แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
แม้ในชั้นสอบสวนทั้ง ธ. และ อ. จะให้การต่อพันตำรวจตรี ส. พนักงานสอบสวนว่า จำเลยกับ พ. ร่วมกันลักรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายมาขายให้ ธ. 2 คัน และยังร่วมกันลักรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายมาขายให้ อ. อีก 1 คัน แต่ในชั้นพิจารณาทั้ง ธ. และ อ. ไม่ได้มาเบิกความยืนยันการกระทำผิดของจำเลย เพื่อให้จำเลยมีโอกาสถามค้านเพื่ออธิบายข้อเท็จจริง ย่อมทำให้จำเลยเสียเปรียบในการต่อสู้คดี ทั้งปรากฏจากคำให้การชั้นสอบสวนของ ธ. ว่า ก่อนรับซื้อรถจักรยานยนต์หมายเลขทะเบียน รตจ กรุงเทพมหานคร 284 เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2551 พ. ได้โทรศัพท์มาติดต่อขายรถจักรยานยนต์ให้โดยอ้างว่าเป็นสิทธิพิเศษของตนที่มีสิทธิซื้อในราคาเริ่มเปิดประมูล แต่ต้องการขายสิทธิดังกล่าว ต่อมาวันที่ 2 กันยายน 2551 พ. ขับรถกระบะของผู้เสียหายบรรทุกรถจักรยานยนต์ ยี่ห้อฮอนด้า หมายเลขทะเบียน รษต กรุงเทพมหานคร 653 มาขายให้อีกโดยขับมาคนเดียว กลับบอกว่าครั้งนี้เป็นสิทธิของตน ส่วนครั้งก่อนเป็นสิทธิของจำเลย พฤติการณ์ของ พ. ตามคำให้การในชั้นสอบสวนดังกล่าวมีข้อเคลือบแคลงสงสัยว่า จำเลยร่วมกระทำผิดกับ พ. หรือไม่ และตามคำให้การชั้นสอบสวนของ อ. ที่ว่า รถจักรยานยนต์ฮอนด้า หมายเลขทะเบียน วจม กรุงเทพมหานคร 424 มี พ. ขับมาขายโดยไม่ปรากฏว่ามีจำเลยเข้าไปมีส่วนร่วมกระทำผิดด้วยนั้นก็สอดคล้องกับที่ น. เบิกความว่า รถจักรยานยนต์คันดังกล่าว ต้องโทรศัพท์สอบถามจากบุคคลที่เคยมาประมูลซื้อรถ จึงทราบว่า พ. เป็นผู้ขับรถจักรยานยนต์ไปขาย ดังนี้ ลำพังคำให้การชั้นสอบสวนของ ธ. และ อ. ตามบันทึกคำให้การชั้นสอบสวน จึงไม่อาจฟังลงโทษจำเลยได้
การที่จำเลยกับพวกคบคิดกันลักรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายซึ่งจอดไว้ในโกดัง แล้วจำเลยกับพวกช่วยกันยกรถจักรยานยนต์ขึ้นท้ายกระบะเพื่อให้ ส. บรรทุกออกไป ย่อมเล็งเห็นเจตนาได้ว่า จำเลยกับพวกประสงค์จะใช้รถกระบะเป็นยานพาหนะเพื่อสะดวกแก่การกระทำความผิดหรือการพาทรัพย์นั้นไป ส่วนรถกระบะซึ่งเป็นยานพาหนะที่ใช้ในการกระทำความผิดจะเป็นของผู้ใดหาใช่ข้อสำคัญไม่ การกระทำของจำเลยกับพวกจึงเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ที่เป็นของนายจ้างโดยใช้ยานพาหนะซึ่งต้องรับโทษหนักขึ้นตาม ป.อ. มาตรา 336 ทวิ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 335, 336 ทวิ
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (7) (11) วรรคสอง ประกอบมาตรา 336 ทวิ, 83 รวม 16 กระทง ลงโทษกระทงละ 1 ปี 6 เดือน ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา กรณีมีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78คงจำคุกกระทงละ 1 ปี รวม 16 กระทง คงจำคุก 16 ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติว่า ผู้เสียหายเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีนายธนกร เป็นกรรมการผู้มีอำนาจ ผู้เสียหายทำสัญญารับจ้างจัดประมูลขายรถยนต์และรถจักรยานยนต์ให้แก่บริษัทอิออนธนสินทรัพย์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) จำเลยกับนายพิสุทธิ์ และนางสาวเนตรนภางค์ เป็นลูกจ้างของผู้เสียหาย โดยจำเลยกับนายพิสุทธิ์เป็นพนักงานรับรถ มีหน้าที่ไปรับรถจากบริษัทอิออนธนสินทรัพย์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) นำมาเก็บที่โกดังเก็บรถของผู้เสียหาย นางสาวเนตรนภางค์เป็นพนักงานเช็คสต็อก มีหน้าที่ตรวจรับรถและทำบัญชีรับรถ ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุในฟ้องรถจักรยานยนต์ 20 คัน ที่ผู้เสียหายได้รับจากบริษัทอิออนธนสินทรัพย์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ตามใบรับรถจักรยานยนต์ หายไปจากโกดังเก็บรถของผู้เสียหาย นายธนกรสอบถามแล้วจำเลยรับว่าร่วมกับนายพิสุทธิ์นำรถจักรยานยนต์ดังกล่าวไปขาย และพาไปติดตามยึดคืนมาได้ทั้งหมด มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยร่วมกับนายพิสุทธิ์กระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ โจทก์มีนายสวงค์ เป็นพยานเบิกความว่า ช่วงก่อนเกิดเหตุพยานเคยไปประมูลซื้อรถจักรยานยนต์ที่โกดังเก็บรถของผู้เสียหายเป็นประจำ จึงรู้จักจำเลยและนายพิสุทธิ์ลูกจ้างของผู้เสียหาย ตามวันเวลาเกิดเหตุจำเลยกับนายพิสุทธิ์ขับรถกระบะบรรทุกรถจักรยานยนต์มาเสนอขายโดยไม่ผ่านการประมูลหลายครั้ง พยานรับซื้อไว้รวม 17 คัน ต่อมานายจ้างของจำเลยมาสอบถามและขอตรวจสอบรถที่รับซื้อไว้โดยนายจ้างของจำเลยรับรองว่าจะไม่ดำเนินคดี จึงคืนรถทั้งหมดให้แก่นายจ้างของจำเลย และไปให้การต่อพนักงานสอบสวนในฐานะพยานตามบันทึกคำให้การ โดยโจทก์มีพันตำรวจตรีสมพร พนักงานสอบสวนเป็นพยานเบิกความว่า นายธนกรมาแจ้งความว่าลูกจ้างของผู้เสียหายประกอบด้วยจำเลย นายพิสุทธิ์และนางสาวเนตรนภางค์ร่วมกันลักรถจักรยานยนต์ 20 คัน ตามใบรับรถจักรยานยนต์ จากโกดังเก็บรถของผู้เสียหายไปขายให้นายสวงค์ นายอารมย์ และนายธนกิตต์ แต่ผู้เสียหายได้รับรถทั้งหมดคืนแล้ว จึงไปตรวจโกดังเก็บรถของผู้เสียหาย จัดทำบันทึกการตรวจสถานที่เกิดเหตุ แผนที่สังเขปแสดงสถานที่เกิดเหตุบัญชีทรัพย์ถูกประทุษร้ายและบัญชีทรัพย์ถูกประทุษร้ายได้คืน สอบปากคำนายสวงค์ นายอารมย์และนายธนกิตต์ไว้ตามบันทึกคำให้การ โดยนายสวงค์พาไปนำชี้โกดังเก็บรถของผู้เสียหายตามภาพถ่าย ส่วนจำเลยอ้างตนเองเป็นพยานเบิกความว่า นายพิสุทธิ์บอกจำเลยว่าผู้เสียหายให้สิทธิลูกจ้างนำรถจักรยานยนต์ไปขายได้คนละ 2 คันต่อเดือนนายพิสุทธิ์นำรถจักรยานยนต์ตามใบรับรถจักรยานยนต์ ไปขายโดยขอใช้สิทธิของจำเลยและให้ค่าตอบแทนครั้งละ 1,000 บาท ถึง 2,000 บาท เห็นว่านายสวงค์พยานโจทก์รู้จักจำเลยเพราะเคยไปประมูลซื้อรถจักรยานยนต์ที่โกดังเก็บรถของผู้เสียหายและไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกันมาก่อน จึงไม่มีเหตุให้ระแวงสงสัยว่าจะกลั่นแกล้งปรักปรำจำเลยให้ต้องรับโทษ จำเลยเองก็เบิกความเจือสมว่า ร่วมกับนายพิสุทธิ์นำรถจักรยานยนต์ไปขายให้นายสวงค์ พฤติการณ์ของจำเลยที่ร่วมกับนายพิสุทธิ์นำรถจักรยานยนต์ที่อยู่ในความครอบครองของผู้เสียหายไปเสนอขายให้นายสวงค์หลายครั้งโดยไม่ผ่านวิธีการประมูลขายตามปกติ แม้จำเลยจะอ้างว่านายพิสุทธิ์บอกจำเลยว่าผู้เสียหายให้สิทธิแก่ลูกจ้างนำรถจักรยานยนต์ไปขายได้คนละ 2 คันต่อเดือน แต่จำเลยก็ไม่ได้นำสืบยานหลักฐานให้เห็นว่าผู้เสียหายซึ่งเป็นนายจ้างได้แจ้งสิทธิดังกล่าวให้จำเลยหรือลูกจ้างอื่น ๆ ทราบด้วยตนเองโดยทางวาจาหรือลายลักษณ์อักษรอย่างไรหรือไม่ นอกจากนี้ ยังปรากฏตามหลักฐานใบรับรถจักรยานยนต์ ว่าจำเลยกับนายพิสุทธิ์ไปรับรถจักรยานยนต์จากบริษัทอิออนธนสินทรัพย์ (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) จำนวน 20 คัน แล้วนำรถทั้งหมดไปเสนอขายโดยไม่ผ่านการประมูลในระหว่างวันที่ 30 กรกฎาคม 2551 ถึงวันที่ 2 ตุลาคม 2551 เป็นการขายรถรวม 20 คัน ภายในระยะเวลา 2 เดือนเศษ เกินกว่าสิทธิตามที่จำเลยอ้างว่าสามารถนำรถไปขายได้คนละ 2 คันต่อเดือน ข้ออ้างของจำเลยจึงเลื่อนลอยไม่น่าเชื่อถือ ประกอบกับนายสวงค์เบิกความถึงพฤติการณ์ของจำเลยว่า ในการเสนอขายรถจักรยานยนต์นั้น บางครั้งจำเลยมาคนเดียว บางครั้งจำเลยมากับนายพิสุทธิ์บางครั้งนายพิสุทธิ์มาคนเดียว ซึ่งจำเลยเองก็รับว่านายพิสุทธิ์จ่ายค่าตอบแทนให้จำเลยครั้งละ1,000 บาท ถึง 2,000 บาท ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่าจำเลยร่วมกระทำผิดกับนายพิสุทธิ์นำรถจักรยานยนต์ที่อยู่ในความครอบครองของผู้เสียหายซึ่งเป็นนายจ้างไปขายให้บุคคลอื่นโดยทุจริต การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานร่วมกันลักทรัพย์ที่อยู่ในความครอบครองของนายจ้าง ฎีกาของโจทก์ในส่วนนี้ฟังขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปว่า จำเลยกระทำความผิดฐานร่วมกันลักทรัพย์ที่อยู่ในความครอบครองของนายจ้างรวม 16 กระทง ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือไม่ เห็นว่า ในส่วนของรถจักรยานยนต์ที่จำเลยกับพวกขายให้นายสวงค์นั้น แม้นายสวงค์พยานโจทก์จะเบิกความยืนยันว่า จำเลยกับนายพิสุทธิ์นำรถจักรยานยนต์บรรทุกใส่ท้ายรถกระบะมาเสนอขายที่บ้านโดยอ้างว่าบริษัทขายให้โดยไม่ต้องไปประมูลเหมือนครั้งก่อน แต่นายสวงค์ได้ให้การไว้ในชั้นสอบสวนเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2552 ตามบันทึกคำให้การ จำเลยกับนายพิสุทธิ์บอกขายรถในราคาเริ่มต้นประมูลโดยบอกให้มารับรถที่โกดังเก็บรถของบริษัทผู้เสียหาย สอดคล้องกับภาพถ่ายประกอบ ซึ่งเป็นภาพนายสวงค์ยืนชี้บริเวณหน้าโกดังเก็บรถของผู้เสียหาย โดยมีคำบรรยายใต้ภาพว่านายสวงค์ได้ขับรถกระบะมารับซื้อรถจักรยานยนต์ที่บริเวณหน้าโกดังเก็บรถของผู้เสียหาย และแผนที่สังเขปแสดงสถานที่เกิดเหตุ ที่มีคำอธิบายแผนที่ว่า บริเวณหมายเลข 2 เป็นจุดที่จำเลยกับนายพิสุทธิ์นั่งประจำอยู่ที่โต๊ะทำงานหน้าโกดังเก็บรถของผู้เสียหาย และเป็นจุดที่จำเลยกับนายพิสุทธิ์ช่วยกันยกรถจักรยานยนต์ขายให้นายสวงค์ 6 ครั้งนายสวงค์นำรถกระบะมาบรรทุกเอง ซึ่งพันตำรวจตรีสมพรพยานโจทก์ก็เบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่า นายสวงค์ให้การว่าซื้อรถจักรยานยนต์จากจำเลยกับพวก รวม 17 คัน แล้วไปรับรถที่บริษัทผู้เสียหาย นายสวงค์ให้การเป็นพยานในชั้นสอบสวนหลังเกิดเหตุประมาณ 9 เดือน แต่มาเบิกความเป็นพยานในชั้นพิจารณาหลังเกิดเหตุเป็นเวลาเกือบ 6 ปี คำให้การในชั้นสอบสวนใกล้เคียงกับวันเวลาเกิดเหตุมากกว่า จึงน่าเชื่อว่าคำให้การชั้นสอบสวนดังกล่าวเป็นความจริงยิ่งกว่าคำเบิกความในชั้นพิจารณา พยานหลักฐานของโจทก์รับฟังได้ว่า หลังจากนายสวงค์ตกลงซื้อรถจักรยานยนต์ที่จำเลยกับนายพิสุทธิ์มาเสนอขายแล้วนายสวงค์ขับรถกระบะมารับรถจักรยานยนต์ที่โกดังเก็บรถของผู้เสียหายติดต่อกัน 6 ครั้ง รวม 17 คัน ส่วนที่โจทก์นำสืบว่า จำเลยกับนายพิสุทธิ์ยังร่วมกันลักรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายไปขายให้นายธนกิตต์ 2 คัน เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2551 และวันที่ 2 กันยายน 2551 นอกจากนี้ยังร่วมกับนายพิสุทธิ์ลักรถจักรยานยนต์ไปขายให้นายอารมย์ เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2551 อีก 1 คันด้วยนั้น เห็นว่า แม้ในชั้นสอบสวนทั้งนายธนกิตต์และนายอารมย์จะให้การต่อพันตำรวจตรีสมพร พนักงานสอบสวนไว้ ก็ตาม แต่ปรากฏว่าในชั้นพิจารณาทั้งนายธนกิตต์และนายอารมย์ไม่ได้มาเบิกความยืนยันการกระทำผิดของจำเลย เพื่อให้จำเลยมีโอกาสถามค้านเพื่ออธิบายข้อเท็จจริงย่อมทำให้จำเลยเสียเปรียบในการต่อสู้คดี ทั้งปรากฏจากคำให้การชั้นสอบสวนของนายธนกิตต์ว่า ก่อนรับซื้อรถจักรยานยนต์คันหมายเลขทะเบียน รตจ กรุงเทพมหานคร 284 เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2551 นั้น นายพิสุทธิ์ได้โทรศัพท์มาติดต่อขายรถจักรยานยนต์ให้ อ้างว่าเป็นสิทธิพิเศษของตนที่มีสิทธิซื้อในราคาเริ่มเปิดประมูลแต่ต้องการขายสิทธิดังกล่าว และต่อมาวันที่ 2 กันยายน 2551 นายพิสุทธิ์ขับรถกระบะของผู้เสียหายบรรทุกรถจักรยานยนต์ ยี่ห้อฮอนด้า หมายเลขทะเบียน รษต กรุงเทพมหานคร 653 มาขายให้อีกโดยขับมาคนเดียว อ้างว่าครั้งนี้เป็นสิทธิของตน ส่วนครั้งก่อนเป็นสิทธิของจำเลย พฤติการณ์ของนายพิสุทธิ์ตามคำให้การในชั้นสอบสวนดังกล่าวมีข้อเคลือบแคลงสงสัยว่าจำเลยร่วมกระทำผิดกับนายพิสุทธิ์หรือไม่ และตามคำให้การชั้นสอบสวนของนายอารมย์ รถจักรยานยนต์ฮอนด้า หมายเลขทะเบียน วจม กรุงเทพมหานคร 424 นั้น มีนายพิสุทธิ์ขับมาขายโดยไม่ปรากฏว่ามีจำเลยเข้าไปมีส่วนร่วมกระทำผิดด้วยสอดคล้องกับที่นายธนกรเบิกความว่า รถจักรยานยนต์คันดังกล่าวต้องโทรศัพท์สอบถามจากบุคคลที่เคยมาประมูลซื้อรถจึงทราบว่านายพิสุทธิ์เป็นผู้ขับรถจักรยานยนต์ไปขาย ดังนี้ลำพังคำให้การชั้นสอบสวนของนายธนกิตต์และนายอารมย์ตามบันทึกคำให้การชั้นสอบสวนจึงไม่อาจฟังลงโทษจำเลยได้ ฎีกาของโจทก์ในส่วนนี้ฟังไม่ขึ้น
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการสุดท้ายว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดข้อหาร่วมกันลักทรัพย์ที่เป็นของนายจ้างโดยใช้ยานพาหนะเพื่อสะดวกในการกระทำความผิดหรือการพาทรัพย์นั้นไปเห็นว่า การที่จำเลยกับพวกคบคิดกันลักรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายซึ่งจอดไว้ในโกดังออกไปครั้งละหลาย ๆ คัน โดยนัดหมายให้นายสวงค์ขับรถกระบะของตนมาจอดรอไว้หน้าโกดังแล้วจำเลยกับพวกช่วยกันยกรถจักรยานยนต์ขึ้นท้ายกระบะเพื่อให้นายสวงค์บรรทุกออกไปดังนี้ ย่อมเล็งเห็นเจตนาได้ว่า จำเลยกับพวกประสงค์จะใช้รถกระบะเป็นยานพาหนะเพื่อสะดวกแก่การกระทำความผิดหรือการพาทรัพย์นั้นไป ส่วนรถกระบะซึ่งเป็นยานพาหนะที่ใช้ในการกระทำความผิดนั้นจะเป็นของผู้ใดหาใช่ข้อสำคัญไม่ การกระทำของจำเลยกับพวกจึงเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ที่เป็นของนายจ้างโดยใช้ยานพาหนะซึ่งต้องรับโทษหนักขึ้นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 336 ทวิ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษามานั้นศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ในส่วนนี้ฟังขึ้น
พิพากษากลับว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (7) (11) วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 336 ทวิ และมาตรา 83 รวม 6 กระทง ให้ลงโทษจำคุกกระทงละ 1 ปี 6 เดือน ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กระทงละหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกกระทงละ 1 ปี รวม 6 กระทง เป็นจำคุก 6 ปี