คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10181/2558

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามฟ้องของโจทก์ นอกจากโจทก์ฟ้องให้รับผิดตามสัญญารับจ้างสำรวจและประเมินราคาทรัพย์สินแล้ว ถือได้ว่า โจทก์ยังฟ้องขอให้จำเลยทั้งสามรับผิดฐานละเมิดด้วย ดังจะเห็นได้จากที่โจทก์บรรยายฟ้องด้วยว่าจำเลยที่ 1 และผู้ประเมินซึ่งก็คือจำเลยที่ 2 และที่ 3 มีความบกพร่อง มีความประมาทเลินเล่อ ไม่ละเอียดรอบคอบในฐานะผู้ประกอบวิชาชีพ โดยไม่ตรวจสอบระวางที่ดิน ทำให้ไม่ทราบว่ามีการปลูกสร้างอาคารรุกล้ำที่ดินแปลงข้างเคียง และประเมินที่ดินผิดแปลง เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ทั้งตามรายงานต่อโจทก์ตามแบบสรุปผลการประเมินราคาหลักประกัน จำเลยที่ 2 และที่ 3 ลงชื่อเป็นผู้ประเมิน จำเลยที่ 1 ลงชื่อในช่องผู้จัดการ อันเป็นการร่วมกันรายงานต่อโจทก์ ดังนั้น จำเลยที่ 2 และที่ 3 ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ด้วย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ชำระค่าเสียหาย 901,480 บาท โดยให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิด 29,600 บาท จำเลยที่ 3 ร่วมรับผิด 690,480 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินที่แต่ละคนรับผิดนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสามขาดนัดยื่นคำให้การ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 369,600 บาท พร้อมเบี้ยปรับอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับถัดจากวันฟ้อง (วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2553) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท ส่วนคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนตามทุนทรัพย์โจทก์ชนะคดี และให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในศาลชั้นต้น และในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ข้อแรกว่า ศาลอุทธรณ์กำหนดค่าเสียหายสำหรับรายที่ 1 และที่ 3 ให้โจทก์เหมาะสมแล้วหรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่า โจทก์ได้รับความเสียหายรายที่ 1 และที่ 3 จำนวน 181,400 บาท และ 690,480 บาท ตามลำดับ ตามฟ้อง แต่ศาลอุทธรณ์กำหนดค่าเสียหายรายที่ 1 และที่ 3 ให้โจทก์เพียง 50,000 บาท และ 290,000 บาท ตามลำดับ น้อยเกินไปนั้น เห็นว่า สำหรับรายที่ 1 เป็นเพียงหลักประกันคือบ้านบนที่ดินปลูกสร้างรุกล้ำที่ดินข้างเคียง 5 เมตร ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย พฤติการณ์ไม่ถึงกับร้ายแรงมากนัก ที่ศาลอุทธรณ์กำหนดค่าเสียหายรายที่ 1 ให้ 50,000 บาท เหมาะสมแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ส่วนรายที่ 3 การที่จำเลยที่ 1 และที่ 3 สำรวจและประเมินราคาทรัพย์สินและทำรายงานส่งโจทก์ว่า ที่ดินมีราคา 125,400บาท บ้านเดี่ยวครึ่งตึกครึ่งไม้บนที่ดิน 1 หลัง เลขที่ 15 หมู่ที่ 3 ราคา 812,045 บาท รวมเป็นเงิน 937,000 บาท โจทก์ใช้ข้อมูลตามรายงานนี้ปล่อยเงินกู้ 749,000 บาท โดยจดทะเบียนจำนองที่ดินพร้อมบ้านเดี่ยวครึ่งตึกครึ่งไม้บนที่ดินดังกล่าวเป็นประกัน ทั้งที่ราคาที่ดินที่แท้จริงเพียง 83,000 บาท และเป็นที่ดินเปล่า ไม่มีสิ่งปลูกสร้าง บ้านเดี่ยวครึ่งตึกครึ่งไม้ไม่มีปลูกบนที่ดินนี้ แต่ปลูกบนที่ดินแปลงอื่นของผู้อื่น อย่างน้อยรับฟังได้แล้วว่า จำเลยที่ 1 และที่ 3 ประมาทเลินเล่อในการปฏิบัติงานตามหน้าที่ และเป็นเรื่องร้ายแรง ทั้งปรากฏต่อมาว่าผู้กู้รายนี้มิได้ผ่อนชำระ ค้างชำระหลายงวด จนเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ โจทก์ย่อมได้รับความเสียหายมาก การคิดคำนวณค่าเสียหาย โจทก์ดำเนินการในรูปคณะกรรมการประชุมพิจารณา เมื่อคำนึงถึงวัตถุประสงค์ของโจทก์ที่เพื่อช่วยเหลือทางการเงินให้ประชาชนได้มีที่อยู่อาศัยตามควรแก่อัตภาพ มิได้มุ่งหวังกำไรอย่างธนาคารพาณิชย์ทั่วไป น่าเชื่อว่าโจทก์ได้รับความเสียหาย 690,480 บาท ตามฟ้อง สมควรกำหนดค่าเสียหายให้โจทก์ 690,480 บาท ที่ศาลอุทธรณ์กำหนดค่าเสียหายให้เพียง 290,000 บาท น้อยเกินไปไม่เหมาะสม ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้นบางส่วน เมื่อรวมค่าเสียหายทั้งสามรายจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดต่อโจทก์เป็นเงิน 770,080 บาท
มีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ด้วยหรือไม่ เห็นว่า ตามฟ้องของโจทก์ที่ได้ยกมาข้างต้น นอกจากโจทก์ฟ้องให้รับผิดตามสัญญารับจ้างสำรวจและประเมินราคาทรัพย์สินแล้ว ถือได้ว่าโจทก์ยังฟ้องขอให้จำเลยทั้งสามรับผิดฐานละเมิดด้วย ดังจะเห็นได้จากที่โจทก์บรรยายฟ้องด้วยว่าจำเลยที่ 1 และผู้ประเมิน (ซึ่งก็คือจำเลยที่ 2 และที่ 3) มีความบกพร่อง มีความประมาทเลินเล่อ ไม่ละเอียดรอบคอบในฐานะผู้ประกอบวิชาชีพ โดยไม่ตรวจสอบระวางที่ดิน ทำให้ไม่ทราบว่ามีการปลูกสร้างอาคารรุกล้ำที่ดินแปลงข้างเคียง และประเมินที่ดินผิดแปลง เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ทั้งตามรายงานต่อโจทก์ตามแบบสรุปผลการประเมินราคาหลักประกัน จำเลยที่ 2 และที่ 3 ลงชื่อเป็นผู้ประเมิน จำเลยที่ 1 ลงชื่อในช่องผู้จัดการ อันเป็นการร่วมกันรายงานต่อโจทก์ ดังนั้น จำเลยที่ 2 และที่ 3 ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ด้วยดังที่โจทก์ฎีกา ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 มิใช่คู่สัญญาหรือมีนิติสัมพันธ์ใด ๆ กับโจทก์ โดยมิได้วินิจฉัยถึงความรับผิดของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ฐานละเมิดด้วยนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 770,080 บาท โดยในจำนวนนี้ให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิด 29,600 บาท จำเลยที่ 3 ร่วมรับผิด 690,480 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินที่แต่ละคนรับผิด นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2553) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลแทนโจทก์ สำหรับค่าขึ้นศาลให้แต่ละคนใช้แทนตามจำนวนทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดีแต่ละคน โดยกำหนดค่าทนายความให้จำเลยที่ 1 รับผิดรวม 20,000 บาท ในจำนวนนี้ให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมรับผิด 3,000 บาท และ 10,000 บาท ตามลำดับ

Share