงินประกันสังคมและเงินทดแทนที่ค้างชำระ รวมทั้งเงินเพิ่มนั้นกฎหมายบัญญัติให้สามารถเรียกเอาได้ทั้งหมดในทรัพย์สินของลูกหนี้นั้นเอง ดังนั้นที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาว่า ผู้ร้องมีบุริมสิทธิในหนี้เงินสมทบ เงินทดแทนและเงินเพิ่มเฉพาะในปี 2554 และปี 2555 นั้น เป็นการไม่ชอบ ฎีกาของผู้ร้องข้อนี้ฟังขึ้น กล่าวโดยสรุปที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share