แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 สืบเนื่องมาจากจำเลยที่ 2 เป็นผู้ขนส่งสินค้าของผู้เอาประกันภัยแทนจำเลยที่ 1 ซึ่งจำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 3 และที่ 4 มอบหมายให้จำเลยที่ 5 ขับรถบรรทุกขนส่งสินค้าให้ผู้เอาประกันภัยและด้วยความประมาทของจำเลยที่ 5 เป็นเหตุให้สินค้าของผู้เอาประกันภัยได้รับความเสียหายความรับผิดของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 จึงเป็นความรับผิดในเหตุแห่งละเมิด เมื่อโจทก์รับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยมาฟ้องเรียกร้อง จึงต้องพิจารณาจากสิทธิของผู้เอาประกันภัยที่มีต่อจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 แม้จำเลยที่ 1 จะมีสัญญารับส่งสินค้าตามเอกสารหมาย จ. 9 ที่มีข้อจำกัดความรับผิดระหว่างผู้เอาประกันภัยกับจำเลยที่ 1 แต่ระหว่างผู้เอาประกันภัยกับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ไม่ได้มีข้อสัญญารับส่งสินค้าต่อกัน จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 จึงไม่อาจยกเอาสัญญาดังกล่าวขึ้นต่อสู้กับผู้เอาประกันภัยได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งหกร่วมกันหรือแทนกันชำระหนี้แก่โจทก์ 467,886 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 454,349 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ให้การขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 5 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 6 ให้การ แต่ก่อนสืบพยาน โจทก์ขอถอนฟ้องจำเลยที่ 6 ศาลชั้นต้นอนุญาต และมีคำสั่งจำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 6
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ร่วมกันชำระเงิน 22,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 17 มิถุนายน 2548 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์เฉพาะในส่วนที่โจทก์ชนะคดี โดยกำหนดค่าทนายความ 4,000 บาท
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์ 454,349 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 17 มิถุนายน 2548 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 ให้เป็นพับ ให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท
จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติว่า โจทก์รับประกันภัยสินค้าของบริษัทเอลก้า (ประเทศไทย) จำกัด ผู้เอาประกันภัย ซึ่งเป็นบริษัทที่มีวัตถุประสงค์ในการนำเข้าและจำหน่ายเครื่องสำอางยี่ห้อคลินิก เอสเต้ลาเดอร์ อารามิส โดยมีเงื่อนไขหรือข้อตกลงว่า หากสินค้าของผู้เอาประกันภัยที่ขนส่งไปจำหน่ายยังจังหวัดต่าง ๆ เกิดความเสียหายหรือสูญหายในระหว่างการขนส่งตั้งแต่กรุงเทพมหานครจนกว่าจะถึงจุดหมายปลายทางของแต่ละจังหวัดไม่ว่าด้วยสาเหตุใด โจทก์ตกลงชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เอาประกันภัยตามความเสียหายที่แท้จริงแต่ไม่เกิน 2,300,000 บาท ต่อการขนส่ง 1 เที่ยว การรับประกันภัยยังคุ้มครองถึงยี่ห้อ ชื่อเสียงหรือเครื่องหมายการค้าของผู้เอาประกันภัยด้วย จำเลยที่ 1 และที่ 2 ประกอบกิจการรับขนส่งเพื่อบำเหน็จค่าระวางหรือค่าขนส่ง จำเลยที่ 3 เป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 4 เป็นเจ้าของรถบรรทุก หมายเลขทะเบียน 70 – 1501 ลำปาง และนำรถบรรทุกคันดังกล่าวทำสัญญาเข้าร่วมกิจการขนส่งไว้กับจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 5 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 และที่ 4 เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2547 ผู้เอาประกันภัยว่าจ้างให้จำเลยที่ 1 ทำการขนส่งสินค้าประเภทเครื่องสำอางรวม 44 กล่อง จากกรุงเทพมหานครไปยังจังหวัดเชียงใหม่ จำเลยที่ 1 มอบหมายว่าจ้างให้จำเลยที่ 2 ทำการขนส่งแทน จากนั้นจำเลยที่ 2 ให้จำเลยที่ 5 ขับรถบรรทุกของจำเลยที่ 4 นำสินค้าดังกล่าวของผู้เอาประกันภัยไปส่งที่จังหวัดเชียงใหม่ วันที่ 10 พฤศจิกายน 2547 จำเลยที่ 5 ขับรถบรรทุกขนสินค้าดังกล่าวของผู้เอาประกันภัยเพื่อไปส่งที่จังหวัดเชียงใหม่ ขณะขับรถไปตามถนนสายเชียงใหม่ – ลำปาง เมื่อไปถึงที่เกิดเหตุซึ่งเป็นทางขึ้นเนิน จำเลยที่ 5 ขับรถด้วยความประมาท โดยขณะที่รถบรรทุกกำลังขึ้นเนินเครื่องยนต์เกิดดับลงทำให้รถไหลลงจากเนินไปชนขอบทางด้านซ้ายและรถพลิกคว่ำตกลงข้างทางซึ่งเป็นเหวลึก เป็นเหตุให้สินค้าของผู้เอาประกันภัยได้รับความเสียหาย โจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เอาประกันภัยแล้ว ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 5 รับผิดต่อโจทก์เป็นเงิน 22,000 บาท และ 454,349 บาท ตามลำดับ โจทก์และจำเลยที่ 5 ไม่ฎีกา คดีในส่วนของโจทก์กับจำเลยที่ 1 และที่ 5 จึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 เพียงประการเดียวว่า จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ต้องรับผิดต่อโจทก์เพียงใดเห็นว่า เหตุที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 สืบเนื่องมาจากจำเลยที่ 2 เป็นผู้ขนส่งสินค้าของผู้เอาประกันภัยแทนจำเลยที่ 1 ซึ่งจำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 3 และที่ 4 มอบหมายให้จำเลยที่ 5 ขับรถบรรทุกขนส่งสินค้าให้ผู้เอาประกันภัย และด้วยความประมาทของจำเลยที่ 5 เป็นเหตุให้สินค้าของผู้เอาประกันภัยได้รับความเสียหายความรับผิดของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 จึงเป็นความรับผิดในเหตุแห่งละเมิด เมื่อโจทก์รับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยมาฟ้องเรียกร้อง จึงต้องพิจารณาจากสิทธิของผู้เอาประกันภัยที่มีต่อจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 แม้จำเลยที่ 1 จะมีสัญญารับส่งสินค้า ที่มีข้อจำกัดความรับผิดระหว่างผู้เอาประกันภัยกับจำเลยที่ 1 แต่ระหว่างผู้เอาประกันภัยกับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ไม่ได้มีข้อสัญญารับส่งสินค้าต่อกัน จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 จึงไม่อาจยกเอาสัญญาดังกล่าวขึ้นต่อสู้กับผู้เอาประกันภัยได้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 รับผิดเท่ากับราคาสินค้าที่ได้รับความเสียหายมานั้นชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ