แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ผู้เสียหายมีบาดแผลถลอกและฟกช้ำที่คอด้านขวาขนาด 1 x 2 เซนติเมตร และมีบาดแผลถลอกฟกช้ำที่โหนกแก้มซ้ายขนาด 1 x 1 เซนติเมตร แพทย์มีความเห็นว่าเกิดจากถูกของแข็งไม่มีคมกระแทกโดยแรง ใช้เวลารักษาประมาณ 7 วัน จะหายเป็นปกติ ถือได้ว่าเป็นบาดแผลเล็กน้อยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้ผู้เสียหายได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 391 แม้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้เสียหายตาม ป.อ. มาตรา 295 แต่ความผิดดังกล่าวย่อมรวมถึงการใช้กำลังทำร้ายผู้อื่นโดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจตามมาตรา 391 ด้วย ถือได้ว่าความผิดตามฟ้องรวมการกระทำหลายอย่าง ซึ่งแต่ละอย่างอาจเป็นความผิดได้อยู่ในตัวเอง เมื่อทางพิจารณาได้ความว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามมาตรา 391 ศาลฎีกาก็มีอำนาจลงโทษจำเลยในการกระทำตามที่พิจารณาได้ความได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสุดท้าย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓ , ๘๓ , ๙๑ , ๒๙๕ , ๓๕๘ , ๓๖๔ , ๓๖๕ ริบของกลาง และนับโทษจำเลยที่ ๑ ต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขดำที่ ๔๘๑/๒๕๔๐ ของศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสี่ให้การปฏิเสธ แต่จำเลยที่ ๑ รับว่าเป็นบุคคลเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาลงโทษจำเลยที่ ๒ และที่ ๔ ยกฟ้องจำเลยที่ ๑ และที่ ๓
โจทก์อุทธรณ์ โดยอธิบดีอัยการเขต ๖ ซึ่งได้รับมอบหมายจากอัยการสูงสุดรับรองให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลอุทธรณ์ภาค ๖ พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา โดยอัยการสูงสุดรับรองให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ ๒ และที่ ๔ ในความผิดฐานร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙๕ ประกอบด้วยมาตรา ๘๓ แต่ความผิดดังกล่าวย่อมรวมถึงการใช้กำลังทำร้ายผู้อื่นโดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจตามมาตรา ๓๙๑ ด้วย ถือได้ว่าความผิดตามฟ้องรวมการกระทำหลายอย่าง ซึ่งแต่ละอย่างอาจเป็นความผิดได้อยู่ในตัวเอง เมื่อทางพิจารณาได้ความว่า การกระทำของจำเลยที่ ๒ และที่ ๔ เป็นความผิดตามมาตรา ๓๙๑ ศาลฎีกาก็มีอำนาจลงโทษจำเลยที่ ๒ และที่ ๔ ในการกระทำตามที่พิจารณาได้ความได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๙๒ วรรคสุดท้าย
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ ๒ และที่ ๔ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๙๑ ประกอบด้วยมาตรา ๘๓