แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ
ย่อสั้น
โจทก์เป็นเอกชนยื่นฟ้องเอกชนและหน่วยงานทางปกครองเป็นจำเลย มูลความ แห่งคดีสืบเนื่องมาจากผู้ตายถูกส่งไปควบคุมตัวในเรือนจำเพื่อเข้ารับการตรวจพิสูจน์ว่าเป็นผู้เสพหรือผู้ติดยาเสพติด อันเป็นไปตามขั้นตอนและวิธีการตามพระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๔๕ ซึ่งระหว่างการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดดังกล่าว พนักงานสอบสวนยังมีหน้าที่ต้องทำสำนวนการสอบสวนในความผิดที่แจ้งข้อหาแก่ผู้ตายหรือผู้เข้ารับการฟื้นฟูต่อไป เพราะในกรณีที่ผู้เข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด ผู้ใดแม้จะได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดจนครบกำหนดเวลา แต่ผลการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดยังไม่เป็นที่พอใจ ให้คณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดรายงานความเห็นไปยังพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการแล้วแต่กรณี เพื่อประกอบการพิจารณาดำเนินคดีผู้นั้นต่อไป นอกจากนี้ยังให้ถือว่าผู้เข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดเป็นผู้ถูกคุมขังตามประมวลกฎหมายอาญาและการปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้ให้กรรมการ อนุกรรมการและพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติดังกล่าวเป็นพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาและเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา ดังนี้การควบคุมตัวผู้ตายเพื่อเข้ารับการตรวจพิสูจน์ดังกล่าวจึงเป็นไป ตามขั้นตอนและวิธีการของกระบวนการในการยุติธรรมเพื่อนำไปสู่กระบวนการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดหรือนำไปสู่การดำเนินคดีเพื่อลงโทษผู้กระทำความผิดทางอาญาแล้วแต่กรณี อันอยู่ในอำนาจการตรวจสอบ ของศาลยุติธรรม กรณีจึงเป็นการพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ อันสืบเนื่องมาจากการการใช้อำนาจในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา มิใช่การละเมิดอันเนื่องมาจากการใช้อำนาจปกครองโดยตรง ตามความในมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) ของพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ย่อยาว
(สำเนา)
คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๗๒ /๒๕๕๘
วันที่ ๒๘ กันยายน ๒๕๕๘
เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒
มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓)
ศาลจังหวัดนครปฐม
ระหว่าง
ศาลปกครองกลาง
การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลจังหวัดนครปฐมโดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องคดีโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น
ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๓๐ สิงหาคม ๒๕๕๖ นางกายน ด้วงคำภา โจทก์ ยื่นฟ้อง นายมาโนช ขาวขำ ที่ ๑ กรมราชทัณฑ์ ที่ ๒ กระทรวงยุติธรรม ที่ ๓ จำเลย ต่อศาลจังหวัดนครปฐม เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๑๐๙๙/๒๕๕๖ ความว่า โจทก์เป็นมารดานายสมศักดิ์ แก้วพิลา ผู้ตาย เมื่อวันที่ ๑ กันยายน ๒๕๕๕ ผู้ตายถูกเจ้าพนักงานตำรวจภูธรเมืองนครปฐมจับกุมในข้อหาความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ภายหลังถูกส่งตัวไปกักขังหรือควบคุมที่เรือนจำ ๕ จังหวัดนครปฐม เพื่อเข้ารับการตรวจพิสูจน์ผู้เสพหรือผู้ติดยาเสพติด ตามพระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๔๕ โดยอยู่ในความดูแลของเจ้าหน้าที่เรือนจำ ๕ ในสังกัดของจำเลยที่ ๒ ระหว่างถูกควบคุม พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ ๒ ซึ่งมีหน้าที่ดูแลผู้ต้องกักขังให้อยู่ในความเรียบร้อยตามกฎข้อบังคับของจำเลยที่ ๒ โดยต้องไม่ปล่อยให้ผู้ถูกควบคุมอยู่ด้วยกันตามลำพังจักต้องดำเนินการแยกผู้ต้องหาหรือผู้ต้องขังออกจากที่คุมขังหากเกิดอาการบาดเจ็บต้องได้รับการรักษาพยาบาลโดยวิธีที่ถูกต้อง ตามพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการกักขังตามประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. ๒๕๐๖ และระเบียบกรมราชทัณฑ์ว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง พ.ศ. ๒๕๔๙ แต่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ ๒ กลับปล่อยปละละเลยให้จำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นผู้ถูกควบคุมในเรือนจำเดียวกันกับผู้ตายใช้กำลังทำร้ายร่างกายจนเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย อันเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยที่ ๑ ในฐานะผู้ทำละเมิด จำเลยที่ ๒ ในฐานะหน่วยงานต้นสังกัดของเจ้าหน้าที่เรือนจำ ๕ และจำเลยที่ ๓ ในฐานะหน่วยงานบังคับบัญชาจำเลยที่ ๒ จึงต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชดใช้ค่าเสียหาย เป็นเงิน ๒๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยนับถัดจากวันฟ้อง
จำเลยที่ ๑ ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ให้การว่า เหตุละเมิดมิได้เกิดจากการจงใจหรือประมาทเลินเล่อของเจ้าหน้าที่จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นลับหลังเจ้าหน้าที่ สุดวิสัยที่เจ้าหน้าที่จะทราบและ เข้าระงับเหตุหรือป้องกันได้ เจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ ๒ ได้ใช้ความระมัดระวังในการปฏิบัติหน้าที่ควบคุมดูแลผู้เข้ารับการตรวจพิสูจน์ให้เป็นไปตามระเบียบและกฎเกณฑ์ของทางราชการแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีนี้เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการ กระทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลจังหวัดนครปฐมพิจารณาแล้วเห็นว่า เหตุแห่งการฟ้องคดีสืบเนื่องมาจากผู้ตาย ซึ่งเป็นบุตรของโจทก์ถูกควบคุมตัวในเรือนจำแล้วถึงแก่ความตายระหว่างการควบคุมของเจ้าพนักงาน ซึ่งการตายระหว่างอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงานนี้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๔๘ ถึง ๑๕๕ ได้กำหนดขั้นตอนและวิธีการดำเนินการไว้โดยเฉพาะแล้ว แม้จะมีสาเหตุสืบเนื่องมาจากผู้ตายถูกส่งตัวไปควบคุมเพื่อเข้ารับการตรวจพิสูจน์ว่าเป็นผู้เสพหรือผู้ติดยาเสพติด ตามขั้นตอนและวิธีการตามพระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๔๕ แต่ระหว่างการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดดังกล่าว พนักงานสอบสวนยังมีหน้าที่ต้องทำสำนวนการสอบสวน ในความผิดที่แจ้งข้อหาแก่ผู้ตายหรือผู้เข้ารับการฟื้นฟูต่อไป นอกจากนี้ยังให้ถือว่าผู้เข้ารับการฟื้นฟูที่ถูกควบคุมในลักษณะเดียวกับผู้ถูกคุมขังเช่นผู้ตายและจำเลยที่ ๑ เป็นผู้ถูกคุมขังตามประมวลกฎหมายอาญาและการปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้ให้กรรมการ อนุกรรมการและพนักงานเจ้าหน้าที่ ตามพระราชบัญญัติดังกล่าวเป็นพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาและเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา ดังนี้การควบคุมตัวผู้ตายเพื่อเข้ารับการตรวจพิสูจน์ดังกล่าวจึงเป็นไปตามขั้นตอนและวิธีการของกระบวนการในการยุติธรรมเพื่อนำไปสู่กระบวนการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดหรือนำไปสู่การดำเนินคดีเพื่อลงโทษผู้กระทำความผิดทางอาญาแล้วแต่กรณี กรณีจึงเป็นการพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่อันสืบเนื่องมาจากการใช้อำนาจในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา อยู่ในอำนาจการตรวจสอบของศาลยุติธรรม มิใช่การละเมิดอันเนื่องมาจากการใช้อำนาจปกครองโดยตรง ตามความในมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) ของพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ คดีไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง หากแต่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า จำเลยที่ ๒ เป็นหน่วยงานระดับกรม สังกัดจำเลยที่ ๓ ตามมาตรา ๓๓ แห่งพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. ๒๕๔๕ จึงเป็นหน่วยงานทางปกครอง มีอำนาจหน้าที่ตามข้อ ๑ (๑) และ (๔) ของกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการ กรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม พ.ศ. ๒๕๔๕ โดยดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการราชทัณฑ์ และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องและปฏิบัติการอื่นใดตามที่กฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของกรมหรือตามที่กระทรวงหรือคณะรัฐมนตรีมอบหมาย ซึ่งต่อมารัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ออกประกาศกำหนดให้เรือนจำกลางนครปฐม ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ เป็นสถานที่เพื่อการควบคุมตัวและสถานที่เพื่อการตรวจพิสูจน์สำหรับผู้ต้องหาตามมาตรา ๑๙ แห่งพระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๔๕ กรณีจึงเห็นได้ว่าเรือนจำกลางนครปฐมมีอำนาจหน้าที่ควบคุมดูแลความเป็นอยู่และความปลอดภัยของผู้เข้ารับการตรวจพิสูจน์ ในระหว่างการตรวจพิสูจน์ให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติดังกล่าวและระเบียบที่กำหนด เพื่อนำไปสู่การฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด ดังนั้นการดำเนินการของเจ้าหน้าที่เรือนจำกลางนครปฐมในสังกัดจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ตามกฎหมายและระเบียบจึงเป็นการกระทำทางปกครองหรือดำเนินกิจการทางปกครอง มิใช่การดำเนินการกระบวนการยุติธรรมทางอาญาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาแต่อย่างใดการที่โจทก์ฟ้องว่าในระหว่างที่นายสมศักดิ์บุตรของโจทก์ถูกควบคุมตัวในเรือนจำดังกล่าว ระหว่างถูกควบคุมพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ ๒ กลับปล่อยปละละเลยให้จำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นผู้ถูกควบคุมในเรือนจำเดียวกัน ใช้กำลังทำร้ายร่างกายจนเป็นเหตุให้นายสมศักดิ์ถึงแก่ความตาย กรณีจึงเป็นการฟ้องว่าพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ ๒ ซึ่งมีหน้าที่ในการควบคุมดูแลผู้ต้องหา เกี่ยวกับยาเสพติด เพื่อเข้ารับการตรวจพิสูจน์ผู้เสพหรือผู้ติดยาเสพติด ละเลยต่อหน้าที่ในการควบคุมดูแลความเป็นอยู่และความปลอดภัยของผู้เข้ารับการตรวจพิสูจน์ให้เป็นไปตามข้อ ๔๘ และข้อ ๕๖ วรรคหนึ่ง (๑) ของระเบียบคณะกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด ว่าด้วยการตรวจพิสูจน์การฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด การควบคุมตัวและการปฏิบัติต่อผู้เข้ารับการตรวจพิสูจน์และผู้เข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๔๖ กำหนดให้ต้องปฏิบัติ โดยโจทก์ขอให้จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐที่ต้องรับผิดต่อผู้เสียหายในผลแห่งละเมิดที่เจ้าหน้าที่ของตนได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่ ตามมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ รับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ กรณีจึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ของรัฐ อันเกิดจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มิใช่คดีพิพาทจากการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาแต่อย่างใด ส่วนกรณีของจำเลยที่ ๑ นั้น ข้อพิพาทในคดีนี้มีมูลความแห่งคดีเป็นเรื่องเดียวกัน เมื่อคดีพิพาทระหว่างจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง คดีระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๑ จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองเช่นเดียวกัน ทั้งนี้เพื่อให้การดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลเดียวกัน และเพื่อให้คำพิพากษาเป็นไปในทางเดียวกัน คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้โจทก์เป็นเอกชนยื่นฟ้องเอกชนและหน่วยงานทางปกครองเป็นจำเลย อ้างว่าโจทก์เป็นมารดาผู้ตาย โดยผู้ตายถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมในข้อหาความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดภายหลังถูกส่งตัวไปกักขังหรือควบคุมที่เรือนจำ ๕ จังหวัดนครปฐม เพื่อเข้ารับการตรวจพิสูจน์ผู้เสพหรือผู้ติดยาเสพติด โดยอยู่ในความดูแลของเจ้าหน้าที่เรือนจำ ๕ ในสังกัดของจำเลยที่ ๒ และจำเลยที่ ๓ ระหว่างถูกควบคุมพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ ๒ กลับปล่อยปละละเลยให้จำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นผู้ถูกควบคุมในเรือนจำเดียวกันกับผู้ตายใช้กำลังทำร้ายร่างกายจนเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย อันเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชดใช้ค่าเสียหาย จำเลยที่ ๑ ขาดนัดยื่น คำให้การ จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ให้การว่า เหตุละเมิดมิได้เกิดจากการจงใจหรือประมาทเลินเล่อของเจ้าหน้าที่จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ เจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ ๒ ได้ใช้ความระมัดระวังในการปฏิบัติหน้าที่ควบคุมดูแลผู้เข้ารับการตรวจพิสูจน์ให้เป็นไปตามระเบียบและกฎเกณฑ์ของทางราชการแล้ว เห็นว่า มูลความแห่งคดีสืบเนื่องมาจากผู้ตายถูกส่งไปควบคุมตัวในเรือนจำเพื่อเข้ารับการตรวจพิสูจน์ ว่าเป็นผู้เสพหรือผู้ติดยาเสพติด อันเป็นไปตามขั้นตอนและวิธีการตามพระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๔๕ ซึ่งระหว่างการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดดังกล่าว พนักงานสอบสวนยังมีหน้าที่ต้องทำสำนวนการสอบสวนในความผิดที่แจ้งข้อหาแก่ผู้ตายหรือผู้เข้ารับการฟื้นฟูต่อไป เพราะในกรณีที่ผู้เข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด ผู้ใดแม้จะได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดจนครบกำหนดเวลา แต่ผลการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดยังไม่เป็นที่พอใจให้คณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดรายงานความเห็นไปยังพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการ แล้วแต่กรณี เพื่อประกอบการพิจารณาดำเนินคดีผู้นั้นต่อไป นอกจากนี้ยังให้ถือว่า ผู้เข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดเป็นผู้ถูกคุมขังตามประมวลกฎหมายอาญาและการปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้ให้กรรมการ อนุกรรมการและพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติดังกล่าว เป็นพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาและเป็นเจ้าพนักงาน ตามประมวลกฎหมายอาญา ดังนี้การควบคุมตัวผู้ตายเพื่อเข้ารับการตรวจพิสูจน์ดังกล่าวจึงเป็นไปตามขั้นตอนและวิธีการของกระบวนการในการยุติธรรมเพื่อนำไปสู่กระบวนการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดหรือนำไปสู่การดำเนินคดีเพื่อลงโทษผู้กระทำความผิดทางอาญาแล้วแต่กรณี อันอยู่ในอำนาจการตรวจสอบของศาลยุติธรรม กรณีจึงเป็นการพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ อันสืบเนื่องมาจากการการใช้อำนาจในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา มิใช่การละเมิดอันเนื่องมาจากการใช้อำนาจปกครองโดยตรง ตามความ ในมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) ของพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง นางกายน ด้วงคำภา โจทก์ นายมาโนช ขาวขำ ที่ ๑ กรมราชทัณฑ์ ที่ ๒ กระทรวงยุติธรรม ที่ ๓ จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) ดิเรก อิงคนินันท์ (ลงชื่อ) จิรนิติ หะวานนท์
(นายดิเรก อิงคนินันท์) (นายจิรนิติ หะวานนท์)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) ปิยะ ปตังทา (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายปิยะ ปะตังทา) (นายจรัญ หัตถกรรม)
รองประธานศาลปกครองสูงสุดคนที่หนึ่ง กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
ปฏิบัติหน้าที่แทนประธานศาลปกครองสูงสุด
(ลงชื่อ) พลเรือโท ปรีชาญ จามเจริญ (ลงชื่อ) พลตรี พัฒนพงษ์ เกิดอุดม
(ปรีชาญ จามเจริญ) (พัฒนพงษ์ เกิดอุดม)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร
(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ