คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9790/2558

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 มิได้เป็นคู่สัญญาในสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างอาคารของโจทก์ ทั้งมิได้เป็นผู้ครอบครองทรัพย์สินของโจทก์ในขณะทำการก่อสร้างตามสัญญา จำเลยที่ 1 จึงมิได้เป็นผู้ครอบครองทรัพย์สินของโจทก์และมีหนี้อันเป็นคุณประโยชน์แก่ตนเกี่ยวด้วยทรัพย์สินที่ครอบครองนั้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 241 หากแต่จำเลยที่ 1 เป็นเพียงผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องของจำเลยที่ 2 ที่จะได้รับค่าจ้างงวดงานจากโจทก์เท่านั้น จำเลยที่ 1 คงมีสิทธิเรียกร้องให้โจทก์จ่ายค่าจ้างตามงวดงานที่จำเลยที่ 2 ส่งมอบแก่โจทก์ ทั้งปรากฏว่าจำเลยที่ 1 นำมูลหนี้ดังกล่าวฟ้องโจทก์ในอีกคดีหนึ่ง ซึ่งศาลพิพากษาให้โจทก์ชำระเงินให้แก่จำเลยที่ 1 แล้ว จำเลยที่ 1 จึงไม่อาจอ้างสิทธิยึดหน่วงเพื่ออยู่ในอาคารและพื้นที่อาคารของโจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้ขับไล่จำเลยทั้งหกและบริวารออกจากอาคารของโจทก์เลขที่ 300 ถนนนวมินทร์ แขวงคลองจั่น เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร และห้ามจำเลยทั้งหกและบริวารเข้ามายุ่งเกี่ยวในพื้นที่อาคารของโจทก์อีก ให้จำเลยทั้งหกร่วมกันใช้ค่าเสียหายจำนวน 308,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี และชำระค่าเสียหายวันละ 14,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งหกและบริวารออกจากพื้นที่อาคารของโจทก์และให้จำเลยทั้งหกขนย้ายและรื้อถอนรั้วสังกะสี ลวดหนามและเศษแก้วบนกำแพงอาคารของโจทก์ หากจำเลยทั้งหกไม่ปฏิบัติตาม ให้โจทก์และเจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการขนย้ายและรื้อถอนเอง โดยให้จำเลยทั้งหกรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการขนย้ายรื้อถอน
จำเลยทั้งหกให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งหกและบริวารออกจากอาคารของโจทก์เลขที่ 300 ถนนนวมินทร์ แขวงคลองจั่น เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร และห้ามจำเลยทั้งหกและบริวารเข้ามายุ่งเกี่ยวในพื้นที่อาคารของโจทก์อีก ให้จำเลยทั้งหกขนย้ายและรื้อถอนรั้วสังกะสี ลวดหนาม และเศษแก้วบนกำแพงอาคารของโจทก์ ให้จำเลยทั้งหกร่วมกันใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์เป็นเงิน 88,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี และชำระค่าเสียหายต่อไปอีกวันละ 4,000 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 30 กันยายน 2548) เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งหกและบริวารจะออกไปจากพื้นที่อาคารของโจทก์ กับให้จำเลยทั้งหกร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 15,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนเท่าทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์และจำเลยที่ 1 ที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงตามที่คู่ความไม่โต้เถียงกันรับฟังเป็นยุติว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีนายวิบูลย์ เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ จำเลยที่ 2 เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด มีจำเลยที่ 3 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 249190 ตำบลคลองจั่น อำเภอบางกะปิ กรุงเทพมหานคร โจทก์ว่าจ้างจำเลยที่ 2 ให้ก่อสร้างอาคารสำนักงานและที่พักอาศัยสูง 4 ชั้น บนที่ดินดังกล่าว ตกลงค่าจ้างเหมารวมเป็นเงิน 11,000,000 บาท แบ่งชำระค่าจ้างเป็น 7 งวด ตามงวดงาน ระยะเวลาก่อสร้าง 225 วัน นับแต่วันที่ 14 ตุลาคม 2547 ถึงวันที่ 30 พฤษภาคม 2548 โจทก์และจำเลยที่ 2 ได้ทำหนังสือโอนสิทธิการรับเงินค่าจ้างของจำเลยที่ 2 ให้แก่จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 ก่อสร้างงานงวดที่ 1 ถึงที่ 3 เสร็จและโจทก์ได้ชำระค่าจ้างสำหรับงานงวดที่ 1 ถึงที่ 3 ให้แก่จำเลยที่ 1 แล้ว หลังจากนั้นโจทก์ไม่ได้ชำระค่าจ้างให้แก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 อีก ต่อมาโจทก์มีหนังสือบอกเลิกสัญญาแก่จำเลยที่ 2 โดยระบุให้สัญญาเลิกกันและโจทก์มีหนังสือบอกเลิกสัญญาและให้จำเลยที่ 3 และผู้ที่เกี่ยวข้องออกจากพื้นที่ก่อสร้างภายใน 10 วัน โดยจำเลยที่ 3 ได้ลงลายมือชื่อรับทราบในหนังสือบอกเลิกสัญญาทั้งสองฉบับแล้ว จำเลยที่ 1 ได้ปิดป้ายประกาศห้ามโจทก์และบุคคลภายนอกที่ไม่เกี่ยวข้องเข้าไปในอาคารพิพาท ต่อมาจำเลยที่ 1 ได้เปลี่ยนป้ายประกาศ
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 เป็นข้อแรกว่า จำเลยที่ 1 ได้ครอบครองและมีสิทธิอยู่ในอาคารและพื้นที่อาคารของโจทก์หรือไม่ นายวิบูลย์กรรมการ ผู้มีอำนาจโจทก์เบิกความเป็นพยานว่า เมื่อสิ้นสุดสัญญาจ้างเหมาก่อสร้าง จำเลยที่ 2 สามารถทำงานแล้วเสร็จเพียง 3 งวดงาน จากงานทั้งหมด 7 งวดงาน โจทก์มีหนังสือบอกเลิกสัญญากับจำเลยที่ 2 ซึ่งจำเลยที่ 3 หุ้นส่วนผู้จัดการจำเลยที่ 2 ก่อนวันที่ 20 กรกฎาคม 2548 จำเลยที่ 3 ได้ไปพบพยานเพื่อขอดำเนินงานต่อ โดยนำบริษัทกิจการ ดีเวลลอปเม้นท์ แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด ซึ่งจำเลยที่ 3 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจเข้าดำเนินงานแทนจำเลยที่ 2 โจทก์ได้ให้โอกาสจำเลยที่ 3 โดยให้ดำเนินงานต่อในนามของบริษัทกิจการ ดีเวลลอปเม้นท์ แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด โดยโจทก์เป็นผู้จ่ายค่าแรงงาน ค่าวัสดุก่อสร้างและค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างทั้งหมด แต่โจทก์ยังไม่ได้ลงนามในสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างกับบริษัทกิจการ ดีเวลลอปเม้นท์ แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด และต่อมาโจทก์ได้มีหนังสือบอกเลิกสัญญากับจำเลยที่ 3 และให้จำเลยที่ 3 กับบุคคลที่เกี่ยวข้องออกจากพื้นที่ก่อสร้าง ซึ่งจำเลยที่ 3 ได้ลงลายมือชื่อรับทราบในหนังสือบอกเลิกสัญญาดังกล่าวแล้ว โดยมิได้โต้แย้งคัดค้านแต่อย่างใด ซึ่งคำเบิกความของนายวิบูลย์ดังกล่าวเจือสมกับคำเบิกความของจำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 3 เบิกความอีกว่า งานที่ทำตั้งแต่วันที่ 20 มิถุนายน 2548 ถึงวันที่ 8 กันยายน 2548 เป็นงานในงวดงานที่ 4 และ 5 ตามใบรับรองงวดงานของนายรติ ฉบับลงวันที่ 15 มิถุนายน 2548 ซึ่งโจทก์จะต้องจ่ายเงินประมาณ 2,000,000 บาท ให้แก่จำเลยที่ 1 ตามหนังสือโอนสิทธิการรับเงิน แต่โจทก์ไม่จ่ายเงินให้แก่จำเลยที่ 1 และข้อเท็จจริงได้ความจากคำเบิกความของจำเลยที่ 1 ว่า ที่จำเลยที่ 2 ไปรับจ้างโจทก์ก่อสร้างอาคารสำนักงานและที่พักอาศัยสูง 4 ชั้น โจทก์ไม่จ่ายเงินค่าก่อสร้างล่วงหน้าให้ ทั้งยังให้จำเลยที่ 2 และ ที่ 3 จัดหาหนังสือค้ำประกันผลงานก่อสร้างให้แก่โจทก์ จำเลยที่ 3 จึงขอให้จำเลยที่ 1 ช่วยให้การสนับสนุนทางการเงิน จำเลยที่ 1 ตกลง เพื่อเป็นหลักประกันจำเลยที่ 1 จึงตกลงกับโจทก์และจำเลยที่ 2 ที่ 3 ให้โอนมีสิทธิการรับเงินค่างวดตามสัญญาแก่จำเลยที่ 1 เห็นว่า จำเลยที่ 1 มิได้เป็นคู่สัญญาในสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างอาคารของโจทก์ ทั้งมิได้เป็นผู้ครอบครองทรัพย์สินของโจทก์ในขณะทำการก่อสร้างตามสัญญา จำเลยที่ 1 จึงมิได้เป็นผู้ครอบครองทรัพย์สินของโจทก์และมีหนี้อันเป็นคุณประโยชน์แก่ตนเกี่ยวด้วยทรัพย์สินซึ่งครอบครองนั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 241 หากแต่จำเลยที่ 1 เป็นเพียงผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องของจำเลยที่ 2 ที่จะได้รับค่าจ้างงวดงานจากโจทก์เท่านั้น จำเลยที่ 1 จึงคงมีสิทธิเรียกร้องให้โจทก์จ่ายค่าจ้างตามงวดงานที่จำเลยที่ 2 ส่งมอบแก่โจทก์ ทั้งปรากฏว่าจำเลยที่ 1 นำมูลหนี้ดังกล่าวฟ้องโจทก์ในคดีหมายเลขดำที่ 5117/2548 หมายเลขแดงที่ 2000/2550 ของศาลชั้นต้น ซึ่งศาลพิพากษาให้โจทก์ชำระเงินแก่จำเลยที่ 1 จำนวน 4,791,252.08 บาท แล้ว จำเลยที่ 1 จึงไม่อาจอ้างสิทธิยึดหน่วงเพื่ออยู่ในอาคารและพื้นที่อาคารของโจทก์ แม้จำเลยที่ 1 จะไม่ได้เข้าไปครอบครองอาคารพิพาท ผู้ครอบครองอาคารพิพาทคือ จำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 ตามคำเบิกความของจำเลยที่ 1 แต่จำเลยที่ 1 ได้เบิกความด้วยว่า ในการเข้ายึดอาคารพิพาทของโจทก์ จำเลยที่ 1 ได้มอบหมายให้จำเลยที่ 3 เข้าครอบครองและดูแลอาคารพิพาท และจำเลยที่ 4 ถึงที่ 5 ได้ต่อรั้วลวดหนามเพื่อป้องกันมิให้โจทก์นำบุคคลอื่นมายึดอาคารพิพาทอีก เจือสมกับคำเบิกความของนายวิบูลย์พยานโจทก์ที่เบิกความว่า จำเลยทั้งหกได้เข้าไปครอบครองอาคารพิพาทโดยการล้อมรั้ว และจำเลยที่ 1 ได้ปิดป้ายประกาศห้ามบุคคลภายนอกที่ไม่เกี่ยวข้องเข้าไปในเขตก่อสร้างโดยเด็ดขาด ไม่ว่าจะเป็นผู้ว่าจ้างหรือพนักงานที่เกี่ยวข้องกับโจทก์ ต่อมาจำเลยที่ 1 ได้เปลี่ยนป้ายประกาศใหม่ ซึ่งป้ายประกาศทั้งสองแผ่นดังกล่าวได้ลงชื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้ประกาศ ทำให้โจทก์ไม่สามารถเข้าไปใช้อาคารพิพาทได้ตั้งแต่วันที่ 9 กันยายน 2548 การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงถือได้ว่า จำเลยที่ 1 ได้เข้าครอบครองอาคารพิพาทแล้ว โดยมีจำเลยที่ 3 เป็นผู้ครอบครองแทน ซึ่งเป็นการครอบครองโดยไม่มีสิทธิที่จะกระทำได้ตามกฎหมาย โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยที่ 1 ได้ ฎีกาของจำเลยที่ 1 ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share