แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ค่าปรับที่โจทก์และจำเลยตกลงกำหนดกันไว้นั้น ถือได้ว่าเป็นเบี้ยปรับเพื่อการที่จะชดใช้หรือบรรเทาความเสียหายอันอาจจะมีหรือเกิดขึ้นไว้ล่วงหน้า ถ้าเบี้ยปรับนั้นสูงเกินส่วน ศาลจะลดลงเป็นจำนวนพอสมควรก็ได้ ตามป.พ.พ. มาตรา 383 และข้อตกลงให้โจทก์ริบเอาผลงานที่จำเลยได้ทำไปแล้วโดยจำเลยจะเรียกร้องค่าตอบแทนและค่าเสียหายใด ๆ ไม่ได้ ก็เป็นข้อตกลงที่มีลักษณะเป็นการที่จำเลยให้สัญญาว่าจะทำการชำระหนี้อย่างอื่นที่มิใช่จำนวนเงินให้เป็นเบี้ยปรับแก่โจทก์ตาม ป.พ.พ.มาตรา 382 ถ้าเบี้ยปรับนี้สูงเกินส่วน ศาลมีอำนาจลดลงให้เหลือเป็นจำนวนพอสมควรตาม ป.พ.พ.มาตรา 383 เช่นกันแม้สิทธิริบผลงานที่จำเลยทำไปแล้วเป็นสิทธิของโจทก์หลังจากโจทก์บอกเลิกสัญญาแต่เมื่อถือว่าเป็นเบี้ยปรับเช่นเดียวกับค่าปรับ ศาลจึงนำมาเป็นข้อวินิจฉัยลดค่าปรับได้หากเห็นว่าโจทก์จะได้รับเบี้ยปรับสูงเกินส่วน
ตามสัญญาจ้างเหมามีสาระสำคัญว่า ถ้าจำเลยทำผิดสัญญาข้อหนึ่งข้อใด โจทก์มีสิทธิบอกเลิกสัญญานี้ได้ และมีอำนาจจ้างผู้อื่นทำงานต่อจากจำเลยได้ด้วย โดยจำเลยยอมจ่ายเงินค่าจ้าง และค่าใช้จ่ายอื่นใดตามจำนวนที่โจทก์ต้องเสียไปโดยสิ้นเชิง และถ้าผู้ว่าจ้างบอกเลิกสัญญาแล้ว ผู้รับจ้างยอมให้เรียกค่าเสียหายอันพึงมีได้อีกด้วย ดังนั้น แม้ยังไม่ปรากฏว่าผู้รับจ้างรายใหม่หลังจากโจทก์บอกเลิกสัญญาได้ทำการก่อสร้างงานตามสัญญาต่อจากจำเลยจนงานแล้วเสร็จบริบูรณ์หรือไม่ แต่ตามข้อความในสัญญาจ้างเหมานั้นเองเห็นเจตนารมณ์ได้ว่าถ้าหากจำเลยผิดสัญญา โจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะจ้างบุคคลอื่นทำการก่อสร้างงานแทนจำเลย โดยจำเลยต้องเสียค่าใช้จ่ายและโจทก์มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากการที่ต้องเสียค่าจ้างแพงกว่าเดิม โดยมิพักต้องรอให้งานก่อสร้างที่กระทำภายหลังต้องสำเร็จเสียก่อน เพราะเป็นที่เห็นได้ชัดว่าเป็นความเสียหายอันเกิดจากการผิดสัญญาของจำเลย