แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ในการอุทธรณ์คำสั่งและคำพิพากษาของศาลชั้นต้นครั้งแรก จำเลยที่ 1 วางเงินค่าธรรมเนียมศาลชั้นอุทธรณ์เต็มจำนวน 200,000 บาท ครบถ้วนแล้ว แต่ศาลอุทธรณ์มิได้วินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสามที่โต้แย้งคำพิพากษาศาลชั้นต้น โดยให้ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้นดังกล่าวและให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาสืบพยานจำเลยที่ 1 และที่ 2 ใหม่ แล้วมีคำพิพากษาใหม่ตามรูปคดี ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษาใหม่ ดังนั้น เมื่อศาลอุทธรณ์ยังมิได้วินิจฉัยในเนื้อหาแห่งคดี จำเลยทั้งสามจึงหาต้องเสียค่าธรรมเนียมศาลชั้นอุทธรณ์ตามจำนวนทุนทรัพย์ในคดีไม่ แต่ควรเสียอย่างคดีไม่มีทุนทรัพย์ 200 บาท การที่ศาลชั้นต้นสืบพยานจำเลยที่ 1 และที่ 2 แล้วมีคำพิพากษาใหม่ให้จำเลยทั้งสามแพ้คดี โดยให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์นั้น คงหมายรวมเฉพาะค่าธรรมเนียมศาลชั้นอุทธรณ์ 200 บาท เท่านั้น ส่วนค่าธรรมเนียมศาลชั้นอุทธรณ์ส่วนที่เหลือต้องสั่งคืนแก่จำเลยทั้งสาม เมื่อเป็นดังนี้ จำเลยที่ 1 ย่อมมีสิทธิยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นครั้งใหม่ โดยขอให้ถือเอาเงินจำนวนดังกล่าวนี้เป็นค่าธรรมเนียมศาลชั้นอุทธรณ์ครั้งใหม่ได้
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระหนี้จำนวน 132,797,238.90 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 16 ต่อปี จากต้นเงิน 86,033,000 บาท นับจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การแก้คดี ส่วนจำเลยที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การ
ในวันนัดสืบพยานโจทก์วันที่ 23 มกราคม ทนายจำเลยที่ 3 ให้ผู้รับมอบฉันทะยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นว่ามีอาการเจ็บขา ไม่อาจเดินได้ ขออนุญาตถามค้านพยานโจทก์นัดต่อไป ศาลชั้นต้นเห็นว่าไม่มีใบรับรองแพทย์จึงไม่อาจอนุญาต ต่อมาวันนัดสืบพยานจำเลยที่ 1 และที่ 2 จำเลยที่ 1 และที่ 2 ขอเลื่อนคดีอ้างเหตุพยานบางคนติดธุระและพยานบางคนติดต่อไม่ได้ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งงดสืบพยานจำเลยที่ 1 และที่ 2 แล้วพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระหนี้ตามฟ้อง
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์คำสั่งและคำพิพากษา
ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาชั้นสืบพยานจำเลยที่ 1 และที่ 2 ใหม่ แล้วมีคำพิพากษาตามรูปคดีต่อไป ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษาใหม่
ศาลชั้นต้นสืบพยานจำเลยที่ 1 และที่ 2 แล้ว พิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน 132,797,238.90 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 16 ต่อปี จากต้นเงิน 86,033,000 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 18 ตุลาคม 2543) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 800,000 บาท
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำเลยทั้งสามนำเงินค่าธรรมเนียมศาลชั้นอุทธรณ์มาวางศาลและรอสั่งอุทธรณ์เมื่อจำเลยทั้งสามวางเงินดังกล่าวแล้ว
จำเลยทั้งสามยื่นคำร้องว่า ศาลชั้นต้นมิได้มีคำสั่งเกี่ยวกับค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ไว้ในคำพิพากษาตามที่ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งไว้ จึงขอถือเอาค่าธรรมเนียมศาลชั้นอุทธรณ์ดังกล่าวที่ศาลชั้นต้นยังมิได้มีคำสั่งให้คืนเป็นค่าธรรมเนียมศาลชั้นอุทธรณ์ในการอุทธรณ์ครั้งนี้ หากไม่อนุญาตจำเลยทั้งสามขอขยายระยะเวลาวางเงินออกไปอีก 45 วัน นับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่ง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องในส่วนที่ขอให้ถือเอาค่าธรรมเนียมศาลชั้นอุทธรณ์ครั้งก่อนเป็นค่าธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ในครั้งนี้ แต่อนุญาตให้จำเลยทั้งสามนำเงินค่าธรรมเนียมศาลชั้นอุทธรณ์มาวางศาลในวันที่ 9 มิถุนายน 2549
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้น
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน หากจำเลยทั้งสามประสงค์อุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้นำเงินค่าธรรมเนียมศาลซึ่งจะต้องใช้แก่โจทก์ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นและค่าธรรมเนียมศาลชั้นอุทธรณ์มาวางศาลภายใน 30 วัน นับแต่วันทราบคำพิพากษานี้ และให้ศาลชั้นต้นดำเนินการตามรูปคดีต่อไป
จำเลยทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เฉพาะฎีกาของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ความปรากฏว่าระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา จำเลยที่ 2 และที่ 3 ถูกศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด และเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยื่นคำแถลงขอให้จำหน่ายคดีในส่วนของจำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงให้จำหน่ายคดีในส่วนของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ออกจากสารบบความของศาลฎีกา คงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่า จำเลยที่ 1 จะขอให้ถือเอาค่าธรรมเนียมศาลชั้นอุทธรณ์ที่จำเลยที่ 1 นำมาวางศาลในการอุทธรณ์คำสั่งและคำพิพากษาครั้งแรก มาเป็นค่าธรรมเนียมศาลชั้นอุทธรณ์ในการอุทธรณ์ครั้งหลังได้หรือไม่ เห็นว่า ในการอุทธรณ์คำสั่งและคำพิพากษาของศาลชั้นต้นครั้งแรก จำเลยที่ 1 วางเงินค่าธรรมเนียมศาลชั้นอุทธรณ์เต็มจำนวน 200,000 บาท ครบถ้วนแล้ว แต่ศาลอุทธรณ์มิได้วินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสามที่โต้แย้งคำพิพากษาศาลชั้นต้น โดยให้ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้นดังกล่าวและให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาสืบพยานจำเลยที่ 1 และที่ 2 ใหม่ แล้วมีคำพิพากษาตามรูปคดีต่อไป ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษาใหม่ ดังนั้น เมื่อศาลอุทธรณ์ยังมิได้วินิจฉัยในเนื้อหาแห่งคดีว่าผู้ใดควรชนะคดี จำเลยทั้งสามจึงหาต้องเสียค่าธรรมเนียมศาลชั้นอุทธรณ์ตามจำนวนทุนทรัพย์ในคดีไม่ จึงควรเสียค่าธรรมเนียมศาลชั้นอุทธรณ์อย่างคดีไม่มีทุนทรัพย์เท่านั้น คือ จำนวน 200 บาท การที่ศาลชั้นต้นสืบพยานจำเลยที่ 1 และที่ 2 แล้วมีคำพิพากษาใหม่ให้จำเลยทั้งสามแพ้คดี โดยให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์นั้น คงมีความหมายรวมถึงค่าธรรมเนียมศาลชั้นอุทธรณ์จำนวน 200 บาท ดังกล่าวเท่านั้น ส่วนค่าธรรมเนียมศาลชั้นอุทธรณ์ที่จำเลยทั้งสามได้วางไว้ที่เหลืออีก 199,800 บาท ต้องสั่งคืนให้แก่จำเลยทั้งสาม เพราะมิใช่เงินค่าธรรมเนียมศาลชั้นอุทธรณ์ที่จำเลยทั้งสามต้องชำระ ดังนี้ จำเลยที่ 1 ย่อมมีสิทธิยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นครั้งใหม่ โดยขอให้ถือเอาเงินจำนวนดังกล่าวนี้เป็นค่าธรรมเนียมศาลชั้นอุทธรณ์ครั้งใหม่ได้ ที่ศาลชั้นต้นยกคำร้องของจำเลยที่ 1 และศาลอุทธรณ์พิพากษายืนมานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังขึ้น
พิพากษากลับเป็นว่า อนุญาตให้ถือเอาเงินที่เหลือจำนวน 199,800 บาท ที่จำเลยที่ 1 วางศาลไว้เป็นค่าธรรมเนียมศาลชั้นอุทธรณ์ครั้งแรก เป็นค่าธรรมเนียมศาลชั้นอุทธรณ์ครั้งใหม่ได้ ให้จำเลยที่ 1 นำเงินค่าธรรมเนียมศาลชั้นอุทธรณ์ที่ยังขาดอีกจำนวน 200 บาท มาวางศาลภายในเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนด แล้วให้ศาลชั้นต้นดำเนินการต่อไป ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ