คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13204/2558

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยเป็นสถาบันการเงินประกอบกิจการธนาคารพาณิชย์ออกหนังสือค้ำประกันให้แก่บริษัท ค. ผู้รับจ้างไปมอบให้แก่โจทก์เพื่อค้ำประกันการปฏิบัติงานและผลงานตามสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างอาคารโครงการ บ. ที่ทำไว้กับโจทก์ ทั้งในหนังสือค้ำประกันทั้งสองฉบับมีการประทับข้อความว่า หากหมดอายุการบังคับหรือหมดภาระผูกพันแล้วโปรดคืนธนาคาร (หมายถึงจำเลย) อันเป็นการแสดงว่าหนังสือค้ำประกันทั้งสองฉบับเป็นเอกสารของจำเลยที่มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการค้ำประกันการทำงานก่อสร้างของบริษัท ค. ผู้รับจ้างที่ทำสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างอาคารไว้กับโจทก์หาใช่เอกสารดังกล่าวเป็นหลักทรัพย์เพื่อความมั่นคงหรือหลักประกันอันเป็นกรรมสิทธิ์ของบริษัท ค. ผู้รับจ้างตามที่โจทก์กล่าวอ้างมาไม่ เมื่อจำเลยไม่ต้องรับผิดชำระเงินตามหนังสือค้ำประกันทั้งสองฉบับ หนังสือค้ำประกันทั้งสองฉบับย่อมสิ้นภาระผูกพันแล้ว จึงต้องมีการคืนหนังสือค้ำประกันทั้งสองฉบับให้จำเลย
แม้จะมีคำพิพากษาถึงที่สุดในอีกคดีหนึ่งพิพากษาให้โจทก์คดีนี้คืนหนังสือค้ำประกันทั้งสองฉบับแก่บริษัท ค. ผู้รับจ้าง ก็ตาม แต่ถ้าหากโจทก์คืนให้บริษัท ค. ผู้รับจ้างไปแล้วบริษัท ค. ผู้รับจ้างก็ต้องนำไปคืนให้จำเลยเนื่องจากเป็นเอกสารของจำเลย เมื่อโจทก์ยังไม่ได้คืนให้แก่บริษัท ค. ผู้รับจ้าง ทั้งไม่มีสิทธิที่จะยึดหน่วงหนังสือค้ำประกันทั้งสองฉบับของจำเลยเนื่องจากสิ้นภาระผูกพันแล้ว จำเลยย่อมมีสิทธิฟ้องแย้งขอให้โจทก์คืนหนังสือค้ำประกันทั้งสองฉบับให้แก่จำเลยได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 81,164,068 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 77,299,112.39 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์และรับเวนคืนต้นฉบับหนังสือค้ำประกันทั้งสองฉบับไปจากโจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้องและฟ้องแย้งขอพิพากษาให้โจทก์คืนหนังสือค้ำประกันเลขที่ 36 – 42 – 0133 – 8 และหนังสือค้ำประกันเลขที่ 38 – 44 – 0008 – 6 แก่จำเลย
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมตามฟ้องเดิมให้เป็นพับ ให้โจทก์คืนหนังสือค้ำประกันเลขที่ 36 – 42 – 0133 – 8 และเลขที่ 38 – 44 – 0008 – 6 แก่จำเลย กับให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมตามฟ้องแย้งแทนจำเลย โดยกำหนดค่าทนายความ 30,000 บาท
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมฟ้องเดิมและฟ้องแย้งในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังในเบื้องต้นตามที่คู่ความไม่ได้โต้แย้งในชั้นฎีกาว่า โจทก์ซึ่งเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ว่าจ้างบริษัทคอนกรีต คอนสตรัคชั่นส์ (ประเทศไทย) จำกัด ก่อสร้างโครงการใบหยก 2 โดยจำเลยซึ่งเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทมหาชนจำกัด ประกอบกิจการธนาคารพาณิชย์ได้ออกหนังสือค้ำประกันเลขที่ 36 – 42 – 0133 – 8 เพื่อค้ำประกันการปฏิบัติงานตามสัญญาของบริษัทคอนกรีตฯ ผู้รับจ้างต่อโจทก์ในวงเงินไม่เกิน 54,000,000 บาท และหนังสือค้ำประกันเลขที่ 38 – 44 – 0008 – 6 เพื่อค้ำประกันผลงานของบริษัทคอนกรีต ฯ ผู้รับจ้างจำนวนเงิน 23,299,112.39 บาท ต่อมาโจทก์และบริษัทคอนกรีตฯ ผู้รับจ้างมีข้อพิพาทกัน โดยบริษัทคอนกรีตฯ ผู้รับจ้าง ฟ้องโจทก์เป็นจำเลยต่อศาลแพ่งให้ชำระค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ยและคืนหนังสือค้ำประกันทั้งสองฉบับให้แก่บริษัทคอนกรีตฯ ผู้รับจ้างโจทก์ซึ่งเป็นจำเลยในคดีดังกล่าวให้การและฟ้องแย้งขอให้ยกฟ้องและให้บริษัทคอนกรีตฯ ผู้รับจ้างชำระค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์คดีนี้ ศาลแพ่งมีคำพิพากษาให้จำเลย (โจทก์คดีนี้) คืนหนังสือค้ำประกันทั้งสองฉบับให้แก่บริษัทคอนกรีตฯ ผู้รับจ้าง และให้บริษัทคอนกรีตฯ ผู้รับจ้างชำระเงิน 105,547,847.72 บาท พร้อมดอกเบี้ยให้จำเลย (โจทก์คดีนี้) บริษัทคอนกรีตฯ ผู้รับจ้างอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาแก้เป็นว่า ให้บริษัทคอนกรีตฯ ผู้รับจ้างชำระเงิน 78,278,887.52 บาท พร้อมดอกเบี้ยให้จำเลย (โจทก์คดีนี้) นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น คดีถึงที่สุดแล้วเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2552 ตามใบสำคัญคดีถึงที่สุด โจทก์มีหนังสือทวงถามให้บริษทคอนกรีตฯ ผู้รับจ้างชำระหนี้ตามคำพิพากษาแล้ว แต่บริษัทคอนกรีตฯ ผู้รับจ้างถูกศาลพิพากษาเป็นบุคคลล้มละลาย โจทก์จึงไม่คืนหนังสือค้ำประกันทั้งสองฉบับและทวงถามให้จำเลยชำระเงิน แต่จำเลยไม่ชำระ
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกว่า จำเลยต้องรับผิดชำระเงินตามหนังสือค้ำประกันเลขที่ 36 – 42 – 0133 – 8 และเลขที่ 38 – 44 – 0008 – 6 ให้โจทก์หรือไม่ เพียงใด เห็นว่า บริษัทคอนกรีตฯ ผู้รับจ้างกับโจทก์มีคดีฟ้องร้องเกี่ยวกับการจ้างเหมาก่อสร้างโครงการใบหยก 2 และหนังสือค้ำประกันเลขที่ 36 – 42 – 0133 – 8 กับเลขที่ 38 – 44 – 0008 – 6 ของจำเลยมาก่อน โดยบริษัทคอนกรีตฯ ผู้รับจ้างฟ้องโจทก์เป็นจำเลยต่อศาลแพ่งตามคดีหมายเลขแดงที่ 2067/2547 และศาลแพ่งมีคำพิพากษาให้จำเลย (โจทก์คดีนี้) คืนหนังสือค้ำประกันทั้งสองฉบับให้แก่บริษัทคอนกรีตฯ ผู้รับจ้าง และให้บริษัทคอนกรีตฯ ผู้รับจ้างชำระค่าเสียหายจำนวนเงิน 105,547,847.72 บาท พร้อมดอกเบี้ยให้จำเลย (โจทก์คดีนี้) ตามสำเนาคำพิพากษาศาลแพ่ง โดยศาลแพ่งวินิจฉัยเกี่ยวกับหนังสือค้ำประกันเลขที่ 36 – 42 – 0133 – 8 ว่า บริษัทคอนกรีตฯ ผู้รับจ้างนำหนังสือค้ำประกันมามอบให้จำเลย (โจทก์คดีนี้) เมื่อได้รับเงินค่าจ้างล่วงหน้าจากจำเลย (โจทก์คดีนี้) แต่ละคราวและประกันว่าหากบริษัทคอนกรีตฯ ผู้รับจ้างทำงานก่อสร้างไม่ได้ปริมาณงานตามเงินค่าจ้างล่วงหน้าที่ได้รับไป บริษัทคอนกรีตฯ ผู้รับจ้างต้องคืนเงินค่าจ้างล่วงหน้าตามส่วนให้จำเลย (โจทก์คดีนี้) โดยมีหนังสือค้ำประกันของธนาคารที่บริษัทคอนกรีตฯ ผู้รับจ้างนำมามอบให้เป็นหลักประกันว่าหากบริษัทคอนกรีตฯ ผู้รับจ้างไม่คืนเงินค่าจ้างล่วงหน้าตามส่วนแห่งการงานที่ไม่ได้ทำ ธนาคารตามหนังสือค้ำประกันต้องรับผิดใช้เงินคืนให้จำเลย (โจทก์คดีนี้) แทน เมื่อบริษัทคอนกรีตฯ ผู้รับจ้างทำงานก่อสร้างแล้วเสร็จถึงงวดการเบิกค่างวดงานตามใบรับรองการจ่ายเงินประจำงวดที่ 35 เดือนธันวาคม 2538 ต่อมาจำเลย (โจทก์คดีนี้) กับบริษัทคอนกรีตฯ ผู้รับจ้างทำบันทึกตกลงชำระค่าจ้างล่วงหน้าให้บริษัทคอนกรีตฯ ผู้รับจ้างจำนวน 100,000,000 บาท เพื่อให้บริษัทคอนกรีตฯ ผู้รับจ้างทำงานก่อสร้างต่อไปโดยบริษัทคอนกรีตฯ ผู้รับจ้างต้องนำหนังสือค้ำประกันการทำงาน 3 ฉบับ วงเงินฉบับละ 25,000,000 บาท มอบให้จำเลย (โจทก์คดีนี้) ย่อมรับฟังได้ว่า บริษัทคอนกรีตฯ ผู้รับจ้างส่งมอบงานจ้างก่อสร้างให้จำเลย (โจทก์คดีนี้) ตามจำนวนค่าจ้างล่วงหน้าที่ได้รับไปคราวก่อน ๆ แล้ว จึงมีการชำระค่าจ้างล่วงหน้าครั้งใหม่ โดยจำเลย (โจทก์คดีนี้) ไม่ได้โต้แย้งว่ายังมีค่าจ้างล่วงหน้าจำนวนใดที่บริษัทคอนกรีตฯ ผู้รับจ้างยังติดค้างทำงานไม่ได้ตามเงินค่าจ้างล่วงหน้าที่ได้รับไป เมื่อรับฟังว่าจำเลย (โจทก์คดีนี้) รับมอบงานแล้วเสร็จตามหนังสือค้ำประกันการทำงานฉบับก่อนๆแล้ว ก็ไม่มีเหตุที่จำเลย (โจทก์คดีนี้) จะมีสิทธิยึดหน่วงหนังสือค้ำประกันนี้ต่อไป จำเลย (โจทก์คดีนี้) ต้องคืนหนังสือค้ำประกันเลขที่ 36 – 42 – 0133 – 8 ให้แก่บริษัทคอนกรีตฯ ผู้รับจ้าง ส่วนหนังสือค้ำประกันเลขที่ 38 – 44 – 0008 – 6 นั้น ศาลแพ่งวินิจฉัยว่า เป็นหนังสือค้ำประกันที่บริษัทคอนกรีตฯ ผู้รับจ้างส่งมอบให้จำเลย (โจทก์คดีนี้) เพื่อขอเงินประกันผลงานคืนตามเงื่อนไขแห่งสัญญาท้ายสัญญาจ้าง เมื่อได้ความว่าบริษัทวิศวกรที่ปรึกษารับรองการจ่ายเงินงวด ๆ งานสุดท้ายให้แก่บริษัทคอนกรีตฯ ผู้รับจ้างเมื่อวันที่ 14 กันยายน 2539 ถือว่าเป็นการส่งมอบงานงวดสุดท้ายให้จำเลย (โจทก์คดีนี้) บริษัทคอนกรีตฯ ผู้รับจ้างมีความรับผิดต้องประกันผลงานก่อสร้างเป็นเวลา 12 เดือนนับแต่วันนั้น นับถึงวันฟ้องวันที่ 21 กันยายน 2541 พ้นกำหนดเวลาประกันผลงานก่อสร้างแล้ว ไม่ปรากฏว่าจำเลย (โจทก์คดีนี้) หักเงินประกันผลงานก่อสร้างเพื่อซ่อมแซมความเสียหายหรือบังคับหนังสือค้ำประกันเพราะเหตุงานก่อสร้างชำรุดบกพร่อง จำเลย (โจทก์คดีนี้) มีหน้าที่คืนเงินหลักประกันผลงานและหนังสือค้ำประกันฉบับดังกล่าวให้บริษัทคอนกรีตฯ ผู้รับจ้าง บริษัทคอนกรีตฯ ผู้รับจ้างอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาแก้เป็นว่าให้บริษัทคอนกรีตฯ ผู้รับจ้างชำระเงิน 78,278,887.52 บาท พร้อมดอกเบี้ยให้แก่จำเลย (โจทก์คดีนี้) นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นตามสำเนาคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ แสดงว่าศาลอุทธรณ์ยังคงพิพากษาให้จำเลย (โจทก์คดีนี้) คืนหนังสือค้ำประกันทั้งสองฉบับตามคำพิพากษาศาลแพ่งอยู่เช่นเดิม เมื่อคดีดังกล่าวถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์แล้ว ตามใบสำคัญคดีถึงที่สุดคำพิพากษาดังกล่าวย่อมผูกพันโจทก์ซึ่งเป็นคู่ความในฐานะจำเลยคดีดังกล่าวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 วรรคหนึ่ง โจทก์จึงมีหน้าที่ต้องคืนหนังสือค้ำประกันทั้งสองฉบับตามคำพิพากษาคดีดังกล่าว ทั้งคำพิพากษาศาลแพ่งและศาลอุทธรณ์ก็ไม่ได้พิพากษาระบุเงื่อนไขว่าให้จำเลย (โจทก์คดีนี้) คืนหนังสือค้ำประกันทั้งสองฉบับต่อเมื่อบริษัทคอนกรีตฯ ผู้รับจ้างได้รับชำระเงินพร้อมดอกเบี้ยตามคำพิพากษาให้แก่จำเลย (โจทก์คดีนี้) แล้วแต่อย่างใด คำพิพากษาคดีดังกล่าวจึงหามีลักษณะเป็นหนี้ต่างตอบแทนในทำนองว่าโจทก์ต้องได้รับชำระหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าวก่อนจึงจะคืนหนังสือค้ำประกันทั้งสองฉบับให้บริษัทคอนกรีตฯ ผู้รับจ้างตามที่โจทก์กล่าวอ้างมาไม่ โจทก์ย่อมไม่อาจอ้างว่าโจทก์มีสิทธิที่จะยึดหน่วงหนังสือค้ำประกันทั้งสองฉบับและฟ้องจำเลยให้รับผิดตามหนังสือค้ำประกันทั้งสองฉบับนั้นในจำนวนหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าวได้ จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชำระเงินตามหนังสือค้ำประกันทั้งสองฉบับพร้อมดอกเบี้ยตามฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น คดีจึงไม่จำต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์และคำแก้ฎีกาของจำเลยเกี่ยวกับฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่อีกต่อไป เพราะไม่ทำให้ผลคดีในส่วนนี้เปลี่ยนแปลงไป
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยมีอำนาจฟ้องแย้งหรือไม่ และโจทก์ต้องคืนหนังสือค้ำประกันทั้งสองฉบับให้จำเลยหรือไม่ เห็นควรวินิจฉัยไปพร้อมกัน โดยเห็นว่า จำเลยซึ่งเป็นสถาบันการเงินประกอบกิจการธนาคารพาณิชย์ออกหนังสือค้ำประกันให้แก่บริษัทคอนกรีตฯ ผู้รับจ้างไปมอบให้แก่โจทก์เพื่อเป็นค้ำประกันการปฏิบัติงานและผลงานตามสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างอาคารโครงการใบหยก 2 ที่ทำไว้กับโจทก์ ทั้งในหนังสือค้ำประกันทั้งสองฉบับมีการประทับข้อความว่า หากหมดอายุการบังคับหรือหมดภาระผูกพันแล้วโปรดคืนธนาคาร (หมายถึงจำเลย) อันเป็นการแสดงว่าหนังสือค้ำประกันทั้งสองฉบับเป็นเอกสารของจำเลยที่มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการค้ำประกันการทำงานก่อสร้างของบริษัทคอนกรีตฯ ผู้รับจ้างที่ทำสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างอาคารไว้กับโจทก์หาใช่เอกสารดังกล่าวเป็นหลักทรัพย์เพื่อความมั่นคงหรือหลักประกันอันเป็นกรรมสิทธิ์ของบริษัทคอนกรีตฯ ผู้รับจ้างตามที่โจทก์กล่าวอ้างมาไม่ เมื่อจำเลยไม่ต้องรับผิดชำระเงินตามหนังสือค้ำประกันทั้งสองฉบับดังที่ได้วินิจฉัยมาแล้วข้างต้น หนังสือค้ำประกันทั้งสองฉบับย่อมสิ้นภาระผูกพันแล้ว จึงต้องมีการคืนหนังสือค้ำประกันทั้งสองฉบับให้จำเลย แม้คดีหมายเลขแดงที่ 2067/2547 ของศาลแพ่งซึ่งคดีถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์แล้วจะพิพากษาให้โจทก์คดีนี้คืนหนังสือค้ำประกันทั้งสองฉบับแก่บริษัทคอนกรีตฯ ผู้รับจ้าง ก็ตาม แต่ถ้าหากโจทก์คืนให้บริษัทคอนกรีตฯ ผู้รับจ้างไปแล้วบริษัทคอนกรีตฯ ผู้รับจ้างก็ต้องนำไปคืนให้จำเลยเนื่องจากเป็นเอกสารของจำเลย เมื่อโจทก์ยังไม่ได้คืนให้แก่บริษัทคอนกรีตฯ ผู้รับจ้าง ทั้งไม่มีสิทธิที่จะยึดหน่วงหนังสือค้ำประกันทั้งสองฉบับของจำเลยเนื่องจากสิ้นภาระผูกพันแล้ว จำเลยย่อมมีสิทธิฟ้องแย้งขอให้โจทก์คืนหนังสือค้ำประกันทั้งสองฉบับให้แก่จำเลยได้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้โจทก์คืนหนังสือค้ำประกันทั้งสองฉบับให้แก่จำเลย นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ทั้งสองข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมฟ้องเดิมและฟ้องแย้งในชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share